“ผมถือว่าเรามีอาชีพตำรวจ เราต้องดูแลประชาชน อาชญากรกับเรามันเป็นศัตรูกัน”

ายพลมือปราบแดนใต้มาดนิ่งราวสุภาพบุรุษหน้าตาคมกริบทว่าประกาศเป็นศัตรูกับเหล่าอธรรมชนิดไม่ไว้หน้า

พล.ต.ท.มาโนช ไกรวงศ์ อดีตที่ปรึกษา สบ 9 เทียบเท่าผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผ่านประสบการณ์สืบสวนปราบปรามมาอย่างโชกโชนในสมัยสวมเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ เขาเกิดเมืองสุราษฎร์ธานี ลูกชายตำรวจชั้นประทวนใช้ชีวิตอยู่บ้านเกิดจนจบมัธยมต้นเลยหันหัวเข้ากรุงหวังจะสอบโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา แต่พลาดท่าต้องเปลี่ยนไปต่อโรงเรียนสันติราษฎร์วิทยาลัย

ความตั้งใจเดิมอยากเอ็นทรานซ์เข้าเรียนวิศวกรรมศาสตร์ แต่เพื่อนชวนสอบเตรียมทหารเลยตัดสินใจไป สอบติดเลือกเหล่านายร้อยตำรวจรุ่น 23 บรรจุครั้งแรกเป็นผู้บังคับหมวดทำหน้าที่สอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสงขลา ปีเศษย้ายเป็นรองสารวัตรแผนกบริการ กองกำกับการรถวิทยุ และศูนย์รวมข่าว กองบัญชาการตำรวจนครบาล

ต่อมาถูกเรียกเข้าเป็นนายตำรวจฝ่ายปกครองโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เนื่องจากสมัยเป็นนักเรียนมีประวัติเป็นนักเรียนผู้บังคับบัญชาตั้งแต่เตรียมทหาร เป็นนักเรียนหัวหน้ากองพัน เป็นนักเรียนปกครองของนายร้อยตำรวจถึงถูกเรียกเข้าไปเป็นผู้บังคับหมวดกองร้อยที่ 5 กองกำกับการ 1 โรงเรียนนายร้อยตำรวจนาน 5 ปีดำรงตำแหน่งผู้บังคับกองร้อยที่ 4 กองกำกับการ 1 โรงเรียนนายร้อยตำรวจ

จังหวะนั้นได้ไปดูงานที่ประเทศสิงคโปร์กับสล้าง บุนนาค ที่กำลังเรียนโรงเรียนผู้กองอู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจเจอกับอัมพร ภัยลี้ สารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอหาดใหญ่ที่เคยอยู่ด้วยกันตอนพ้นรั้วสามพรานมาใหม่ ๆ จึงชวนให้กลับไปทำงานถิ่นเก่า พล.ต.ท.มาโนช เล่าว่า ตอนนั้นอาวุโสครบขึ้นรองผู้กำกับแล้ว ท่านอัมพรชวนไปเป็นสารวัตรปราบปรามที่หาดใหญ่ก็คิดสองจิตสองใจ เพราะอยากเติบโตในเส้นทางของโรงเรียนนายร้อยตำรวจแล้ว ท่านอัมพรย้ำว่า ให้มาช่วยกันหน่อย ปัญหามันเยอะ เพราะเห็นว่าเคยอยู่ด้วยกัน สุดท้ายตัดสินใจไปก็ไป

อยู่หาดใหญ่ 2 ปี เขาขยับเป็นสารวัตรปราบปรามเมืองภูเก็ต ไม่กี่เดือนเลื่อนเป็นสารวัตรใหญ่ สถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองตรัง แทนคนเก่าที่ถูกผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ยิงตายกลางเมืองหลังรับตำแหน่งได้ไม่กี่วัน เจ้าตัวบอกว่า ท่านณรงค์ อัลภาชน์ เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธร 4 เลือกให้ไป ช่วงนั้นเกิดการกวาดล้างผู้ก่อการร้ายพร้อมคำสั่ง 66/23 มีผลบังคับใช้ ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ส่วนใหญ่เริ่มออกมามอบตัว ท่านหาญ ลีลานนท์ แม่ทัพภาค 4 ก็มีกองกำลังไปกวาดล้างบนภูเขาจนเกือบหมด

พล.ต.ท.มาโนชว่า ทำงานเงียบ ๆ อยู่ตรัง 2 ปี ท่านสล้าง บุนนาค ย้ายเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธร 12 คุมภาคใต้ทั้งหมดเรียกให้กลับไปช่วยงานที่หาดใหญ่อีกครั้ง ด้วยปัญหาเก่า คือ โจรผู้ร้ายพลุกพล่าน ผู้มีอิทธิพลเกลื่อนเมือง อำเภอหาดใหญ่เหมือนอาหารอันโอชะของกลุ่มอาชญากรรมทั้งหลาย ตั้งแต่โจรลักเล็กขโมยน้อย โจรปล้นทรัพย์ มือปืนรับจ้าง กลุ่มค้าของผิดกฎหมาย ค้ามนุษย์ ค้าโสเภณีเยอะมาก อาชญากรรมทุกอย่างมีแต่ในหาดใหญ่

“ผมย้ายเป็นสารวัตรใหญ่หาดใหญ่เข้าไปแก้ปัญหา 2 ปี ทำผลงานเฉียบขาด ประกาศชัดว่าอาชญากรรมต้องไม่มี ตอนเป็นสารวัตรก็ปราบหนักมาทีแล้ว มือปืนรับจ้างทั้งหลาย กลุ่มอาชญากร ผู้มีอิทธิพลพากันขยาดหลบออกนอกพื้นที่หมด เพราะเราเอาจริง ผมไม่ไว้หน้าใคร ผมถือว่าเรามีอาชีพตำรวจ เราต้องดูแลประชาชน อาชญากรกับเรามันเป็นศัตรูกัน ตั้งหน้าตั้งตาปราบจริงจัง ถ้าไม่เลิกก็อยู่ด้วยกันไม่ได้  พวกมันหนีออกนอกพื้นที่ พอผมออกเป็นสารวัตรใหญ่เมืองตรัง พวกนั้นมันก็ย่ามใจกลับเข้ามาอีก” อดีตมือพระกาฬแห่งดินแดนหาดใหญ่ว่าถึงอุดมการณ์การทำงานสมัยก่อน

กวาดล้างเมืองหาดใหญ่ได้ 2 ปี เลื่อนดำรงตำแหน่งรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา คุมงานปราบปรามอาชญากรรมตามสไตล์เดิม กระทั่งเกิดวิกฤติชีวิต เมื่อมีคดีฆ่ารัตนา ก้องกิตติ นักธุรกิจหญิงแถวหน้าของหาดใหญ่และมีตำแหน่งเป็นถึงนายกสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดสงขลา มือปืนเป็นตำรวจของโรงพักหาดใหญ่ พล.ต.ท.มาโนชย้อนภาพครั้งนั้นว่า เราในฐานะที่เป็นผู้บังคับบัญชา เช่นเดียวกับ ผู้กำกับการจังหวัด สารวัตรใหญ่ สารวัตรปราบปราม สารวัตรสืบสวน ถูกย้ายหมด แม้เป็นเรื่องที่เราไม่รู้อะไรด้วย แต่ความเป็นผู้บังคับบัญชาต้องรับผิดชอบ ถือว่า ไม่ดูแลผู้ใต้บังคับบัญชา ทำให้ไปทำความผิดเลยโดนย้ายเกลี้ยง

เขาถูกเด้งเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสกลนคร ใช้ชีวิตอยู่ถิ่นอีสานเพียงเดียว เหตุการณ์ที่สงขลาคลี่คลาย มีการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำความผิด ผู้บังคับบัญชายังเห็นฝีไม้ลายมือ แต่ตำแหน่งที่สงขลาเต็มเลยได้ลงเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช ก่อนขึ้นเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช เขต 2 ปีถัดมา พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ อธิบดีกรมตำรวจ เห็นว่าหาดใหญ่มีปัญหาเรื่องการค้าผู้หญิงออกประเทศมาเลเซียจึงเรียกเขาไปพบเพื่อให้ไปช่วยแก้ปัญหาที่จึงย้ายเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลาเขต 2 นาน 3 ปี มีการปรับโครงสร้างกรมตำรวจยุบกองกำกับเขตตั้งเป็นกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เขาได้เลื่อนเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา

ปี 2540 ขยับติดยศนายพลตำแหน่งเลขานุการกรมตำรวจ และทำหน้าที่โฆษกกรมตำรวจ แค่ 3 เดือนเศษโยกกลับถิ่นถนัดเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ปีเดียวขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 และผงาดกลับเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ช่วงที่สถานการณ์ไฟใต้กลับมาลุกโชนรุนแรงอีกครั้ง พล.ต.ท.มาโนชเข้าทำโครงการหลายโครงการเพื่อดูแลประชาชนในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ยอมรับว่า ที่ผ่านมาดินแดน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เกือบ 90 เปอร์เซ็นต์เป็นคนมุสลิม แต่สมัยก่อนชาวบ้านอยู่ได้ หากินตามปกติ กลุ่มกระบวนการแบ่งแยกดินแดน คือ กลุ่มผู้สูญเสียอำนาจเดิม ไปตั้งกลุ่มเพื่อแยกดินแดน ชาวบ้านไม่เอาด้วย เวลาโจรลงมาตามหมู่บ้านชาวบ้านจะวิ่งมาบอกเจ้าหน้าที่ เราก็จะไปดักจับกุม พวกนั้นอยู่บนป่าบนเขา แต่พอหลังจากเจ้าหน้าที่ปล่อยให้พื้นที่มันว่าง เขาก็ลงมาเลยอย่างน้ำบ่าลงมาจากภูเขา ใช้เวลา 2 ปีเต็มหมด

“บังเอิญช่วงนั้นเราก็ไม่ได้เข้มงวดเรื่องตำรวจ เรื่องข้าราชการที่ไปเอารัดเอาเปรียบ รังแกเขา คนรุ่นหลังก็ได้รับการศึกษา ไม่เหมือนคนโบราณที่ทำมาหากินอยู่ในท้องไร่ท้องนา เขาก็ไม่คิดอะไรมาก ถือว่ายอม แต่คนรุ่นใหม่พอข้าราชการไปเอาเปรียบเขาก็ไม่ยอม มีการพูด มีการปลุกระดม เดี๋ยวนี้เต็มไปหมดกลายเป็นว่ามวลชนที่เคยเป็นของเรา กลับเป็นของเขา จากหน้ามือเป็นหลังมือ ถึงวันนี้ยากที่จะดึงคนแบบนั้นกลับมาอยู่ฝ่ายเรา หลายคนถามผมว่าจะแก้ปัญหาได้อย่างไร ผมก็บอกไม่รู้ มันยากมาก ๆ ไม่รู้จะมองตรงไหน จะแก้ตรงไหนได้” นายพลตำรวจวัยเกษียณแสดงความผิดหวัง

คุมพื้นที่ภูธรภาค 9 ปีเดียวขึ้นเป็นที่ปรึกษา สบ 10 เทียบเท่าผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ก่อนตัดสินใจลาออกลงสมัครเลือกตั้งเป็นวุฒิสมาชิกจังหวัดสุราษฎร์ธานีบ้านเกิดเดินสนามการเมืองเต็มตัว แม้จะเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารเมื่อปี 2549 ทำตำแหน่งวุฒิสมาชิกหมดสภาพไปโดยปริยาย แต่ พล.ต.ท.มาโนช ไม่ขอกลับเข้ารับราชการที่เหลือระยะเวลาไม่กี่วันก็เกษียณอายุราชการแล้ว เลือกเดินหน้าหาเสียงอีกครั้ง กระทั่งมีการเลือกตั้งสมาชิกวุฒิภาใหม่ในปี 2551 คราวนี้เขานั่งเก้าอี้ยาวจนเพิ่งพ้นวาระไปเมื่อเดือนเมษายน 2557

ประสบการณ์ที่ผ่านมา เจ้าตัวบอกว่า คดีส่วนใหญ่ที่สงขลามีเยอะมาก เริ่มตั้งแต่ยังเป็นร้อยตำรวจตรีร่วมกับท่านอัมพร ภัยลี้ ตามคดีฆ่าและข่มขืน ช่วงนั้นอยู่ระหว่างใช้กฎหมายคณะปฏิวัติ เป็นคดีแรกในชีวิต คนร้ายเป็นพี่น้อง 3 คน ลูกผู้มีอิทธิพลในสงขลา มีเงิน แต่เป็นเด็กเกเร ไปฆ่าอาจารย์โรงเรียนเทคนิคที่กำลังนั่งคุยกับแฟนสาวริมชายหาดแล้วลากผู้หญิงไปรุมโทรม คดีการสืบสวนค่อนข้างยาก แต่เราตามไปจับได้ที่พัทลุงระหว่างมันหนีขึ้นรถไฟ การสอบสวนไม่มีอัยการ ไม่มีศาล ส่งตัวให้คณะปฏิวัติเลย มีคำสั่งประหารชีวิต 2 คน ส่วนอีกคนเป็นเด็กอายุไม่เกิน 18 ปีให้จำคุกตลอดชีวิต เป็นคดีแรกและเป็นคดีใหญ่

“ผมทำคดีเยอะมาก จำไม่ไหวหรอก ส่วนมากเน้นจับกุมมือปืนรับจ้าง ไม่เชิงดุเดือด แต่ใช้มาตรการปราบปรามจริงจัง ผิดกฎหมายก็ว่ากัน ต่อสู้ก็ยิงกัน มีวิสามัญฆาตกรรมกัน 4-5 ราย เพราะคนร้ายเป็นกลุ่มมือปืนรับจ้าง ส่วนมากไม่ยอมให้จับ พวกนี้มีปืน มักต่อสู้” พล.ต.ท.มาโนชฉีกยิ้มและเล่าต่อว่า เหมือนคดีเรียกค่าไถ่ลูกชายเจ้าของเหมือง ตอนเป็นสารวัตรใหญ่ เป็นคดีที่ค่อนข้างสืบสวนยากมาก เพราะเราไม่สามารรถบอกใครได้ แม้กระทั่งผู้บังคับบัญชา หลายคนถึงขนาดเข้าใจผิด เพราะเราได้สายข่าวที่ไว้ใจเราคนเดียว ห้ามไม่ให้บอกใคร รายงานใครไม่ได้ เพราะสายกลัว สายคนนี้เข้าไปเกี่ยวข้องกับกลุ่มคนร้ายที่จับลูกเจ้าของเหมืองที่อำเภอนาหม่อม สงขลาไปเรียกค่าไถ่นาน 7-8 วัน เรียกเงินเจ้าของล้านกว่าบาท เราก็บอกไม่ให้จ่าย เพราะตอนนี้มีสายอยู่ในทีม

ตำนานนักสืบเมืองสงขลาบรรยายฉากว่า คนที่มาบอก คือ คนที่เราเคยช่วยเหลือเขาไว้ เขาแอบมาให้ข้อมูล เขาถือว่าอยู่ในอันตรายที่สุด ถึงกล้าบอกเราคนเดียว และกำชับไม่ให้บอกใคร ไม่อย่างนั้นเขาตาย เราก็เลยไม่บอกใคร เพราะสายกลัวมาก เราก็บอกนายว่า เสร็จแล้วค่อยว่ากันอีกที สืบสวนจนนัดวันมอบเงิน มันมากันทั้งคณะ 6-7 คน เราก็ล้อมจับ ตำรวจยิงตายหมดแก๊ง ท่านเจริญจิตต์ ณ สงขลา เป็น ผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านสล้าง บุนนาค เป็นผู้บังคับการยังไปตรวจที่เกิดเหตุเป็นคดีใหญ่ดังมาก

“ผู้ร้ายถูกยิงตายหมด ตัวประกันปลอดภัย พวกผมวางแผนกันมาอย่างดี ผมไปกับลูกน้องแค่ 3-4 คน ไปมากไม่ได้ เลือกเฉพาะคนที่ไว้ใจกันจริง ๆ ถ้าคนร้ายไม่ตาย สายเราก็ตาย วันนี้ผมก็ไม่ได้บอกใครว่าสายคนนั้น คือใคร ไม่กล้าบอก เป็นคดีที่ญาติพี่น้องก็พยายามสืบว่า ใครมาเป็นสายให้ เรียกว่าให้มันตายไปกับผมคนเดียวก็แล้วกัน ผมค่อนข้างประทับใจคดีนี้มาก” นายพลมือปราบรุ่นเก่าไม่ลืมฉากเดือด

พล.ต.ท.มาโนชบอกอีกว่า เมืองหาดใหญ่คดีเยอะมาก ยิ่งกลุ่มที่มีการค้าผู้หญิงไทยไปมาเลเซีย เอาผู้หญิงไปทารุณ เบียดบังรายได้ ต้องไปปราบจนกระทั่งหมด อีกประเด็นปัญหาที่หาดใหญ่ คือเรื่องโสเภณี เราเปิดเป็นเมืองท่องเที่ยว คนมาเลเซียที่เป็นคนจีนจะเข้ามาเที่ยวตอนเสาร์อาทิตย์ มาหาบริการ มีผู้หญิงอยู่ในวงการค่อนข้างเยอะ “ผมรับนโยบายจากท่านเจริญจิตต์ ท่านสล้าง มีความรู้สึกว่า เด็กผู้หญิงพวกนี้เป็นเด็กที่น่าสงสาร ผมเองก็มีความเชื่อว่าน่าสงสาร แม้จะเต็มใจ แต่ส่วนใหญ่ก็ถูกเบียดบังรายได้ หักค่าโน่นค่านี่ ได้มา 500 บาท เหลือถึงตัวเองไม่ถึง 100 บาท มันเหมือนทารุณ ผมดูแล้วมันไม่ได้ เขาอุตส่าห์พลีกายมาหากินแบบนี้แล้ว เรายังจะไปเบียดบังเขาอีก ผมก็รับไม่ได้ เป็นนโยบายที่ผมประกาศชัดเจนว่า ห้ามตำรวจแม้แต่ระดับไหนก็ตามรับผลประโยชน์ต่อคนเหล่านี้เป็นอันขาด เพราะฉะนั้น ใครที่ดูแลคนพวกนี้อยู่จะไปหักเงินจากเด็กเหล้านี้แม้แต่บาทเดียวผมก็ไม่ยอม”

“ ถามว่า ทำไมไม่ปราบให้หมด มันปราบไม่ได้ สังคมรู้ดี ปัญหาโสเภณีมันปราบไม่ได้ แต่จะทำอย่างไรให้เขามีชีวิตที่ดี คนเหล่านี้มีช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง พอหลังจากที่เขามีเงินทอง เขากกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติของเขา เราก็สงสารเขา ช่วงนั้นเป็นนโยบายค่อนข้างชัดเจนไม่มีการรับผลประโยชน์จากคนเหล่านี้ สถานบริการที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง ไม่เคยแตะต้องในชีวิตผม ผมได้รับการสั่งสอนมาตั้งแต่สมัยท่านสล้างว่า เงินอย่างอื่นมันก็พอแล้ว เงินที่มาจากโสเภณีอย่าไปแตะต้องเลยมันไม่เจริญหรอก เหมือนเราไปเบียดบังเขา เอารัดเอาเปรียบ ทั้งที่ชีวิตรับราชการก็มีใช้มีกินพอสมควรแล้ว” พล.ต.ท.มาโนชน้ำเสียงจริงจัง

สุดท้ายนักสืบชั้นครูฝากแง่คิดถึงนายตำรวจรุ่นหลังคืออยากจะคิดว่า เราเป็นตำรวจ สิ่งที่เราจะต้องทำ คือ ดูแลประชาชน เป็นหน้าที่หลัก คือ ความปลอดภัยของประชาชน เขาจ้างเรามาทำอะไร พิทักษ์สันติราษฎร์ไม่ใช่หรือ ทำอย่างไรให้บริสุทธิ์ชนอยู่อย่างเป็นสุข ให้คิดว่า เรา คือ ศัตรูของอาชญากร คนทำผิดกฎหมายทั้งหลาย พวกอาชญากรลักวิ่งชิงปล้น มันต้องเป็นศัตรูกับเรา

“ผมคิดอย่างนี้ในชีวิตผม ผมถึงคิดว่า ตำรวจรุ่นใหม่ต้องมีจิตวิญญาณของความเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ อย่าไปคิด แต่ผลประโยชน์ที่เราจะได้ วันนี้ราชการเราก็พยายามชดเชยให้ แม้จะน้อย ผมเป็นคณะกรรมาธิการยุติธรรมตำรวจของวุฒิสภาพยายามผลักดันหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องพนักงานสอบสวนให้เพิ่มเงินของฝ่ายสอบสวนให้มากขึ้น ฝ่ายปฏิบัติการก็เช่นกัน มีการจ้างทำวิทยานิพนธ์ ทำวิจัยว่า เงินของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปราบปรามควรต้องเพิ่มขึ้น จะใช้พื้นฐานของข้าราชการตามปกติไมได้ เพราะเขาอยู่กับความเสี่ยง  อยู่กับอำนาจสามารถมีผลประโยชน์ได้ มีทั้งกฎหมาย มีทั้งปืน มันไปหาผลประโยชน์ได้ถ้าเงินที่ให้ไปไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพของเขาเอง ดังนั้นมันควรต้องมีเงินพอสมควรที่จะดูแลครอบครัวเขา”

นายพลตำรวจโทวัยเกษียณมองว่า ถ้าเราไปดูแล้วบรรดาอาชีพตำรวจทั่วโลกจะมีเงินค่อนข้างมากกว่าข้าราชการอื่น เพราะถือว่าเสี่ยง อาชีพเขามีโอกาสไปหาผลประโยชน์ได้ ก็พยายามเตือนน้อง ๆ ตลอด คิดว่า ตำรวจรุ่นใหม่น่าต้องปรับได้แล้ว เมื่อได้เงินเดือนพอสมควร ควรยุติเรื่องหาผลประโยชน์ในอาชีพ มียุคหนึ่งที่ตำรวจไปอยู่ใต้อำนาจของการเมืองกระทั่งว่า เราทำอะไรไม่ได้ถือว่าเสียหายมาก สมัยก่อนเลื่อนตำแหน่งไม่เคยมีการวิ่งเต้น มีแต่ผู้บังคับบัญชาเรียกมา ให้แก้ปัญหาตรงนั้นตรงนี้ กระทั่งได้เป็นผู้บัญชาการ ไม่เคยวิ่งเต้นกับใครเลย ไม่ขอตำแหน่งใครแม้แต่ตำแหน่งเดียว

“นี่เป็นสิ่งที่ผมภูมิใจ และเล่าให้น้อง ๆ ฟังได้ตลอดเวลา หลายคนบอกว่า ผมเป็นคนโชคดี พวกเขาโชคดีเหมือนผม เปล่าเลย ผมไม่มีเส้น เป็นเด็กบ้านนอก พ่อก็เป็นข้าราชการชั้นประทวน เพียงแต่ว่า ผมทำงานหนัก ช่วงที่มีปัญหาผู้ใหญ่เรียกไปใช้ ถ้าไม่มีปัญหาเขาอาจลืมเราไปแล้วก็ได้”

มาโนช ไกรวงศ์ !!!

 

RELATED ARTICLES