“ถามว่าฆ่าโจรเยอะไหม ก็เยอะนะ คนร้ายทั้งนั้น แต่เราไม่ได้ฆ่าเอง ให้ลูกน้องไปจัดการ”

ดีตนายพลมือปราบภูธรบู๊บุ๋นครบเครื่อง

พล.ต.ท.ยุทธนา ไทยภักดี อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ชาวจังหวัดราชบุรี เกิดในครอบครัวยากจน นอนบ้านหลังคามุงใบตาลท่ามกลางพี่น้อง 7 คน บางวันแทบไม่มีกิน เรียนถึงชั้นประถม 4 ทำท่าจะไม่มีได้เรียนต่อ เพราะบ้านขัดสน บังเอิญจอมพลผิน ชุณหะวัณ ได้มาสร้างโรงเรียนจันทคามวิทยาที่อยู่ละแวกบ้าน แต่หานักเรียนไม่ได้

เขาโชคดีได้เรียน แต่ต้องเสียค่าเทอม ทั้งที่พ่อแม่ไม่มีเงิน ด้วยความเป็นคนหัวดี ไม่อยากเสียโอกาส ตัดสินใจรับจ้างขุดดินหาเงินส่งตัวเองเรียนจนจบมัธยม 3 ผลการเรียนออกมาดี คิดว่าพอแล้ว ปรากฏว่า เพื่อนชวนเข้ากรุงเทพฯ มาสมัครโรงเรียนตำรวจนครบาล พล.ต.ท.ยุทธนาเล่าว่า ไม่มีความคิดอยากเป็นตำรวจ แค่ตามไปให้กำลังใจเพื่อน แต่เจอตำรวจที่รับสมัครชวนลองสอบดู ตอนนั้นมีแค่ประกาศนียบัตรใบเดียวกับรูปถ่าย ต่อรองให้เอาหลักฐานสำเนาทะเบียนบ้าน รูปถ่ายเพิ่มเติมมาให้วันสอบ ทางเจ้าหน้าที่รับสมัครก็โอเค

ถึงวันกำหนดสอบ พล.ต.ท.ยุทธนาบอกว่า ต้องไปสอนสถานีรถไฟบางเขน ฝนก็ตกหนักเปียกไปหมด สุดท้ายสอบได้กลับมาบอกพ่อ หลังจากนั้นไม่กลับบ้านเลย เพราะรับจ้างอยู่เวรหาเงิน กระทั่งสอบได้ที่ 1 ของโรงเรียน บรรจุอยู่กองคดี กรมตำรวจ ทำหน้าที่เดินเอกสาร ทำงานจนได้เต็มขั้นติดยศสิบตำรวจตรี เห็นเพื่อนจบมาด้วยกันเป็นนายร้อยห้อยกระบี่ เป็นแรงผลักดันให้อยากมีดาวบนบ่าบ้าง

ใช้เวลา 8 เดือน มุมานะแอบเรียนกวดวิชาสอบเทียบมัธยมศึกษาปีที่ 5 มีเวลาเตรียมตัวราว 6 เดือนเพื่อสอบเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เริ่มวิ่งออกกำลังกาย ท่องหนังสือบนโต๊ะทำงาน ทำความฝันสำเร็จเมื่อสอบเข้าได้คะแนนอันดับ 1 ของนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 24 จบมาบรรจุเป็นผู้หมวดโรงพักลุมพินี ก่อนย้ายไปอยู่อำเภอเมืองน่าน ขอมาทำงานที่สำนักงานกำลังพล เพราะใกล้เรียนจบปริญญาโทคณะพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ส่งผลให้กระโดดติดยศ ร.ต.อ.คนแรกของรุ่นย้ายเป็นผู้กอง สังกัดกองกำกับการพัฒนาตำรวจตระเวนชายแดน แต่สำนักงานเลขานุการกรมตำรวจเห็นในฝีมือเลยขอตัวไปช่วยราชการต่อ ทำงานได้สักพักอยากย้ายกลับบ้าน ขอท่านชูลิต ปราณีประชาชน เลขานุการกรมตำรวจขณะนั้น เมตตาให้ย้ายเป็นรองผู้กองเมืองสมุทรสงคราม ขึ้นสารวัตรสอบสวน และขึ้นสารวัตรใหญ่เมืองราชบุรี จากนั้นย้ายเป็นสารวัตรใหญ่เมืองสุพรรณบุรี ก่อนกลับมานั่งรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรสงคราม

รู้สึกว่าโตช้า เขาถึงขอย้ายเป็นรองผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดพัทลุง แล้วขึ้นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราช พื้นที่ที่กำลังเต็มไปด้วยคดีอุกฉกรรจ์มากที่สุดในประเทศไทย ปีเดียวเจอพิษลูกน้องขนแร่เถื่อนถูกตั้งกรรมการสอบสวนครั้งแรกในชีวิต โดนย้ายเป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน ตำรวจภูธรเขต 3 กองบัญชาการตำรวจภูธร 1 หรือภาค 7 ในปัจจุบัน “ถือเป็นครั้งแรกที่ผมมัวหมอง ทั้งที่ไม่ได้เกี่ยวข้องด้วย เจอลงโทษภาคทัณฑ์ ย้ายก็ย้าย นี่แหละชีวิตตำรวจ ดีที่ผู้ใหญ่เห็นผมเป็นคนทำงาน” เจ้าตัวว่า

ทำงานกองสืบสวน 2 ปีขยับเป็นผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี ขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 3 รองผู้บังคับการหัวหน้าตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรี ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ผู้บัญชาการประจำสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 กระทั่งเกษียณอายุราชการ

ประสบการณ์ในงานสืบสวนมีผลงานมากมาย พล.ต.ท.ยุทธนาเล่าว่า ตั้งแต่อยู่สมุทรสงคราม ได้ 2 ขั้นทุกปี เพราะมีคดีเกิดขึ้นจับได้แทบทุกคดี ย้ายเป็นสารวัตรใหญ่เมืองราชบุรีก็ได้ 2 ขั้น ทำให้โตเร็วในช่วงแรกจากผลพวงของการทำงาน เพราะการที่เราจบปริญญาโท เราจะรู้สึกว่า ต้องทำตัวให้เหมือนกับว่า เก่งกว่าคนอื่น จะทำยังไงให้งานมันออกมาดี “ผมเริ่มทำประวัติคนร้าย ขอเรือนจำทั้งหมดว่า เคยถูกจับกี่ปีๆ ผมทำคนแรกของกรมตำรวจ หลังจากนั้นเริ่มมีคอมพิวเตอร์เข้ามา ผมไปเรียนคอมพิวเตอร์ ซื้อเครื่องคอมพิวเตอร์มาเก็บฐานข้อมูล”

อดีตนายพลตำรวจที่ช่ำชองพื้นที่ภูธรภาค 7 อธิบายว่า ตั้งแต่เป็นพนักงานสอบสวนก็เริ่มเก็บข้อมูลคนร้ายแล้วว่า มีกี่คน ใครบ้าง อะไรที่จะเป็นข้อมูลทำให้รู้ว่า คนไหนทำผิด ไม่ได้ทำผิด มือปืนมีใครบ้าง กลุ่มพวกฆ่ามีใครบ้าง แต่ละจังหวัดมีกี่ซุ้ม จะมีชื่อโยงกันหมด พิมพ์ข้อมูลออกมาเสนอนายได้ว่า เรามีอย่างนี้ เอาข้อมูลเก่ามาประกอบกับข้อมูลใหม่ เป็นผลงานของเรา เป็นเรื่องประสบการณ์จากความขยัน ความเอาใจใส่ ทำให้เราทันกับเหตุการณ์ ทันกับวิธีการทำงานของคนร้าย ทันแผนประทุษกรรม รู้ว่า คนร้ายกลุ่มไหนทำอะไรยังไงๆ  รวมทั้งเก็บปลอกกระสุนปืน หัวกระสุนปืน แยกแยะได้ว่า คนร้ายแก๊งไหน ใช้ 11 มม. แก๊งไหนใช้ปืนลูกซอง เริ่มกว้างขึ้น ส่งผลให้เราทำงานได้ดีขึ้น

เขายอมรับว่า การทำงานสืบสวนสมัยก่อนอาจยังป่าเถื่อนกันอยู่ ทำอะไรนอกกฎเกณฑ์นอกตำรา บางทีรู้เองว่า ต้องทำอย่างไร หากไม่ได้ซ้อมก็ไม่รับ แต่ถามว่า ก่อนจะทำต้องรู้ก่อน คือ วิธีการทำงานของเราต้องดูที่เกิดเหตุ รวมทั้งพยานและผู้เสียหายให้ได้มากที่สุด เจอคนร้ายจริงๆ ถ้าเราไม่ทันเกม รู้ทันว่าตำรวจรู้ไม่จริงก็จะไล่ไม่จน ฉะนั้นต้องรู้จริงว่า คนร้ายโกหก สุดท้ายลงสอบสวนทุกคดี รับสารภาพเกือบหมด

“ผมทำงานสำเร็จได้ดี เพราะผมเอาใจใส่ งานทุกงานถ้าเอาใจใส่แล้วรู้รายละเอียดต่างๆ ของคดี มันจะทำงานได้ จับได้ ถ้าเกินความสามารถของเราก็จะรายงานหน่วยเหนือได้ว่า ต้องใช้ใคร ให้ใครร่วม เราขอเขาได้ ทุกคนสามารถขออนุมัติได้ ถ้ามันมีอย่างนี้ๆ ให้ช่วยหน่อย มันก็อยากช่วย ตำรวจทุกคน ใจอยากจับคนร้ายเป็นทุนอยู่แล้ว ขอใครๆ ก็ให้ ตำรวจถึงได้เปรียบหน่วยงานอื่น ตรงที่ว่าเป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือกัน ไม่ปิดบังกัน ถ้างานทุกงาน ถ้าร่วมมือกันจริงๆ คดีเกือบ 95 เปอร์เซ็นต์ น่าจะจับได้หมด ยกเว้นคดีที่เป็นบังเอิญผ่านมา แล้วมันเกินความติดตามได้” พล.ต.ท.ยุทธนาว่า

สำหรับคดีที่ประทับใจ อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 ระบุว่า เป็นคดีแรกที่ทำให้ได้เป็นสารวัตรใหญ่ราชบุรี โดยไม่ต้องวิ่งเต้น คือ คดีฆ่าตัดคอโสเภณีที่มหาชัย สมุทรสาคร ตอนแรกไม่รู้เหตุเกิดที่ไหน พบศพในเขตเมืองสมุทรสงคราม ไม่มีหัว จัดแจงเอาศพขึ้นรถส่งไปชันสูตรสถาบันนิติเวชวิทยา   ปรากฏว่า รุ่งขึ้นมีข่าวพบอีกศพที่อำเภอหลุมดิน จังหวัดราชบุรี ลักษณะคล้ายกัน ผู้หญิงเปลือยโดนตัดหัว  เลยข้ามเขตไปดู เช้าอีกวันเจอหัวท้องที่ปากท่อ น่าจะเป็นของศพรายที่สมุทรสงคราม

 

“ผมเอาหลักฐานมาเชื่อมโยงกัน เพราะศพที่ราชบุรีมีเสื้อผ้า มีชื่อร้านตัดเสื้อเขียนอยู่ เริ่มปูพรมเช็กข้อมูลพบว่า ร้านอยู่สมุทรสาคร แต่เจ้าของร้านจำไม่ได้ว่า ตัดให้ใคร เพราะนานแล้ว ตอนแรกคิดว่า แทบไม่มีประโยชน์ เดินไปเจอร้านซักแห้ง ผมเข้าไปถามลูกสาวว่า รู้ไหมของใคร แต่แม่ออกมาบ่ายเบี่ยงว่า ไม่รู้ ห้ามไม่ให้ลูกพูด ผมก็ชักสงสัยแล้ว ประกอบกับแถวนั้นมีซ่องโสเภณีอยู่ด้วย”

ปะติดปะต่อยิ่งกว่าจิ๊กซอว์จนได้ข้อมูลชี้ชัดว่า เหยื่อเป็นโสเภณีอยู่ในซ่องพยายามหนีไปกับผู้ชาย เจ้าของซ่องรู้เลยเอาพวกจากลพบุรีมาฆ่าตัดหัวทิ้งศพข้ามจังหวัด ตำรวจตามจับได้หมด โทษประหารชีวิต ทว่าเจ้าของซ่องเครียดหนักผูกคอตายหนีผิดในห้องขัง  พล.ต.ท.ยุทธนาบอกว่า คดีอุกฉกรรจ์ที่สมุทรสงคราม เราตามจับเกลี้ยง บางเหตุเกิดที่อัมพวา หรือบางคนที เราก็ไปช่วยตามจับ “ผมมีเทคนิคการสืบสวนอย่างหนึ่งว่า ผมจะจดทะเบียนรถทุกวัน รถคันไหนมาจอดตรงไหน เวลาไหน มาจอดก็จดทะเบียนไว้ พอเกิดเหตุ เราก็ตามรถจากทะเบียนพวกนี้ว่า มาจอดทำอะไร ตอนนั้นผมละเอียดมาก จะมีสมุดเล่มหนึ่งคอยจดทุกอย่างไว้ จดไว้หมด เวลาเกิดเหตุ หรือมีอะไรขึ้นก็จะมาโยงกับข้อมูลพวกนี้ ก็จับได้เยอะ”

ด้วยความเป็นผู้นำหน่วยที่ดุดันและเด็ดขาด สมัยนั่งเก้าอี้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุพรรณบุรีตกเป็นจำเลยคดีวิสามัญฆาตกรรม 6 ศพแก๊งโจ ด่านช้าง ร่วมกับลูกน้องในทีมที่มี “คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง” นักสืบรุ่นน้องลูกศิษย์ก้นกุฏิรวมอยู่ด้วย พล.ต.ท.ยุทธนาระบายความรู้สึกว่า นายตำรวจใหญ่บางคนพยายามให้ซัดทอดคนสั่ง พอปฏิเสธก็เหมือนไม่พอใจพยายามหาหลักฐานมาซ้ำเติมกัน เรื่องนี้ต้องเข้าไปพบ พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ ที่เป็นรองนายกฯคุมตำรวจอธิบายเบื้องหลังเรื่องทั้งหมด

“ผมบอกแกไปตามตรงว่า มีคนจะให้ซัดทอดนายพลรุ่นพี่ว่าเป็นคนสั่งฆ่า และถามแกว่า ท่านเป็นทหาร ผมเป็นตำรวจ ถ้านายสั่งแบบนี้ ท่านทำไหมครับ แล้วท่านรอดไหมครับ ผมบอกต่ออีกว่า ถ้านายสั่งจริง ผมก็โดนอยู่ดี ดังนั้น ลูกผู้ชาย ผมพูดไม่ได้หรอกครับจะให้ผมซัดทอดว่า นายสั่ง ผมทำไม่ได้ แกก็บอกว่า เออดี มึงแน่ เอางี้ละกันกูไม่ยุ่งกับมึง สุดท้ายผมก็สู้จนกระทั่งศาลยกฟ้อง”

พ้นคดีดังเมืองสุพรรณยังไม่วายเจอพิษคดีนักโทษพม่าจี้ผู้บัญชาการเรือนจำสมุทรสาครแหกคุก ขณะนั้นเขาเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ถูกกำหนดให้เป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์สกัดไม่ให้คนร้ายพร้อมตัวกันหนีออกชายแดนฝั่งอำเภอไทรโยค จังหวัดราชบุรี ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นตัวอย่างให้นักโทษแหกคุกกันหมด

จัดแจงวางแผนนำกำลังหลายหน่วยท่ามกลางสถานการณ์ที่วิกฤติกว่า 20 ชั่วโมง ปฏิบัติการจู่โจมสายฟ้าแลบก็เกิดขึ้น ส่งให้นักโทษชาวพม่า 9 คนดับดิ้นคารถ แต่ต้องแลกด้วยชีวิตนายสมวงศ์ ศิริเวช ผู้บัญชาการเรือนจำสมุทรสาครตัวประกันที่อยู่ในรถด้วย พล.ต.ท.ยุทธนาสารภาพว่า หลังเสร็จสิ้นภารกิจนายกฯชวน หลีกภัย เชิญไปกินข้าว แต่ตอบปฏิเสธไป เพราะไม่สบายใจ คิดว่าไม่ประสบความสำเร็จ มีตัวประกันบาดเจ็บและตาย เราเป็นคนวางแผน โชคไม่ดีตรงผู้บัญชาการเรือนจำถูกคนร้ายจับรัดติดเป็นตัวประกันในรถจนกลายเป็นโศกนาฏกรรมขึ้น

เจ้าตัวยังคลี่คลายคดีสังหารนายเจริญ วัดอักษร ประธานกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นบ่อนอก ตำบลบ่อนอก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และแกนนำต่อต้านการก่อสร้างโรงไฟฟ้าบ่อนอก ตามแกะรอยจับมือปืนกับพวกได้ เขาบอกว่า ตอนนั้นเริ่มมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีแล้ว สามารถตรวจสอบเช็กข้อมูลติดตามผู้ต้องสงสัยจนประสบความสำเร็จ แต่กลับโดนเมียผู้ตายโวยหาว่า เราไปช่วยฝ่ายผู้ต้องหา คดีนี้นายกฯทักษิณ ชินวัตร บีบลงมาเองเลย ปรากฏว่า พอจับผู้ต้องหาได้ดันถูกผู้ใหญ่บางคนชิงไปแถลงข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เอาความดีความชอบแทน

“ผมทำงานคดีเป็นร้อย ๆ คดี ให้กับหลายอธิบดีกรมตำรวจ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ถามว่าฆ่าโจรเยอะไหม ก็เยอะนะ คนร้ายทั้งนั้น แต่เราไม่ได้ฆ่าเอง ให้ลูกน้องไปจัดการ ทั้งนี้ทั้งนั้นลูกน้องต้องจริงใจกับเราด้วย ไม่ใช่ใช้สุ่มสี่สุ่มห้า เคยคิดลาออกหลายครั้งตอนผิดหวังไม่ได้ขึ้นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ให้ไปอยู่ภาค 6 ไม่รู้จักตำรวจสักคนแล้วจะคัดคนไปทำงานให้เราได้อย่างไร บังเอิญแม่ป่วยหนักเลยเปลี่ยนใจดูแลแม่ก่อน ไม่ลาออก อยู่จนเกษียณอายุราชการ” ตำนานมือปราบภูธรสาธยายชีวิตราชการ

พล.ต.ท.ยุทธนาทิ้งท้ายว่า การทำงานสืบสวนเป็นเรื่องธรรมชาติ ถ้ามีความสนใจทำได้หมด เราเก่ง เพราะเป็นเรื่องที่เราใช้ประสบการณ์ เอาใจใส่ ใช้ความขยันหมั่นเพียร เรื่องไหนเราทำไมได้ ก็ฝากคนนั้นคนนี้ทำ ช่วยกันได้หมดแหละตำรวจ คดีไหนถ้าใครมีส่วนช่วยได้จะช่วยหมด เป็นนิสัยของตำรวจทุกคน ถ้ารู้ว่าจะมีส่วนช่วย ขอร้องกันก็จะทำได้ ถ้าไม่มีการวิ่งเต้น หรือนายสั่งไม่ให้ไปยุ่ง ส่วนใหญ่จะจับได้ มีบ้างสัก 5 เปอร์เซ็นต์ที่รอดไปได้

“อยากจะฝากตำรวจรุ่นใหม่ๆ เรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่ สิ่งนี้จะช่วยการทำงานของตำรวจอย่างมากขอให้สนใจ ต้องฉลาด รู้ทันคนร้าย เพราะเทคโนโลยีเดี๋ยวนี้รู้หมดแทบจะไปไม่รอดเลย ความจริงถ้าอนาคตมีกล้องวงจรปิดทั่วประเทศสามารถโยงฐานเข้ามูลลิงก์ถึงกันเวลามีเหตุจะวิเคราะห์ได้ว่า คนร้ายเป็นใคร อันนี้ต้องศึกษา และเป็นเรื่องที่ตำรวจต้องทำ งานสืบสวนไม่ใช่แค่เก่งกาจ แต่ต้องเอาใจใส่ ไม่ทิ้งงาน คดีเรียกค่าไถ่ หลายคดีในสมัยก่อนค่อนข้างยาก วงการตำรวจรู้ฝีมือกันดีอยู่แล้วว่า ใครทำจริง หรือไม่จริง คนที่ได้ดิบได้ดี บางทีก็ไม่ได้ทำอะไรเท่าไหร่หรอก เพียงแต่ว่า มีนักข่าวเป็นพวก” อดีตนายพลนักสืบว่า

ยุทธนา ไทยภักดี !!!

 

RELATED ARTICLES