“แทบจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่ลืมไม่ลงทีเดียว”

ย้อนหลังไปเมื่อกว่า 20 ปีก่อนแวดวงนักข่าวสายอาชญากรรมที่ลงสนามตามโรงพัก ไม่มีสำนักไหนกล้าเลือกเอาหญิงสาวไปคลุกกลิ่นคาวเลือด เกลือกกลิ้งอยู่กับศพ

กระทั่ง “เอี๊ยม” สมฤทัย นาคนพคุณ โผล่เข้าไปสร้างสีสันในฐานะนักศึกษาฝึกงานค่ายหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ก่อนไต่เต้ายึดอาชีพนักหนังสือพิมพ์เต็มตัว เธอเลยกลายเป็นตำนาน “นักข่าวตระเวนหญิง”คนแรกของเมืองไทย

สมฤทัย บ้านเกิดอยู่อำเภอบางคล้า จังหวัดฉะเชิงเทรา พ่อแม่ค้าขายและเลี้ยงสัตว์ มีพี่น้อง 4 คน ตัวเองเป็นคนสุดท้อง ส่วนที่เหลือเป็นพี่ชายทั้งหมด วัยเด็กเรียนโรงเรียนวัดสนามช้าง ตั้งอยู่หน้าบ้านแล้วต่อมัธยมโรงเรียนดัดดรุณี เป็นโรงเรียนสตรีประจำจังหวัด รักเล่นกีฬาบาสเกตบอล ครูสุพร อินทรรักษ์ ที่ส่งเด็กก้าวสู่ทีมชาติหลายคนแล้วเป็นโค้ช ติดทีมโรงเรียนเป็นตัวแทนจังหวัด เป็นตัวยิง 3 แต้มของทีม ทั้งที่ส่วนสูงแค่ 161เซ็นติเมตร นั่งท้ายรถปิกอัพตระเวนแข่งตามโรงเรียนดังในเมืองหลวงหลายที่ บางที่ฝนตกก็นั่งเอาเสื่อคลุมหัว เจอแดดเปรี้ยงก็ต้องอดทน

ห้วงเวลานั้น สมฤทัยมีความสุขมาก บางนัดยิง 3 แต้มจากกลางสนามก่อนหมดเวลาเรียกเสียงเฮลั่นจากกองเชียร์  สุดท้ายกลับไม่ได้เอาดีทางกีฬายัดห่วง แต่มีความฝันอยากเป็นตำรวจหญิง เพราะดันไปอินบทนางเอกจารุณี สุขสวัสดิ์ ในหนังเรื่อง “พยัคฆ์ร้าย 191”ถึงขั้นไปสอบข้อเขียนผ่านแล้ว ทว่าอดไปสอบสัมภาษณ์ เพราะติดสัญญาต้องไปฝึกงานที่ญี่ปุ่น ฝันสลายร้องไห้แทบตาย

เปลี่ยนเส้นทางใหม่หันไปเรียนเอกอุตสาหกรรมท่องเที่ยว วิทยาลัยครูจันทรเกษม หวังทำงานไกด์ ไปเรียนแค่เทอมเดียวก็มีเหตุให้ต้องย้ายคืนบ้านเกิด ลงคณะวารสารศาสตร์ วิทยาลัยครูฉะเชิงเทรา จุดประกายเริ่มต้นเข้าสู่วงการนักข่าว สมฤทัยจำแม่นว่า เรียนแล้วต้องไปฝึกงาน อาจารย์บอกให้เป็นนักข่าวสงคราม เล่นเอาขำไม่ออก แต่จริงให้ฝึกสายข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ เพราะมองบุคลิกห้าว ๆ น่าจะไปได้

เธอเล่าว่า ระหว่างฝึกงานได้พบเห็นเหตุการณ์ต่าง ๆ มากมาย ทั้งในเรื่องคดีที่เจอ รวมทั้งการทำงานของนักข่าวแต่ละสำนัก การทำงานของตำรวจ บางครั้งเด็กฝึกงานยิ่งเป็นผู้หญิงได้เปรียบนักข่าวตัวจริง เพราะแกล้งนั่งอ่านหนังสือไม่รู้ไม่ชี้ แต่จะเงี่ยหูฟังตำรวจคุยเรื่องคดีกันได้มากกว่า ตำรวจจะไม่ได้สนใจ ถ้านักข่าวอยู่พวกเขาอาจไม่พูดให้ได้ยิน เราก็รายงานพี่นักข่าวอีกทีว่าได้คดีนั้น ๆ  ได้อะไรบ้าง ฝึกงานกับพี่นักข่าวหลายคน แต่ละคนก็มีสไตล์การทำงานไม่เหมือนกัน ก็พยายามเก็บของดีของแต่ละคนไว้เป็นวิทยายุทธ์ต่อไป

“ตอนที่ฝึกงานเริ่มรู้ตัวแล้วว่า ชอบอาชีพนักข่าว และต้องการเป็นนักข่าวมืออาชีพให้ได้ พอจบการฝึกก็ยังคงขอนั่งรถตระเวนข่าวอยู่  และทราบว่ามีตำแหน่งนักข่าวตระเวน หรือนักข่าวอาชญากรรมขาดอยู่ 1 คน เป็นตำแหน่งที่เราต้องซิวเอามาให้ได้ โชคดีที่หนึ่งในนักข่าวที่ฝึกงานให้คนหนึ่งคือ พี่มนู นิ่มคง  นักข่าวรุ่นเก่าที่เรียกได้ว่าใจนักเลงทุกเรื่อง พี่เขาบอกว่า เราเป็นนักข่าวได้เลย ให้พยายามฝึกฝนตัวเองให้ดี  เปิดโอกาสให้เราได้ส่งข่าวกับรีไรเตอร์เอง พี่เขารับผิดชอบเอง  บางครั้งรีไรเตอร์ก็ไม่อยากรับข่าวกับเด็กฝึกงานจะขอสายนักข่าว พี่เขาก็บอกรีไปว่า ผมไม่ได้ทำ ผมไม่รู้  น้องมันทำก็ให้น้องมันส่ง อาจเป็นเพราะพี่เขาเห็นความพยายามความตั้งใจจริงของเรา” หญิงชาวแปดริ้วย้อนอดีต

แล้วช่วงเวลาประวัติศาสตร์วงการข่าวอาชญากรรมเมืองไทยก็มาถึง เมื่อมนู นิ่มคง พาเด็กสาวไปพบสุคนธวิทย์ จังคศิริ หัวหน้าข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ในขณะนั้นแสดงความจำนงว่า ถึงเวลาแล้วที่ต้องให้น้องสาวขึ้นเป็นนักข่าว “ถ้าไม่มีตำแหน่งว่าง คุณจะเอาผมลงก็ได้ แต่ต้องให้มันขึ้นเป็นนักข่าว มนูยืนคำตายต่อหัวหน้า แต่เรื่องกลับไม่ง่าย  เพราะสมัยนั้นไม่มีนักข่าวอาชญากรรมผู้หญิงแม้แต่คนเดียว แถมยังมีเด็กหนุ่มบางคนที่มีพวกพ้องในเดลินิวส์ต้องการผลักดันให้ขึ้นในตำแหน่งนี้เช่นกัน กดดันถึงขนาดให้สมฤทัยนั่งรถตระเวนข่าวคันเดียวกัน ไปทำข่าวเดียวกัน เพื่อเอาผลงานเป็นตัวชี้วัดความสามารถ

ต่อมา วันหนึ่งหัวหน้าข่าวเรียกให้เธอกับหนุ่มคู่ชิงเข้าโรงพิมพ์ เรียกคุยทีละคน ก่อนออกจากห้อง เขาได้มอบแพ็คลิงค์ให้มาด้วย “เราไม่รู้ว่ามันเป็นเครื่องหมายว่า เขาเลือกเราเป็นนักข่าวตัวจริงแล้ว” สมฤทัยเล่าวินาทีสำคัญ เธอมาถึงบางอ้อเมื่อเสียงแพ็คลิงค์ดังให้โทรกลับโรงพิมพ์ รีไรเตอร์ที่รับสายก็งงว่า ทำไมเป็นเธอโทรกลับแทนที่จะเป็นผู้ชายอีกคน พอบอกว่าแพ็คลิงค์อยู่กับเธอ เขาก็รับทราบ

“สถานการณ์ตอนนั้นค่อนข้างบีบคั้นเพราะทำงานท่ามกลางความไม่พอใจของบางคน มีทั้งคำพูดสบประมาท คำเรียกที่ไม่ไพเราะ คงคิดว่า เดี๋ยวมันก็ขอลาออกไปเอง ปกติการทำงานซึ่งแวดล้อมไปด้วยผู้ชายทั้งหมดมันก็ค่อนข้างลำบากอยู่แล้ว กับการวางตัว  ก่อนถึงเวลาเข้าเวรเป็นช่วงที่ต้องทำใจอย่างมากทีเดียวตอนนั้น ต้องอาศัยความอดทนอย่างมาก กว่าจะได้รับการยอมรับและไว้วางใจ  แทบจะเรียกได้ว่าเป็นช่วงหนึ่งของชีวิตที่ลืมไม่ลงทีเดียว”

ทว่าในเรื่องร้าย ๆ ก็ยังมีเรื่องขำ ๆ ให้ติดอยู่ในความทรงจำของเธอเหมือนกัน สมฤทัยเล่าว่า ตอนเป็นนักข่าวใหม่ ๆ ใช้วิทยุสื่อสาร  เรียกขานเข้าไปยังศูนย์วิทยุพระนคร ของมูลนิธิร่วมกตัญญู และศูนย์วิทยุกรุงเทพของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง  เรียกยังไงเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่รับตอบ นึกว่าสัญญาณไม่ดี  ก็เรียกต่อจนเขาตอบกลับมาว่า น.สื่อมวลชน ไม่มีวายแอล(ผู้หญิง) ทำเอารุ่นพี่นักข่าวแต่ละสำนักที่เข้าเวรอยู่ต้องรีบคว้าวิทยุแจ้งยืนยันให้ทำความเข้าใจว่า มีผู้หญิงเข้ามาเป็นนักข่าวอาชญากรรมแล้ว  ปรากฏว่า แต่ละศูนย์รีบขอให้ไปโชว์ตัวให้ดูอีกต่างหาก

ตำนานนักข่าวตระเวนหญิงคนแรกเล่าอีกว่า เรื่องแต่งตัวสวยไม่ต้องมาพูดกัน ไม่เคยได้มีโอกาส กางเกงยีนส์ เสื้อยืด เสื้อเชิ้ตเท่านั้น ส้นสูงไม่ต้อง แป้งไม่แตะ ลิปสติกไม่รู้จัก ผมมัดรวบ หรือถักเปียอย่างเดียว ต้องปอน ๆ  ห้ามโดดเด่น ห้ามสวยเด็ดขาด เป็นผู้หญิงคนเดียวในฝูงนักข่าวชาย แถมงานที่ทำ บางวันต้องไปเจอกับศพกำลังเน่ากลิ่นคลุ้ง บางรายถูกรถไฟชนนับชิ้นส่วนไม่ถ้วน คดีฆ่าหั่นศพ จี้จับตัวประกัน เมายาบ้า  เหตุระเบิด นักเรียนตีกัน ไฟไหม้ จะมาทำสวยเป็นคุณหนูคงไม่ได้ บางวันเจอศพถูกฆ่ากำลังขึ้นอืดอยู่ในทาวเฮาส์ส่งกลิ่นแรงมาก กลิ่นพวกนี้จะติดเสื้อยืดได้ดีด้วย ส่งข่าวเสร็จออกเวรเที่ยงคืน ต้องกลับมานอนดมกลิ่นศพที่ติดเสื้อผ้ามาทั้งคืน

แต่ที่น่าเบื่อสุดเห็นจะตอนเข้าเวรดึก เธอแฉว่า นักข่าวผู้ชายที่เข้าเวรกลางคืนส่วนใหญ่จะมาหมกตัวดูหนังโป๊กันอยู่ที่ชมรมผู้สื่อข่าวช่างภาพอาชญากรรม ตรงกองบังคับการตำรวจดับเพลิง ถ้าวันไหนเราเข้าเวรจะเข้าไปหาที่นั่งที่นอนในห้อง ก็ต้องแอบ ๆ ไปมองก่อนว่า คืนนี้ดูมีใครดูหนังโป๊ หรือเล่นไพ่ เขย่าไฮโลกวนสมาธิหรือไม่ “ถ้าเปิดหนังล่ะก็ นึกในใจไอ้เอี๊ยมต้องนอนฟังวิทยุ เลี้ยงยุงอยู่ในรถอีกแล้ว แต่ถ้าวันไหนพวกรู้ว่า เราเข้าเวรแล้วไม่เข้าไปชมรม ก็เป็นต้องเรียกวิทยุสอบถามกันใหญ่ว่า อยู่เวรเขตไหน เพราะเราเองก็เป็นพวกขยันวิ่ง ตระเวนแจกหนังสือพิมพ์หาข่าวตามโรงพักต่าง ๆ  สมัยก่อนมีแค่ 3 เขต คือ นครบาลเหนือ ใต้ ธน เท่านั้น ใครรับผิดชอบเขตไหนก็วิ่งตระเวนกันไปตามโรงพักในเขตนั้น ๆ หากนักข่าวไม่เจอตัวกันหรือไม่รู้ว่าใครเข้าเวรอยู่ที่ไหนล่ะก็มีหวั่นใจ กลัวโดนตีหัว”

“บางทีเราก็ต้องแสดงกันบ้างว่า กล้าตีหัวพี่ ๆ เหมือนกัน อย่ามางอแงกับเรานะ ได้ข่าวดี ๆ มาไม่บอกแถมหนีไม่เจอตัวด้วย วันไหนได้ข่าวเดี่ยว วันต่อมาเข้าเวรนี่ต้องแอบ ๆ เลย เดี๋ยวเจอรุมด่า ถ้าเป็นข่าวไม่ใหญ่ก็จะวิทยุ หรือเพจเจอร์แจ้งเอาบุญคุณอีกต่างหาก สมัยก่อนทำงานไม่ง่ายเหมือนยุคนี้นะ มีตั้งแต่ใช้วิทยุบี้สัญญาณแกล้งกัน  ปล่อยข่าวลวงกัน นักข่าวยอดแย่ บางคนสละความเป็นผู้ชายทิ้ง ลงทุนแม้กระทั่งแกล้งแจ้งข่าวเข้าเพจเจอร์กันก็มี แกล้งโทรเข้าศูนย์วิทยุกู้ภัยให้เรียก วิทยุแจ้งมีเหตุลวงกันก็มี นักข่าวหลายคนไม่คุยกันเลยก็มี หลายคนก็ยึดศักดิ์ศรี หัวเล็กหัวใหญ่ บางคนก็เต้าข่าวเก่งกันเหลือเกิน หลายเรื่องต้องใช้ทักษะ บางเรื่องต้องเอาคืนเพื่อให้รู้สึกละอายกันบ้าง พูดไปก็เหมือนแฉเหล่านักข่าว แต่นักข่าวนิสัยดี ๆ มีจรรยาบรรณก็เยอะนะ อย่างที่รู้กันในทุกวงการมีทั้งคนดีและไม่ดีปะปนกันไป”สาวเจ้าระบายความอึดอัดในวงการที่เก็บกักไว้นาน ก่อนโบกมืออำลาโรงเรียนฝึกนักข่าวชั้นดีอย่างเดลินิวส์ไปสู่งานข่าวทีวีช่อง 7 สี หลังใช้ชีวิตวนเวียนอยู่กับการเข้าเวรออกเวรขึ้นรถตระเวนหาข่าวตามโรงพักทั่วกรุงนานกว่า  5 ปี

ชะตาพลิกผันคราวนั้นเนื่องมาจากเธอไปเจอสมเกียรติ จันทร์ดี รุ่นพี่ศิษย์เก่าเดลินิวส์ที่หันไปทำงานข่าวอยู่ 7 ชวนเข้าร่วมวิกหมอชิต จากนั้นพาไปหาบุตรปิยะ สรรค์วณิชพัฒนา หัวหน้าข่าวอาชญากรรมของช่องให้มาลองสอบข้อเขียนทั้งภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสอบสัมภาษณ์จนผ่านฉลุย เธอให้เหตุผลว่า อยากไปหาประสบการณ์ใหม่ ๆ อีกด้านหนึ่งของการทำข่าว ทำข่าวหนังสือพิมพ์มา 5 ปีแล้ว ก็อยากรู้ว่าการทำข่าวโทรทัศน์ เป็นอย่างไร คิดว่าเป็นอีกก้าวหนึ่งของชีวิตที่ต้องข้ามผ่านวงจรเดิม ๆ แล้ว จำได้ว่า วันสุดท้ายต้องเอาหนังสือลาออกผ่านงานไปให้ประชา เหตระกูล เซ็นในห้องเจอดอม เหตระกูล ซึ่งกำลังเข้าวัยรุ่น แต่ยังไม่มีผลงานอะไร ประชายังบอกด้วยว่า จะส่งลูกไปเป็นดารา แล้วยังถามเราว่า ออกทำไม  ออกไปทำอะไร เราก็ได้แต่ยิ้ม ตอบว่า ไปอยู่ช่อง 7 ประชาก็ยิ้มสั่งลา

หน้างานใหม่มือถือไมค์ไฟไม่ต้องส่องหน้า เปลี่ยนภาพจากแต่งตัวปอน ๆ มาแต่งให้ดูดีขึ้น ติดอาวุธที่เพิ่มขึ้นมานอกจากเพจเจอร์ วิทยุสื่อสาร ก็คือ โทรศัพท์มือถืออีริคสัน รุ่นกระดูกหมู และที่ขาดไม่ได้ คือ ไมค์หัวโลโก้ช่อง 7 สี  เจ้าตัวเล่าติดตลกว่า บางทีเขาสัมภาษณ์กัน แต่หากช่างภาพไม่อยู่มาไม่ทัน แหล่งข่าวรอไม่ได้ หรือติดขัดสิ่งใดก็ตาม เราก็จะยื่นไมค์ไว้ก่อน ยังไงช่องอื่นถ่ายก็ต้องติดไมค์เราด้วย อันนี้ ถือเป็นเทคนิคอย่างหนึ่ง ขืนถ้ามีภาพข่าวสัมภาษณ์แล้วขาดไมค์ช่อง 7 ก็ถูกแซวกันเองภายในสถานีว่า “วายน็อตเซเว่น” เข้ากับวงคนตรีดังสมัยนั้นพอดี

จากนักข่าวตระเวนหนังสือพิมพ์ไปเป็นนักข่าวทีวี สมฤทัยก็ยังคงทำงานในสายข่าวอาชญากรรมเหมือนเก่า เธอจำได้ว่า มีอยู่คดีหนึ่ง ถึงกับเสี่ยงพอสมควร เป็นคดีใหญ่ รถติดมากไปถึงช้า ตำรวจนำผู้ต้องหาขึ้นรถกำลังจะขับออก  เรายังไม่ได้ภาพเลย  ไม่รู้จะทำอย่างไร บอกช่างภาพว่า ถ่ายเลยนะ แล้วรีบวิ่งไปขวางหน้ารถไว้ มือก็ยกขอตำรวจพลขับไว้ อย่าเพิ่งออก ๆ จนตำรวจผู้ใหญ่ในรถต้องลดกระจกลงมายิ้ม เราก็ไหว้บอกขอโทษ แต่จำเป็น ระหว่างนั้นช่างภาพก็บันทึกภาพไปเรียบร้อยแล้ว

อดีตนักข่าวสาวมือฉมังบอกว่า เป็นนักข่าวช่อง 7 ต้องตระเวนไปประจำศูนย์ข่าวทั้ง 3 ศูนย์ทั่วประเทศ ตอนนั้น มี  เชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ ไปประจำ 1 เดือน อยู่กรุงเทพฯ 1 เดือน สลับกันไปมา ต้องขอบคุณการที่เคยเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์มาก่อน  ทำให้รู้จัก และสนิทกับตำรวจเก่ง ๆ หลายนาย พอไปตามคดีใหญ่ ๆ ที่ตำรวจจากส่วนกลางไปทำ ก็ทำงานได้ง่ายขึ้น บางทีก็ต้องออกไปตามข่าวใหญ่ ๆ ในจังหวัดที่ศูนย์รับผิดชอบด้วย เก็บเกี่ยวประสบการณ์แตกต่างกับตอนเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ ตรงที่ทำข่าวง่ายกว่า เล่นประเด็นใหญ่ ๆ ไม่ต้องละเอียดเหมือนหนังสือพิมพ์ เพราะมีภาพข่าวโทรทัศน์ให้เห็นแล้ว  แต่เหมือนกัน คือ ต้องไม่ตกประเด็นเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นหัวอาจหัวขาดได้เหมือนกัน

ช่วงที่ทำข่าวโทรทัศน์ สมฤทัยลงคลุกคดีสำคัญที่เกิดขึ้นมากมาย ทั้งคดีสังหารแสงชัย สุนทรวัฒน์  อดีต ผอ.อสมท ถูกสั่งให้ตามข่าวนี้อย่างต่อเนื่อง โชคดีรู้จักนายตำรวจที่ทำคดีเกือบทุกคน กระทั่งตำรวจสามารถปิดคดีได้ และการตามข่าวนี้ส่งผลให้ชื่อของเธอถูกเสนอให้ได้รับรางวัลเมขลา ประเภทข่าวยอดเยี่ยมประจำปี 2539 ด้วย ถือเป็นความภาคภูมิใจครั้งหนึ่งในชีวิต แต่อย่างไรก็ตาม ทุกวันนี้ เธอก็ยังสงสัยค้างคาใจอยู่ว่า บังรอนหายไปไหน  และเพชรซาอุฯ อยู่กับใคร วานใครช่วยตอบที

หลังจากคร่ำหวอดอยู่ในวงการข่าวมาครบ 10 ปี สมฤทัย ตัดสินใจแต่งงานอย่างเงียบ ๆ กับแฟนหนุ่มรุ่นพี่ อดีตนักข่าวค่ายสีบานเย็นฝีมือดี ปีถัดมาก็ตั้งครรภ์ แต่ยังคงยังออกตระเวนข่าวจนท้องใหญ่ 7 เดือน หัวหน้าเห็นสภาพแล้วถึงได้เข้าไปรับข่าวอยู่ข้างใน พอคลอดลูกได้ 3 เดือน เธอก็แต่งชุดสูทช่อง 7 สวยงามไปยื่นหนังสือลาออกต่อทันทีตามความตั้งใจตั้งแต่วันแรกที่เห็นหน้าลูก “เขา คือ สิ่งมีค่าที่สุดของเรา ขอเลือกที่จะอยู่กับลูก 24 ชั่วโมงโดยไม่มีข้อแม้ดีกว่า ถามว่า เสียดายไหม ตอบแบบไม่ต้องคิดว่า ไม่ เพราะเมื่อเทียบกับสิ่งมหัศจรรย์ที่เกิดขึ้นจากตัวเราแล้ว มันไม่มีสิ่งใดยิ่งใหญ่ไปกว่านี้แล้ว งานตระเวน งานออกศูนย์ข่าวต่างจังหวัด การเข้าออกเวรไม่เป็นเวลา คงไม่เหมาะสำหรับคนที่เป็นแม่ที่มีลูกน้อยรอคอยอยู่ ก่อนคลอดก็คิดไว้ว่าจะเปลี่ยนสายงานที่มันเป็นรูทีน แต่ข้อแม้ทั้งหมดหายไป  ในวันแรกที่เราแม่ลูกได้พบหน้ากัน

การลาออกของเธอไม่ต่างจากตอนพ้นวงการหนังสือพิมพ์ที่ดำเนินไปอย่างเงียบเชียบ ไม่ได้บอกกล่าวใครมากนัก ไม่มีงานเลี้ยงอำลา เกือบทุกคนที่ไม่ได้เจอ เช่น ตำรวจที่รู้จักก็คิดว่า เธอไปอยู่ข้างใน ส่วนเพื่อน ๆ นักข่าวก็พากันคิดว่า ไปอยู่ศูนย์ข่าวต่างจังหวัด บางคนหลายปีผ่านไปเจอกันก็ยังถามว่า ได้ไปทำข่าวนั้น ข่าวนี้หรือเปล่า เจ้าตัวก็นึกขำ

“คุณโชคดีที่ได้มามีประสบการณ์ชีวิตที่หลายคนไม่เคยพบเจอมาก่อน จงใช้ความโชคดีที่มีอยู่ให้ถูกต้องทั้งทางโลก ทางธรรม  เพื่อในอีก 10 หรือ 20 ปี ข้างหน้า หากคุณไม่ได้ยืนอยู่ตรงนี้แล้ว คุณมองย้อนกลับไปคุณจะได้เห็นภาพตัวเองที่เป็นนักข่าวจริง ๆ ได้อย่างเต็มภาคภูมิ”ตำนานคนข่าวสาวอยากฝากทิ้งท้ายถึงนักข่าวรุ่นน้อง

RELATED ARTICLES