กระบวนการยุติธรรมเมืองไทย

 

บอกกับตัวเองจะขอทุ่มเททำคดีเดียวตลอดทั้งปี

ย้อนกลับไปที่สมัย พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ ยังดำรงตำแหน่งผู้กำกับการวิเคราะห์ข่าวและเครื่องมือพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 ทนไม่ได้ที่เห็นชาวบ้านตกเป็น “เหยื่อคอลเซ็นเตอร์” อ้างหน่วยงานของเขาจนสูญเสียทรัพย์สินไปมูลค่าไม่น้อย

ในฐานะนักสืบนครบาลเก่าเขาถึงเรียก ร.ต.อ.เขมชาติ ประกายหงษ์มณี ระหว่างนั้นเป็นรองผู้อำนวยการกองกิจการต่างประเทศและคดีอาชญากรรมต่างประเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อนร่วมรุ่น นักเรียนนายร้อยตำรวจ 50 ตั้งแฟ้มเดินหน้าลุยเอาจริงเอาจัง

ประสาน สำนักงานอัยการสูงสุด ขอคำสั่งตั้งคณะทำงาน เปิดคดีอาชญากรรมข้ามชาติ ตามพระราชบัญญัติป้องกันปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่มีตัวแทนจากอัยการ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน กรมสอบสวนคดีพิเศษรวมอยู่ด้วย

สร้างกลุ่มไลน์ชื่อ TOC ย่อมาจาก Transnational Organized Crime ประกาศต่อสู้กับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ด้วยการรวบรวมข้อมูลเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ทั่วประเทศ

นำไปสู่การออกหมายจับผู้ต้องหา 79 ราย

หลังจากนั้นเข้าวางแผนกับ พ.ต.อ.จิรภพ ภูริเดช ที่ยังเป็นรองผู้บังคับการปราบปรามเพื่อนร่วมรุ่นอีกคน สนธิกำลังกองปราบปราม เปิดปฏิบัติการ 11–12 ตุลาคม 2560 กระจายตรวจค้นเป้าหมายจับกุมผู้ต้องหาได้จำนวนหนึ่ง

โดยเฉพาะฐานบัญชาการของเครือข่ายใหญ่เป็นบริษัทท่องเที่ยวย่านถนนรัชดาภิเษก

สามารถบล็อกเส้นทางการเงินตามบัญชีที่หลอกผู้เสียหายไม่ให้โอนออกนอกประเทศเป็นจำนวนถึง 60 ล้านบาทในวันเดียว

ถือเป็นวัตถุประสงค์หลักของทีมงาน พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ ผู้อยู่เบื้องหลัง “จุดประกาย” ทลายเครือข่ายคอลเซ็นเตอร์ที่ต้องการให้ผู้เสียหายได้เงินคืน นำเอาอำนาจของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินมาใช้ดำเนินการ

ไม่ใช่ “เหวี่ยงแห” ไล่กวาดจับแค่คนเปิดบัญชีธนาคาร หรือคนกดเอทีเอ็มที่อยู่หน้าตู้

จากปฏิบัติการวันนั้น ทีมงานชุดสืบสวนบอกว่า ตั้งแต่เกิดมา ไม่เคยเป็นชาร์ตเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมที่มีความเชื่อมโยงมากขนาดนี้

พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ ต้องม้วนใส่กระบอกยาวๆ เหมือนพวกนายช่างสะพายติดตัวไปหลายสถานที่แบกติดตัวไปนำเสนอให้หน่วยงานหลายๆหน่วย เช่น กรมสอบสวนคดีพิเศษ สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน  และอื่นๆ

คาดหวังว่า เมื่อจับกุมผู้ต้องหาได้แล้วจะยึดทรัพย์เอาเงินคืนให้ชาวบ้านที่เสียหายได้

เป็นคดีแรก ๆในเมืองไทย ที่ใช้ “โมเดล”พระราชบัญญัติป้องกันปราบปรามการมีส่วนร่วมในองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติมาใช้

ถือเป็นความผิดมูลฐานตามกฎหมายฟอกเงินด้วย

ทีมงานจากหลายหน่วยได้รับแต่งตั้งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายเพื่อสามารถบังคับใช้กฎหมายได้เต็มที่

ในที่สุดก็สามารถยึดทรัพย์เครือข่ายจีนเทาย่านรัชดาภิเษกและที่เกี่ยวข้องได้

ทว่าจนถึงปัจจุบันทรัพย์ที่ตามยึดมายังไม่ถึงมือผู้เสียหายสักบาท

เราควรกลับมาทบทวนร่วมกันว่าที่จับผู้ต้องหาแถลงข่าวออกสื่อเยอะแยะ

ประชาชนได้ประโยชน์แล้วหรือยัง เพราะยังไม่ได้เงินคืนกันเลย

ในฐานะตำรวจ พ.ต.อ.สราวุธ คนใหญ่ ขึ้นเป็นรองผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 อุตส่าห์ สร้างโมเดลยึดเงินมาคืนชาวบ้านได้

เอาเงิน 120 ล้านบาทมากองไว้

เกิดคำถามว่า กระบวนการยุติธรรมไทยล่มสลายถึงขนาด 5ปี ยังไม่มีคำตัดสิน ให้คืนเงินต่อผู้เสียหายเลยสักบาท

จนชาวบ้านผู้เสียหายที่ถือไว้ในมือตายไปสองคนแล้ว

บ้านเมืองนี้จะให้มันเป็นแบบนี้หรือ

“ไม่โดนเอง คงไม่รู้หรอกว่า การได้เงินที่ถูกหลอกคืน คือ การสร้างความยุติธรรม แต่คำพูดของระบบ ดูสวยงาม มันต้องไปตามขั้นตอนของกฎหมายก้าวล่วงไม่ได้” บางคนระบายความรู้สึก

พร้อมตั้งหน้าตั้งตารอดูกระบวนการยุติธรรมจะเป็นอย่างไรต่อไป

RELATED ARTICLES