“มันเป็นยุคโซเซียลที่ใครจะทำสื่อ ใครๆ ก็ทำได้ เพียงแต่ว่า เราทำแล้ว เราจะต้องมีความรับผิดชอบ”

 

            ดีตผู้ประกาศสาวคนดังของวิกหมอชิต

ปัจจุบัน ศุภรัตน์ นาคบุญนำ ยังคงรับงานพิธีกรนอกสถานที่กับใช้วันว่างทุ่มเททำสวนที่บ้านไร่ศุภรัตน์ย่านร่มเกล้า ชานกรุง หลังผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรแนว “อินทรีย์”  ปลูกผักปลอดสารพิษ-เลี้ยงสัตว์ อยู่ในเนื้อที่กว่า 50 ไร่

ย้อนเส้นทางปฐมบทของชีวิต เป็นชาวกรุงเทพมหานคร หลังจบมัธยมต้นโรงเรียนสตรีวัดระฆัง เบนเข็มไปเรียนสายอาชีพแผนกธุรกิจภาษาฝรั่งเศส มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตบพิตรพิมุข จักรวรรดิ เนื่องจากมองว่าจบมาแล้วทำงานได้ทันที

กระนั้นก็ตาม เจ้าตัวกลับเลือกเอ็นทรานซ์เข้าคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นคนเดียวจากบพิตรพิมุขที่เข้าสู่รั้วเหลืองแดง ด้วยความที่อยากทำงานไปโน่นไปนี่ ไม่อยากนั่งประจำอยู่แต่ในออฟฟิศน่าจะเหมาะสมกับตัวเองมากกว่า

อาศัยความได้เปรียบจากสมัยเรียนประกาศนียบัตรวิชาชีพ ทำให้พิมพ์ดีดคล่อง ไวกว่าเพื่อน กลายเป็นคนรับพิมพ์รายงาน รับจ้างพิมพ์ดีดหาเงินใช้ เรียกได้ว่า ทำงานไปด้วย เรียนไปด้วย ใช้เวลา 3 ปีครึ่งจบปริญญาตรีได้เกียรตินิยมอันดับ 2 ของเอกสาขาวิทยุโทรทัศน์ มีโอกาสฝึกงานบริษัท ไนท์สปอรตโปรดักชั่น  กับกองถ่ายละครของช่อง 3 สมัยยังอยู่หนองแขม รวมถึงเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากสถานีโทรทัศน์ช่อง 11 ที่ยังอยู่ถนนเพชรบุรีตัดใหม่

            “ฝึกทั้งงานละคร ทั้งข่าว รู้สึกว่า ตัวเองชอบอ่านข่าวมากกว่า เพราะว่า มีความคล่องตัว มีอิสระ ถ้างานละคร ต้องรอนักแสดง รอจัดไฟ รอโน่นนี่ ใช้เวลามาก แม้สนุกอีกแบบหนึ่ง แต่งานข่าว เรียกว่า เป็นตัวของเรามากกว่า” ศุภรัตน์ย้อนความก่อนเริ่มต้นวัยทำงานเป็นผู้สื่อข่าวและผู้ประกาศข่าววิทยุ “ข่าวด่วน พล.1” ทางสถานีวิทยุกองพลที่ 1 รักษาพระองค์ ของบริษัท สหศีนิมา จำกัด ในสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในยุคเริ่มต้นการบุกเบิกข่าววิทยุต้นชั่วโมง

เธอเล่าว่า อาจเป็นยุคปฏิรูปข่าววิทยุ เดิมทีเอาหนังสือพิมพ์มาอ่าน แต่ตอนนั้นได้ส่งทีมข่าวไปทำเอง  ได้ไปอยู่ทำเนียบรัฐบาล อยู่รัฐสภา เวลามีเหตุการณ์สำคัญก็ออกไป เป็นยุคที่ไม่มีไลฟ์ ไม่มีเฟซบุ๊ก ทำเสร็จแล้วก็ใช้โทรศัพท์ส่งข่าว มีเวรเข้ามานั่งข้างในสตูดิโอเพื่ออ่านข่าว รับข่าว พิมพ์ข่าวเสร็จเข้าห้องอัดอ่านเลย ทำอยู่ 2ปีกว่า ปรากฏว่า สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7 เปิดรับสมัครผู้สื่อข่าว ตัดสินใจลองไปดู และคงจะเห็นว่าเราพอมีประสบการณ์ในการทำข่าว แม้จะเป็นข่าววิทยุ แต่เราทำทั้งข่าวในประเทศ ข่าวการเมือง ข่าวกระแส ได้ไปทำข่าวกีฬาซีเกมส์ที่มาเลเซียด้วย

สอบสัมภาษณ์ สอบข้อเขียนติด 1 ใน 6 คนเข้าไปทำงานสถานีโทรทัศน์สีกองทัพบกช่อง 7  เริ่มทำข่าวสายสังคม ทำสกู๊ป ไปได้ทุกสาย ออกต่างจังหวัดที 3 วัน 7 วัน ก่อนจะมานั่งอ่านข่าวเด็ดเจ็ดสี เป็นข่าวสั้น และอ่านข่าวเช้าคู่กับ พิสิทธิ์ กิรติการกุล แล้วขยับมาอ่านข่าวภาคค่ำ อ่านข่าวในพระราชสำนัก หลังจากนั้นไปประจำศูนย์ข่าวภูมิภาค เป็นคนแรก ๆ ที่เป็นผู้ประกาศข่าวตามศูนย์ข่าวเชียงใหม่ ขอนแก่น หาดใหญ่ สงขลา หมุนเวียนสลับเวรกันไป

“ตอนนั้นชีวิตแบบชีพจรลงเท้า เราก็ชอบนะ คือ มาในสายงานที่ได้ใช้วิชาชีพโดยตรงตามที่เรียนมา ได้ทำทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลัง คนทำงานยังไม่ได้มากเท่าไหร่  ถือว่าสนุก พอศูนย์ข่าวภูมิภาครับผู้ประกาศข่าวประจำ เราไม่ต้องออกแล้ว นั่งอยู่ส่วนกลางเป็นหลัก อ่านทั้งข่าวเช้า ข่าวเที่ยง ข่าวค่ำ ก็สลับกันไป มีการจัดเวร  กระทั่งมาเป็นหัวหน้าผู้ประกาศ เป็นเสมือนโลโก้ของช่อง 7 เลยสมัยนั้น”

ทำงานอยู่ค่ายหมอชิตนาน 17 ปี รู้สึกถึงจุดอิ่มตัว ศุภรัตน์มองว่า ทำทุกอย่างหมดแล้ว มีทั้งผลิตรายการสารคดีป้อนให้ช่อง เป็นยุคที่ยังไม่มีโซเชียลมีเดีย ไม่มีช่องอะไรมากมาย คิดว่า น่าจะพอสมควรแล้วกับตรงนี้ บางสิ่งบางอย่างบางเรื่องในองค์กรใหญ่ เราอาจทำอะไรไม่ได้เต็มที และเป็นจังหวะที่ถูกทาบทามให้ลงเล่นการเมือง ด้วยความที่เราทำข่าวการเมืองอยู่แล้ว รู้จักทุกพรรคคิดว่าน่าจะลองดู เพราะถ้ามีโอกาสได้ทำงานให้กับสังคม บ้านเมืองได้มากขึ้นน่าจะลองดู

จะว่าไปแล้ว ก่อนหน้านั้นเธออยู่ในบรรยากาศเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 มีสายตรงจากทางสถานีให้ไปอ่านประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เจ้าตัวระบายความรู้สึกว่า ติดงานอยู่ต่างจังหวัด ถูกตั้งเป้าเจาะจงให้ไปอ่าน เพราะเป็นเบอร์ 1 ของผู้ประกาศหญิงสมัยนั้น สถานีโทรมาหลายครั้ง ต้องปฏิเสธเพราะอยู่ต่างจังหวังจริง แต่ยอมรับว่า ถ้าไปอ่านจะฝืนความรู้สึกตัวเอง บางคนอาจจะชื่นชอบนะ อ่านด้วยความรู้สึกภาคภูมิใจ ไม่ใช่สำหรับเรา

“หลังจากนั้นก็คิดว่า บ้านเมืองมันก็ไม่ได้ดีขึ้นที่ว่า จะทำให้มันดี ก็ไม่เห็นจะดี ประชาธิปไตยยังไงก็มีวงจรของมัน  ถ้าไม่ดีก็เลือกตั้งใหม่ นักการเมืองมีทั้งดี และไม่ดี คนที่ทำไม่ดีต้องยอมรับว่า ไม่ดี แต่คนที่ความตั้งใจพลอยซวยไปด้วย ถูกเหมารวม พอมีคนมาทาบทามลงเล่นการเมืองก็ลองดูสักที เราคิดว่า เราคิดดี ทำดี อาจจะใช้นโยบายเหมือนผู้ว่าฯ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ในยุคนี้ ทำงานไม่ได้สนใจว่าใครจะมาอะไรยังไง”

ตัดสินใจลงเล่นการเมือง สังกัดพรรคพลังประชาชน ลงสมัครรับเลือกตั้งในเขต 8 กรุงเทพมหานคร พื้นที่ สวนหลวง  ประเวศ บางนา และ พระโขนง แต่ไม่ได้รับเลือก อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งนั้น พรรคพลังประชาชนได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ทำให้ นายสมัคร สุนทรเวช หัวหน้าพรรคพลังประชาชน นั่งตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ส่งผลให้ เธอได้รับการแต่งตั้งเป็นรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

อดีตผู้ประกาศสาวช่อง 7 แสดงความเห็นว่า บริบททางการเมืองกลายเป็นว่า ความคิดความอ่านของคนไม่เป็นประชาธิปไตยมากพอที่จะรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่าง เพราะฉะนั้น ใครคิดต่างจะถูกมองเป็นอีกขั้ว ขัดแย้งกันไปเลย ที่เคยคุยกันชอบกัน รักกัน พอเห็นว่า เรามาสังกัดตรงนี้ กลายเป็นว่า ไม่คุยกัน หรือแม้แต่คนไม่รู้จัก วันดีคืนดี ไม่รู้ไปได้เบอร์โทรศัพท์เรา ไม่รู้ว่า ได้มาจากที่ไหน โทรมาด่า ทั้งที่ไม่เคยรู้จักหน้าค่าตากันด้วยซ้ำ มาด่าทำไม เป็นยุคของความขัดแย้งสูงมาก แล้วแรงกดดันมาลงที่ตัวเรา พยายามทำงานแบบเซฟตัวเอง ไม่พยายามไปขัดแย้งกับใคร ไม่ใช้วาทกรรม ไปพูดอะไร แค่ประสานงานอยู่ในไลน์ที่เราทำงานมาด้านสื่อ

พอถึงจุดหนึ่ง รู้สึกว่า มันก็ไม่ใช่อีกแล้ว มันเดินต่อไปไม่ได้อีกแล้ว มันควรจะต้องเป็นแบบนี้ ๆ เราก็ถอนตัวออกมา ถอยยาวเลย ออกมาก่อนที่ท่านนายกฯ สมัครจะโดนปลด เฟดออกมาโดยปริยาย เลือกทำงานอิสระ และไปทำสวน ใช้ชีวิตสบยา ๆ แต่ยังอยากทำงานข่าว ก่อนได้กลับไปจัดรายการวิทยุเครือข่ายของกรมประชาสัมพันธ์  ในยุคที่อีกขั้วหนึ่งเป็นรัฐบาล อ่านข่าวเล่าข่าวไปตามปกติ วันดีคืนดี ก็มีคนมาบอกมาว่า พรุ่งนี้ไม่ต้องมาจัดแล้ว เล่นเอางงมาก ฉันก็จัดข่าวตามปกตินะ เราไม่ได้อคติใคร ใครเป็นรัฐบาลเราก็พูดให้ เพราะฉะนั้นกลายเป็นว่า การเมืองมันเลือกข้าง เลือกขั้วกันไปแล้ว” ศุภรัตน์สัมผัสความรู้สึกอย่างนั้น

รอจนฝุ่นควันความขัดแย้งเจือจาง เธอขยับไปทำข่าวค่ำ ช่อง 20 ไบรท์ทีวี ร่วมกับผู้ประกาศข่าวหน้าใหม่ และโปลิศทีวี ช่องเคเบิลของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ช่วยฝึกทีมข่าว จัดรายการเกี่ยวกับแวดวงตำรวจจนหมดสัญญา ก่อนไปจัดรายการทางเพจเฟซบุ๊กสื่ออาสาพัฒนาประชาชนของกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ แต่ปัจจุบันไม่ได้ทำแล้ว เนื่องจากไม่มีงบประมานให้ดำเนินการต่อ

ถามว่ายังอยากกลับเข้าวงการข่าวอีกไหม ศุภรัตน์ว่า จริงๆ เราก็มาทางด้านสายนี้ กำลังคุย ๆ กันอยู่ คงเป็นลักษณะของการทำเพจ ให้ความรู้เกี่ยวกับข่าวสาร เนื่องจากเป็นยุคการสื่อสารผ่านทางออนไลน์แล้ว ไม่จำเป็นจะต้องเข้าไปช่อง เพราะแต่ละสถานีการที่จะรับฟรีแลนซ์ ไม่ใช่เรื่องง่าย ส่วนใหญ่จะหันมาใช้พนักงานประจำ แม้แต่ช่องใหญ่ๆ ก็เอาฟรีแลนซ์ออกหมดเพื่อที่จะลดค่าใช้จ่าย “มันเป็นยุคโซเซียลที่ใครจะทำสื่อ ใครๆ ก็ทำได้ เพียงแต่ว่า เราทำแล้ว เราจะต้องมีความรับผิดชอบ และทำมันให้อย่างสม่ำเสมอ ต้องมีแบบผู้ที่จะมาช่วยซัพพอร์ตด้วย”  

“สำหรับมุมมองของนักข่าวสมัยก่อนกับสมัยปัจจุบัน คิดว่าต่างกันมาก เมื่อก่อนเราทำงานแบบเสรีภาพ แต่ต้องมาบนความรับผิดชอบ จริง ๆ มีสื่อมากเท่าไหร่ ยิ่งเป็นประโยชน์กับผู้บริโภคนะ ที่จะเลือก เหมือนอาหาร ที่มีให้เลือกหลายเมนู อยู่ที่ว่าใครชอบกินอะไร กินหวาน กินเปรี้ยว กินเค็ม เลือกเอาได้ในเมนูที่เราชอบ เป็นประโยชน์กับผู้บริโภค แต่ผู้บริโภคไม่ได้เหมือนกันหมดไง บางคนอาจจะเสพโดยที่ถูกยัดเยียดโดยไม่รู้ตัว หรือร้านบางร้าน อาจจะเสิร์ฟอาหารที่มันอาจจะไม่ดีต่อสุขภาพ เสิร์ฟอะไรที่หวานเกินไป เพราะฉะนั้นการทำหน้าที่ของสื่อ ต้องกลั่นกรองว่า อะไรที่เป็นประโยชน์กับประชาชน อะไรที่มันจะสร้างสรรค์”

ผู้ประกาศข่าวมากประสบการณ์ย้ำว่า เข้าใจสถานีต้องมีเรตติ้ง แล้วการที่จะมีเรตติ้งได้ การนำเสนอข่าวธรรมดาบางทีมันอาจจะไม่สะใจคนดู อาจจะไม่มีเรตติ้ง จำเป็นต้องใส่ดราม่า วางบทสคริปต์ให้ผู้ประกาศเติมเข้าไป ส่วนตัวไม่ค่อนแฮปปี้ เอาอะไรมาให้ฉันอ่าน เป็นข่าวไม่มีคุณค่า คนจะรู้ไปทำไม  เหมือนกับกินอาหารที่ผิดสำแดง อยากจะอ้วก อยากจะอาเจียน เพราะเราเป็นคนเสิร์ฟ บรรณาธิการเป็นคนผลิต ทีนี้คนผลิต ไม่ได้มีทีมออกไปทำเอง  ก็อปปี้ข่าวกันมา ข่าวจะเหมือนกันหมดทุกช่อง  ต้องยอมรับว่า คนดูติดกับผู้ประกาศข่าว ถ้าคนนี้อ่านก็โอเค ถ้าอีกคนอ่านกลับไม่โอเค แต่เราคิดว่า ต้องไปด้วยกัน อาหารต้องแบบอร่อย  มีประโยชน์ คนเสิร์ฟก็ต้องเสิร์ฟได้ดีด้วยความสุภาพ ไม่ใช่หยาบคาย จะกินก็กิน ไม่กินก็ไม่ต้องกิน

ทิ้งท้าย เธอยืนยันว่า ร่ำเรียนมาทางด้านนี้ ด้วยความรู้ ประสบการณ์คิดว่า ไม่ใช่ ช่วงหนึ่งเคยปิดทีวีไม่ดูข่าวเลย เพราะเบื่อ ทุกช่องเหมือนกันหมด ไม่เหมือนเมื่อก่อนจะดูทุกช่องเพื่อเช็กว่า ข่าวเดียวกัน แต่ละช่องนำเสนอต่างกันอย่างไร ในแง่มุมไหน ทว่าหลัง ๆ เบื่อไปโดยปริยาย ทั้งที่ความจริงหน้าที่ของสื่อต้องให้มุมมองที่รอบด้าน ครบทุกฝ่าย

 

 

 

RELATED ARTICLES