“การเรียนรู้เรื่องข่าวกว่าจะชำนาญต้องใช้เวลานะ”

 

ดีตคนข่าวประจำศาลยุติธรรมของหนังสือพิมพ์ค่าย “สีบานเย็น” ผ่านประสบการณ์ในสนามน้ำหมึกมาอย่างโชกโชน

ปัจจุบัน ณรงค์ โบษกรนัฏ ใช้ชีวิตเรียบง่ายอยู่บ้านเกิดบางกระเจ้า สมุทรปราการติดตามความเป็นไปของโลกข่าวสารผ่านจอโทรทัศน์มากกว่าหนังสือพิมพ์ฉบับโปรดที่เคยรัก

“สายตาผมอ่านหนังสือไม่ได้แล้ว” เขาเสียดาย “ ผมชอบอ่านหนังสือ”

ชีวิตเริ่มต้นเป็นเด็กชาวสวนอำเภอพระประแดง ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา จังหวัดสมุทรปราการ เรียนประถมวัดบางกอบัว กระทั่งประถม 4 ข้ามไปเรียนกรุงเทพฯ ที่โรงเรียนไพศาลศิลป์ เจ้าตัวยอมรับว่า ตอนนั้นเกเร สภาพแวดล้อมในโรงเรียนมีแต่กุ๊ย ด่าพ่อล่อแม่ ตีกัน ต่อยกันตามประสาวัยรุ่น นอกจากโง่แล้วยังเกเร หนีโรงเรียนไปเที่ยวกับเพื่อน ทำให้ไม่จบ ต้องออกมาแบกอิฐผสมปูนเป็นจับกังในป่าเมืองกาญจนบุรีอยู่ปีเศษ

กลับมาเรียนใหม่ก็ซ้ำชั้นอีก 2 ปีจนจบมัธยม 8 ตัดสินใจสอบเอ็นทรานซ์เข้าคณะวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เหตุผลเพราะชอบอ่านหนัง แต่ไม่ได้นึกจะมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ “สมัยนั้นบ้านไม่มีเงิน เป็นลูกชาวสอนพี่น้อง 9-10 คน แทบไม่พอกิน พ่อแม่ทำไข่เจียว แกง 2 ถ้วยนั่งกินกันไม่อิ่มท้อง แต่พ่อแม่อยากให้ลูกทุกคนได้เรียนหนังสือ”

ก้าวเข้าสู่รั้วโดม ณรงค์เล่าว่า ชอบเล่นกีฬาทุกชนิด แต่มองเพื่อนรุ่นเดียวกันที่เข้ามหาวิทยาลัยก่อนหน้าใกล้จบกันหมดแล้ว ก่อนเรียนจบได้ไปทำงานอยู่เดลินิวส์ เพราะรู้ว่า ตำแหน่งปรู๊ฟว่าง อาศัยเคยทำหนังสือพิมพ์สมัยเรียนมหาวิทยาลัย ไปสมัครวันแรกโยนงานพิสูจน์อักษรให้แก้แล้วให้เริ่มงานในวันรุ่งขึ้นทันที เชื่อไหมว่า ทำอยู่ 7 วันเพิ่งมาถามชื่อ สมัยนั้นไม่มีพิธีรีตองอะไรกันมาก

      ทำหน้าที่พิสูจน์อักษรเมื่อปี 2514 ปีเดียวได้ลงสนามเป็นนักข่าวตระเวนเจอกับเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 พอดี ณรงค์บอกว่า สังเกตการณ์ทำข่าวเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ประเทศครั้งนั้นโชคดีตรงที่อยู่ฝั่งโรงแรมรอแยลรัตนโกสินทร์ เพื่อนคนอื่นอยู่ตรงกองสลากถูกลูกซองยิงตาบอด ผ่านสนามข่าวตุลาวิปโยคเที่ยวนั้นกลับไปทำข่าวตระเวนโรงพัก ใช้ชีวิตอยู่ตามถนน

เขาเล่าต่อว่า ข่าวอาชญากรรมเยอะแยะ แต่ในกองบรรณาธิการกลับมองไม่เป็นข่าว บางทีเราไปทำข่าวตั้งนาน  โยนทิ้งขยะเฉย ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหัวหน้าข่าว  “บางทีส่งข่าวสั้น เสือกเล่นข่าวใหญ่ แล้วก็ด่าผมส่งมาสั้นก็เคยเอาสั้น บางข่าวนี่ส่งยาว รีไรเตอร์รำคาญ บอกเอาแค่นี้พอแล้ว ถ้าจะเล่นยาวก็โดนด่า  หาว่าผมส่งข่าวสั้น  ผมได้ทั้งสั้นทั้งยาวอยู่แล้ว แค่คนเล่าข่าว สมัยก่อนจะเขียนข่าวไปฝากตามโรงพัก บางข่าวโทรศัพท์ไปแจ้งรีไรเตอร์เรียบเรียง บางคนขี้เกียจอยู่ก็รับสั้น ๆ ไม่สนใจ แต่หัวหน้าข่าวดันสนใจขึ้นมาก็มาโยนที่ผม มาด่าผมทำไม่ละเอียด” เจ้าตัวหัวเราะเมื่อนึกถึงภาพอดีต

ณรงค์เห็นความเปลี่ยนแปลงในองค์กรอยู่บ่อยครั้ง การโยกย้ายข้ามค่ายเป็นเรื่องธรรมดาของนักหนังสือพิมพ์ยุคนั้น ด้วยเพราะอิทธิพลของ กำพล วัชรพล สร้างหนังสือพิมพ์ไทยรัฐยิ่งใหญ่ มีการดึงตัวคนจากเดลินิวส์ไปหลายคน มีคนจากหนังสือพิมพ์บ้านเมืองสลับมาอยู่หนังสือพิมพ์เดลินิวส์แทน แต่สำหรับเขาไม่ได้ย้ายไปไหน

มัวก้มหน้าก้มตาทำข่าว เขารู้สึกว่า  ทำงานทุกอย่างในประเทศนี้ต้องมีลูกพี่สักคนที่ดึงดันเราได้ แต่ไม่สนิทกับใคร ไม่มีหัวหน้า ประกอบกับสันดานไม่ชอบไปอยู่ข้างในกองบรรณาธิการถึงดักดานเป็นนักข่าวตระเวนโรงพัก ก่อนขยับขยายย้ายไปประจำศาลยุติธรรมที่ยังอยู่ท้องสนามหลวง เป็นจังหวะเพื่อนจบธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกันหลายคนเป็นผู้พิพากษาไม่น้อย

จะว่าไปแล้วเจ้าตัวเรียนธรรมศาสตร์รุ่นเดียวกับ เต๋อ-เรวัติ พุทธินันท์ ปิยะณัฐ วัชราภรณ์ วีระ มุกสิกพงศ์ มีสมชาย วงษ์สวัสดิ์ เป็นรุ่นพี่ แต่ไม่เคยนำมาใช้เป็นเครื่องอำนวยความสะดวกกับอาชีพนักข่าวของเขาสักนิด ใช้ชีวิตตระเวนโรงพักนาน 6-7 ปี ย้ายประจำศาล รู้จักประธานศาลฎีกากว่า 10 คน เป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน 2-3 คน ใช้เวลา 43 ปีกับอาชีพนักข่าวสังกัดหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ไม่เคยย้ายสังกัดจนถึงวันปลดระวางเมื่อตอนอายุ 65 ปี ออกจากงานเมื่อปี 2556

ตลอด 43 ปีบนเส้นทางนักหนังสือพิมพ์ ณรงค์ถ่ายทอดว่า ผ่านอะไรมามากมาย คดีสำคัญ ๆ ระดับประเทศเต็มไปหมด อยู่ศาลทำให้เรารู้กฎหมายมากขึ้น รู้ขั้นตอนการเดินทางของกระบวนการยุติธรรม ยิ่งเคยผ่านโรงพักรู้จักตำรวจยิ่งทำให้รู้มากขึ้นที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ แม้กระทั่งนักข่าวด้วยกัน  “ทำข่าวที่ศาล บางทีเขียนไว้เลย แล้วถ่ายเอกสารแจก เวลาใครมาผมให้ เพราะเข้าใจว่า บางคนไม่รู้จะเขียนยังไง ยากอยู่นะที่จะเขียนตามภาษาศาลที่มีรูปแบบจำเพาะ”    

อดีตคนข่าวรุ่นใหญ่ยังมีมุมมองถึงสื่อทุกวันนี้กับสมัยก่อนว่า ต่างกันแยะ นอกจากรายละเอียดในการหาข่าว เครื่องมือในการหาข่าว ปัจจุบันแค่กดโทรศัพท์มือถือก็ได้ข้อมูล สมัยก่อนเราต้องหาทางโทรศัพท์ เหมือนกัน แต่วันหนึ่งใช้เวลากว่า 20 ที เดี๋ยวนี้หาข้อมูลง่าย มีเทคโนโลยีมาช่วย ขณะที่ข่าวกว้างมากขึ้น “ แต่บางทีผมว่า นักข่าวสมัยใหม่ชอบหลงประเด็นไป เอาเรื่องส่วนตัวมาเขียนกันเยอะ ไม่มีจรรยาบรรณกันเลย สมัยก่อนไม่มี หรือมีอาจไม่มาก”

ณรงค์ยังเล่าประสบการณ์ตามข่าวพี่สาวนางงามคนหนึ่งมีสามีเป็นนักธุรกิจใหญ่ค้านาฬิกานำเข้าจากต่างประเทศ ถูกนายด่านศุลการดอนเมืองตรวจเจอ ทำไปทำมาคว้าเอาพี่สาวนางงามรายนี้ไปเป็นเมียจนฝ่ายชายตามไปเจอถึงขั้นชกต่อยกัน ก่อนนายด่านศุลกากรจะปอกลอกหลอกฝ่ายหญิงบานปลายจนฟ้องร้องกันในชั้นศาล เรื่องใหญ่มาก

“ผมส่งข่าวเท่าไหร่ ข้างในกลับไม่ลง ไม่รู้ทำไม” ณรงค์จำแม่นพร้อมกับข้อสันนิษฐานส่วนตัวคงมีการเคลียร์ผู้หลักผู้ใหญ่ที่ชอบหากินกับเศรษฐีในสังกัดตัวเองให้ปิดข่าว แต่ไม่มีหลักฐานพิสูจน์ข้อสงสัยปล่อยให้ทุกอย่างเงียบหายไปจวบจนปัจจุบัน

พอเกษียณตัวเองลาวงการข่าว ณรงค์อยู่บ้านปลูกต้นไม้ ทำสวน เสพแต่ข่าวโซเชียล ไม่ได้อ่านหนังสือพิมพ์มา 5 ปีแล้ว “อย่างที่ผมบอกตอนแรก ตาผมไม่ดี ทั้งที่ผมชอบอ่านหนังสือ ถึงขั้นไปเรียนวารสารศาสตร์ อ่านหมด ตอนเด็กไปเรียนกวดวิชาวัดสุทัศนเทพวราราม มีห้องสมุดให้นั่งเล็กๆ ห้องหนึ่ง ผมอ่านหมดทั้งห้องเลย”

เจ้าตัวอยากจะฝากนักข่าวรุ่นหลังๆ ด้วยว่า ให้ตั้งใจทำงาน ทำงานซื่อตรง อย่าไปหากินนอกลู่นอกทาง สมัยก่อนมีหลายคนวุ่นอยู่กับนักการเมือง รับใช้นักการเมืองมากเกินไป “ตัวผมพยายามรักษาตัว ไม่ไปยุ่งกับใคร สนิทสนมก็สนิทไป แต่ต้องไม่มีอะไรแอบแฝง อย่าง สมชาย วงศ์สวัสดิ์ ธรรมศาสตร์รุ่นพี่ สมัยเรียนเย็นๆ ตีปิงปองกันทุกวัน ถึงเวลางานก็ส่วนงาน ตอนหลังไปปเป็นปลัดกระทรวงก็ไปนั่งคุยกันทุกวัน พอเป็นนายกรัฐมนตรีน่าเสียดายเป็นแค่ 28 วัน”

ณรงค์ยกตัวอย่างสมัคร สุนทรเวชอีกคนที่ทะเลาะกับนักข่าวประจำถึงขนาดนักหนังสือพิมพ์รวมตัวตกลงกันไม่ลงชื่อในข่าวจนสมัครต้องไปตั้งหนังสือพิมพ์รายวันเป็นของตัวเองมาแข่งบนแผง  “สมัครแกเป็นคนดี แต่ปากแกจัด ด่าแรง พวกเราทนแกด่าไม่ไหว ตกลงกันหมด แต่ไม่ได้คุยนะ ตกลงกันอย่างนี้ว่า เวลารายงานข่าว เราจะไม่ใส่ชื่อแก แกทนไม่ไหว ต้องเปิดหัวหนังสือพิมพ์เอง”

     การทำข่าวศาลสมัยก่อน อดีตนักหนังสือพิมพ์รุ่นลายครามเล่าด้วยว่า ต้องจดบันทึก แต่อาศัยความชำนาญเรื่องสำนวนการสอบสวนของตำรวจ มีแบบฟอร์มอยู่แล้ว ใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และจะรู้ล่วงหน้าเลยว่าคดีจะลงเอยแบบไหนจากสำนวนการสอบสวนของตำรวจเวลาขึ้นสู่กระบวนการยุติธรรมในชั้นศาล เพราะตำรวจเรียกใครมาสอบไม่รู้ ทำให้สำนวนอ่อน ไม่เรียกพยานที่เห็นเหตุการณ์มาสอบเข้าสำนวน  กระนั้นก็ตาม ต้องอาศัยความสนิทสนามส่วนตัวกับเจ้าหน้าที่ศาลที่เก็บสำนวนคดีดำ คดีแดงไว้ด้วย

เขากังวลด้วยว่า รูปแบบการรายงานข่าวสมัยก่อนจะใช้ภาษาไทยแท้ เช่น จำเลยให้การว่า เข้าไปในร้านอาการดังกล่าวจริง ขณะกำลังรับประทานอาหารกับพวกจะใช้คำรับประทาน แต่ปัจจุบัน อะไรกันไม่รู้ ไม่ใช่ภาษาข่าว ยิ่งผู้ประกาศใหม่ๆ ไม่เคยรู้จักภาษาไทย หรือว่า สถานที่อะไรต่ออะไรในบ้านเมืองเรา ก็ปล่อยไก่บ่อย ไปอยู่อำเภอกาญจนประดิษฐ์ เราฟังแล้วหัวเราะ

“ส่วนมากมีเส้น มีสายเอามาเป็นผู้ประกาศ ประสบการณ์ต่ำ ทำการบ้าน ไม่ไหวหรอก เพราะการเรียนรู้เรื่องข่าวกว่าจะชำนาญต้องใช้เวลานะ ไม่ใช่มาเป็นเลย เป็นผู้ประกาศข่าวข้ามขั้น ควรจะเป็นนักข่าวสักปีอย่างน้อยนะจะได้รู้จักภาษา รู้จักการทำข่าว นำเสนอข่าวอะไรอย่างนี้” ณรงค์ทิ้งท้าย

 

RELATED ARTICLES