อีกตำนานชั้นครูที่ลาลับ

วงการตำรวจสูญเสียปูชนียบุคคลระดับตำนานไปอีกท่าน

ผมรักอาชีพตำรวจ เหมือนกับมันอยู่ในใจของผม”  พล.ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธุ์ อดีตผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเคยระบายความในใจไว้ในนิตยสาร COP’S เมื่อหลายปีก่อน

เจ้าตัวได้ชื่อว่าเป็นมือกฎหมายและนักสอบสวนชั้นครูของยุทธจักรโล่เงิน เป็นมือปราบปรามข้าราชการที่กระทำผิดทุจริตต่อหน้าที่ ผ่านประสบการณ์พิจารณาสั่งคดีเฉพาะที่ข้าราชการตำรวจต้องหากระทำทุจริตต่อหน้าที่ปีละประมาณ 50 คดี เคยเป็นอนุกรรมการข้าราชการตำรวจสอบสวนคดีวินัยร้ายแรง

เป็นกรรมการตรวจสอบทรัพย์สินและยึดทรัพย์นักการเมืองที่กล่าวหาว่าทุจริตต่อหน้าที่ในยุคคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ ทำสำนวนคดียึดทรัพย์ 3 รัฐมนตรีกระทรวงใหญ่มูลค่าหลาย 100 ล้านบาท อีกทั้งยังเป็นคณะทำงานยกร่างข้อตกลงระหว่างสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ

เกิดที่จังหวัดสงขลา ก่อนมาเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนประจำจังหวัดพัทลุง และเข้าศึกษาต่อที่โรงเรียนมหาวชิราวุธจนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 8 มีใจรักอาชีพตำรวจตั้งแต่วัยเด็ก หวังเดินรอยตาม พล.ต.ต.แพร่ง โสตถิพันธุ์ พี่ชายที่เรียนจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 8 แต่ได้รับการคัดค้านจากผู้ใหญ่ว่าเป็นตำรวจเหนื่อย การทำงานยากลำบาก มีอุปสรรคมากมายต้องเปลี่ยนวิถีทางเข้าไปเรียนกฎหมายที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กระทั่งจบนิติศาสตร์พร้อมกับเนติบัณฑิตยสภาในวัยเพียง 21 ปี

รับราชการครั้งแรกเป็นเสมียนพนักงาน แผนกการเจ้าหน้าที่จัตวา สำนักงานเลขานุการ กรมอัยการ แล้วโอนไปสำนักงานข้าราชการพลเรือนเป็นนิติกรตรี กองระเบียบข้าราชการ ก่อนจะหันเหชีวิตเข้าสู่เส้นทางสีกากีตามความฝันในวัยเด็กได้สำเร็จ

วิธีการทำงานของเขานั้นเขียนลงบนพื้นทราย แต่จุดมุ่งหมายนั้นสลักบนแผ่นหิน

ด้วยอุดมการณ์ที่มีอยู่อย่างมั่นคง ทำให้ตัดสินใจสมัครสอบเข้าเป็นตำรวจใช้เทียบวุฒิการศึกษาก้าวเข้ามาในวงการสีกากีติดยศ ร.ต.ท. ประจำอยู่สถานีตำรวจนครบาลสำราญราษฎร์ ตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวนลากคอคนร้ายเข้าตะรางไปหลายราย

ก่อนย้ายไปนั่งตำแหน่งรองสารวัตรฝ่ายกฎหมาย เลื่อนขึ้นเป็นสารวัตร ทำหน้าที่หัวหน้าแผนกวิชากฎหมาย กองกำกับการ 2 กองอำนวยการศึกษา กองบัญชาการศึกษาในเวลาต่อมา

กระทั่งมีการเปิดรับสมัครสอบเป็นพนักงานอัยการ

ผมเห็นว่าตัวเองมีคุณวุฒิเนติบัณฑิต เมื่อได้เนติก็น่าจะลองสอบเป็นอัยการ ผู้พิพากษาให้ได้ เพื่อจะได้รับการยอมรับจากสังคม ถึงได้ไปสอบ ก็สอบติดเลยในครั้งแรก เขาเอ่ยด้วยความภาคภูมิใจในชีวิต

ลาออกจากตำรวจ เพราะอยากลองงานด้านนี้สักครั้ง ได้รับตำแหน่งอยู่ในกรมอัยการจังหวัดพัทลุง ไปสืบสวนสอบสวนร่วมกับตำรวจ ทุ่มเทคลุกคลีกับงานอย่างใกล้ชิดและจริงจังเพื่อจะได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องแม่นยำตรงกับข้อกฎหมาย ไม่ให้ผู้ต้องหาดิ้นหลุด ทำตัวเลขสถิติคดียาเสพติดลดลงไปเยอะ

ทำหน้าที่เป็นพนักงานอัยการอยู่ประมาณ 8 ปี ช่วงนั้นติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่ในกรมตำรวจอยู่เสมอ เป็นเหตุให้เขาถูกทาบทามจากนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้กลับมาช่วยงานด้านกฎหมายของกรมตำรวจอีกครั้ง ติดยศ พ.ต.อ.นั่งเก้าอี้รองผู้บังคับการกองวิชาการ เป็นรองผู้บังคับการกองคดี แล้วขึ้นเป็นผู้บังคับการกองวิชาการนาน 3 ปีขยับเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการศึกษา ไปเป็นรองจเรตำรวจ ก่อนก้าวขึ้นผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ

ปี 2542 เลื่อนเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ แล้วโยกไปเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ด้านปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบและยาเสพติด (เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน 10 ระดับ 10) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2545 และได้รับพระราชทานยศตำรวจเป็นกรณีพิเศษเป็น พล.ต.อ.ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน

หลังจากเกษียณอายุราชการได้ 3 ปี พล.ต.อ.ดรุณ ถูกเสนอชื่อเข้าไปเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ด้วยสำนึกที่ว่า การทุจริตในวงราชการเป็นปัญหาใหญ่ ดุจดั่งมะเร็งร้ายในสังคม การคอร์รัปชันเป็นปัญหาที่ทำให้การพัฒนาประเทศล่าช้า เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง ทำให้รัฐบาลต้องประกาศเป็นนโยบายสำคัญและเป็นวาระแห่งชาติ ตัวเขาจึงเลือกลงสมัครเป็นกรรมการเพื่อหวังใช้วิชา และประสบการณ์ในด้านการสอบสวน การดำเนินคดีชั้นอัยการและศาลไปทำงานด้านนี้

 “ผมรักอาชีพตำรวจ เหมือนกับมันอยู่ในใจของผม แม้ช่วงที่โอนกลับมาเป็นตำรวจอีกครั้งจะถูกตำรวจหลายนายคัดค้านการกลับมาของผม ตามกฎของสังคมมนุษย์ที่เมื่อมีคนรักก็ต้องมีคนเกลียด แต่ผมก็เอาตัวรอดมาได้ พร้อมกับเริ่มมีแนวคิดว่า อยากทำให้กรมตำรวจมีศักยภาพมากขึ้น นำเอาประสบการณ์ที่เคยปฏิบัติหน้าที่และการศึกษาในทางวิชาการไปจัดทำโครงการมากมาย พล.ต.อ.ดรุณว่า

เจ้าตัวยังให้ความสำคัญเรื่องสิทธิเสรีภาพของเด็กและสตรีนำไปสู้จุดเริ่มต้นของตำแหน่ง “พนักงานสอบสวนหญิง” ในเมืองไทยไว้รองรับทำคดีที่เกี่ยวกับเด็กและสตรีโดยเฉพาะ

สมัยก่อนปัญหาที่เกิดขึ้นมีเยอะ ตำรวจกลับทำตัวเหมือนเทวดา ใครก็กลัวตำรวจ บอกเด็กเล็ก ๆ ที่ร้องไห้งอแงว่าให้หยุด เดี๋ยวจะเรียกตำรวจมาจับ เด็กมันยังหยุด ทั้งที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่า ตำรวจคือ อะไร ตำรวจก็จะอาศัยตรงนี้ทำงาน ทำง่าย ๆ ไม่ใส่ใจอะไร การสอบสวนจึงไม่ถูกต้อง ไม่เป็นไปตามกฎหมาย เช่น กุญแจมือ กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า ไม่ให้ใช้ เนื่องจากเป็นเครื่องพันธนาการ อนุญาตให้ใช้ตามควรแก่พฤติการณ์ แต่เวลาไปจับผู้ต้องหาที่ไม่ได้หนี ไม่มีพฤติการณ์จะหลบหนี แล้วเอากุญแจมือไปใส่เขาได้อย่างไร มันไม่ถูก ชาวบ้านก็เดือดร้อน 

นี่แหละคือ อีกตำนานนายพลมือสอบสวนผู้ลาลับ

พล.ต.อ.ดรุณ โสตถิพันธุ์

 

RELATED ARTICLES