“หนูว่างานข่าวอาชญากรรมเหมาะสำหรับผู้หญิงอย่างหนู”

สาวอีสานบ้านเกิดอุบลราชธานี

“นก”กมลชนก ทีฆะกุล อดีตคนข่าวสายอาชญากรรมแห่ง “สำนักข่าวไอเอ็นเอ็น”  ปัจจุบันลาออกจากวงการไปทำงานเป็นผู้จัดการสื่อสารสังคมให้มูลนิธิเพื่อคนไทย

ศิษย์เก่าโรงเรียนอัสสัมชัญ อุบลราชธานี เติบโตในครอบครัวพ่อเป็นนายธนาคาร ส่วนแม่เป็นข้าราชการครู มีฝันวัยเด็กอยากเป็นหมอ อยากเป็นแอร์โฮสเตส พอโตขึ้นความฝันเจือจางเลือนลางหายไปตามอายุ

หลังจบมัธยมปลาย นกเข้าเรียนคณะมนุษยศาสตร์ เอกภาษาจีน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพียงแค่ปีเดียวรู้สึกไม่ชอบ ขี้เกียจอ่านหนังสือ ตัดสินใจออกมานับก้าวใหม่ไปเรียนคณะนิเทศศาสตร์ สาขาวิทยุโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยเดิม

เธอให้เหตุผลว่า น่าสนุกดี เห็นเพื่อนเรียนด้วยก็โอเค คงจะเหมาะกับตัวเอง เพราะเป็นคนชอบสนุก ส่วนที่เลือกเรียนวิทยุโทรทัศน์ มองว่า มันได้หลายอย่าง ทำได้ทั้งรายการ ทำได้ทั้งข่าว

เที่ยวนี้เด็กสาวประคับประคองเอาตัวรอดไปได้ กระทั่งมีโอกาสเข้ากรุงเป็นนักศึกษาฝึกงานอยู่ค่ายเดอะเนชั่น ลงทำโต๊ะอาชญากรรม ได้ ปรีชา สะอาดสอน คนข่าวอาวุโสเป็นติวเตอร์สอนการเขียนสกู๊ป และพาลงพื้นที่ออกหาข่าวอาชญากรรมรายวัน ตั้งแต่ คดีลักวิ่งชิงปล้น ไปจนถึงฆ่ากันตาย

“หนูอยากทำข่าวอาชญากรรมอยู่แล้ว เพราะหนูเป็นคนชอบอะไรที่มันตื่นเต้น สนุกสนาน ท้าทายดี ยิ่งมาเจอประสบการณ์ของจริง ทำให้ยิ่งชอบ” นกน้อยในไร่ส้มร่ายรายละเอียดชีวิตเริ่มต้นหัดบิน เธอฝึกงานอยู่ 3 เดือนเสร็จแล้วกลับไปเรียนต่อจนจบปริญญาตรี แต่กลับประเดิมงานเป็นนักข่าวประจำเว็บไซต์ประชาทรรศน์

นกเล่าว่า ทำอยู่ไม่นาน สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นเปิดรับสมัครสอบนักข่าวสายการเมืองเลยไปสอบดู ปรากฏว่าติด ช่วงนั้นกลับบ้านไปก่อนพอจะมาสัมภาษณ์แม่ไม่ให้ลงมา ไม่อยากให้เป็นนักข่าว ต้องบอกยกเลิกให้เขารับคนอื่นแทน ผิดหวังมาก แต่สุดท้ายก็กลับไปทำที่ประชาทรรศน์ต่อ

สำนักข่าวไอเอ็นเอ็นเปิดรับสมัครนักข่าวอาชญากรรมอีกครั้ง ระลอกนี้เธอไม่ปล่อยให้โอกาสหลุดลอยอีกแล้วพอผ่านได้เข้าไปสัมภาษณ์ไม่วายโดนแหย่คำถามว่า ทำไมครั้งแรกสอบติดแล้วไม่ยอมมาทำ ถึงกระนั้นก็ตาม ต้นสังกัดไอเอ็นเอ็นก็รับเธอเข้าทำงานมาจวบจนทุกวันนี้กินเวลา 2 ปีเศษแล้ว

“หลายคนมักถามว่า ทำไมถึงเลือกทำข่าวอาชญากรรม ไม่กลัวหรือ หนูกลับมองว่า หนูไม่ได้เหมือนผู้หญิงทั่วไปที่จะมาอ่อนหวานอ่อนโยน หนูว่างานข่าวอาชญากรรมเหมาะสำหรับผู้หญิงอย่างหนู ผู้หญิงที่เป็นแบบนี้ ชอบอะไรที่มันท้าทาย ลุยได้ตลอด มันสนุกมากกว่าจะมากลัว”เธอไขข้อข้องใจคนรอบข้าง

แม้ประสบการณ์ข่าวอาจจะน้อย แต่เธอก็ผ่านสมรภูมิน้ำหมึกมาแบบสมบุกสมบันทำให้ซึมซับความประทับใจในเนื้องานอยู่บ้าง อาทิ การได้เป็นทำข่าวมหาอุทกภัยใหญ่เมื่อปี 2554 สาวไอเอ็นเอ็นบอกว่า อาจเพราะเราเป็นคนต่างจังหวัด มาอยู่กรุงเทพฯไม่เคยรู้ภูมิประเทศของกรุงเทพฯเลย พอน้ำท่วมทำให้เรารู้ว่า อะไรมันอยู่ตรงไหน ตะวันออกอยู่ฝั่งไหน ตะวันตกอยู่ฝั่งไหน เหนือใต้คือที่ไหน คลองอะไรเชื่อมถนนสายไหนไปไหนบ้าง ถึงรู้ว่ากรุงเทพฯมีคลองเยอะมาก จำได้แทบไม่หมด ที่สำคัญมันเป็นเหมือนเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ประเทศที่เราได้ไปมีส่วนหนึ่ง

“น้ำท่วมยังทำให้หยุดความขัดแย้งของหลายฝ่ายได้ไม่น้อย เมื่อทุกคนร่วมลงแรงมาช่วยกัน เพราะก่อนหน้าความขัดแย้งสูง มันยังแสดงให้เห็นด้วยว่า คนเราเท่าเทียมกันไม่ว่าจะรวยหรือจน จะสวยจะสูงจะต่ำก็ต้องเผชิญวิกฤติตกอยู่ในชะตากรรมไม่ต่างกัน นั่งรถ ลงเรือลุยน้ำเหมือนกันหมด ทำให้หนูรู้ชีวิตมากขึ้น แม้เหนื่อยแต่สนุก”นักข่าวสาวถ่ายทอดมุมมอง

เธอย้ำว่า ตัวเองชอบคดีฆาตกรรม ชอบดูศพ ชอบคดีสยดสยอง คดีลึกลับซับซ้อน ชอบไปนั่งฟังผู้พิพากษาในศาล เพราะเมื่อได้ฟังการพิจารณาคดีจะทำให้รู้ถึงขั้นตอนกระบวนการยุติธรรมขั้นสูงสุดในแต่ละคดีเป็นมาอย่างไร และจะลงเอยจบแบบไหน

“ความจริงพ่อแม่อยากให้หนูกลับบ้าน ไม่อยากให้หนูเป็นนักข่าวหรอกนะ” นกเผยเบื้องหลังชีวิตที่ครั้งหนึ่งพลาดจากการเข้าเป็นนักข่าวสายการเมือง “แม่หนูอยากให้รับราชการเป็นครู คงเห็นว่า อาชีพมั่นคงกว่าที่หนูเป็นอยู่ และจะถามตลอดว่าไม่กลัวหรือ หนูก็ปฏิเสธไป ไม่อยากกลับไป หนูถือว่า เลือกแล้ว เลือกทำในสิ่งที่ตัวเองชอบ เพราะมันจะทำได้นาน ถ้าไม่ชอบคงจะฝืนและอึดอัด อยู่ไม่นาน”

เธอถึงมีมุมคิดที่แข็งมีอุดมการณ์ที่แกร่ง คนข่าวตัวเล็กว่า อาชีพสื่อมวลชนสร้างประโยชน์ให้ตัวเองและส่วนรวม ได้เป็นคนที่รู้ข้อเท็จจริงในมุมที่คนอื่นไม่รู้ ในมุมที่ชาวบ้านไม่เห็น เราถึงจำเป็นต้องมีหน้าที่ไปค้นหามาตีแผ่ให้สังคมรับรู้

“หนูถึงชอบอาชีพนักข่าว”นกทิ้งท้าย ที่ทำให้หลายคนใจหายคิดถึงเธอเมื่อตัดสินใจลาวงการ

RELATED ARTICLES