“การทำข่าวลงพื้นที่ทำให้โลกเราไม่แคบ”

ด้วยบุคลิกเป็นสาวผิวขาวบอบบางไม่ค่อยชอบเจรจา

ใครจะเชื่อว่า “นุชนาถ เสนีย์โกศล” เป็นคนข่าวสายอาชญากรรมมากประสบการณ์ของสถานีโมเดิร์นไนน์ ทีวี

เธอเกิดที่กรุงเทพฯ ในครอบครัวนักธุรกิจโรงงานทำน้ำตาลกรวด ย้ายตามพ่อแม่ไปเรียนประถม 6 ที่จังหวัดลำพูน ก่อนกลับเข้าเมืองหลวงมาอยู่เป็นเพื่อนย่าศึกษาชั้นมัธยมต้นโรงเรียนวัดอินทารามแล้วย้อนคืนเหนือไปจบมัธยมปลายโรงเรียนจักรคำคณาทร จังหวัดลำพูน

ฝันอยากสานต่อธุรกิจครอบครัว แต่ตอนหลังเลือกเรียนคณะมนุษยศาสตร์ สาขาภาษาไทย มหาวิทยาลัยพายัพ มองเป้าอนาคตคงเป็นครู แต่ลึก ๆ ยังอยากช่วยทำงานที่บ้าน ทั้งที่พ่อแม่ไม่บังคับ “จริง ๆ แล้วนุชก็ไม่อยากเป็นครูหรอกนะ เพราะเชื่อว่า เด็กนักเรียนคงไม่ฟังเรา อยากทำธุรกิจมากกว่า” พิราบสาว อสมท ย้อนอดีตด้วยเสียงหัวเราะ

เหมือนชีวิตขีดเส้นทางเดินไว้ หลังนุชนาถจบปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยพายัพไม่นาน จังหวะนั้นน้ารู้จักกับคนที่ อสมท เลยทาบทามลองให้มาทำงานดู เจ้าตัวเล่าว่า  เรียนจบพอดี ก่อนหน้าก็ไม่เคยฝึกงานข่าว ไม่เคยนึกเป็นนักข่าว เขาลองให้มาทำดู เริ่มฝึกทำที่นี่เลย พอถูกชวนก็รู้สึกว่า อยากลอง อยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไร ยากเหมือนกัน เพราะเราไม่ค่อยพูด เป็นคนเงียบ ๆ ไม่น่าจะทำได้ บุคลิกไม่ได้ เขาให้เลือกระหว่างสายสังคม กับสายอาชญากรรม เราเลือกลงทำข่าวอาชญากรรมเลย คิดว่า น่าจะมีอะไรให้ทำมากกว่า คงตื่นเต้นดี ถ้าทำสายสังคมต้องไปนั่งฟังสัมมนา เราไม่ชอบ หลายคนก็งง หน้าตาแบบนี้จะทำได้หรือ ไม่กลัวหรือ เราไม่กลัว

นุชนาถฝึกทำข่าวครั้งแรกโดยมี “สน”สุณัฐชา คำแถม นักข่าวสาวรุ่นพี่เป็นติวเตอร์ ประเดิมด้วยการเจอข่าวคนกระโดดตึกตายสยอง  เธอบอกว่า รู้สึกเฉย ๆ ไม่คิดว่า ตัวเองเลือกผิด เพราะเป็นคนไม่กลัวอยู่แล้ว ไม่ได้กลัวเลือด ไม่ได้กลัวผี แต่ไม่อยากเจอนะ ปรับตัวอยู่ไม่กี่เดือน อยู่ไปอยู่มาก็ชิน ผ่านสนามข่าวมากมาย หนักสุดเห็นจะเป็นข่าวสถานการณ์ม็อบพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่เริ่มปะทุตั้งแต่ก่อนปฏิวัติรัฐประหารโค่นอำนาจรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ตามด้วยผู้ชุมนุมเสื้อแดงในนามกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ

สาวโมเดิร์นไนน์ ทีวียอมรับว่า เหนื่อย และเบื่อ อยากให้การชุมนุมจบเร็ว ๆ แต่ก็ต้องทำเพราะเป็นหน้าที่ ทำข่าวม็อบนอนอยู่ริมถนน เฝ้าอยู่กองบัญชาการตำรวจนครบาล เจอมาหมด ยิ่งมาตื่นเต้นมากตอนม็อบเสื้อแดงปี 2553 เพราะต้องวิ่งหนีกระสุน หลบระเบิดในวันที่รัฐบาลสลายการชุมนุม มีความรู้สึกว่า มันเป็นหน้าที่ จำเป็นต้องทำ แต่ที่บ้านอยากให้ลาออกตอนนั้นเลย เพราะรู้สึกว่า อันตราย มีนักข่าวโดนลูกหลง เห็นภาพข่าวแล้วดูมันรุนแรง น่ากลัว เลยบอกให้ลาออก มันอันตราย ระเบิดจริง กระสุนจริง แต่ตัวเราเฉย ๆ สนุกมากกว่า มีเพื่อนอยู่ด้วยกันเยอะ ไม่ได้น่ากลัวขนาดนั้น

“ที่บ้านจะให้ออกอย่างเดียว สุดท้ายเขาก็บังคับเราไม่ได้ ความจริงเขาก็ไม่อยากให้ทำงานแบบนี้ เพราะมันทำงานไม่เป็นเวลา กลับบ้านดึก ๆ ดื่น ๆ ก็มองว่าอันตราย เราเป็นผู้หญิงด้วย แต่ตอนนี้เรายังสนุก การทำข่าวลงพื้นที่ทำให้โลกเราไม่แคบ ได้เจอคนนั้น คนนี้ ตอนแรกนุชตั้งใจจะทำงานข่าวประมาณ 5 ปี แล้วจะลาออก เหมือนอยากได้ประสบการณ์แล้วกลับไปช่วยงานที่บ้าน หรือหาธุรกิจอย่างอื่นทำ แต่ทำไปทำมาอยู่ยาว เริ่มติดใจ เจออะไรใหม่ ๆ ทุกวัน มีคดีโน้นคดีนี้ให้ทำ เพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกันก็ยังทำอยู่ แต่คงไม่ยึดอาชีพนี้ไปตลอดจนแก่ กะทำอีกสักพัก กำลังมองธุรกิจส่วนตัวทำ” นุชนาถวางอนาคต

เธอว่า การเป็นนักข่าว ทำให้เราได้เปิดโลกตัวเองมากขึ้น มีมุมมองมากขึ้น แต่พยายามทำตัวเป็นสื่อกลางด้วยการเสนอข้อเท็จจริงให้ประชาชนเห็น และรับรู้มากขึ้น เราต้องมีความเป็นกลาง ไม่ใช่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะรู้จักตำรวจคนนี้ หากเขาทำผิด เราก็ต้องเสนอไปตามข้อเท็จจริง ไม่ได้เข้าข้าง เหมือนคดีทั่ว ๆ ไป

ส่วนปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองที่ทำให้เกิดความแตกแยกลุกลามไปหลายวงการ นุชนาถเห็นว่า ตรงนี้ขึ้นอยู่กับตัวบุคคล สำหรับเราไม่ได้เลือกข้างใดข้างหนึ่ง แต่ยืนอยู่ตรงกลาง องค์กรสื่อก็มีส่วนบ้าง แต่เราไม่ได้เอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แม้ในองค์กรก็มีสองฝักสองฝ่ายอยู่แล้ว แล้วแต่ใครจะชอบฝ่ายไหน ไม่ชอบฝ่ายไหน ทว่า เรากลับเฉย ๆ รับฟังได้หมด ใครจะพูดอะไรมา เราก็ฟัง ไม่ได้โต้เถียง และยังสนุกกับมันอยู่

ประสบการณ์ในสนามข่าวที่ผ่านมา เธอบอกว่า ได้เพื่อน ได้เจออะไรที่ไม่คิดว่า เราจะได้เห็น เช่น แรก ๆ มาทำ อยากรู้เขาทำอะไรกันอย่างไร เราเป็นผู้หญิง บางสถานที่เราไม่สามารถเข้าได้ อย่างอาบอบนวด เรามาทำข่าวก็มีโอกาสได้เข้าไปเห็นว่า ข้างในมันเป็นยังไง สมัยนั้นตามรัฐมนตรีเข้าไปตรวจ ถ้าปกติชีวิตประจำวันเราไม่สามารถเข้าไปได้อยู่แล้ว เพราะเราเป็นผู้หญิง เช่นเดียวกับอีกหลายสถานที่ แม้กระทั่ง โรงแรมม่านรูดช่วงที่ตามตำรวจไปตรวจในเทศกาลวาเลนไทน์ ได้มีมุมมองอะไรมากขึ้น เจออะไรหลากหลาย เจอคนมากมายสารพัด ทั้งผู้ต้องหา ตำรวจ ผู้เสียหาย มีหมด ทั้งคนดี คนไม่ดี

“การทำข่าวสายอาชญากรรมยังเหมือนเป็นครูที่ให้ความรู้เราไม่ต้องตกเป็นเหยื่ออาชญากร ทำให้รู้ว่า แก๊งมิจฉาชีพมีวิธีอย่างไรในการหลอกลวง มันทำให้นุชระมัดระวังมากขึ้น ทำให้เราโตขึ้น จากเป็นคนเงียบ ๆ ไม่ค่อยพูด กลายเป็นคนช่างพูดมาบ้าง กล้าแสดงออกมากขึ้น” สาวโมเดิร์นไนน์ทิ้งท้าย

RELATED ARTICLES