หลักความสามารถ (เฉพาะตัว)

ย้อนกลับมาตรวจแถวบัญชีแต่งตั้งโยกย้ายระดับ “ผู้บัญชาการ” ในยุค พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กุมบังเหียมคุมมติที่ประชุมคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ

ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ “ไร้หลักการ” เสมือนหลักประหารกลุ่มคนทำงานที่ไม่มีเส้นสาย

กำหนดอาวุโสร้อยละ 33 เปอร์เซ็นต์ ผลักดันลำดับแถวระดับ 1-5 ฝ่าฝันขึ้นนั่งแม่ทัพ ตั้งแต่ พล.ต.ต.อาชวันต์ โชติเสถียร รองผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 ขึ้นเป็นผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 เป็นผู้บัญชาการสำนักงานสารสนเทศและการสื่อสาร พล.ต.ต.สุรพล แก้วขาว รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 เป็นผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง พล.ต.ต.วิเชียร ตันตะวิริยะ รองผู้บัญชาการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 38 เป็นผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ พล.ต.ต.เจริญวิทย์ ศรีวนิชย์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4

ทิ้ง พล.ต.ต.ศรายุทธ พูลธัญญะ รองผู้บัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 อาวุโสลำดับ 6 พลาดตกขบวนรถไฟไปอีกปี ทั้งที่ก่อนหน้าเมื่ออำนาจคณะรักษาความสงบแห่งชาติปกคลุมทุ่งปทุมวันได้ยื่นหนังสือร้องทุกข์ต่อคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ

ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการแต่งตั้งในวาระประจำปี 2561

ระบุว่า คณะกรรมการข้าราชการตำรวจใช้หลักเกณฑ์การแต่งตั้งตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 25 กรกฎาคม 2561 ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ง (4) และมาตรา 260

หลักเกณฑ์ตามประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีใช้อาวุโสร้อยละ 33 ส่วนที่เหลือร้อยละ 67 ไม่ได้ใช้หลักอาวุโส

ขัดกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้เพียงหลักการเดียว คือ “หลักอาวุโส”

กระทั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติออกมา “แก้ลำ” ใช้คำสั่งตามมาตรา 44 ไล่ขยี้ “ปิดตาย” หนังร้องเรียนขอความเป็นเรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย

อำนาจของกฎหมายเผด็จการทหารยุคนั้นถือเป็นอาญาสิทธิที่สร้างความวิปริตปั่นป่วนไปทั่ววงการตำรวจ

ส่วนอาวุโสลำดับ 7-8-9 พล.ต.ต.ภาคภูมิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ รองผู้บัญชาการสำนักงานตำรวจคนเข้าเมือง พล.ต.ต.มาโนช ตันตระเธียร รองจเรตำรวจ พล.ต.ต.ทรงเกียรติ วาทะกุล รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9 ไม่ได้ก้าวเลื่อนเก้าอี้เช่นกัน

มี พล.ต.ต.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 38 อาวุโสลำดับ 10 หยิบชิ้นปลามัน นั่งเก้าอี้ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

 

นอกนั้นไม่ได้ใช้หลักอาวุโสเป็นตัวตั้ง แต่เป็น “หลักความสามารถ (เฉพาะตัว)” ในยามที่ขั้วอำนาจเปลี่ยนทิศ ลิขิตทางชีวิตของหลายคนรุ่งโรจน์ติดยศ พล.ต.ท. ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการหรือเทียบเท่า

พล.ต.ต.อภิชาติ ศิริสิทธิ์ รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง อาวุโสลำดับ 28 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36   ขึ้นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6   พล.ต.ต.พัฒนวุธ อังคะนาวิน รองผู้บัญชาการสำนักงบประมาณและการเงิน อาวุโสลำดับ 30 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 37 เป็นผู้บัญชาการสำนักงบประมาณและการเงิน พล.ต.ต.ประจวบ วงศ์สุข รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 อาวุโสลำดับ 37 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 39 เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 9

พล.ต.ต.ชัยพร พานิชอัตรา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อาวุโสลำดับ 44 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 38 เป็นจเรตำรวจ (สบ8) พล.ต.ต.จิรวัฒน์ ทิพยจันทร์ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 อาวุโสลำดับ 46 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36   เป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 8 พล.ต.ต.เชษฐา โกมลวรรธนะ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2 อาวุโสลำดับ 47  นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 38 เป็นผู้บัญชาการตำรวจท่องเที่ยว พล.ต.ต.กฤษณะ ทรัพย์เดช รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 อาวุโสลำดับ 51 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 เป็นจเรตำรวจ (สบ8)

พล.ต.ต.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 อาวุโสลำดับ 52   นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 41 ขึ้นผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่ที่ปรึกษาสถาบันวิชาการป้องกันประเทศ กองบัญชาการกองทัพไทย) พล.ต.ต.ภาณุรัตน์ หลักบุญ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล อาวุโสลำดับ 56 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 41 เป็นจเรตำรวจ (สบ8) พล.ต.ต.ชยพล ฉัตรชัยเดช รองผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล อาวุโสลำดับ 70 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 37 เป็นผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่นายตำรวจประจำสภาความมั่นคงแห่งชาติ)

รวมถึงดาวรุ่งพุ่งแรงอย่าง พล.ต.ต.นิรันดร เหลื่อมศรี รองผู้บัญชาการสำนักงานส่งกำลังบำรุง อาวุโสลำดับ 92 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 43 เกษียณอายุราชการ 2571 เป็นจเรตำรวจ (สบ8) พล.ต.ต.กรไชย คล้ายคลึง รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 อาวุโสลำดับ 100 นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 41 เป็นจเรตำรวจ

นอกจากนี้ยังลามไปถึงกลุ่มแพทย์เมื่อ พล.ต.ต.โสภณรัชต์ สิงหจารุ นายแพทย์ (สบ7) โรงพยาบาลตำรวจ อาวุโสลำดับ 115 ท้ายสุดในบัญชีลำดับอาวุโสข้าราชการตำรวจระดับรองผู้บัญชาการ กำหนดเกษียณอายุราชการปี 2570 ขึ้นนั่ง “ปิดหัว”เป็นนายแพทย์ (สบ8) โรงพยาบาลตำรวจ

ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องราวของอำนาจ วาสนา บารมี และคนมีของ

 

RELATED ARTICLES