ฝ่าวิกฤติพนักงานสอบสวน

 

 

เสียงสะท้อนพนักงานสอบสวนวอนไปทั่ว

เพจ พนักงานสอบสวนหญิง บอกว่า รอเวลาเติมคนทำงาน

“สถาบันส่งเสริมงานสอบสวนอบรมเสร็จยัง เอามาใช้งานได้แล้วจ้า กองอัตตาอย่ามัวประเมินตำแหน่งตามคดีที่ไม่ตรงกับความจริง  เอาแต่เลขคดี ไม่ดูคดีมโนสาเร่ ไกล่เกลี่ย จราจร ปรับเป็นพินัย คดีศาลแขวง และคดีที่ไม่เป็นคดี” พวกเขาว่า

ไม่เคยจัดสัมมนาถามความต้องการของพนักงานสอบสวนแล้วมโนจากตัวเลขคดี 5 กลุ่ม

ไม่ตอบโจทย์แก้ปัญหากำลังพล

ขณะที่ ร.ต.ท.หญิง ศิราณี บัวพันธ์ รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรวชิรบารมี จังหวัดพิจิตร พนักงานสอบสวนหญิงดีเด่น ที่ได้รับรางวัลเชิดชูเกียรติจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติเนื่องในวันสตรีสากลประจำปี 2565 ออกมาแสดงความคิดเห็น ผ่าน  Tik Tok  ถึงปัญหาการทำงานของพนักงานสอบสวน

แพร่หลายเป็นไวรัลโด่งดังไปทั้งประเทศ

ปรากฏว่า พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่ปล่อยผ่าน ได้มีวิทยุในราชการตำรวจแห่งชาติ ด่วนที่สุดถึงผู้ปฏิบัติแต่ละกองบัญชาการ

ว่าด้วย สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีนโยบายปรับปรุงประสิทธิภาพงานสอบสวน เพื่อให้การอำนวยความยุติธรรมกับประชาชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สนับสนุนการทำงาน ลดภาระงาน สร้างขวัญกำลังใจและสวัสดิการให้กับพนักงานสอบสวน

มีทั้งเรื่องที่ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้วและอยู่ระหว่างการดำเนินการ เช่น การแก้ไขคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่  419/2556 ลงวันที่ 1 กรกฎาคม 2556  เรื่อง การอำนวยความยุติธรรมในคดีอาญา การทำสำนวนการสอบสวน และมาตรการควบคุม ตรวจสอบ เร่งรัดการสอบสวนคดีอาญา  การลดขั้นตอนทางธุรการและการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในงานสอบสวนตามคำสั่งสำนักงานตำรวจแห่งชาติที่ 732/2566 ลงวันที่ 28 ตุลาคม 2566

อีกทั้งการจัดสรรอัตราเงินเดือนเพื่อบรรจุและแต่งตั้งพนักงานสอบสวนปีละไม่ต่ำกว่า 1,000 นาย รวมทั้งเร่งรัด

กระบวนการสรรหาและฝึกอบรมเพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้โดยเร็ว  การวิเคราะห์และกำหนดตำแหน่งควบที่สามารถปรับระดับเพิ่ม – ลดได้ในตัวเองของพนักงานสอบสวนเพื่อเป็นเส้นทางการเจริญเติบโตจะแล้วเสร็จประมาณเดือนพฤษภาคม 2567

ตลอดจนการพิจารณาเสนอขอปรับปรุงอัตราเงินเพิ่มเป็นกรณีพิเศษสำหรับพนักงานสอบสวนโดยเทียบเคียงกับเจ้าหน้าที่อื่นในกระบวนการยุติธรรม และการบรรจุแต่งตั้งผู้ช่วยพนักงานสอบสวนเพิ่มเติม

ระหว่างนี้เพื่อให้การบริหารงานสอบสวนมีประสิทธิภาพ สามารถกำหนดจำนวนพนักงานสอบสวนให้เหมาะสมกับปริมาณงาน ช่วยลดภาระและสร้างขวัญกำลังใจให้กับพนักงานสอบสวน ให้ดำเนินการดังนี้

ให้ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1-9 ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด ผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง และผู้บัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำรวจปริมาณงานของพนักงานสอบสวนในสังกัด ทั้งการแจ้งความที่เกี่ยวกับคดีอาญา การแจ้งความที่ไม่เกี่ยวกับคดีอาญา การรับแจ้งคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี คดีจราจร และการดำเนินการอื่นใดที่เกี่ยวข้องจนเสร็จสิ้นกระบวนการ

นำผลการวิเคราะห์มาใช้ปรับเกลี่ยจำนวนพนักงานสอบสวนในสังกัด ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับปริมาณงาน โดยให้รายงานผลการดำเนินการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ ผ่านสำนักงานกำลังพลภายในวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567

กรณีคดีสำคัญ หรือคดีที่มีความยุ่งยากสลับชับช้อนต้นสังกัดพิจารณามอบหมาย พนักงานสอบสวนกลุ่มงานสอบสวนร่วมดำเนินการสอบสวน

ให้ ผู้กำกับการหัวหน้าสถานี หัวหน้างานสอบสวน จัดระบบ “พี่เลี้ยง” ให้คำปรึกษา แนะนำแก้ไขปัญหาให้พนักงานสอบสวนที่ปฏิบัติหน้าที่ มี ผู้บังคับการกำกับดูแลและควบคุมการปฏิบัติงาน

ขณะเดียวกันจเรตำรวจ สำนักงานตรวจสอบภายใน และผู้บังคับบัญชาทุกระดับ กำกับ ตรวจสอบ การปฏิบัติหน้าที่และการรับคดีของพนักงานสอบสวนทุกราย

พร้อมมีการบันทึกผลการตรวจไว้อย่างชัดเจน

ผลการตรวจสอบจะต้องสอดคล้องกับสถิติการรับคดีในระบบ CRIMES และคำสั่งการให้ปฏิบัติหน้าที่ พนักงานสอบสวนเวร หากพบ ข้อบกพร่อง” ให้ดำเนินการทางวินัยตามอำนาจหน้าที่ แล้วรายงานสำนักงานตำรวจแห่งชาติทราบ

สรุปแล้ว พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เปิดโอกาสให้ผู้บัญชาการและผู้บังคับการแสดงวิสัยทัศน์ แก้ปัญหาวิกฤติของพนักงานสอบสวน ในหน่วยของตัวเอง

RELATED ARTICLES