ก้าวที่ 7  ทางแยก

     

“เฮ้ยข้ามีงานให้เอ็งทำว่ะ สนใจหรือเปล่า” รุ่นพี่สนิทคนหนึ่งมาสะกิด

“งานอะไรครับ”

“ไม่ง่าย ไม่ยาก อยู่ที่ว่ากล้าหรือเปล่า” พี่แกยังไว้เชิงแล้วมองซ้ายมองขวากระซิบแผน

“ถ้าพี่ไว้ใจผม ผมยินดีครับ”

ผมตกลงรับปฏิบัติการลับในมหาวิทยาลัยด้วยเห็นพี่ที่มาชักชวนมีอุดมการณ์เดียวกันคงไม่หลอกให้เราเดินหลงทางตกเป็นเครื่องมือทำลายใคร ทีมงานของเรามีแค่ 4-5 คน รู้กันภายในไม่กี่คน

ภารกิจเดินเกมใต้ดินร่อนใบปลิวแฉพฤติกรรมไม่ชอบมาพากลของอาจารย์ในคณะคนหนึ่งของผมผ่านไปด้วยดี แผนการป่วนประสบความสำเร็จไม่มีใครจนมุมถูกจับได้ ผมทำงานลับอยู่แบบนี้นานกว่า 3 ปีในรั้วมหาวิทยาลัย ผลสุดท้ายก็ล้มอำนาจมืดไม่ได้ แต่เมื่อนึกถึงทีไรอดขำไม่ได้ทุกที

“ทำไมไม่ลงสมัครเป็นกรรมการคณะกับเขาล่ะ” รุ่นพี่อีกคนมาชวนลงทีมแข่งชิงกรรมการคณะนิเทศศาสตร์ หลังวีระยุทธ ปทุมเจริญวัฒนา หมดวาระ แต่เป็นกลุ่มที่กรรมการชุดเก่าวางฐานไว้แล้ว โดยมีการชู “สุ่ม”สุปราณี ติรจรัส ขึ้นเป็นประธานคณะคนแรกที่เป็นผู้หญิง มีเพื่อนรักผม “จู”สัญญา อู่ตะเภา รับเป็นประธานกีฬาตามที่ตัวมันถนัด

“เกรดผมไม่ถึงครับพี่ ผมขอช่วยอยู่เบื้องหลังเหมือนเดิมแหละ ไม่มีปัญหา” ผมปฏิเสธ

“เสียดายนะ”

“ไม่หรอกครับพี่ ตำแหน่งมันแค่หัวโขน เกรดผมก็ไม่ดี เดี่ยวจะแย่ลงไปกว่านี้ แต่ผมช่วยอยู่แล้ว เพื่อนผมหลายคนก็ลงครับ” ผมยืนยันคำเดิม

“แล้วนี่เลือกเอกอะไรล่ะ”

“วารสาร โทโฆษณาครับ ผมไม่ถนัดประชาสัมพันธ์”

“อยากเป็นนักข่าวหรือ”

“คงงั้นมั้งครับพี่ ว่าไปแล้วโฆษณาผมก็ไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ ผมชอบอะไรที่มันดูจริง ไม่ใช่สร้างภาพมาปั้นเรื่องหลอกชาวบ้านเขา”

พี่คนนั้นถึงกับทำหน้างอน

“ขอโทษครับพี่ ผมล้อเล่น” ผมแก้คำแทบไม่ทัน

การมาเลือกลงเรียนเอกวารสารครั้งแรกจริง ๆ แล้ว  เพราะอยากเป็นผู้สื่อข่าวช่างภาพสายกีฬา รู้สึกว่าน่าเป็นอิสระที่สุด แถมได้มีโอกาสตระเวนดูกีฬาทั่วทุกสารทิศ อาจซึมซับมาจากที่พ่อผมพาเข้าสนามฟุตบอลมาตั้งแต่จำความได้ ตามหม่อมเจตจันทร์ ประวิตร ไปดูเกมสโมสรกีฬาราชประชาลงเตะบ่อยครั้งในยุคที่ทีมตราชฎากำลังครองความเป็นเจ้าลูกหนังเมืองไทย รวมดาราดังคับคั่งมากมาย หลังพ้นยุคของวศิน มาศพงศ์ อาทิ สมปอง นันทประภาศิลป์ ประพันธ์ เปรมศรี สุทิน ไชยกิตติ สุรัก ไชยกิตติ มาด๊าด ทองท้วม ศักดรินทร์ ทองมี วรวรรณ ชิตะวณิช นิวัติ กายเพ็ชร สุนทรา กล้าณรงค์ แถมมีตัวชูโรงอย่างวิทยา เลาหกุล มิดฟิลด์ที่เพิ่งเดินทางกลับมาจากค้าแข้งในบุนเดสลีกาที่ประเทศเยอรมันตะวันตก

ยิ่งหากนัดไหนที่ราชประชาลงเกมฟาดแข้งกับ “ทัพฟ้า”ทหารอากาศ นัดนั้นสนามศุภชลาศัยแทบแตก เพราะแฟนบอลอยากไปยลฝีเท้า “เพชฌฆาตหน้าหยก”ปิยะพงษ์ ผิวอ่อน ศูนย์หน้าดาราเอเชีย ปะทะวิทยา เลาหกุล

“เก่งหรือจะสู้เฮง” ผมจำคำของพ่อแม่นในเกมวันนั้น

แม้สุดท้าย “เจ้าเฮง” วิทยาที่รับบทเป็นจอมทัพจะไม่สามารถพาทีมเข่นเอาชนะลูกทัพฟ้าของ “เดอะตุ๊ก” ได้ แต่ทั้งคู่ก็โชว์ฟอร์มสมราคาด้วยลีลาระดับอาชีพก่อนเกมจะลงเอยด้วยการเสมอกัน 0-0

ผมมีโอกาสสัมผัสนักข่าวกีฬารุ่นลุง รุ่นอาหลายคน เห็นอาชีพอภิสิทธิ์ชนวงการหนังสือพิมพ์แล้วน่าทึ่ง

ไม่ใช่พวกเขาอวดเบ่งกินฟรีตีโพยตีพายทำหน้าใหญ่ใจโตอะไรหรอกนะ ผมเห็นในมุมที่เขาได้มีโอกาสไปสัมผัสพูดคุยใกล้ชิดซุปเปอร์สตาร์นักกีฬาดังของเมืองไทยมากมาย ได้พูดคุยเป็นกันเองในบล็อกวีไอพีกับบิ๊กในวงการลูกหนังแดนสยาม บางคนยังได้รับโอกาสเดินทางไปทำข่าวกีฬารายการสำคัญระดับโลกในต่างประเทศ

ถ้าผมได้เป็นนักข่าวกีฬาคงจะดีไม่น้อย

แค่ลำพังตอนเป็นนักเรียนเทพศิรินทร์อาศัยเส้นผู้พ่อขอทำบัตรเข้าชมฟุตบอลตลอดปี ผมก็ได้สิทธิเดินเข้าสนามศุภชลาศัย สนามจุฬาลงกรณ์ และสนามไทย-ญี่ปุ่น ดินแดง ชมลีลาเกมลูกหนังที่สมาคมฟุตบอลแห่งประเทศไทยจัดแข่งขันได้ทุกรายการ

มันช่างโก้อะไรปานนั้น

แต่บางวันถึงกับร่ำไห้จากสนามกีฬาแห่งชาติเดินตากฝนกลับบ้านวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ ซอยสวนพลู ทุ่งมหาเมฆ ด้วยความผิดหวังที่เห็นสโมสรรักอย่างราชประชาพ่ายเฉียดฉิวต่อทหารอากาศ 0-1 ในรอบชิงชนะเลิศฟุตบอลพระราชทาน ก

ลูกยิงประตูชัยของไกรพล สุนทรพฤกษ์ กองกลางตัวกลั่นของทัพฟ้ายังติดตาผมถึงทุกวันนี้

กระทั่งปิดเทอมปลายปีที่ 3 จ่อขึ้นปีสุดท้ายของมหาวิทยาลัย ไฟหิวกระหายข่าวของผมเริ่มปะทุขึ้นมาระหว่าง 2 ทางแยก

แยกแรกยืนยันเจตนารมณ์เดิมเติมเต็มฝันวัยเด็กไปหาฝึกงานข่าวกีฬาตามหน้าหนังสือพิมพ์ชั้นนำที่ผู้พ่อพอมีสายสัมพันธ์อยู่บ้าง

อีกทางแยกเลือกมุ่งไปงานข่าวอาชญากรรม หลังผ่านประสบการณ์คลุกเคล้ากลิ่นคาวเลือดในภารกิจนั่งรถตระเวนเก็บศพไปพร้อมมูลนิธิร่วมกตัญญู

“สนใจไปฝีกงานไทยรัฐไหม” บีเวอร์-สุรกิตติ์ ภิญชวนิชย์ รุ่นพี่สนิทที่คณะเสนอไอเดีย

“ข่าวอะไรครับพี่”

“ตระเวนอาชญากรรม”

ผมอึกอัก เพราะสำนักข่าวหัวเขียวมันเป็นองค์กรใหญ่ไกลเกินฝันกับการที่นักศึกษาตัวเล็ก ๆ อย่างจะเหยียบย่างเข้าไป ผมยังมองว่า มันง่ายขนาดนั้นเชียวหรือ ที่สำคัญมันเป็นการขอฝึกงานแบบเถื่อน ๆ ไม่เป็นทางการ มหาวิทยาลัยไม่มีหนังสือส่งตัว

“ตกลงจะเอาไหม” พี่แกย้ำ

“แล้วผมต้องติดต่อใครครับ”

“ถ้าอยากจะไปฝึกจริง ๆ โทรไปหาพี่เอ้ดู ข้าบอกมันไว้แล้ว มันบอกได้ให้ประสานไปคุยกับมัน”

ผมยังคงคิดและรอความหวังอีกทางแยกจากพ่อ

สุดท้ายตัดสินใจโทรศัพท์ไปหาเอ้-อาทิมา ภักดีวุฒิ รุ่นพี่คณะที่จบไปแล้ว

“อ๋อ โต้งเหรอ พี่เวอร์บอกแล้ว โต้งโทรไปหาพี่ประทีปนะ พี่ฝากไว้แล้ว พี่เขาเป็นนักข่าวอยู่ไทยรัฐ” พี่สาวที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากูลีกูจอเดินเรื่องให้ทันที เหตุเพราะพี่เขาเคยไปฝึกงานข่าวตระเวนอาขญากรรมหนังสือพิมพ์ไทยรัฐมาก่อนหน้า ทำให้รู้ช่องทางอย่างดี

“ตกลงผมเลือกทางแยกนี้จริงหรือ” ผมพยายามถามตัวเอง มันเหมือนชีวิตคนข่าวที่ต่างกันราวฟ้ากับเหว

“เอาว่ะ ลองดู ดีกว่าอยู่เฉย ๆ” ผมได้คำตอบแล้ว

ถัดจากวันนั้น ผมรีบโทรศัพท์หาประทีป สุวรรณพืช ตามข้อมูลที่สาวรุ่นพี่ให้มา แกบอกให้มาพบที่โรงพิมพ์ไทยรัฐตอนห้าทุ่มคืนวันเสาร์

“พี่เข้าเวรดึก ถ้าเอ็งจะมาฝึก มารอพี่ที่ชั้นสอง ตามนี้นะ”น้ำเสียงของเขาช่างห้วนสิ้นดี เล่นเอาผมเกร็งพอสมควร

เมื่อถึงคืนวันเสาร์ ผมมุ่งหน้าสู่สำนักพิมพ์ยักษ์ใหญ่ของเมืองไทยก้าวบันไดขึ้นชั้น 2 ไปบนกองบรรณาธิการ สูดกลิ่นน้ำหมึกติดคลุ้งอยู่ในกระดาษหนังสือพิมพ์เข้าเต็มจมูก เสียงพิมพ์ดีดดังก๊อกแก๊กลั่นสำนักงานส่งสัญญาณบ่งบอกถึงการทำงานหามรุ่งหามค่ำของกรรมการข่าวได้อย่างชัดเจน

“มาพบใครครับ” พนักงานรักษาความปลอดภัยมาดขึงขังถาม

“เอ่อ …พี่ประทีปครับ”

เขาทำท่างง

“ถ้าอย่างนั้นไปนั่งรอตรงนี้ล่ะกันครับ” การ์ดวัยกลางคนชี้ให้ผมไปนั่งรอตรงโซฟาก่อนทางเข้ากองบรรณาธิการ

ผมไปถึงราวสามทุ่มเศษยังไม่ได้เวลานัดหมายห้าทุ่มตามที่ประทีปบอก นั่งหนาวอยู่พักใหญ่นึกในใจแล้วคนไหนว่ะที่ชื่อประทีป หน้าตาเป็นแบบไหนดันเสือกไม่ถามให้แน่นอน เกิดแกงอนทำไม่รู้ไม่ชี้แล้วทิ้งให้รอเก้อข้ามคืนจะทำอย่างไรล่ะทีนี้

คิดไปต่าง ๆ  นานา จนชายหนุ่มมาดเท่ สวมเสื้อเชิ้ต กางเกงยีนส์ ถือวิทยุสื่อสารเดินขึ้นบันไดมาบนชั้น 2  เขาหันมาสบตาผมแล้วเอ่ยทักทายทันที

“ใช่โต้งหรือเปล่า”

“พี่ประทีปหรือครับ สวัสดีครับ”

“เออหวัดดีโว้ย นั่งรอตรงนี้ก่อน เดี่ยวพี่มา”

ผมสะดุดกึกยิ้มแห้งทันควัน นึกในใจทำไมพี่แกท่าทางดุดันหน้าตาขรึมราวกับไม่เต็มใจที่จะให้ผมเป็นผู้ติดตามไปฝึกงานซะอย่างนั้น พาลนึกถึงหนังเรื่อง “ยังไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม” ที่พระเอกหนุ่ย-อำพล ลำพูน เป็นนักข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์ชื่อดังมาดกวนรับเด็กฝึกงานสาวที่สลักจิต ดลมินทร์ รุ่นน้องมหาวิทยาลัยกรุงเทพเล่นเป็นนางเอก บรรยากาศในหนังยังไม่ตึงเครียดขนาดนี้เลย

หรือพี่แกไม่ชอบนักศึกษาฝึกงานผู้ชายวะ ไหนรุ่นพี่บอกว่าใจดี

“ไปไอ้น้อง” ประทีปเดินออกมาจากกองบรรณาธิการส่งซิกกวักมือให้เดินตามลงไปขึ้นรถเก๋ง ยี่ห้อโตโยต้า รุ่นดีเอ็กซ์ สีน้ำตาลทอง ระหว่างนั่งรถออกจากโรงพิมพ์ไปไหนไม่รู้ แกแทบไม่ได้สนทนาอะไรกับผม หรือคนขับรถเลย มีเพียงเสียงวิทยุตำรวจดังกังกวนดับความวิเวกวังเวงในรถตระเวนข่าวได้ไม่น้อย

เมื่อเขาไม่พูด ผมก็ไม่ถามตามสไตล์คนพูดน้อยอยู่แล้ว

“เป็นรุ่นน้องไอ้เจ้าเอ้มันหรอ”ประโยคแรกหลุดออกมาจากปากพี่เขาทำเอาผมใจชื้นขึ้นมาหน่อย

“ครับ”

“เจ้าเอ้มันเก่งนะ มาฝึกงานอยู่กับพวกพี่”

“หรือครับ” ผมตอบได้แค่นั้น เพราะผมเองไม่เคยรู้จักพี่สาวคนนั้นเลย

“แล้วนี่อยากเป็นนักข่าว หรือมาฝึกเล่น ๆ ล่ะ”

ผมเจอคำถามกดดัน

“ลองมาฝึกดูก่อนครับ”

ประทีปยังไม่ทันสนทนาต่อ รถตระเวนข่าวก็แวะมาจอดอยู่หน้าโรงพักบางซื่อ

“ฝากหยิบหนังสือพิมพ์ลงมาด้วย” แกชี้ไปที่กองหนังสือพิมพ์หนาปึกที่อยู่เบาะหลังข้างตัวผม

ผมคว้าหนังสือพิมพ์ไปแค่ไม่กี่เล่มเดินลงตาม

“เฮ้ย หยิบมาหลายเล่มเลยแล้วเอาไปแจกตามโต๊ะ”นักข่าวหัวเห็ดทำเสียงดุก่อนอธิบายขยายความว่า ควรจะเอาหนังสือพิมพ์ไปแจกใครบ้าง เริ่มตั้งแต่สิบเวร ร้อยเวร ห้องวิทยุ ตำรวจหน้าห้องขัง รวมไปถึงห้องสืบสวน ห้องสายตรวจ หรือแม้กระทั่งห้องสารวัตรใหญ่

“เวลาเอาหนังสือไปให้ก็พยายามถามซอกแซกไปด้วยว่า มีข่าวอะไรบ้างหรือเปล่า”หนุ่มมากประสบการณ์ตระเวนข่าวเริ่มตำราเรียนบทแรก

ผมอดเขินไม่ได้ด้วยความที่ขี้อายเป็นนิสัยติดตัวมาตั้งแต่วัยเด็ก เวลาเอาหนังสือพิมพ์ไปแจกตามโต๊ะก็ปากหนักไม่ได้เอ่ยทักทายใครสักคน ใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีร่อนหนังสือพิมพ์กรอบบ่ายของไทยรัฐจนหมดทุกจุดตามสั่ง

“มีอะไรบ้างหรือเปล่า” ประทีปทำทียืนรออยู่หน้าโรงพักเหมือนจะปล่อยนกน้อยหัดบินหันมาถาม

“ไม่มีครับพี่”

“ก็เอ็งไม่ถามแล้วจะรู้ไหมล่ะ”

พี่แกดักคอแล้วเดินลงไปขึ้นรถไม่พูดไม่จาต่อ ผมถึงกับตัวชาเดินตามเข้ารถแล้วนั่งเงียบ บรรยากาศในรถยังคงอยู่สภาพไม่แตกต่างตอนออกมาจากโรงพิมพ์

“การจะเป็นนักข่าวต้องซอกแซก อยากรู้อยากเห็น ช่างสังเกต หมั่นสร้างมนุษย์สัมพันธ์กับพวกตำรวจโรงพัก หาเรื่องคุยไปเหอะ สัพเพเหระไปเรื่อย ไม่จำเป็นต้องคุยเรื่องเป็นข่าวเสมอไป อนาคตถ้าเขาคุ้นเคยกับเราแล้ว บางทีมีอะไรเขาก็จะบอก” พ่อหนุ่มนักข่าวร่ายคำสอนยาว

“ครับ” ผมรับคำเดียว

สีหน้าเขากลับเรียบเฉยหันไปมองวิวข้างถนนผ่านทะลุกระจกซ้าย

“ฟัง ว.เป็นไหม”

“พอเป็นครับ พ่อผมเป็นตำรวจ กรอกเข้าหูมาแต่เด็กแล้ว”

“เออดี” เริ่มมีรอยยิ้มปรากฏบนหน้าเขาบ้างแล้ว “ของเราใช้รหัสสายฟ้า 04 ข่ายพระนครของมูลนิธิร่วมกตัญญูนะ ถ้าเป็นข่ายกรุงเทพของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊งให้ใช้รหัส วี 60 เหนือ ใต้ ธน หรือชานเมืองตามเขตที่ตระเวนเรียกเวลาจะถามเหตุ ส่วนข่ายในโรงพิมพ์ของเราจะใช้รหัส 604 พอเข้าใจไหม”

“ครับพี่”

ก้าวแรกในทางแยกข่าวของผมชักจะไม่แน่ใจแล้วว่าเลือกมาถูกหรือเปล่า

RELATED ARTICLES