(8)  “กลองดี”  ไม่มีคนตีก็ไม่ดัง

 

พบุรีเป็นเมืองทหาร มีนายพลทหารบกมากเป็นอันดับสองรองจากกรุงเทพฯ นับนิ้วแล้วทั้งหมด  12  นาย  ยศพลโท  2  พลตรี 10  ระดับพันเอกไม่ต้องพูดถึง มีหน่วยทหารหลายเหล่า ทั้งทหารราบ ปืนใหญ่ สรรพาวุธ แพทย์  และกองบินของกองทัพอากาศ

พลโท  2  นาย ได้แก่ ผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ  เดิมสังกัดกองทัพบก    ปัจจุบันสังกัดกระทรวงกลาโหม และผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ ที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า “กองทัพภาคที่  5”

พลตรี 10  นาย ได้แก่ รองผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, รองผู้บัญชาการศูนย์อำนวยการสร้างอาวุธ,   เสนาธิการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ, ผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ,    ผู้บัญชาการศูนย์การทหารปืนใหญ่, ผู้บัญชาการศูนย์การบินทหารบก,   ผู้บัญชาการกองพลรบพิเศษที่  1,   ผู้บัญชาการกองพลทหารปืนใหญ่,   ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่  13 และผู้อำนวยการโรงพยาบาลอานันทมหิดล

ยุคที่ผมเป็นนักข่าวกระจอกอยู่ลพบุรี (ปัจจุบันยังกระจอกไม่แปรเปลี่ยน) มีพลตรีไม่กี่คน   เฉพาะพลร่มหมวกแดงมีคนเดียว “พลตรี เทียนชัย   สิริสัมพันธ์” ผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ   ค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช

ผู้บังคับบัญชาระดับสูงของทหารหมวกแดงยุคนั้น นอกจาก พลตรี เทียนชัย เตรียมนายร้อยรุ่น  5 ที่รู้จักในนามรุ่น 5 ใหญ่ ยังมี “พันเอกอเนก บุณยถี” เตรียมนายร้อยรุ่น  4  “พันเอกรวมศักดิ์   ไชยโกมินทร์” เตรียมนายร้อยรุ่น  7 เป็นรองผู้บัญชาการศูนย์สงครามพิเศษ “พันเอกวิเชียร อ่อนนุช”  เตรียมนายร้อยรุ่น  7 เป็นผู้บังคับการกรมรบพิเศษที่  1 ค่ายวชิราลงกรณ์ ต.ป่าหวาย อ.เมืองลพบุรี ทั้ง  4  เสือหมวกแดงนี้สนิทสนมกลมเกลียวกับนักข่าวในจังหวัดลพบุรีเป็นอย่างดียิ่ง

พลตรี เทียนชัย เป็นผู้เปิดประตูค่ายสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ให้นักข่าวเมืองละโว้เข้าไปสัมผัสกับหน่วยงาน และผู้บังคับบัญชาของหน่วยอย่างมิตรไมตรี

            แม้จะมีเจ้านายหลายคน แต่ทหารพลร่มยกให้  “นายเทียนเป็นนัมเบอร์วัน” ดูได้จากพลร่มเป็นทหารไม่มีพุง เพราะนายเทียนของเขาไม่นิยมการไว้พุง กระทั่งบ้านพักในศูนย์สงครามพิเศษทุกบ้านมีสีสดใสของดอกสวยของกล้วยไม้ห้อยเรียงรายชายคาบ้าน นั่นก็เพราะบริเวณบ้านพักนายเทียนเต็มไปด้วยกล้วยไม้หลากหลายพันธุ์

ปีกร่มกับกล้วยไม้เป็นสัญลักษณ์ของความสวยงามอ่อนโยนในยามปกติเคียงคู่กับความเป็นเพชฌฆาตในสนามรบเมื่อยามเกิดศึกสงคราม

ผมกับ “ร้อยเอกสมพร เติมทองไชย” จปร.5 (เกษียณอายุราชการยศพลเอก)นายทหารคนสนิทพลตรีเทียนชัยคอเดียวกันครับ ร่ำสุรากันบ่อยครั้งที่ร้านข้าวต้ม “เฮียฮ้อ” โรงแรมจุฬาทิพย์    หลังสถานีรถไฟลพบุรีกว่าจะเลิกติดลมก็ปาเข้าไปเกือบตีสอง พี่สมพรขอตัวไปนอนงีบเอาแรงสัก  3  ชั่วโมง  เพราะตี  5ต้องไปรอที่บ้านพลตรีเทียนชัย แล้วไปวิ่งออกกำลังกายที่สนามม้าในศูนย์สงครามพิเศษ ปัจจุบันเป็นสนามสำหรับประกอบพิธีต่าง ๆ  ของทหารพลร่มอยู่ด้านหน้ากองบัญชาการหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษ

พลตรีเทียนชัยไร้ไขมันที่หน้าท้องร่างกายแข็งแรงออกกำลังกายทุกวัน ท่านจึงมีอายุยืนยาว     ได้รับสมญานามว่า “ไอ้เสือยิ้มยาก” ตามบุคลิกซึ่งไม่เคยปรากฏรอยยิ้มบนใบหน้าไม่ว่าจะสวมเครื่องแบบหรือนอกเครื่องแบบ แต่ก็ได้ความยิ้มแย้มแจ่มใสของศรีภริยา “ประพาฬสิทธิ์ สิริสัมพันธ์”มาแทน

เราท่านมักจะคุ้นกับคำว่า “เขตทหารห้ามเข้า” แต่สำหรับหน่วยทหารพลร่มมีแต่ “เขตทหารยินดีต้อนรับ” ผู้คนทั่วประเทศจึงรับรู้เกี่ยวกับทหารพลร่มมากขึ้นเหมือนกับได้สัมผัสกับตัวเอง โดยผ่านการถ่ายทอดจากนักข่าวลพบุรีเป็นปฐมบท

24 กุมภาพันธ์ “วันทหารพลร่ม” ของทุกปี พลตรีเทียนชัยจัดพิธีรำลึกถึงนักรบหมวกแดง    ที่เสียชีวิตจากการปฏิบัติหน้าที่ ตอนเช้าเป็นพิธีสงฆ์ ตอนเย็นเป็นพิธีราษฎร์บางปีจัดงานราตรีสโมสร บางปีจัดเลี้ยงแบบภายใน สุดแล้วแต่สถานการณ์บ้านเมือง

ส่วนหนึ่งของพิธีราษฎร์มีการประดับปีก  “พลร่มสัมพันธ์” เครื่องหมายกระโดดร่มย่อส่วนขนาดเล็กสำหรับติดปกเสื้อชุดสากล แรก ๆ  มอบให้สื่อมวลชนในจังหวัดลพบุรี ปีต่อมาขยับขยายเป็นสื่อมวลชนส่วนกลาง

พลตรี เทียนชัยกล่าวสั้น ๆ ถึงกิจกรรมนี้ว่า “กลองดีถ้าไม่มีคนตีก็ไม่ดัง”

ย้อนอดีต  45  ปี สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ เกิด “สงครามกลางเมือง” ในจังหวัดเพชรบูรณ์ พิษณุโลก ต่อถึงจังหวัดเลย  ผู้ก่อการร้ายยึดพื้นที่ตามป่าเขา จับอาวุธต่อสู้กับรัฐบาล   หมายมั่นจะยึดครองประเทศ  ทหาร 3 เหล่าทัพครบถ้วนทั้งบกเรืออากาศและตำรวจถูกส่งไปปฏิบัติการกวาดล้างศัตรูของแผ่นดินไม่เว้นแม้แต่นาวิกโยธิน

พลร่มป่าหวายจากกรมรบพิเศษที่  1 เข้าพื้นที่ตามแผนยุทธการควบคุมทุกหมู่บ้านเป้าหมาย    มีการประกาศเคอร์ฟิวส์ห้ามราษฎรออกจากบ้านตามเวลาที่กำหนด ตัดขาดการส่งเสบียงอาหาร     ตัดขาดการติดต่อระหว่างชาวบ้านกับผู้ก่อการร้าย

กว่าเหตุการณ์สงบด้วยการพ่ายแพ้ของผู้ก่อการร้าย  แต่ทหารตำรวจและพลเรือนได้พลีชีพเพื่อปกป้องอธิปไตยมากมาย วีรบุรุษเหล่านั้นถูกจารึกชื่อไว้ที่ “อนุสาวรีย์ดาบปลายปืน” อยู่บนยอดเขาค้อ อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์

 

ระหว่างการสู้รบยาวนาน “ร้อยตำรวจเอกวินิจ รัญเสวะ” นักบินตำรวจได้รับพระราชทาน   “เหรียญรามาธิบดี”   เครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดของนักรบเชิดชูเกียรติและวงศ์ตระกูล

ทหารพลร่มไม่มีผู้ใดได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์สูงสุดของนักรบนี้ ข่าวการสู้รบที่ทยอยออกมาสู่สาธารณะ ล้วนเป็นผลงานของตำรวจทั้งสิ้น แต่มิใช่แสดงว่าตำรวจมีฝีมือตีกลองเก่งกว่าทหาร ที่เป็นเช่นนั้นเพราะ…..

“พลตรีอยู่รบ กรเพชร” ผู้บัญชาการหน่วยพลเรือนตำรวจทหาร (พตท.) ที่  394 อ.หล่มสัก เพชรบูรณ์ ไม่อนุญาตให้นักข่าวเข้าไปหาข่าวทำข่าวใน  พตท.

เมื่อทหารปิดบังข่าวสาร นักข่าวจำต้องเร่ไปหาตำรวจ

ร้อยตำรวจเอก วินิจ รัญเสวะได้รับพระราชทาน“เหรียญอัศวิน” รามาธิบดี เพราะนักข่าวชื่อ “ปรีชา   กุลปรีชา” หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ทุกครั้งที่ร้อยตำรวจเอก วินิจ   เสร็จสิ้นปฏิบัติภารกิจนำเสบียงอาหารและกระสุนปืนไปทิ้งร่มตามฐานต่าง ๆ บนยอดเขาก็นำเฮลิคอปเตอร์มาจอดที่สนามหน้าโรงแรมที่หล่มสัก ซึ่งปรีชาพักอยู่ที่นั่น เพราะนักข่าวเข้าไปใน  พตท. 394  ไม่ได้

ปรีชาจึงได้ทั้งภาพเฮลิคอปเตอร์ถูกผู้ก่อการร้ายยิง ทะลุเฉียดที่นั่งนักบิน ได้ข้อมูลการเสี่ยงตายของร้อยตำรวจเอก วินิจไปปรากฏในพิมพ์ไทยเกือบทุกวัน

นักข่าวคนแรกที่อาสา  “ตีกลอง” ให้ฝ่ายทหารคือ “พรสิทธิ์   ลิ้มนุสนธิ์” ผู้สื่อข่าวไทยรัฐประจำจังหวัดลพบุรี ปัจจุบันเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น  “พลเมือง” พรสิทธิ์เข้าพื้นที่สู้รบร่วมกับผู้บังคับบัญชาระดับสูงของพลร่มขึ้นเฮลิคอปเตอร์ถ่ายภาพ    เข้าไปในฐาน  พตท.หล่มเก่าโดยสวมชุดสีเขียวเหมือนกับทหารคนหนึ่งไทยรัฐเสนอผลงานของฝ่ายทหาร ทั้งข่าวและภาพติดต่อกันขนาดทหารบางหน่วยในกรุงเทพฯ ไปไทยรัฐถามว่าได้ข่าวและภาพมาจากไหน

“วิมล พลกุล” หัวหน้ากองบรรณาธิการไทยรัฐสั่งจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้พรสิทธิ์วันละ  100   บาท  มันเป็นเงินก้อนใหญ่พอสมควรเมื่อเกือบ  50  ปีที่ผ่านมา แต่ก็เหมาะสมกับความเหนื่อยยากของพรสิทธิ์

ผมเป็นคนตีกลองระลอกสอง เขียนสารคดีเชิดชูวีรกรรม  “วีรบุรุษภูขี้เถ้า” ของ “พันตรี ไชยยงค์ โพธิ์อุไร” นักรบหมวกแดง กับ “ร้อยเอกนฤนาถ ไตรภูวนารถ” นักบินกองทัพบกลงในเดลินิวส์ จนกระทั่งทั้งสองได้รับพระราชทานเหรียญรามาธิบดีในเวลาต่อมา

“พันตำรวจตรี กฤษณ์   สังขะทรัพย์”  นำกำลังตำรวจขึ้นไปยึดฐานที่มั่นผู้ก่อการร้าย

บนยอดดอย  “ภูขี้เถ้า” อ.ด่านซ้าย   จ.เลย แล้วถูกผู้ก่อการร้ายโอบล้อมภูเขาไว้พอถึงกลางคืนผู้ก่อการร้ายก็บุกขึ้นมาโจมตี พันตำรวจตรี กฤษณ์ กับลูกน้องยิงสู้อย่างเหนียวแน่น  ผู้ก่อการร้ายล่าถอยแต่ยังยึดพื้นที่ด้านล่างไว้ สถานการณ์เป็นอย่างนี้ติดต่อกันหลายวัน พันตำรวจตรีกฤษณ์กับลูกน้องต้องอยู่ในรอยแตกของหิน เหมือนกับเป็นสนามเพลาะ แม้กระทั่งตำรวจที่เสียชีวิตก็อยู่ในนั้น เสบียงอาหารและน้ำดื่มถูกทิ้งลงมาจากเฮลิคอปเตอร์ก็ได้บ้างไม่ได้บ้าง ส่วนใหญ่ลมจะพัดไปตกในแดนผู้ก่อการร้ายมากกว่า

คนที่นำกำลังบุกไปเผด็จศึกผู้ก่อการร้ายที่ภูขี้เถ้า คือ พันตรีไชยยงค์ โพธิ์อุไร

จากพื้นราบไต่ขึ้นไปบนภูเขา จนถึงลานหินกว้างของภูขี้เถ้า  นักรบหมวกแดงใช้เวลากำจัดผู้ก่อการร้ายนานพอสมควร พันตำรวจตรีกฤษณ์กับลูกน้องกำลังอ่อนระโหยโรยแรงอยู่ในซอกหิน    พันตรีไชยยงค์ต้องตะโกนเรียก “กฤษณ์โว้ย   กูมาช่วยแล้ว”

สำหรับร้อยเอกนฤนาถก็มีวีรกรรมมากกมาย เป็นนักบินเฮลิคอปเตอร์กองทัพบก มีภารกิจนำเสบียงอาหารและยุทโธปกรณ์ไปส่งตามฐานต่าง ๆ เสี่ยงอันตรายเช่นเดียวกับพันตำรวจตรี วินิจ    เฮลิคอปเตอร์ถูกยิงครั้งแล้วครั้งเล่าจนครั้งสุดท้ายถูกยิงตกบนฐานปฏิบัติการร้อยเอกนฤนาถต้องใช้ชีวิตอยู่กับทหารในฐานนั้นหลายวัน

กล่าวถึงเหรียญกล้าหาญอันมีศักดิ์รามาธิบดีนี้ กระทำกันในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดารามเป็นพระราชพิธีสำคัญถึง 2วัน โดยวันแรกเป็นพิธีพราหมณ์เสกน้ำศักดิ์สิทธิ์  พราหมณ์เจ้าพิธีจะใช้หอกและดาบกวนน้ำในขันทองเหลืองขนาดใหญ่

วันที่สอง  “พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว”  เสด็จพระราชดำเนินมาทรงเป็นองค์ประธานในพิธีที่เรียกว่า  “ดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยา” และพระราชทานเหรียญแก่ผู้ได้รับ

ยุค “ทักษิณ   ชินวัตร” เป็นนายกรัฐมนตรี ทักษิณยืดอกสำแดง “ภูมิโง่” เพื่อยกหางตัวเอง    ว่า ตนเคยดื่มน้ำพิพัฒน์สัตยาในโบสถ์วัดพระแก้วมาแล้ว เล่นเอาแม่ทัพนายกองมองหน้ากันเลิ่กลั่ก     ร้อนถึง  “พลเอก ชวลิต   ยงใจยุทธ” รองนายกรัฐมนตรีต้องออกมาแก้ตัวแก้ต่างให้

แท้ที่จริง  เมื่อ  นรต.รุ่น  26  สำเร็จการศึกษา ทางโรงเรียนนายร้อยตำรวจพาไปไหว้พระแก้วมรกตกล่าวคำสาบานจะกระทำหน้าที่ผู้พิทักษ์สันติราษฎร์อย่างสุดความสามารถ ตบท้ายด้วยการ “ดื่มน้ำมนต์” ก็แค่นั้นเอง ทักษิณจะโง่หรือแกล้งโง่ผมไม่รู้

ผมกับพันเอก เทียนชัยมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน จนกระทั่งท่านเลื่อนยศเป็นพลเอก    สมัยท่านเป็นเจ้ากรมการรักษาดินแดน ผมอยู่ไทยรัฐ ผมไปบ้านท่านหลายครั้ง ตามปกติผมไม่ชอบเข้าหาผู้ใหญ่ ถ้าท่านโทร.มาผมก็ไป ท่านกินข้าวต้มมื้อเย็น ผมกินเหล้า ก็คุยกันถูกคอดี  ตั้งแต่ท่านเกษียณลงเล่นการเมือง เป็นหัวหน้าพรรคราษฎร เป็น  ส.ส.ลพบุรี เป็นรองนายกรัฐมนตรี ท่านมีภารกิจมาก ผมกับท่านก็เลยห่าง ๆ  กันไป

กับพันเอกเอนก  บุณยถี ซึ่งเกษียณตำแหน่งผู้บัญชาการหน่วยบัญชาการพิเศษยศพลโท    ผมเรียกท่านว่า   “ลุงเหนก” ท่านลงสมัคร ส.ส.ลพบุรีสังกัดพรรคชาติไทย ได้เป็น ส.ส.ครั้งเดียว     ครั้งต่อมาสอบตก เพราะขาดแคลนกระสุนดินดำ ใช้ชีวิตบั้นปลายที่หมู่บ้านปัฐวิกรณ์    และเสียชีวิตไปแล้ว

สำหรับพันเอกรวมศักดิ์ ไชยโกมินทร์ เกษียณในตำแหน่งแม่ทัพภาคที่  3  ยศพลโท     ท่านเสียงดังฟังชัด เป็นชาวกาญจนบุรีมาเป็นเขยลพบุรี เข้ากับนักข่าวท้องถิ่น และส่วนกลางอย่างดีเยี่ยม เสียชีวิตแล้วเช่นกัน

ท่านมีบุญคุณกับผมอยู่เรื่องหนึ่ง สมัยนั้น  “พันตำรวจเอกประจันต์ พราหมณ์พันธุ์” เป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี  ผมดำรงสถานะนักข่าวมีอุดมการณ์และมือสะอาด ซึ่งผู้คนทุกชนชั้นในลพบุรู้ดี พันตำรวจเอก ประจันต์ก็ประจักษ์ในข้อนี้ แต่ท่านคงขี้เกียจรอให้ผมเอ่ยปาก     วันหนึ่งท่านถามถึงลูกสาวผมเรียนชั้นไหนโรงเรียนใด ผมก็ตอบให้ทราบ

พันตำรวจเอกประจันต์บอกว่า  ขอเป็นผู้อุปการะด้านค่าเทอมให้ลูกผม ผมน้อมรับความเมตตาของท่านด้วยความยินดีที่มีมาแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่าย เพราะตอนนั้นเงินเดือนไม่กี่ร้อยบาท    สองคนผัวเมียพอกัดก้อนกินเกลือได้ แม้ว่าบ้านต้องเช่าข้าวต้องซื้อ ส่วนเหล้าพอมีไม่ขาดปาก      เมื่อมีลูกที่เราต้องรับผิดชอบดูแลจะให้เขามากินเกลือเหมือนเราได้อย่างไร

ต่อมา พันตำรวจเอก ประจันต์เลื่อนตำแหน่งสูงขึ้นย้ายไปเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต  1 พระนครศรีอยุธยาการติดต่อก็เหินห่างกันไปแต่ทุกวันที่  1  สิงหาคมวันเกิดของท่าน ผมไปอวยพรท่านทุกปีที่บ้านในกรุงเทพฯอวยพรด้วยปากกับใจครับ

ท่านเกษียณอายุราชการยศพลตำรวจโท ปีแรกที่เกษียณพอวันที่  1  สิงหาคม ผมไปที่บ้านท่าน มันแตกต่างกับทุกปีที่ผ่านมา ผู้คนที่เคยหนาแน่นไม่รู้หายไปไหนหมด  ผมกดกริ่ง มีเด็กรับใช้ออกมาบอกว่าท่านกับคุณนายไปทำบุญ ผมก็นั่งมอเตอร์ไซค์รับจ้างกลับบ้าน ในใจผมคิดอย่างไรไม่อยากบอกครับ

กลับมาวันหนึ่งพันเอก รวมศักดิ์สวมเครื่องแบบเข้าในบ้านผมซึ่งเป็นบ้านเช่าห้องแถวไม้สองชั้น เสียงท้อปบูธกระทบพื้นบ้านยังจำติดหูจนถึงทุกวันนี้ พันเอก รวมศักดิ์บอกว่า พันตำรวจเอกประจันต์ เป็นนักเรียนนายร้อยรุ่นพี่สั่งให้มารับภาระออกค่าเทอมให้ลูกสาวผมแทน ผมไม่ปฏิเสธและน้อมรับความปรารถนาดีไว้เช่นเคย

ชีวิตมันเป็นอย่างนี้ ชั่วดีถี่ห่างอยู่ที่ตัวเราเอง หรือว่าฟ้ามีตาจริง ๆ ทั้งทหารและตำรวจระดับบิ๊กในท้องถิ่นจึงเห็นสภาพนักข่าวที่กล้าเรียกตัวเองเป็นคนจนผู้ยิ่งใหญ่ไม่เคยแบมือขอทานใคร ท่านเลยหยิบยื่นความเมตตาให้ผม.

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES