สวมเครื่องแบบเกือบ 6 ปี ไม่เคยส่งข่าวคราวให้ทางบ้านรับรู้ และเราก็ไม่ได้รู้ข่าวคราวทางบ้านเลย เหมือนอยู่คนละซีกโลก เตี่ยแม่ไม่ซักไซ้สอบว่าไปยังไงมายังไงถึงได้เอียงกระเท่เป็นนกปีกหัก ครอบครัวผมไม่ค่อยเคร่งครัดเรื่องจุกจิกจู้จี้
เตี่ยต้องออกจากงานเพราะป่วยด้วยโรคเบาหวาน อาการหนักหนาเพราะอยู่ในขั้นสุดท้าย แม่ต้องแยกจากบ้านยายมาเช่าบ้านที่หลังวัดพระศรีมหาธาตุตอนเช้าแม่หุงหาอาหารแล้วไปขายผ้าในตลาดบนเมือง ตกเย็นก็กลับมาพร้อมอาหารสำเร็จรูป ไม่เคยหยุดแม้แต่วันเดียว
แม้จะเจอความทุกข์สองเด้งติดกัน ผมก็ถือว่าโชคดีที่มีโอกาสดูแลเตี่ย เรื่องจะทำมาหากินเก็บพับไว้ก่อน เตี่ยนอนชั้นล่างเพราะสะดวกกับการเข้าห้องน้ำ ผมกับแม่นอนขั้นบน บางวันเตี่ยเดินไปออกกำลังขานอกบ้าน แต่ต้องพกลูกอมไปด้วย ถ้าร่างกายขาดน้ำตาลจะเกิดอาการวิงเวียนหน้ามืด เตี่ยต้องเอาลูกอมใส่ปากทันที อาหารการกินของเตี่ยก็ต้องให้มีแป้งน้อยที่สุด ข้าวนี่แหละเป็นตัวสร้างน้ำตาล ต้องให้เตี่ยกินถั่วเหลือง สลับวุ้นเส้นและข้าวต้ม
ก่อนเตี่ยตาย เตี่ยเอ่ยปากขอกินเต้าส่วนซึ่งเตี่ยชอบ แม่ซื้อใส่ชามขนาดใหญ่ เตี่ยกินหมด เพราะตอนหลังเตี่ยอาการทรุดจึงไม่เข้มงวดกับอาหาร เตี่ยอยากกินอะไรก็ให้กิน
เช้าวันหนึ่ง ผมตื่นลงมาชั้นล่าง เห็นมือขวาเตี่ยยื่นออกมานอกมุ้ง เข้าไปดูใกล้ ๆ เตี่ยสิ้นใจแล้ว เตี่ยคงหิวน้ำยื่นมือออกมาจะหยิบแก้วน้ำที่วางไว้ข้างเตียง แต่…..เอื้อมไม่ถึง
บวชเณรหน้าไฟให้เตี่ย อุทิศกุศลอันน้อยนิดให้เตี่ย ค่ำนั้นผมไปนั่งหน้าเมรุเห็นไฟในเตายังลุกแดง ตั้งแต่ผมเกิดจนเตี่ยตาย ผมไม่ได้ทดแทนบุญคุณให้เตี่ยเลย ได้แต่ภาวนาขอให้เตี่ยขึ้นสวรรค์ หรือถ้าสวรรค์ไม่มีจริง หรือถ้าบุญกรรมยังเวียนว่าย เกิดแล้วตาย ตายแล้วเกิด ชาติขอให้เป็นลูกของเตี่ยอีก
วันรุ่งขึ้นหลังเก็บกระดูกเอาไปบรรจุในช่องกำแพงวัด เสร็จพิธีกรรมเรียบร้อยผมก็สึก ส่องกระจกมองตัวเอง ต่อนี้ไปจะเริ่มนับหนึ่งอีท่าไหน
หยิบอดีตเกือบ 7 ปีที่สวมเครื่องแบบทหารยานเกราะที่มีทั้งสุขสดชื่นและระทมขมขื่น โยนใส่ถังขยะ ลาก่อน “หมวกเบเร่ต์สีดำ” มนต์ขลังที่ดึงเด็กหนุ่มมากมายหลายร้อยหลายพันคน ไม่ว่าราชนิกูล หรือคนธรรมดาสามัญ เข้าไปเป็นนักเรียนนายสิบยานเกราะ ซึ่งมีทั้งหมด 14 รุ่น ส่วนใหญ่ไปไกลแค่พันเอก สมัยนั้นไม่มีเออร์ลี่รีไทร์ ไม่ยังงั้นจะมีพลตรีมาจากนักเรียนนายสิบยานเกราะชนิดเดินชนกันช่อชัยพฤกษ์กระจาย
ที่ไปไกลถึงดวงดาวได้เป็นนายพลก็มี พลโทประจวบ วีระเสนีย์ (ยานเกราะรุ่น 1) พลตรีสมจิตร บุณยทรรพ (รุ่น 1) พลตรีพิจิตร โอภาสชาติ (รุ่น 2) พลเอกเอกจิตต์ ติณสูลานนท์ (รุ่น 3) พลโททวี มาพงษ์ (รุ่น 3) พลตรีเจริญ กายแก้ว (รุ่น 3) พลตรีบุญฤทธิ์ เจริญราช (รุ่น 3) พลโทสุวินัย บริบูรณางกูร (รุ่น 5) พลโทโกศล จีนะวัฒน์ (รุ่น 6)พลตรีชุมพล ธรรมมิตร (รุ่น 7) พลตรีสุชาติ สุริยะวงศ์ (รุ่น 9) พลตรีปัญญา เลาวห์ทวี (รุ่น 13) พลอากาศตรี ศิลปชัย โกสิยารักษ์ (รุ่น 13) และพลโทพงษ์พัฒน์ เจริญพงษ์ (รุ่น 14)
ราชนิกูลก็มี หม่อมหลวงกิตติเกษม เกษมสันต์ (ยานเกราะรุ่น2) หม่อมเจ้าทิพยฉัตร ฉัตรชัย (รุ่น 3) หม่อมราชวงศ์กำลูนเทพ เทวกุล (รุ่น 5) หม่อมหลวงสัตยา สุบรรณ (รุ่น 5) หม่อมหลวงสมบูรณ์จรัส สุบรรณ (รุ่น 5) หม่อมหลวงทวนทอง ทองแถม (รุ่น 10) หรืออย่าง รุจน์ รณภพ (รุ่น 5) พุทธนาถ พหลพลพยุหเสนา (รุ่น9) ลูกชายคนสุดท้องของอดีตนายกรัฐมนตรีพลเอกพหล พลพยุหเสนา ต้องมนต์ขลังเป็นสาวก “เบเร่ต์ดำ” ทั้งสิ้น
เมื่อถูกคำสั่งให้หมวกถอดเบเร่ต์ดำ ความรู้สึกของยานเกราะทุกคนที่ถูกส่งไปอยู่ศูนย์การฝึกกำลังทดแทนค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรีประจวบคีรีขันธ์ เหมือนกันหมด เหมือนกับถูกถอดเครื่องแบบยานเกราะแล้วคนอย่างผมจะทนทานต่อสภาวะที่ถูกกดดันต่อไปได้ยังไง
แม้จะทิ้งอดีตใส่ถังขยะไปแล้ว แต่ในใจของผมมันยังสับสนไม่นิ่ง ไม่เหมือนตอนห่มผ้าเหลืองบวชเณรหน้าไฟให้เตี่ย แม้จะเพียงข้ามคืนเดียว แต่ความรู้สึกมันบอกชัดว่า เย็นกายและสบายใจ
มีทางเดียวที่จะทำให้ใจนิ่งสงบ คือ ต้องหันไป “พึ่งผ้าเหลือง” เมื่อไม่ได้เป็นสาวกเบเร่ต์ดำก็ขอเป็น “สาวกของพระพุทธเจ้า”
ผมบวชที่วัดเสาธงทอง อ.เมืองลพบุรี ไม่มีพิธีรีตองอะไร โกนหัวแล้วเข้าวัด เพื่อนฝูงที่ลพบุรีกระจัดกระจายไม่รู้อยู่ที่ไหนบ้าง แม่ก็ไม่ได้บอกใครนอกจากญาติ ไม่มีการทำขวัญนาค ไม่มีกลองยาวไม่มีเสียงโห่ฮิ้ว เดินวนรอบโบสถ์อย่างสงบครบ 3 รอบก็เข้าโบสถ์
พิธีสำคัญและศักดิ์สิทธิ์อยู่ในโบสถ์ ไม่ได้อยู่นอกโบสถ์เป็นพิธีการที่ทำให้คนธรรมดากลายเป็นพระภิกษุ “ หลวงพ่อพระธรรมารามมุนี” เจ้าคณะจังหวัดลพบุรีและเจ้าอาวาสวัดเสาธงทองเป็นพระอุปัชมาย์ “พระครูไหล” กับ “พระครูล้อม” เป็นพระคู่สวด
ผมนอนกุฏิหลวงพ่อพระธรรมารามมุนี เป็นตึกยาวสองชั้นเคยเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรม หลวงพ่ออยู่ชั้นล่างปีกซ้าย พระครูล้อมอยู่ห้องชั้นบนปีกขวา ผมอยู่ห้องโถงขั้นบนเป็นห้องกว้าง มีพระพุทธรูปหลายสิบองค์อยู่ในห้องกระจก มีขวดโหลขนาดใหญ่ใส่กระดูกคนตายวางเรียงรายในห้อง
นอกจากกลัวความสูงแล้ว ผมยอมรับเป็นคนกลัวผี อยู่คนเดียวในห้องโถงกว้างแม้จะวังเวงก็ต้องเอาใจเอาผ้าเหลืองเข้าสู้ ผีมันจะเก่งกว่าพระได้ยังไง สุดท้ายผมก็อยู่ได้ไม่หวาดกังวลอะไรทั้งสิ้น แม้กระทั่งอาหารการกินผมบอกกับแม่ไม่ต้องส่งปิ่นโตมาให้ แม่จะได้มีเวลาขายผ้าไม่ต้องห่วงพระลูกชาย ผมอาศัยบิณฑบาตไม่เดือดร้อนยานเกราะเขามอบความแข็งแกร่งและความอดทนอดทนให้ผมมาเต็มพิกัด
ผมถูกทดสอบจิตใจทั้งทางตรงทางอ้อม หลวงพ่อคงเห็นอาการกลัวผีของผม วันหนึ่งท่านใช้ไปหยิบหมอนใต้บันไดก็บันไดที่ผมขึ้นลงอยู่ทุกวันนั่นแหละ ใต้บันไดมีโลงศพวางอยู่ ครั้งแรกผมก็ผงะ แต่พอรู้ภายหลังเป็นโลงเปล่าไม่มีศพก็เลยเฉย ๆ ผมไปดูใต้บันไดไม่เห็นหมอนก็กลับมาบอกหลวงพ่อว่ามีแต่โลง หลวงพ่อพูดเนิบ ๆว่า หมอนอยู่ในโลงนั่นแหละ จำใจต้องไปเปิดโลง ไม่มีศพก็จริงแต่มีหมอนวางอยู่ แข็งใจหยิบหมอนไปให้หลวงพ่อ ท่านรับไว้ไม่พูดอะไร แสดงว่าผมสอบผ่านด่านแรก
วัดเสาธงทองอยู่ในตลาด ทุกปีมูลนิธิการกุศลจะจัดแสดงงิ้วเป็นงานใหญ่ บริเวณวัดไม่กว้างขวางเท่าใด ร้านค้าส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารจึงตั้งกันทั่วไปตามพื้นที่ว่าง ร้านขายหอยทอดตั้งหน้ากุฏิผม กลิ่นโชยตามลมเข้าจมูกมันส่งสัญญาณไปถึงน้ำย่อยในกระเพาะต้องข่มใจข่มตากลืนน้ำลายจนกระทั่งหลับ ไม่ได้ยินเสียงงิ้ว ไม่ได้กลิ่นหอยทอด ผมสอบผ่านอีกด่าน
ครบ 3 เดือนออกพรรษาผมยังไม่สึก กำลังเย็นกายสบายใจเลยอยู่ต่อ ไม่เห็นจะเสียเวลาอะไร ทีเสียเวลาอย่างอื่นทำไมเสียได้ ชาร์ตแบตเตอรี่ครบ 1 ปีก็สึก พระที่บวชเกิน 1 พรรษา เวลาสึกหาลาเพศมักจะอ้างว่า “ผ้าเหลืองร้อน” แต่สำหรับผม “ผ้าเหลืองเย็น”ไม่เชื่อลองไปถาม “พระอาจารย์มิตซูโอะ” ผ้าเหลืองไม่ได้ร้อนซักหน่อย แต่ใจท่านร้อนต่างหาก
พระอาจารย์มิตซูโอะท่านสึก เพราะต้องการครองชีวิตทางโลกในวัย 62 หลังจากบวชมากว่าครึ่งชีวิต ผ้าเหลืองคงไม่ร้อนอะไรหรอก เหมือนกับผมที่พร้อมก้าวสู่โลกกว้างอีกครั้ง
พ.ศ.2505 ลพบุรียังไม่มีหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น แต่มีหนังสือพิมพ์จากจังหวัดสระบุรีชื่อ “สระบุรีสาร” มาขายในวันออกลอตเตอรี่ คุณสนั่น หัตถโกศล เป็นเจ้าของและบรรณาธิการ รูปเล่มขนาดแทบลอยด์ไม่กี่หน้า ข่าวสารหนักไปทางข่าวแจกของทางราชการ และข่าวสังคม หน้าหลังเป็นผลการออกสลากกินแบ่งรัฐบาล
ผมเขียนข่าวสังคมในจังหวัดลพบุรีส่งไปให้ ขณะเดียวกันน้าชายผมซึ่งเป็นนักข่าวของ “เดลินิวส์” ไม่ค่อยมีเวลาว่าง เพราะรับราชการทหารยศนายพันเลยถ่ายโอนให้ผมเป็นนักข่าวของเดลินิวส์แทน เป็นหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ที่มีชื่อ “แนวหน้าแห่งยุคเดลินิวส์” คำว่าแนวหน้าแห่งยุค เป็นตัวหนังสือเล็กอยู่มุมแถวบน แต่คำว่าเดลินิวส์ตัวใหญ่เบ้อเริ่มจึงเรียกกันติดปากว่าเดลินิวส์สำนักงานอยู่ถนนสี่พระยา คุณศรีพนม สิงห์ทอง เป็นหัวหน้าข่าวต่างจังหวัดไม่เคยเจอหน้าค่าตากันเลย เพราะค่าข่าวส่งทางธนาณัติ
สระบุรีสารขายดีในลพบุรี คุณสนั่นซึ่งผมเรียกว่า “บก.หนั่น” จึงสยายปีกมาตั้งโรงพิมพ์ที่ตัวเมืองลพบุรีอยู่ตรงข้ามศาลลูกศร ถนนพระราม ชื่อ “หัตถโกศลการพิมพ์” เข้าวันลอตเตอรี่ออกก็ส่งหนังสือพิมพ์จากสระบุรีมาพิมพ์ ผลการออกสลากที่ลพบุรี ทำให้รวดเร็วขึ้นความนิยมก็เพิ่มขึ้น เพราะแต่เดิมพิมพ์ผลการออกสลากที่สระบุรี จากนั้นจึงส่งมาลพบุรีทางรถเมล์
สุดท้าย บก.หนั่นให้ผมไปทำสระบุรีสารที่สระบุรีร่วมกับ “เชิดศักดิ์ ลิขิตปัญญาวัฒน์” “วิเชียร ทองรักษาวัฒนา” ที่ลพบุรีก็มี “ปรีชา กุลปรีชา” “สมพงษ์ ทองสุข” ช่วยกันสร้างสรรค์สระบุรีสาร
หลังลอตเตอรี่ออก 7 วัน ผมไปสระบุรีทำหนังสือพิมพ์สระบุรีสาร กินนอนบ้านบก.หนั่น ตรงข้ามการประปาสระบุรี หลังบ้านเป็นโรงพิมพ์ อยู่ 3 วันจนหนังสือเสร็จผมก็กลับลพบุรี หาข่าวส่งเดลินิวส์ ส่วนใหญ่เป็นข่าวอาชญากรรม
การส่งข่าวเข้ากรุงเทพฯ เมื่อโทรศัพท์ทางไกลยังไม่เกิด มีแต่โทรเลขซึ่งผมไม่นิยมใช้ จะส่งข่าวยาว ๆ ก็สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายของเดลินิวส์ และถ้าไม่ใช่ข่าวใหญ่ที่จะขึ้นหน้า 1 ได้ก็จะถูกหัวหน้าข่าวต่างจังหวัดตำหนิ แต่ผมมีวิธีส่งข่าวเข้ากรุงเทพฯได้ รายละเอียดจะเล่าให้ฟังฉบับหน้า
ผมกลับมาอยู่บ้านเกิดทำงานทั้งหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น และส่วนกลางบอกได้คำเดียวว่า “สนุกมาก” ชีวิตเต็มไปด้วยสีสัน รสชาติผิดกับตอนเป็นทหารเยอะแยะ “สระบุรีสาร” ปีกกล้าขาแข็งทุกเดือนทุกปี บก.หนั่นสั่งสยายปีกจากลพบุรีไปชิมลางที่ อ.ตาคลี นครสวรรค์ ซึ่งยุคนั้นตาคลีมีผู้คนไปรวมกันที่นั่นมากมาย เพราะทหารอเมริกันจากสงครามเวียดนามมาพักผ่อนที่ตาคลี เลยปลุกตาคลีให้เป็นเมืองคึกคัก ดอลลาร์ปลิวว่อน สุดแล้วแต่ใครจะไขว่คว้า
จี.ไอ.ที่ดูแลเรดาร์บนยอดเขาลงมาย่ำราตรีในตัวเมือง ขากลับจ้างสามล้อไปส่งตกลงราคา 100 บาท ไม่ต้องบอกว่า 100 บาทสมัยนั้นเท่ากับกี่พันบาทในปัจจุบัน ฝรั่งตัวใหญ่นั่งสามล้อได้คนเดียว สารถีปั่นไม่ไหวต้องใช้วิธีจูง ฝรั่งนึกสนุกลงจากรถแล้วให้สารถีขึ้นไปนั่งแทน พวกเขาหัวเราะชอบใจเพราะไปกันหลายคัน แถมฝรั่งยังแข่งขันกันด้วย ใครถึงยอดเขาก่อนเป็นผู้ชนะ เป็นเจ้ามือเลี้ยงฉลองชัยในวันรุ่งขึ้น
ที่ตาคลี มีนักข่าวไทยรัฐเป็นเจ้าของโรงพิมพ์ “คุณสงวน บูรพานนท์” อาสาทำตลาดให้ ผมต้องเร่งทำหนังสือพิมพ์ให้เสร็จกว่ากำหนดเดิม เพราะต้องส่งหนังสือไปพิมพ์ผลสลากกินแบ่งที่โรงพิมพ์คุณสงวน
ตาคลีไปได้สวย บก.หนั่นสั่งบุกตัวจังหวัดนครสวรรค์อีก “คุณประวิทย์ ลีลาไว” เป็นโต้โผ มี “คุณเผด็จ” จำนามสกุลไม่ได้เป็นกำลังสำคัญ
สุดท้ายไปไม่รอด แม้จะมีข่าวสารของตาคลีและนครสวรรค์อยู่ในฉบับ ส่งไปเท่าไหร่ก็ขายหมด แต่ระยะทางจากสระบุรีไปตาคลีไปนครสวรรค์มันไกลเกินไขว่คว้าในยุคที่การคมนาคมและการสื่อสารไม่สะดวกจึงต้องถอยร่นยึดหัวหาดที่ลพบุรีแห่งเดียว แต่ก็จารึกในประวัติศาสตร์หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นได้ว่า สระบุรีสารขยายอาณาจักรไปไกลนับร้อยกิโลเมตร.