เยี่ยมชมตำรวจสิงคโปร์

งานวิจัยการบริหารจัดการงานตำรวจและกฎหมายที่เกี่ยวข้องเพื่อการดูแลความปลอดภัยสาธารณะของประเทศสมาชิกอาเซียนที่ พล.ต.ท.ปิยะ อุทาโย ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและคณะผู้วิจัยคุณภาพใช้เวลานาน 4 ปี

ถึงคิวสรุปผลงานการเข้าไปเจาะลึก สาธารณรัฐสิงคโปร์ ประเทศที่มีพื้นที่เล็กสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นเกาะอยู่ปลายสุดของคาบสมุทรมาลายูบนเนื้อที่เพียง 709 ตารางกิโลเมตร มีอัตราการเกิดอาชญากรรมต่ำ

ในปี 2560 นิตยสารเดอะอีโคโนมิสต์ ได้จัดอันดับสิงคโปร์เป็นเมืองที่ปลอดภัยส่วนบุคคลเป็นอันดับ 1 จาก 60 เมืองทั่วโลก สำหรับความปลอดภัยด้านไซเบอร์มาเป็นอันดับ 2

อาชญากรรมที่เกิดในสิงคโปร์ส่วนใหญ่เป็นคดีไม่รุนแรง และไม่มีการเผชิญหน้ากับเหยื่อ ได้แก่ การโจรกรรมในที่พักอาศัย การประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่อาศัยช่องโอกาสในการกระทำผิด เช่น วิ่งราวทรัพย์ ล้วงกระเป๋า ลักทรัพย์ เกิดเหตุบ่อยในบริเวณที่คนพลุกพล่าน รถประจำทาง ระบบขนส่งมวลชน ถนน ตลาด และสถานบริการเวลากลางคืน

สิงคโปร์เป็นอีกประเทศที่คดีอุกฉกรรจ์เกิดขึ้นน้อยเพราะมีการควบคุมอาวุธปืนอย่างเข้มงวดและมีบทลงโทษที่รุนแรง

ถึงกระนั้นก็ตาม ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทำให้ชาวสิงคโปร์เข้าถึงอินเตอร์เน็ต มีช่องทางการสื่อสารและทำธุรกรรมทางการเงินได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ปัจจัยดังกล่าวเป็นโอกาสให้เกิดคดีประทุษร้ายต่อทรัพย์ที่อาศัยการติดต่อสื่อสารอันทันสมัย มีเหตุเกี่ยวกับการหลอกลวงทางโทรศัพท์หรืออินเตอร์เน็ตเกิดขึ้นจำนวนมาก มีรูปแบบการกระทำผิดที่หลากหลาย

เช่นเดียวกับปัญหาด้านยาเสพติด แม้บทลงโทษผู้กระทำผิดเกี่ยวกับคดียาเสพติดจะรุนแรงถึงขั้นประหารชีวิตจำคุกตลอดชีวิต แต่ยานรกก็ยังคงระบาด ผู้เสพยาเสพติดจำนวนมากเป็น “ผู้เสพรายใหม่” ผู้ถูกจับกุมเป็นบุคคลอายุต่ำกว่า 30 ปี ประเภทของยาเสพติดที่มรการแพร่ระบาดมากอันดับหนึ่งคือ เมทแอมเฟตามีน ชนิดเกร็ด หรือไอซ์  อันดับสอง คือ เฮโรอีน และกัญชามาเป็นอันดับสาม

วิวัฒนาการขององค์กรตำรวจในสิงคโปร์เริ่มต้นเมื่ออาณานิคมตะวันตกเข้ามาควบคุมอำนาจการปกครองในภูมิภาคลักษณะเดียวกับประเทศอื่น กองกำลังตำรวจสิงคโปร์ก่อตั้งขึ้นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ.1820 ถือเป็นองค์การของรัฐที่เก่าแก่ที่สุดองค์กรหนึ่ง

กองกำลังตำรวจสิงคโปร์มีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญหลังจากแยกตัวออกจากมาเลเซียเมื่อปี ค.ศ.1965   เป็นหน่วยงานขึ้นตรงกระทรวงมหาดไทย มีผู้บัญชาการตำรวจเป็นผู้บริหารสูงสุด ท่ามกลางกำลังพลประมาณ 16,500 นาย ประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ตำรวจ 7,600 นาย ตำรวจระดับอาวุโส 2,100   นาย พลเรือน 1,600 คน เจ้าหน้าที่บริการแห่งชาติ 5,200 นาย และยังมีอาสาสมัครประมาณ 1,000 คน กำลังพลสำรองอีก 27,000 นาย

ชั้นยศของตำรวจสิงคโปร์เป็นระบบตำแหน่งในลักษณะเดียวกับตำรวจอังกฤษ ปัจจุบันปรับปรุงโครงสร้างยศเรียงตามลำดับสูงสุดไปต่ำสุด ได้แก่ ผู้บัญชาการ รองผู้บัญชาการ ผู้ช่วยผู้บัญชาการอาวุโส ผู้ช่วยผู้บัญชาการ รองผู้ช่วยผู้บัญชาการ ผู้กำกับการ รองผู้กำกับการ ผู้ช่วยผู้กำกับการ สารวัตร สารวัตรสถานี จ่าสิบตำรวจอาวุโส และจ่าสิบตำรวจ

พวกเขาใช้ระบบกฎหมายแบบอังกฤษ เป็นระบบศาลเดี่ยวที่นักกฎหมายมีแนวคิดตามหลักความยุติธรรมตามธรรมชาติว่า บุคคลทุกคนต้องมีความเสมอภาคกันตามกฎหมาย อยู่ภายใต้บังคับของหลักกฎหมายเดียวกัน และควรจะขึ้นศาลเดียวกัน

สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยและความปลอดภัยในเมืองต่างๆ มีกฎหมายเกี่ยวกับการปฏิบัตตนในที่สาธารณะที่เข้มงวด มีบทลงโทษที่รุนแรง เช่น การข้ามถนนต้องข้ามในทางข้าม สะพานลอย ทางข้ามใต้ดิน หรือทางที่กำหนดไว้ให้เท่านั้น ห้ามทิ้งขยะในที่สาธารณะ ห้ามปัสสาวะ ห้ามบ้วนน้ำลาย ห้ามนำเข้า ขาย และเคี้ยวหมากฝรั่ง เป็นต้น

นอกจากนี้ มีกฎหมายเกี่ยวกับการรักษาความสงบเรียบร้อยสาธาณะ กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชุมนุมและเดินขบวนในที่สาธารณะให้อำนาจที่จำเป็นแก่เจ้าหน้าที่ในการรักษาความเป็นระเบียบเรียบร้อยสาธารณะและความปลอดภัยของประชาชน

ขณะเดียวกัน ตำรวจสิงคโปร์ได้แนวคิด “ตำรวจชุมชน” ในการป้องกันอาชญากรรมในแบบของตำรวจญี่ปุ่นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 มีการจัดเจ้าหน้าที่สายตรวจเดินเท้า สายตรวจจักรยาน กำหนดให้มีคณะกรรมการประสานงานของตำรวจชุมชนเพื่อเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารระหว่างตำรวจกับชุมชน

ต่อมาความคาดหวังของประชาชนเพิ่มมากขึ้น มีการปรับปรุงเป็นศูนย์บริการตำรวจแบบจุดเดียวในละแวกชุมชนให้เข้าถึงปัญหาและแก้ไขปัญหาอาชญากรรม รวมทั้งความปลอดภัยในชุมชนของตัวเอง นำไปสู่การพัฒนาเป็นกองกำลังต่อสู้อาชญากรรม และหน่วยงานการตำรวจชุมชน

ยกระดับการทำงานร่วมกันระหว่างตำรวจกับชุมชน

สิงคโปร์ยังมีองค์กรที่สนับสนุนการดำเนินงานกองกำลังตำรวจสิงคโปร์ คือ “สภาป้องกันอาชญากรรมแห่งชาติ” เป็นองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไร ทุนในการดำเนินงานมาจากการบริจาคทั้งหมด ตั้งขึ้นเพื่อต้องการเปลี่ยนแปลงทัศนคติของประชาชน ส่งเสริมให้ภาคเอกชนและประชาชนมีความรับผิดชอบในการป้องกันอาชญากรรมร่วมกับตำรวจ องค์กรธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม

เสริมสร้างทักษะในการป้องกันตัวเองของประชาชน

เป็น “สะพานเชื่อม” ระหว่างตำรวจกับภาคเอกชนและประชาชน รวมทั้งเป็นเสียงสะท้อนของภาคเอกชนที่มีต่อองค์กรตำรวจ

         

RELATED ARTICLES