“ ผมมีโอกาสได้เลือกระหว่าง หัวหน้าข่าวหน้า 1 กับหัวหน้าข่าวอาชญากรรม”

รับคำเชิญเป็นคอลัมนิสต์กิตติมศักดิ์ให้ COP’S MAGAZINE มานาน ท่านผู้อ่านหลายคนอาจไม่รู้จักที่มาที่ไปของ “แอ๊ด”วิชเลิศ งามขำ ผู้นำเอาเรื่องราวจากประสบการณ์ชีวิตจริงที่เลือกไม่ได้มาถ่ายทอดให้ทุกเดือน

เขาเป็นถึงอดีตหัวหน้าข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์ไทยรัฐที่ตำรวจรุ่นเก่ารู้จักคุ้นเคยเป็นอย่างดี ถึงวันนี้ยังไม่ห่างหายจากวงการน้ำหมึกถึงนำเรื่องราวหลากหลายมุมในวันเก่ามาเล่าให้ระลึกนึกภาพตามได้เสมอ

คนข่าวคมเข้มมาดขึงขังวัยเกษียณท่านนี้เกิดอำเภอบางแพ จังหวัดราชบุรี ในครอบครัวที่พ่อแม่เลิกรากัน พ่อเป็นครูต้องหอบหิ้วไปเลี้ยงดูอยู่อุทัยธานีนาน 12 ปีถึงกลับมาสู่อ้อมอกมารดาในกรุงเทพฯ เรียนชั้นประถมโรงเรียนศึกษาวิทยา ไปจบมัธยมโรงเรียนพระโขนงวิทยาลัย จากนั้นหันเข้าช่างกลปทุมวันด้วยความฝันอยากใช้ชีวิตช่างช่วยเหลือกิจการครอบครัวที่คุณตาอารีย์ ลีวีระ ทิ้งมรดกธุรกิจหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทยรุ่นบุกเบิกเอาไว้ให้

สุดท้ายชีวิตมาพลิกผันเอาวันที่เรียนจบช่างกล วิชเลิศเล่าว่า มันเป็นฤดูร้อนหน้าว่าว ซื้อว่าวใส่กระเป๋าจะเอามาฝากลูกพี่ลูกน้อง ระหว่างทางกลับบ้านย่านสุขุมวิทต้องเดินผ่านบ้านเจ้าหน้าที่ทูตสหรัฐอเมริกา รู้สึกหมั่นไส้ เพราะช่วงนั้นคนไทยกับอเมริกันจะไม่ลงรอยกัน มีการปลูกฝังเรื่องชาตินิยม เลยจุดประทัดโยนใส่หน้าบ้าน ทำให้โดนตำรวจจับ เราก็ไม่ว่าอะไร คิดว่า ตระกูลเป็นนักหนังสือพิมพ์ขึ้นโรงพักยังไงไม่กลัวอยู่แล้ว แต่พอไปถึงตำรวจกลับมาประจาน บอกว่า เป็นช่างกลดันเล่นว่าว เป็นที่อับอายมาก

กลายเป็นแรงผลักดันให้วิชเลิศอยากเป็นนักหนังสือพิมพ์

“ผมโมโหตำรวจ จับก็จับเราไม่ว่า แต่ทำไมต้องประจานกันด้วย มันละเมิดสิทธิเรา ผิดก็ว่ากันไป แต่ทำไมต้องทำอย่างนี้ มันเกินไป คิดเป็นนักข่าว เพราะอยากจะทำให้เกิดสิ่งที่ถูกต้องในสังคม ทุกอย่างสามารถทำผิดได้ แต่ทำไมต้องมาประจานกัน แค่จุดประทัดจะดันไปเอาใจฝรั่งมากกว่า จะเป็นจะตายให้ได้”เขาให้เหตุผล

แต่หลานชายอดีตเจ้าของหนังสือพิมพ์คนดังที่ถูกอาญาเถื่อนของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงครามดักสังหารก็ต้องมาเจอกฎเหล็กของคุณยาย เมื่อต้องทำข่าวให้ได้ภายใน 7 วัน ไม่เช่นนั้นต้องกลับไปเป็นช่างไฟฟ้าแทน เจ้าตัวยอมรับว่า โหดร้ายมาก ไม่เคยทำมาก่อน แต่โชคดี ช่วงนั้นเคยช่วยงานโรงพิมพ์ทุกอย่าง เคยไปทำปรู๊ฟเลยรู้สำนวนการเขียนทุกอย่าง เราอ่านเกือบหมด ทั้งข่าวอาชญากรรม สังคม การเมือง เศรษฐกิจ คอลัมน์อะไรต่าง ๆ ก็ได้อ่านสำนวนของคอลัมนิสต์ดังหลายคน  คิดว่าเวลา 7 วันเราน่าจะทำได้

“ผมมีความมุ่งมั่นต้องเอาชนะ มันติดตัวผมมา ชีวิตนี้แพ้ไม่ได้ ถ้าแพ้พัง เล็ก ๆ ก็ลำบากมาตลอด ต้องลุกขึ้นสู้ตลอดเวลา ก็โอเค รับปากคุณยาย ดีได้อาจารย์ดี ลุงจำนง รุ่งเรืองกุล เป็นนักข่าวอาชญากรรมพิมพ์ไทยคอยชี้แนะ ไปวันแรกเจอข่าวใหญ่คนร้ายปล้นธนาคารเลย เขาปล่อยให้ทำเอง ชี้แนะว่าต้องทำอะไรบ้างให้ไปดูว่า รายละเอียดเป็นยังไง มีใครบ้าง คนร้ายกี่คน ประกอบกับว่า เรามีพื้นฐานทางด้านอ่านข่าวก็พอจับประเด็นได้ ถือเป็นข่าวใหญ่เกิดแถวยานนาวา ก็ถือว่า ทำได้”

เคสที่สองเป็นข่าวคนผูกคอตาย ตายมา 7 วันแล้ว เขาบอกว่า วันนั้นใส่เสื้อยืดไป ต้องโยนทิ้ง ส่วนหัวต้องสระ ผมต้องตัดทิ้ง กลิ่นศพมันติดเหม็นไปหมด ได้เรียนรู้จากพวกนักข่าวรุ่นเก่าที่จะสอนเสมอว่า ข่าวอาชญากรรมมีรูปแบบของมันอยู่ ลัก วิ่ง ชิง ปล้น มันเป็นแบบนี้ ให้จำเพียงชื่อคน วัน เวลาที่เกิดเหตุ จำนวนเงิน เหตุการณ์สำคัญ นอกนั้นไม่ต้องจำ เพราะมันเป็นขั้นตอนของข่าวอยู่แล้ว ทุกคดีรุ่นพี่จะสอนว่า ให้ไปก่อนกลับทีหลัง อย่างข่าวไฟไหม้ไปก่อนจะเห็นสภาพเพลิงไหม้กินเนื้อที่เท่าไหร่ มีเวลาไปสอบถามชาวบ้านให้หมด ถามว่า ทำไมต้องกับทีหลัง เพราะบางครั้งมีศพติดอยู่ในกองเพลิง ข่าวไฟไหม้ถือเป็นข่าวที่ใช้เวลายาวนานมาก ส่วนข่าวผูกคอตาย ก็ต้องดูว่า ในห้องมีการต่อสู้ทำร้ายร่างกายหรือไม่ ยิ่งเจอจดหมายลาตาย ยิ่งชัวร์ว่าไม่ใช่ฆาตกรรม รอแค่ผลพิสูจน์เท่านั้น

คนหนังสือพิมพ์รุ่นเดอะยังได้เรียนรู้ถึงวิธีการทำข่าวที่ว่าไม่ต้องกลัวตกข่าวด้วยว่า ต้องตีซี้กับกองพิสูจน์หลักฐาน กับเจ้าหน้าที่ห้องเก็บศพ อย่างกองพิสูจน์หลักฐานจะมีบันทึกประจำวัน ไปตรวจบ้านใคร บางทีตำรวจท้องที่ปิดข่าว แต่กองพิสูจน์หลักฐานต้องเข้าไปตรวจ ทั้งลักทรัพย์ หรือฆาตกรรม มีข้อแม้ คือห้ามบอกแหล่งข่าวว่า มาจากตำรวจพิสูจน์หลักฐาน ส่วนห้องเก็บศพก็สำคัญ พลาดไม่ได้ ต้องแวะเข้าไป มีใครตายหรือไม่ ตีซี้ด้วยการนั่งกินเหล้าสร้างความสัมพันธ์อันดี บางทีเขาก็จะโทรศัพท์มาบอก ตำรวจปิดยังไงก็เสร็จเรา สมัยก่อนทำกันอย่างนั้น

ในที่สุด วิชเลิศได้สวมบทนักข่าวพิมพ์ไทยสมใจ ทำอยู่จนกิจการหนังสือพิมพ์ยุคบุกเบิกเจ๊ง ก็ย้ายค่ายไปอยู่หนังสือพิมพ์บ้านเมือง สักพักเดลินิวส์มีการเปลี่ยนแปลงแยกตัวมาเปิดหนังสือพิมพ์เดลิไทม์ วิชเลิศมีโอกาส 2 ทางให้เลือกเหมือนกันว่า จะไปอยู่เดลิไทม์ หรือจะไปเดลินิวส์ ปรากฏว่า เขาคิดผิด เลือกไปเดลิไทม์ ด้วยความที่อยากไปเจอของใหม่ น่าจะมีอะไรดีซ่อนอยู่สามารถอัพให้เราไปดีได้ สุดท้ายพลาด หลังไปทำข่าวเหตุการณ์กู้เรือรบ นปข.ล-123 ในวีรกรรมดอนแตงเขตชายแดนไทยลาวที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย เมื่อปี 2518

เดลิไทม์เป็นฉบับเดียวที่ได้รูป เพราะว่า เขามีเพื่อนรุ่นพี่ทำทีวีอยู่ช่อง 4 บางขุนพรหมส่งซิกบอกว่าจะมีการดีเดย์เคลื่อนทัพกันตอนเช้ามืดจึงตัดสินใจไปเช่าเรือพายจากชาวบ้าน 100 บาท ที่ถือว่า แพงมหาศาลในสมัยนั้น “ ได้ไม้พายมาอันเดียว ในเรือไม่มีใครพายเป็น โชคดีที่ผมเคยไปใช้ชีวิตอยู่อุทัยธานีพายเรือในแม่น้ำสะแกกรังรู้เลยว่า น้ำเชี่ยวจะต้องพายยังไง เข้าไปถึงที่เกิดเหตุ ทหารด่าแหลกว่า เข้ามาทำไม ผมไม่รู้ ไม่สน ไปถึงที่แล้ว ประวิทย์ ศรีประภา เป็นช่างภาพ ได้ภาพฉบับเดียว เป็นข่าวดังได้รับคำชื่นชมสรรเสริญ คิดว่า ต้องได้พูลิตเซอร์แน่ ปรากฏว่า หัวหน้ามันไม่ส่ง มันเกลียดขี้หน้าพวกผม ไม่ส่งประกวดดื้อ ๆ อ้างว่าลืม เป็นอะไรที่ผมแค้นมาก ๆ เลยคิดว่า อยู่ร่วมงานกันไม่ได้ ถ้ามีเหตุผลดี ๆ ไม่ว่า มันแกล้งกันชัด ๆ ตัดสินใจลาออกกลับมาอยู่บ้านเมือง ท่ามกลางเสียงเยาะเย้ยของบรรดาเพื่อนฝูงทั้งหลายว่า เราไปไม่รอด”

วันนี้คืนดี สำเริง คำพะอุ นักข่าวรุ่นพี่ก็ชวนวิชเลิศย้ายสังกัดอีกครั้งไปอยู่หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ก้าวเป็นนักข่าวตระเวนอาชญากรรม กระทั่งไปประจำกองปราบปราม สามยอด หน่วยงานที่เสมือนเป็นสถานที่บรรจุศพของนักข่าวหมดไฟ แต่เขาสามารถปลุกปั้นกระพือข่าวให้กองปราบปรามดังเป็นพลุแตกในเวลาไม่นาน เริ่มตั้งแต่ข่าวคดีเสี่ยสองปั่นหุ้น ทำเศรษฐกิจเมืองไทยสั่นสะเทือน วิชเลิศมีแนวคิดว่า การที่ไปประจำกองปราบปราม เราจะมาอยู่ลักษณะตายไปแต่ละวัน ทิ้งความสามารถของตัวเองมันไมได้ ถึงเริ่มลุกขึ้นมาดู ศึกษามันว่า กองปราบปรามมีกี่กอง จะทำอย่างไรให้เป็นข่าว เริ่มเดินสร้างความสัมพันธ์กับแหล่งข่าวทุกกอง โดยเฉพาะสิบเวรประจำวัน เรียนรู้ถึงขนาดว่า วิธีการปลอมเช็กทำอย่างไร การต้มตุ๋นหลอกลวงยังไง ที่สำคัญมันยังสอนให้เรารู้ว่า บางเรื่องบางราว อย่างคดีจับโสเภณี แค่นับจำนวนหัวเป็นใครมาจากไหนมันไม่ใช่ บางครั้งสิ่งที่มันซ่อนอยู่ในเสื้อผ้า ในกระเป๋ามันก็มี เช่น จดหมายที่โสเภณีเขียนระบายอะไรออกมา เราก็ได้จากตรงนี้เป็นข่าวเยอะ

ตำนานนักข่าวกองปราบปรามมือฉมังบอกอีกว่า ที่นี่เราได้รู้จักชีวิตของตำรวจหลายอย่าง เช่น  มือปราบ นักวิชาการ มือสอบสวน มือทุบ มือตี นักบิน เราเรียนรู้หมด เพียงแต่ว่า อย่าไปฝังตัวกับมัน สร้างความไว้ใจให้เขาได้ว่า โอเค ตรงไหนเป็นความลับ อย่างคดีแชร์แม่ชม้อย ทิพยโส เป็นข่าวออกมา 2 เดือนกว่า ไม่มีใครรู้ว่า คนแจ้งความเพื่อดำเนินคดี คือใคร ข้างในโรงพิมพ์ก็เร่งเร้ามา มานั่งคิด คิดได้ว่า ต้องใช้สุราให้เป็นประโยชน์ รู้ว่า วันนี้สิบเวรคนไหนเข้าก็ชวนไปกินเหล้าตั้งแต่ 2-3 ทุ่มถึงตี 5 สนิทกันมาก เลยได้ไปลอกรายละเอียดประจำวันทั้งหมดส่งโรงพิมพ์  ไทยรัฐพาดหัวข่าวฉบับเดียว ผลก็คือ สิบเวรคนนั้นติดคุก ก็ต้องไปขอโทษขอโพย ตำรวจระดับผู้กำกับโกรธใหญ่จะเล่นงานเรา หาว่า เอาความลับทางราชการไปเปิดเผย เราบอกก็ได้ ถ้าจะรบกัน เพราะเรารู้พวกนั้นหมดว่า ไปทำอะไรที่ไหน ไปบินที่ไหน แลกกัน สุดท้ายก็จบ มึนตึงกันไปพัก

ผลกระทบจากข่าวเดี่ยวข่าวดังระดับประวัติศาสตร์ประเทศครั้งนั้น วิชเลิศบอกว่า ยังเกิดศึกภายในขึ้นมาอีกด้วย เมื่อบรรดาเพื่อนพ้องน้องพี่นักข่าวฉบับอื่นทั้งหลายที่ตกข่าวพากันโกรธ ตั้งแก๊งจะมาหาข่าวสู้เพื่อเอาคืน เราคนเดียวก็พร้อม กว่าพวกนั้นจะมาก็สิบโมงแล้ว เราไปเช้าก็ทำเรียบร้อยหมดทุกข่าวล่อกัน 7 วันเต็ม ๆ ข่าวทุกข่าวขอร้องข้างในโรงพิมพ์ต้องลง ปั้นให้ใหญ่จนพวกนั้นยอมสงบศึก

ทำข่าวอยู่กองปราบปรามนาน 7 ปี วิชเลิศสัมผัสตำรวจนักสืบมือปราบที่ตัวเองยอมรับนับถือถึง 3 คน ตั้งแต่ พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค จอมหลักการเป็นนักวางแผน ขณะที่ พล.ต.ท.ชลอ เกิดเทศ เป็นนักรบกึ่งกองโจร  อีกคน คือ พล.ต.อ.ณรงค์วิช ไทยทอง สุดยอดตำรวจที่มีความละเอียดรอบคอบ  แต่ละคนแม้การทำงานจะมีสไตล์ต่างกัน ทว่าถือเป็นบุคลากรอันทรงคุณค่าระดับตำนานของกองปราบปรามที่วิชเลิศยกนิ้วชื่นชม

เมื่อเริ่มช่ำชองชำนาญถิ่นตำรวจติดอาร์มสามยอด วิชเลิศกลับถูกเรียกตัวไปทำข่าวส่วนกลางไม่นานก็ขยับนั่งรีไรเตอร์ ก่อนได้รับความไว้วางใจให้เป็นหัวหน้าข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ระดับประเทศ แต่สำหรับตัวเขาเป็นอีกครั้งที่รู้สึกว่า เลือกทางผิด “ ผมมีโอกาสได้เลือกระหว่าง หัวหน้าข่าวหน้า 1 กับหัวหน้าข่าวอาชญากรรม ผมชอบอาชญากรรม เพราะยึดติดเกินไปหน่อย ตำรวจอาจจะรู้จักมากขึ้น แต่ก็เหมือนแคบอยู่แค่ในกรอบ หากเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 โอกาสจะกว้างกว่าเยอะ”

แต่แล้วเส้นทางคนข่าวของเขาก็สะดุดพลิกผันอีกจนได้หลังเกิดปัญหาความไม่เข้าใจกัน ระหว่างเขากับผู้บริหาร  “ผมเป็นคนยึดมั่นว่า ตัวเองไม่ผิด ก็เลยลาออก ซึ่งเป็นการเลือกทางเดินผิดเป็นครั้งที่ 3 ทำให้จำถึงทุกวันนี้ว่า ทำอะไรควรคิดให้รอบคอบกว่านี้ ผมโมโห นิสัยผมส่วนตัวถ้าไม่ผิดแล้วถูกกล่าวหามันจะวี๊ดขึ้นมาเลย ลาออกไปอยู่ว่าง ๆ นานปีกว่า ไม่ทำอะไร อยากอยู่เฉย ๆ ทิ้งวงการไปเลย มันเซ็ง แต่ไม่ถึงกับเคว้ง”อดีตหัวหน้าข่าวอาชญากรรมหนังสือพิมพ์ไทยรัฐระบายความรู้สึก

กระทั่งนึกเบื่อเลยหันคืนสู่วงการมาเป็นหัวหน้าข่าวอาชญากรรม หนังสือพิมพ์สยามรัฐ ขยับเป็นหัวหน้าข่าวหน้า 1 และผู้ช่วยหัวหน้ากองบรรณาธิการ หนสุดท้ายก็ต้องเกษียณตัวเอง กลับไปอยู่พิมพ์ไทยยุคใหม่เป็นคอลัมนิสต์ประจำ ผันไปวิพากษ์วิจารณ์ข่าวการเมือง ไม่เอาแล้วข่าวอาชญากรรม

ห้วงชีวิตคนหนังสือพิมพ์ที่ผ่านมา วิชเลิศยืนยันว่า ประทับใจที่สุด คือ ตอนอยู่กองปราบปรามที่มีการจุดประกายขึ้นหลังข่าวคดีเสี่ยสองทุบหุ้นให้ทุกคนหันมามองกองปราบปรามไม่ใช่แดนสนธยาอีกต่อไป มันเป็นตักศิลาของนักข่าว อยู่ที่จะใฝ่รู้หรือไม่ ได้รู้ถึงวิถีชีวิตของตำรวจอยู่กันยังไง ทำไมบางคนอยู่ได้ แต่ทำไมบางคนทำตัวอยู่ไม่ได้ เพราะไม่รู้จักพอเพียง ตำรวจดีก็มี ไม่ดีก็มี  สนุก คือการได้ทำงานกองปราบช่วงชลอ เกิดเทศ ที่ให้ปืนมากระบอกบอกว่า เอาลูกโม่ไปล่ะกัน ถ้าแมกกาซีนเดี๋ยวลืม เพราะต้องขึ้นนก ขึ้นลำ สไลด์ลั่นตาย

“ผมถามว่า ทำไมต้องให้ผม แกว่า เวลาไปเข้าพื้นที่เกิดปะทะแล้วคลาดกัน มึงจะทำอย่างไร มึงต้องมีเพื่อนอีก 6 คน แต่เอ็งต้องใช้เพื่อนแค่ 5 เหลือไว้คน คือ กระสุนอีกนัด จำไว้เลย ถ้าเผื่อมีปัญหามันลำบาก ประเมินสถานการณ์แล้ว โดนแน่ ๆ  ถูกอัด ถูกเก็บ มึงยิงตัวตายดีกว่า ไม่ต้องทรมาน แกบอกแบบนี้เลย”เขาจำคำมือปราบพระกาฬได้แม่นยำ

แต่สิ่งที่เขาเสียใจที่สุด คือ ภาพที่เห็นทุกวันนี้ของกองปราบปราม สามยอดกลายเป็นห้างสรรพสินค้าไปแล้ว ทั้งที่สมัยก่อนเหมือนป้อมปราการตั้งอยู่กลางดงคนจีนที่มีพวกอั้งยี่  กรมตำรวจไปตั้งเพื่อสยบบรรดาพวกนี้ไว้ แทนที่จะเก็บไปประวัติศาสตร์กลับไม่ทำ

 

RELATED ARTICLES