“เอาคนดีมาเป็นสายดีกว่าคบโจรไว้จับโจร”

เติบโตอยู่บนกองหนังสือจึงไม่แปลกใจทำไม พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สุทธารมณ์ กลายเป็นตำรวจนักสืบในวงการไม่กี่คนที่มีอารมณ์เป็นศิลปิน

เกิดที่จังหวัดสิงห์บุรี ฝันอยากเรียนวาดรูป พอจบชั้น ม.6 จากโรงเรียนสิงหะวัฒนะพาหะ ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำจังหวัดจึงเตรียมตัวเข้าเรียนเพาะช่าง แต่ด้วยความที่ข้างบ้านมีนักวาดรูปวัยชราชอบขี้เมาติดฝิ่น ครอบครัวเลยกลัวจะหลงเข้าวงโคจรเดียวกันจึงพยายามเลี่ยงให้ไปเรียนต่อชั้น ม.7 ที่โรงเรียนวัดไตรมิตรกระทั่งจบ ม.8

อาศัยอยู่กับลุงที่เป็นทหาร เมื่อจบมัธยมเลยให้ไปสอบโรงเรียนเตรียมทหาร ทั้งที่ไม่ได้ตั้งใจ สอบอยู่ 3 ครั้งไม่ติดเสียที เห็นว่าไม่ได้แล้วเพราะเป็นพี่ชายคนโต น้องอีก 3 คนเป็นผู้หญิงหมด ต้องเป็นที่พึ่งให้น้อง ๆ ถึงตั้งใจจริงจังจนสอบติดในที่สุด

พล.ต.ต.สุรศักดิ์เล่าว่า ด้วยความที่ลุงเป็นทหารจึงเลือกเหล่าทหารนานอยู่ 3 ปี ผลสุดท้ายเลือกตำรวจดีกว่า “ ผมคิดว่า เป็นทหารทำไม เป็นตำรวจช่วยคนได้มากกว่า อยากช่วยคนมาตั้งแต่เกิด แม่เคยบอกว่าให้เงินมา 50 สตางค์ ผมเอาไปให้ขอทานสลึงหนึ่งแล้วจนแม่ต้องคอยเตือน อีกอย่างเป็นทหารคงไม่ได้รบกับใครแล้วสมัยนี้ ตำรวจน่าจะช่วยคนตลอดถึงตัดสินใจเลือก”

จบเตรียมทหารรุ่น 7 นายร้อยตำรวจรุ่น 23 มีเพื่อนร่วมรุ่น อาทิ พล.ต.อ.ชิดชัย วรรณสถิตย์ พล.ต.อ.อำนวย เพชรศิริ พล.ต.ท.อดิศร นนทรีย์ พล.อ.ไพศาล กตัญญู และ พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร เป็นต้น

รับราชการครั้งแรกตำแหน่งผู้บังคับหมวดสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสระบุรี อยู่ได้ 2 ปีถูกเรียกเข้าเป็นผู้บังคับหมวดในโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พร้อมกับพล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียาเวส ที่ตอนนั้นเป็นน้อง นรต.รุ่น24 จากนั้นย้ายเป็นรองสารวัตรแผนก 3 กองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครใต้ ยุค พล.ต.ท.ธนู หอมหวล เป็นผู้กำกับ มีทีมงานนักสืบรุ่นน้องไฟแรงจากรั้วสามพรานรุ่น 28 หลายคน เช่น พล.ต.ท.สมคิด บุญถนอม พล.ต.ต.สุเมธ เรืองสวัสดิ์ พ.ต.อ.ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ และ พ.ต.อ.ทรงพร สารพานิช

หลุดจากสืบใต้ไปขึ้นสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบุปผาราม สารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางพลัด สารวัตรสถานีตำรวจนครบาลลาดกระบัง แล้วกลับไปเป็นสารวัตรประจำ กองกำกับการสืบสวนสอบสวนนครบาลพระนครใต้อีกครั้ง

ปี 2526 เป็นสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 2 กองปราบปราม หรือสารวัตรประเทศไทย มีอำนาจออกหมายจับเองได้ทั่วประเทศ ปีถัดมาขึ้น รองผู้กำกับการ 2 กองปราบปรามนาน 5 ปีขยับเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน กองบังคับการตำรวจภูธร 4 ดูพื้นที่อีสานตอนล่าง ก่อนกลับมาผงาดเป็นผู้กำกับการ 1 กองปราบปราม หรือผู้กำกับกรุงเทพฯ  แล้วเป็นรองผู้บังคับการกองปราบปรามถึงปี 2539 ติดยศนายพล ตำแหน่งผู้บังคับการกองแผนงาน 2 แล้วย้ายเป็นผู้บังคับการกองปราบปรามยาเสพติด 1 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจนเกษียณอายุราชการเมื่อปี 2548

เกือบตลอดระยะเวลาของการรับราชการ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ ได้รับมอบหมายและความไว้วางใจจากผู้บังคับบัญชาให้ทำงานในหน่วยสืบสวนสอบสวนทั้งนครบาล ภูธรและกองปราบปรามมาตลอด เป็นนายตำรวจที่ได้รับประกาศเกียรติคุณเป็นข้าราชการปฏิบัติหน้าที่ดีเด่นของกรมตำรวจเมื่อปี 2525 เคยร่วมคณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีลอบสังหาร คดีคนร้ายปล้นเงินประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว คดีฆาตกรรม 2 แม่ลูกตระกูลศรีธนะขัณฑ์ สาวไปสู่การแกะรอยติดตามเครื่องเพชรราชวงศ์ซาอุดิอาระเบียระลอกสอง

ต่อมาหันไปเอาใจใส่เกี่ยวกับคดีละเมิดสิทธิสตรีและเด็ก ฝากผลงานปราบปรามการค้าประเวณีเด็กและใช้แรงงานเด็ก ริ่เริ่มโครงการ  “ครูตำรวจข้างถนน” โครงการกองปราบจิ๋ว โครงการศิลปะเพื่อเด็กด้อยโอกาสไปทัศนศึกษาต่างจังหวัด และโครงการวาดภาพ “ไร้ยาเสพติด ชีวิตสดใส” เป็นต้น อีกทั้งยังเป็นนักกลอน นักแต่งเพลงแนวแก้ไขปัญหาสังคมให้ศิลปินนักร้องเพื่อชีวิตมาแล้วหลายคน

“ผมว่าชีวิตนักสืบสมัยก่อนทำงานกันสนุก ตอนผมอยู่สืบใต้ช่วงแรกงานออกดีมาก ได้คะแนนดีติดอันดับ ทำงานกันเป็นทีม ชนิดที่สืบสวนเหนือ หรือสืบสวนธนโดนด่าพอสมควร เพราะพวกผมจับเช้า จับเย็น อีกอย่าง คือยุคนั้น การทำงานสืบสวนต้องดูเรื่องสอบสวนด้วย เพราะฉะนั้นจะรู้หมดว่าพยานเป็นใคร รู้ขั้นตอน สอบสวนไปด้วย สืบสวนจับกุมไปด้วย ต่างกับสมัยนี้ผมว่าไม่เหมาะสม ควรจะเปลี่ยนกลับมาได้แล้ว” พล.ต.ต.สุรศักดิ์เริ่มย้อนประสบการณ์นักสืบ

อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลบอกว่า ครั้งหนึ่งเมื่อตอนอยู่สืบใต้เกือบตายไปแล้วถ้าไม่ได้มีไหวพริบปฏิภาณ เมื่อลงสืบสวนตามจับไพ ประตูน้ำ มือปืนตัวเล็ก โหดร้ายหนีคดี จากประตูน้ำไปยิงทหาร กอ.รมน.ที่จันทบุรี แล้วกลับเข้ากรุงไปเที่ยวแถวโรงแรมมณเฑียร ย่านพระราม 4  มี สารวัตรอังกูร อาทรไผท เป็นหัวหน้าชุด “ผมไปกับสุเมธ เรืองสวัสดิ์ เดินหลงกลุ่มเหลือ 2 คนไปเจอมันพอดี พยายามติดต่อคนอื่นก็ไม่ได้ เห็นมันออกมาขึ้นรถหน้าโรงแรม ฝนกำลังตกพร่ำ ๆ สุเมธบอกพี่เอาเลยดีกว่าแล้วจะตรงเข้าชักปืนไปจ่อกบาล แต่ผมเห็นคน ๆ หนึ่งยืนพิงกระจกอยู่ใกล้ ๆ ไม่สนใจใครเลย สามัญสำนึกของผมมันบอกไม่ปกติแน่”

“ผมรีบดึงสุเมธให้หยุดก่อน เพราะสงสัยคนอยู่คนนึง พอรถจอดไอ้ไพขึ้นรถพร้อมลูกน้อง มีไอ้นี่เดินตามขึ้นไปคนสุดท้ายกลายเป็นพวกมันจริงๆ   นึกในใจว่า ตอนนั้นถ้าสุเมธชักปืน มันก็ยิงเราข้างหลังแน่นอน เพราะมันยืนอยู่หลังผม ไม่ผมก็สุเมธถูกยิงแน่ ถือเป็นโชคที่เข้าข้างพวกผม แกะรอยจนตามไปวิสามัญไอ้ไพได้ในไม่กี่ชั่วโมงถัดมา”

นายพลนักสืบรุ่นเก่าลำดับเรื่องต่อว่า เมื่อกำลังมาพร้อมอีกครั้งก็ขับรถสะกดรอยตามคนร้ายไปถึงโรงแรมสยาม ถนนเพชรบุรีตัดใหม่ นักข่าวตามมากันเต็มไปหมด เพราะ พล.ต.ต.อมร ยุกตะนันทน์ ผู้การใต้มาสมทบ นักข่าวยุคนั้นจะรู้ทันทีเลยว่ามีเรื่องสำคัญแน่ถ้าผู้การอมรออกโรงเอง ปรากฏว่าตำรวจท้องที่เข้าไปค้น ทำเอาพวกมันแตกกระเจิงหนีขึ้นรถกระจายกันออกไป

“ไอ้ไพ นั่งรถไปกับลูกน้องคนเดียว ตำรวจก็ตามกันเป็นพรวน มีนักข่าวตามไปด้วยอีกต่างหาก พอถึงแยกพัฒนาการที่ตอนนั้นถนนยังไม่เสร็จ รถมันเลี้ยวเข้าถนนรามคำแหง ผมเห็นทำไมเหลือคนเดียวเลยบอกพี่อังกูรที่ขับรถคันผมปาดเลยดีกว่า เจอแต่ลูกน้อง ส่วนไอ้ไพแอบกระโดดลงตรงแยกแล้ว ผมรีบแจ้ง ว.ให้พวกที่ตามมาทีหลังช่วยสังเกตด้วย แต่ทุกคนเลยมาหมด มีเพียงโต้ง ประมวลศักดิ์ เกิดรถเสียมาคันหลังสุดจึงเจอมันเดินออกมาพอดี ก่อนยิงมันตายคาแยก มีนักข่าวถ่ายรูปได้ด้วย เป็นรูปที่ได้รางวัลด้วย คือภาพของ จ.ส.ต.เชื้อ รอดบำรุง จ่อปืนใส่ร่างมัน และถือเป็นงานแรกของโต้งด้วย”  พล.ต.ต.สุรศักดิ์อธิบายละเอียดยิบ

อีกคดีที่อดีตรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลไม่เคยลืมเป็นการติดตามตัวหัวหน้าแก๊งปล้นก่อคดีทั่วกรุงมาแล้ว 19 คดี เคยถูกจับถูกยิงท้องไปนอนโรงพยาบาลตำรวจก็ยังหลบหนีไปได้ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ สมัยนั้นเป็นรองสารวัตรอยู่สืบใต้ปลอมตัวเข้าไปดงโจรเพื่อหาข่าวตามล่ามันถึงจังหวัดเพชรบุรี “ผมคุยว่าฆ่าคนตายหนีคดีมา คุมซ่องอยู่นครปฐมด้วย เห็นพวกมันดูดกัญชาก็เลยเอากัญชาอย่างดีอบฝิ่นไปให้มันดูด พวกนั้นก็จะให้ผมดูดด้วย ผมก็ต้องฟอร์มว่าดูมาเยอะแล้วเอาก่อนเลยเพื่อจะคอยสังเกตว่ามันดูดกันยังไง เทียวไปเทียวมาอยู่นานนับเดือน คอยวาดแผนที่บ้านเป้าหมายไว้ นายธนูยังบอกให้ผมเลิกไปดีกว่า เพราะกลัวผมติดกัญชา ผมบอกไม่เป็นไร ผมรู้ตัวผม ถ้าติดผมก็เลิก ในที่สุดก็จับมันได้”

พล.ต.ต.สุรศักดิ์ย้ำว่า นักสืบสมัยก่อนกัดไม่ปล่อย พูดกันคำเดียวรู้ ไม่ต้องบอกอีก มีเวลาก็ไป กระทุ้งสายบ้าง เฝ้าบ้าง ใช้เทคนิคของนักสืบจริง ๆ เทคโนโลยีไม่มี รู้ว่าบ้านอยู่จังหวัดไหนให้ไปประสานไปรษณีย์ดูเรื่องจดหมาย  ประชุมกันว่า ต่อไปนี้ถือเป็นคดีของสืบใต้ ใครที่ผ่านจังหวัดนี้ให้แวะถามไปรษณีย์มีจดหมายมาไหม บางคดีตามเป็นปีไม่ได้ พอบอกอย่างนี้ เดือนเดียวจับได้เลย แค่เวลาไปต่างจังหวัดกับครอบครัวจะถามใครมีคดีจังหวัดนี้บ้างเอามา ไปถึงตอนเช้าคุยกับญาติเสร็จก็ไปโรงพักช่วยดูหน่อยบ้านอยู่ตรงนั้นตรงนี้ พอจะกลับตอนเย็นตำรวจท้องที่ก็หิ้วมาให้เราแล้ว คดีปล้น 2 ราย ไปคนเดียวจับกลับมาได้ 2 คน เรียกได้ว่า การสืบสวนสมัยก่อนใช้จิตนาการคาดเคาแม่น เพราะทำกันบ่อย เป็นพื้นฐานของนักสืบ มีเบ้าหลอมเป็น รุ่นพี่เก่า ๆ เหมือนเรียนไปในตัว ทำไปเรียนไป อย่างนี้น่าจะเป็นอย่างนั้น

สำหรับการทำงานของนักสืบรุ่นใหม่ พล.ต.ต.สุรศักดิ์บอกว่า “ พูดยากนะ ให้คนเก่ามาพูด มันคนละรุ่น แต่ผมเข้าใจ เราดูเขาจากการที่วุฒิภาวะสูง มองแล้วมันทำอะไรหน่อมแน่ม แต่จริงๆ มันไม่ใช่ เพราะเราโตขึ้น ผ่านอะไรมาเยอะ อาจดูแล้วหงุดหงิด ทั้งที่จริงเพราะเขาวุฒิภาวะยังน้อย  ส่วนเรารู้มากขึ้น ดังนั้นผมจะสอนรุ่นหลัง ๆอย่าไปว่าเด็ก เขาอาจคิดได้แค่นั้น ขนาดนั้น ตรงนี้ไม่ได้พูดถึงเทคโนโลยี ต้องบอกเขา แนะเขา เอาของเก่าเป็นแบบอย่างให้เข้ากับสมัยใหม่จะได้ช่วยกัน ไม่ใช่จะยืดใส่เด็กแล้วบอกว่าทำไม่ได้เรื่อง”

นายพลตำรวจที่ผ่านงานสืบสวนมายาวนานท่านนี้ยังมีแนวคิดที่แตกต่างอีกว่า แท้ที่จริงแล้วหลักการทำงานของตำรวจที่จะให้ประสบความสำเร็จคือต้องมีงานมวลชนสัมพนธ์ การเข้าหาประชาชน เมื่อครั้งไปเป็นผู้การที่กองบัญชาการปราบปรามยาเสพติดเคยเสนอ พล.ต.ท.นพดล สมบูรณ์ทรัพย์ ให้เปลี่ยนแปลงการทำงานอะไรหลายอย่าง ไม่ใช่เดือนแรกจับยาเสพติดได้เท่าปีที่แล้ว พอเดือนต่อมาจับได้มากกว่า 2 เท่า คิดว่าเราทำผิดทาง จากล่อซื้อกลายมาเป็นล่อขาย มันไม่ได้ผล ตำรวจเด็ก ๆ ได้รางวัล มีผลงานออกทีวี แต่ยาเสพติดกลับไม่หมด

“ตำรวจต้องเข้าไปร่วมแก้ไข ทั้งงานป้องกัน พัฒนาและบำบัด อย่าคิดว่าผู้ค้ารายย่อยไม่สำคัญ ถ้าไม่มีรายย่อย รายใหญ่ก็ขายไม่ได้ 6 ปีสุดท้ายของชีวิตราชการ ผมถึงเน้นงานมวลชน ให้ประชาชนร่วมมือแก้ปัญหา เพราะเราผ่านงานสืบสวนมา ใช้โจรปราบโจร เราอาจได้ออกทีวี ได้โชว์ผลงาน แต่ปัญหาไม่ได้แก้ มันไม่หมด ระหว่างที่มันมาบอกให้เราจับ มันก็ปล้นเขา จี้เขา ขโมยรถเหมือนกัน จัดการคู่แข่ง หาคู่แข่งไม่ได้ก็ไปหลอกหน้าใหม่ ๆ มาให้เราจับ เหมือนเรื่องยาเสพติด ถ้าเราจะจับเท่าไหร่ก็ไปสั่งซื้อ เมื่อก่อนมันมาขายแล้วเราวางแผนซื้อ แต่นี่เราไปสั่งซื้อ หาให้ได้ คนที่เอามาก็คือคนเดิน ไม่ใช่คนผลิต ตัวกระจอกทั้งนั้น ผมถึงเลือกทำงานกับคนดี เอาคนดีมาเป็นสายดีกว่าคบโจรไว้จับโจร” พล.ต.ต.สุรศักดิ์แสดงจุดยืนฝากถึงตำรวจรุ่นหลัง

นอกจากเป็นนายตำรวจมือสืบสวนสอบสวนมากคุณภาพแล้ว พล.ต.ต.สุรศักดิ์จัดได้ว่าเป็นศิลปินนักแต่งกลอนและแต่งเพลงตัวยงจึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้มุมมองและอารมณ์ของเขาต่างไปจากตำรวจมือปราบส่วนใหญ่ “ผมเกิดที่ร้านหนังสือ เพราะแม่เอามาฝากไว้กับป้าเลยอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก หนังสือบางกอก ผมอ่านตั้งแต้เล่มแรกด้วยซ้ำ ชอบในด้านเนี่ย พอเข้าโรงเรียนมัธยมเป็นกองบรรณาธิการหนังสือโรงเรียน”

“ตอนเป็นสารวัตรอยู่บางพลัดเคยไปเรียนวาดรูปที่เพาะช่าง เรียนรู้การแต่งเพลงที่สมาคมนักแต่งเพลง รู้จักครูเพลงมากมาย โดยเฉพาะครูชลธี ธารทอง ไม่น่าเชื่อเลยว่ามีบ้านอยู่ติดกับรั้วโรงพักบางพลัด ทำให้ผมมีโอกาสซึมซับการแต่งเพลงจากท่าน”

เพลงแรกที่ พล.ต.ต.สุรศักดิ์ แต่งคือ “หล่อลากดิน” ที่ดังไปทั่ววงการเพลงลูกทุ่งเมื่อ สุริยัน ส่องแสง นักร้องที่กำลังเป็นดาวรุ่งนำไปร้องจนฮิตติดตลาด แต่น่าเสียดายที่ สุริยันกลับถูกมือปืนยิงตายคาเวที อย่างไรก็ตาม พล.ต.ต.สุรศักดิ์ ยังฝากผลงานเพลงยอดนิยมไว้อีกหลายเพลง โดยเฉพาะ จันทร์เจ้าขาและนกเขาน้อย ของวงโฮป

ถึงวันนี้เขาก็ยังคงมุ่งมั่นอุทิศตัวทำงานเพื่อสังคมตามที่ตัวเองถนัดคือดูแลเรื่องมวลชนสัมพันธ์เป็นที่ปรึกษาผู้บัญชาการตำรวจนครบาล แม้จะเกษียณอายุราชการมาแล้วตามแบบฉบับของนายตำรวจอารมณ์ศิลปิน

สุรศักดิ์ สุทธารมณ์ !!!

 

RELATED ARTICLES