ก้าวที่ 13  พระบารมีดับร้อน

 

“แกจะไปหรือไม่ไป ปุ๊ย” ผมถามคำยืนยันจากเพื่อนสาวให้แน่ใจอีกครั้ง

วรางคณา ชนะภัย ยังกระต่ายขาเดียวขออยู่เป็นศพวีรสตรีผู้รักประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน

ผมจัดแจงคว้าข้อมือเธอแล้วกระฉากพาวิ่งไปตามถนนดำรงรักษ์ผ่านสถานีดับเพลิภูเขาทอง เพื่อนผมพยายามฝืน แต่ไม่อาจหยุดแรงอันบ้าคลั่งของผมได้

เสียงปืนยิงดังใกล้ไล่หลังเข้ามาทุกที

“วิ่งเร็ว” ผมบอกเธอ

การวิ่งหนีห่ากระสุนทหารครั้งนั้น ผมไม่ได้กลัวตาย ผมแค่คิดว่า ผมไม่จำเป็นต้องเอาชีวิตมาแลกกับประชาธิปไตยจอมปลอมที่ผู้จุดชนวนเหตุอยู่บนภูดูความชิบหายของประเทศ ผมถอยเพื่อไปตั้งหลักใหม่ไว้ก้าวกลับมาในฐานะฐานันดร 4 ตรวจสอบความเป็นไปของบ้านเมืองดีกว่า

“ไปสะพาน 3 ครับ” ผมโบกแท็กซี่ก่อนยัดแม่เพื่อนสาวเข้าไปนั่ง

นักกิจกรรมหญิงนั่งเงียบน้ำตาซึมตลอดทางไม่พูดไม่จา

“อย่าโกรธกันนะ กลับเข้าพักผ่อนแล้วไม่ต้องทะลึ่งออกไปอีกล่ะ” ผมว่า

เพื่อนสาวหันมายิ้มพยักหน้า

“อนาคตข้างหน้า แกต้องขอบคุณชั้น เพราะชั้นช่วยชีวิตแก” ผมกระเซ้าแหย่เอาบุญคุณ

เสร็จสรรพจากการส่งเพื่อนหัวใจรักประชาธิปไตย ผมให้แท็กซี่มาส่งต่อบ้านวิทยาเขตเทคนิคกรุงเทพ ลงจากรถด้วยความอ่อนเพลียเวลาประมาณเกือบ 10 โมงเช้าแล้ว

“กลับมาได้ยังไงลูก” แม่ผมถามด้วยสีหน้าตื่นเต้น “แม่เป็นห่วงรู้ไหม เป็นยังไงบ้างเหตุการณ์แล้วจะออกไปอีกหรือเปล่า ไม่ต้องแล้วนะ” แกสาดเป็นชุด

“ก็อย่างที่เห็นในข่าวแหละแม่”

ผมบอกสั้น ๆ แล้วขอตัวไปนอนพัก

รัฐบาลพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรีได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงเทพมหานครและให้ทหารทำหน้าที่รักษาความสงบด้วยการสลายกลุ่มผู้ชุมนุมเรือนแสนบนถนนราชดำเนิน มีการใช้กระสุนจริงกระหน่ำใส่โล่มนุษย์ของแกนนำผู้ชุมนุมร่วงกันระนาว

เวลา 15.30 นาฬิกา ของวันที่ 18 พฤษภาคม นาทีประวัติศาสตร์ที่ทหารเหยียบกองทัพมนุษย์ชาติเดียวกันเข้าไปควบคุมตัวพลตรีจำลอง ศรีเมือง จากบริเวณที่ชุมนุมกลางถนนราชดำเนินกลางกลายเป็นภาพข่าวดังทั่วโลก

รัฐบาลออกแถลงการณ์หลายฉบับ ปล่อยข่าวทางโทรทัศน์ทุกช่องยืนยันว่า การเข้าสลายฝูงชนไม่มีการเสียชีวิตของประชาชน

แต่การชุมนุมต่อต้านของประชาชนยังไม่สิ้นสุด และเริ่มส่งสัญญาณส่อเค้าปะทุความรุนแรงมากขึ้น เมื่อผู้ชุมนุมที่ยังอยู่บนถนนราชดำเนินหลายหมื่นคนรวมตัวกันเผาทำลายสถานที่ราชการ เสียงปืนดังต่อเนื่อง

นักข่าวช่างภาพทุกสำนักโดนกันออกนอกบริเวณไม่ให้บันทึกวินาทีอำมหิตของรัฐบาลเผด็จการทหาร ใครฝ่าฝืนอวดเก่งเจอพานท้ายปืนเข้ากรามเจ็บกระอักกระอ่วนกันเป็นแถว จากนั้น รัฐบาลได้แถลงการณ์ออกประกาศจับแกนนำม็อบอีก 7 คน ประกอบด้วย นายปริญญา เทวานฤมิตรกุล นายแพทย์เหวง โตจิราการ นายแพทย์สันต์ หัตถีรัตน์ นายสมศักดิ์ โกศัยสุข นางประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ นางสาวจิตราวดี วรฉัตร และนายวีระ มุสิกพงศ์ อ้างว่า บุคคลเหล่านี้ยังคงชุมนุมไม่เลิก

“เดี๋ยวพ่อจะไปทำงานนะ เข้าสั่งให้ดับเพลิงเตรียมพร้อม” พ่อผมแสดงถึงความวิตกกังวล

“ถ้าอย่างนั้น โต้งขอไปด้วย”  ผมสบช่องทันที

ตกเย็นสถานการณ์เริ่มสู่ภาวะตึงเครียด เริ่มมีหน่วยมอเตอร์ไซค์เอาธงชาติโพกหัวขี่ป่วนกรุงไล่ทุบสัญญาณไฟจราจร เผาป้อมตำรวจ

เมืองหลวงยกระดับเป็นแดนมิคสัญญี

ผมนั่งรถไปกับพ่อฝ่าความวุ่นวายเข้าไปถึงกองบังคับการตำรวจดับเพลิงที่อยู่ในรั้วเดียวกับกองบัญชาการตำรวจนครบาลสมัยนั้น เสียงวิทยุสื่อของตำรวจเกือบทุกข่ายถูกก่อกวนจากชายลึกลับที่โดนขนานนามว่า “ไอ้แหลม”

“ข่าวว่าพวกมันจะมาเผานครบาล” พ่อผมรู้โดยสัญชาตญาณ

เหตุการณ์พฤษภาทมิฬครั้งนี้มีภาพไม่แตกต่างตุลาวิปโยคในปี 2516 ต่อเนื่อง 6 ตุลาคม 2519 ที่ฝูงชนต่อต้านรัฐบาลเผด็จการบ้าคลั่งเผากรมประชาสัมพันธ์ ยันอาคารกองบัญชาการตำรวจนครบาลที่ขณะนั้นอยู่บนถนนราชดำเนินใกล้โรงพักนางเลิ้งในปัจจุบัน

ประเทศชาติเสียหายผู้คนตายกันเป็นเบื่อกลับไม่มีใครจำเอามันมาเป็นบทเรียน

“ว่าด้วยเรื่องของอำนาจแท้ ๆ” ผมคิด

ผมเคยซึมซับอ่านเรื่องราวของเหตุการณ์ตุลาเลือด ตอนนั้นผมยังเด็กมากที่ไม่สามารถแยกแยะความผิดถูก ถึงกระนั้น ผมก็เกลียดทหารฝังใจที่ทำไมต้องออกมาเข่นฆ่าคนชาติเดียวกัน

คืนที่ท้องฟ้าสีแดงฉานกลางกรุงเทพมหานคร ผมยืนอยู่ระเบียงแฟลตชั้น 4 ของตำรวจดับเพลิงบ้านเก่าที่จากมันไปนานนับสิบปี ถนนรอบกองบัญชาการตำรวจนครบาลเงียบผิดปกติ หน่วยอรินทราช 26 นำทีมโดยพันตำรวจเอกเริงชัย อิ่มสำราญ รองผู้บังคับการตำรวจสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ ตรึงกำลังซุ่มอยู่รอบรั้ว

ผ่านไปราว 3 ทุ่มเศษมอเตอร์ไซค์ฝูงใหญ่แผดเสียงเรียกท้าทายพญามัจจุราชพุ่งเข้ามาใกล้รั้วฝั่งกองบังคับการตำรวจดับเพลิงถนนพระราม 6 แสงไฟริมกำแพงปิดสนิท ความมืดมิดทำเหล่าบรรดาหน่วยกล้าตาย 2 ล้อชะล่าใจ

“ปัง ปัง ปัง ปัง ปัง….”

รถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งกลิ้งล้มไม่เป็นท่า เด็กหนุ่มนักบิดสังเวยชะตากรรมความโหดร้ายของปฏิบัติการนอกกฎหมายตายอยู่ข้างรั้วดับเพลิง

ผมมองภาพอย่างลุ้นระทึก มองแค่ว่า หากฝูงมอเตอร์ไซค์ไม่หยุดคลั่งแล้วยังยกกองกำลังมาท้าคมกระสุนหวังเผากองบัญชาการตำรวจนครบาล เฉกเช่น เหตุการณ์วิบัติประเทศในอดีตจะเกิดขึ้นอะไรกับผม เพราะแฟลตตำรวจดับเพลิงก็อยู่ในรั้วเดียวกัน

ข่าวการปะทะระหว่างทหารกับประชาชนในหลายทวีความรุนแรงมากขึ้นบนถนนราชดำเนิน แต่สื่อโทรทัศน์หลายช่องโดนปิดกั้นการฉายความจริงจากผู้ถืออำนาจใหญ่ของรัฐบาล พื้นที่หลายจุดทั่วกรุงเทพมหานครถูกกำหนดเป็นสถานที่เสี่ยงอันตราย

รถกระบะสีดำหลายคัน พร้อมชายชุดดำนั่งท้ายอาวุธครบมือซิ่งตระเวนรอบนอกเขตรับผิดชอบของทหารเหมือนจำกัดวงความร้อนระอุของอารมณ์ฝูงมนุษย์ไม่ให้เข้าทำลายสถานที่ราชการที่อาจลามถึงขั้นฉวยโอกาสปล้นสะดมทำร้ายคนบริสุทธิ์

พวกเขาเรียกตัวเองกันว่า “หน่วยไล่ล่า”

กองกำลังติดอาวุธชุดดำปฏิบัติการภารกิจต่างจากใบสั่งของกองทัพทหารบนถนนราชดำเนิน  หน่วยพิเศษกลุ่มนี้ถูกตั้งขึ้นเพื่อรักษาความสงบพื้นที่รอบนอกคอยต่อกรแก๊งมอเตอร์ไซค์ป่วนกรุงที่ไล่ทุบป้อมตำรวจ เผาสัญญาณไฟจราจร

ภารกิจแต่ละครั้ง พวกเขาไม่เคยกลับมามือเปล่า

“ไอ้สัตว์ มึงรีบเดินไปเลย” เสียงคำรามจากพันตำรวจเอกวินัย เปาอินทร์ ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครเหนือดังลั่นใต้ถุนกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ผมใช้สายตาบันทึกภาพความทรงจำอยู่บนระเบียงแฟลตแล้วนึกอยากลงไปร่วมสนุกด้วย ติดแค่ว่า เราเป็นเพียงนักข่าวตัวน้อยสังกัดใหม่ที่ยังไม่ได้วางแผง ขืนทะเล่อทะล่าย่างกายเข้าไปยามหน้าสิ่วหน้าขวานอาจถูกจามหน้าหักได้

นายตำรวจมือปราบอัดบุหรี่เต็มปอด แววตาเหี้ยมเกรียมเย็นชาเหมือนเคย เขาเอาเท้าถีบร่างวัยรุ่นเข้าเซฟเฮาส์ใต้ถุนตึกนครบาลทีละคนหลังพวกมันถูกคุมตัวลงจากรถกระบะ

“พวกมึงมันพวกป่วนเมือง อย่ามาบอกนะว่ารักประชาธิปไตย” เสียงผู้กำกับนักสืบยังดังลั่น

พันตำรวจเอกวินัย เปาอินทร์ ได้รับบทบาทสำคัญคุมชุดปฏิบัติการไล่ล่าของตำรวจนอกเครื่องแบบไปปัดกวาดเหล่าทรชนบนท้องถนนเคียงข้างชุดของอรินทราช 26 ตามคำสั่งพลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ พี่ชายที่ขณะนั้นรับนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยประคองฐานบัลลังก์ให้เพื่อนร่วมรุ่นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้าอย่างพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี

เช้าวันรุ่งขึ้น 19 พฤษภาคม 2535 เจ้าหน้าที่เริ่มเข้าควบคุมพื้นที่บริเวณถนนราชดำเนินกลางได้ พลเอกสุจินดา ออกหน้าจอโทรทัศน์แววตาผุดผ่องไม่สะทกสะท้านความเป็นไปที่เกิดขึ้น เขาแถลงการณ์ย้ำว่า สถานการณ์เริ่มกลับสู่ความสงบแล้ว และไม่ให้ประชาชนเข้าร่วมชุมนุมอีก

ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ คำประกาศกร้าวของผู้นำประเทศในวิกฤติเดือนพฤษภาเริ่มขาดความศักดิ์สิทธิ์ เกิดการรวมตัวของกลุ่มนักศึกษา และประชาชนใหม่ขึ้นที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง ก่อนออกแถลงการณ์เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออกจากตำแหน่งเพื่อรับผิดชอบต่อการเสียชีวิตของประชาชน สวนทางกับภาพสื่อของรัฐบาลที่ยังคงรายงานว่า ไม่มีการสูญเสียชีวิตของผู้ชุมนุม ทั้งที่สำนักข่าวต่างประเทศกระจายข่าวฉาวของการสลายการชุมนุม การทำร้ายประชาชนของรัฐบาลไทยไปทั่วโลก

หนังสือพิมพ์บางฉบับเริ่มกล้าแสดงจุดยืนไม่เกรงอำนาจเผด็จการตีพิมพ์ภาพการสลายการชุมนุมตอกย้ำความทมิฬในอำนาจมืด จนรัฐบาลต้องประกาศคำขู่ให้มีการตรวจและควบคุมการเผยแพร่ข่าวสารทางสื่อมวลชนอย่างเข้มงวด

“เผด็จการเต็มรูปแบบ” ผมคิดในใจ

ผมกลับเข้ามาบ้านเห็นข่าวจากสื่อโทรทัศน์แล้วสังเวชประเทศไทย

ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงตกตอนหัวค่ำเริ่มเป็นโฟกัสที่ต้องติดตาม หลังกลายเป็นสถานที่สุดท้ายที่ยังมีผู้ชุมนุมกลุ่มใหญ่รวมตัวกันหนาตา ประกาศจุดยืนสู้ไม่ถอยตราบใดที่รัฐบาลนายกฯสุจินดา คราประยูร ไม่ยอมลงจากเก้าอี้แสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ทมิฬที่เกิดขึ้น

กองกำลังทหารพร้อมอาวุธได้รับคำสั่งเตรียมพร้อมสลายมนุษย์ก้อนสุดท้าย

แกนนำกลุ่มนักศึกษาหัวรุนแรงปรับยุทธวิธีนำถังแก๊สมาวางเรียงเป็นกำแพงปิดกั้นทางเข้าถนนรามคำแหงก่อนถึงหน้ามหาวิทยาลัย ทั้งหมดแสดงเจตนารมณ์ในการต่อสู้ร่วมกันว่า พร้อมจะหลั่งเลือดตายเป็นวีรชนรักประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการทหารอยู่ตรงนั้น

สถานการณ์ความตึงเครียดในรั้วพ่อขุนยืดเยื้อข้ามวัน รัฐบาลประกาศเส้นตายให้สลายการชุมนุม หากดันทุรังฝ่าฝืนฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐจะใช้มาตรการเข้าจัดการเอง

ประชาชนทั้งประเทศเฝ้าจับตาวิตกกังวลอยู่หน้าจอโทรทัศน์หวั่นจะมีคนตายกันอีกไม่น้อย เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ยอมถอย

เวลาสองทุ่มของวันพุธที่ 20 พฤษภาคม 2535 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ ศาสตราจารย์ สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี และพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ องคมนตรีและรัฐบุรุษ นำพลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี และพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท โอกาสนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระราชดำรัสแก่คณะผู้เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทด้วย

พระมหากรุณาธิคุณครั้งนั้น โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทยนำเทปบันทึกภาพเหตุการณ์ดังกล่าวออกอากาศตอนเวลาเที่ยงคืน

ไม่มีเสียงพระกระแสรับสั่งจากพระองค์ท่าน ไม่มีพระราชดำรัสถึงประชาชน ทว่าภาพที่ปรากฏออกมาสามารถทำให้คนไทยทั้งประเทศน้ำตาไหล อุณหภูมิร้อนถูกดับด้วยพระบารมีองค์พระประมุขศูนย์รวมจิตใจของคนไทยทั้งชาติ

“ทรงพระเจริญ ทรงพระเจริญ” ตามด้วยเสียงไชโยอย่างผู้ชนะดังมาจากฟากมหาวิทยาลัยรามคำแหง

หลังจากนั้นประมาณ 1 สัปดาห์พลเอกสุจินดา คราประยูร กราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และมอบหมายให้นายมีชัย ฤชุพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรี รักษาการในตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไปพลางก่อน

ผมรอดคมกระสุนอำนาจในคืนแรกของพฤษภาทมิฬถึงได้มีลมหายใจชื่นชมพระบารมีพระองค์ท่าน

ถ้าพลิกหน้าประวัติศาสตร์วิปโยคของประเทศเมื่อปี 2516 และ 2519 ก็คงไม่ต่างกัน

บ้านเราโชคดีที่มีในหลวง

พระบารมีดับร้อนปัดเป่าคนบ้าอำนาจให้เย็นลงได้

กรุงเทพมหานครกลับมาสงบสุขอีกครั้ง ทิ้งรอยเลือด กับซากปรักหักพังเป็นบทเรียนครั้งหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสนำมาเก็บเป็นบันทึกส่วนตัว

คมกระสุนมันบาดหัวใจย้ำรอยภาพความเจ็บปวด

ได้เวลาที่คมปากกาจะกลับมาทวงความยุติธรรมคืน

“คุณชนาธิป เสร็จแล้วรีบพิมพ์ต้นฉบับมาส่งด้วย” ชุ่มชื่น พูลสวัสดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ต้นสังกัดของผมส่งเสียงสะกิด

ได้เวลานกน้อยไร่ส้มตัวนี้กางปีกบินลงสนามจริงอย่างเป็นทางการแล้ว

 

RELATED ARTICLES