“หนูชอบทุกข่าว แล้วแต่ประเด็น ทำมุมมองกว้างขึ้น”

ชีวิตวัยเด็กติดหล่มมรสุมเกือบไม่มีวันที่สดใสอย่างปัจจุบันนี้

“อุ๋ย”นริศรา คินิมาน สาวนักข่าวเลือดนักสู้ผ่านประสบการณ์ทุกข์แสนสาหัสกว่าจะมายืนขาแข็งในวงการสื่อมวลชนเป็น “นกพิราบ”คนเก่งของสายข่าวอาชญากรรมที่พร้อมลงลุยเกาะติดเจาะลึกประเด็นสำคัญที่เกิดขึ้นในสังคม

เธอเป็นลูกจ่าทหารเกิดกรุงเทพฯ แต่ต้องย้ายครอบครัวตามบิดาไปอยู่เพชรบูรณ์ เพียงอายุ 9 ขวบก็ต้องกำพร้าพ่อ ครานั้นครอบครัวเริ่มระส่ำ แม่เป็นผู้จัดการขายกางเกงยีนส์ ลีวายส์ต้องเดินสายในพื้นที่ภาคใต้ เธอเลยไปอยู่กับยายที่จังหวัดพิจิตรเข้าเรียนโรงเรียนบางมูลนากภูมิวิทยาคมกระทั่งจบชั้นมัธยม 6

เกิดภาวะเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง แม่เธอล้มละลายจากธุรกิจขายเสื้อผ้าส่งออก ทิ้งเธออยู่กับผู้เป็นอา พร้อมยื่นข้อเสนอให้หยุดเรียนมหาวิทยาลัยไปก่อน เนื่องจากไม่มีเงินส่งเสีย อุ๋ยยอมรับว่า ช่วงชีวิตตอนนั้นเคว้งคว้างมาก เพื่อนเรียนต่อ แต่ตัวเองไม่ได้เรียน อนาคตดูเหมือนมืดมน ได้แค่ช่วยอาที่เปิดร้านขายราดหน้าสูตรนายเคี้ยง เอ็มไพร์ แบบไม่มีจุดหมาย

“แม่หายหน้าไป เพราะทำใจไม่ได้เลยไม่อยากเจอหน้าใคร ไม่ติดต่อใคร ทิ้งหนูไว้กับญาติ ชีวิตตอนนั้นดราม่าสุด ๆ คิดถึงพ่อ เพราะผูกพันอยู่ด้วยกันตลอดเวลาสมัยพ่อยังมีชีวิตอยู่” นักข่าวสาวระบายความหลังอันขมขื่น

ตอนเด็กเธอเคยฝันอยากเป็นทหารเหมือนผู้ให้กำเนิด แต่พอผู้พ่อจากไปความคิดก็เปลี่ยนหันมามองงานด้านสื่อมวลชนด้วยความที่เป็นคนมีมนุษย์สัมพันธ์ดี คุยเก่ง เพื่อนก็สนับสนุนว่า เหมาะกับอาชีพนี้ ทว่าในทันทีที่แม่ล้มละลายทุกอย่างเหมือนเจอทางตัน

หยุดเรียนนาน 2 ปี อุ๋ยบอกว่า ทนไม่ไหว มีความคิดว่า ต้องเรียนหนังสือแล้วเลยปรึกษากับลูกพี่ลูกน้องที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยกรุงเทพว่า อยากเรียนต่อ เขาก็ไปซื้อใบสมัครให้ ก่อนทำเรื่องกู้เงินจากกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา หรือ กยศ. เข้าเรียนคณะนิเทศศาสตร์ เอกวารสารศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เลือกเดินต่อยอดความฝันของตัวเองที่อยากทำงานด้านสื่อสารมวลชน

มีโอกาสได้ไปฝึกงานโต๊ะรายงานพิเศษ หนังสือพิมพ์คมชัดลึก ได้ ชัยกร ใบเงิน นักข่าวอาวุโสรุ่นใหญ่คอยชี้แนะเปิดทางให้ลงพื้นที่ไปเกาะข่าวมานำเสนอลงตีพิมพ์หน้า 1 อยู่เป็นประจำ เธอเล่าว่า เขาให้โอกาสเราเต็มที่ แต่เสียดายตรงมหาวิทยาลัยกรุงเทพมีนโยบายให้นักศึกษาฝึกงานต่างจากสถาบันอื่น เพราะฝึกงานเทอมแรกของปี 4 ฝึกเสร็จแล้วต้องกลับมาเรียนต่ออีกเทอมถึงจะจบหลักสูตรปริญญาตรี ผิดกับมหาวิทยาลัยราชภัฏหลายแห่งที่จะให้นักศึกษาไปฝึกงานปี 4 เทอมสุดท้าย ฝึกเสร็จโอกาสได้งานทำทันทีมีสูงกว่าเรา

สาวคนข่าวทีวีบอกว่า พอเรียนจบถึงต้องไปทำงานสายอื่นก่อน เป็นคนคอยจัดชุดให้นางแบบเดินแฟชั่นโชว์ เพราะไม่มีงานทำ สมัยนั้นวงการสื่อก็ยังไม่เปิดกว้าง สถานีข่าวไม่เยอะเหมือนปัจจุบันนี้ ทำแวดวงแฟชั่นปีเดียว สำนักงานแปซิฟิกมีตำแหน่งว่างเลยไปสมัครเป็นนักข่าววิทยุรายงานข่าวให้สถานีวิทยุ จส.100

“หนูลงทำข่าวเหตุการณ์ทั้งหมด แต่จะแตกประเด็นออกไป ไม่ใช่แค่รายงานอุบัติเหตุธรรมดา เช่น เวลาเกิดรถชนก็จะขยายถึงสาเหตุเบื้องหลังด้วยว่า ทำไมพื้นผิวถนนไม่เรียบก่อให้เกิดอุบัติเหตุได้ หรือแค่รถตกหลุม มีผู้ได้รับบาดเจ็บ หนูก็ต้องไปเจาะถึงว่า หลุมนั้นลึกประมาณเท่าไหร่ ไม่ได้ทำข่าวพื้น ๆ มันทำให้หนูได้มุมมองข่าวที่กว้าง และละเอียดมากขึ้น การทำข่าวรายงานทางวิทยุยังสอนให้หนูได้ความว่องไวในการรายงานข่าว แม้ตอนแรกจะรายงานพูดแบบตะกุกตะกัก แบบว่า ลากสายไฟเข้าไปดับเพลิง เพราะหนูตื่นเต้น ไม่เคย โชคดีมีพี่เลี้ยงค่อยสอนถึงวิธีการรายงานสด ปรับตัวจนคล่องเป็นพื้นฐานสำคัญให้หนูมาทำข่าวโทรทัศน์แล้วไม่มีปัญหา”อุ๋ยร่ายประสบการณ์การทำงาน

ป้อนข่าวออกสถานีวิทยุ จส.100 นานถึง 4 ปี เธอว่า มีเพื่อนคนหนึ่งอยู่ไอทีวี ชวนไปอยู่สถานีประชาชนเป็นช่วงกำลังเปลี่ยนของไอทีวีเป็นทีไอทีวี กำลังจะเปลี่ยนเป็นทีวีสถานะ ตอนนั้นรู้จักกับนักข่าวรุ่นพี่อาชญากรรมหลายคน ก็ถามว่า จะไปดีไหม เขาก็บอกก็น่าลองดู เพราะทำสัญญาแค่ 3 เดือน ถ้าไม่ลองแล้วมันจะรู้หรือ เราก็คิดอยู่นาน เขาก็บอกถ้าไม่ลองแล้วมันจะก้าวหน้าหรือ

สุดท้ายเธอยอมเสี่่ยงออกจาก จส.100 รังแรกในชีวิตนกพิราบเลือดทหารเปลี่ยนงานไปทำข่าวโทรทัศน์ ตรงนี้ อุ๋ยมองว่า มันเปิดโอกาสให้เราทำอะไรมากขึ้น ได้ลงเสียงเป็น เปิดหน้าเป็น คิดประเด็นข่าวทำสกู๊ป ทำให้กว้างขึ้น จากเดิมทำข่าวเหตุการณ์ธรรมดา พอมาอยู่ทีวี เราต้องทำให้อะไรให้ละเอียดขึ้น ลึกกว่าวิทยุ ไม่ใช่รายงานแค่ตรงนั้นตรงเดียว เป็นทีมทีวีสาธารณะรุ่นแรกก่อนเปลี่ยนมาเป็นชื่อสถานีไทยพีบีเอส

“ได้ทำข่าวทุกข่าวประทับใจหมด ไม่ว่าจะเหตุการณ์สลายการชุมนุม น้ำท่วม คดีอาชญากรรม หนูชอบทุกข่าว แล้วแต่ประเด็น ทำมุมมองกว้างขึ้น ไทยพีบีเอส สอนให้เรามองข้ามชอตออกไป มองไปข้างหน้าที่เป็นรายงานเบื้องหลัง  เปิดให้เรานำเสนอ และต้องช่วยกันคิดโปรดักชั่นด้วยว่า จะทำอะไรให้มันน่าเสนอ วิธีการนำเสนอของไทยพีบีเอสถึงไม่เหมือนคนอื่น”

อดีตคนข่าวสาวไทยพีบีเอสสามารถเกาะข่าวทุจริตสวมที่ดินจังหวัดภูเก็ตคว้ารางวัล “ช่อสะอาด”ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ตามข่าวขบวนการค้าเฮโรอีนได้รางวัลชมเชยจากสมาคมนักข่าวอาชญากรรมแห่งประเทศไทย แต่เจ้าตัวกลับบอกว่า ที่สุดของความภูมิใจ ไม่ใช่ทำข่าวแล้วได้รางวัล เรามุ่งหวังในประเด็นข่าวมากกว่าว่า อะไรที่น่าสนใจสามารถขยายต่อมาตีแผ่สังคมได้

“มันก็เหมือนได้ทำบุญด้วยการช่วยเหลือคนอื่นนะ หนูคิดแบบนี้” เธอทิ้งมุมมองด้วยรอยยิ้มแห่งอุดมการณ์

 

RELATED ARTICLES