ผ่าเส้นทาง 5 รองแม่ทัพลุ้นขยับนั่งผู้นำปี 2563

สู่ปีใหม่ เริ่มต้นพุทธศักราช 2563

นับถอยหลังระยะเวลานั่งเก้าอี้แม่ทัพสีกากีของ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่เหลือเวลาเพียง 9 เดือน หรือประมาณ 270 กว่าวัน

หากไม่มีอะไรพลิกผัน เช่นเหตุการณ์ “ฟ้าผ่า” ทุ่งปทุมวัน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา จะได้ชื่อเป็น “พิทักษ์ 1” นานที่สุดในประวัติศาสตร์เป็นระยะเวลา 5 ปี ของยุคปรับโครงสร้างจาก “กรมตำรวจ” เป็น “สำนักงานตำรวจแห่งชาติ”   

ทำลาย “อาถรรพณ์เก้าอี้แม่เหล็ก” ที่มักจะเจออุบัติเหตุจากพิษมรสุมอำนาจการเมืองเล่นงาน “คว่ำกระดาน” ร่วงจากตำแหน่ง

ส่วนใครที่จะก้าวขึ้นมาเป็น “ผู้นำทัพแทน” แม้จะเหลือเวลาพิจารณาแต่งตั้งประมาณเดือนสิงหาคม แต่มีการกะเก็ง “ตัวเต็ง” แคนดิเดตกันทั่วสำนักปทุมวัน

นับจากอายุราชการที่เหลือของ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและจเรตำรวจแห่งชาติ มีคู่แข่งกันเพียง 5 คนได้สิทธิลุ้นปลามันขึ้นปลายยอดสูงสุดบนบัลลังก์ตราโล่เงิน

อาวุโสต่ำสุด ทว่าถูกคาดหมายเป็น “เต็งจ๋า” มากกว่าใคร ไม่พ้น พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่เกษียณอายุราชการปี 2565

เขาเกิดเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2504 ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ลูกชาย พ.อ.วีร์ แจงยอดสุข สำเร็จการศึกษาตอนต้นโรงเรียนเซนต์หลุยส์ จังหวัดฉะเชิงเทรา ไปเข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 20 โรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 แถมมีดีกรีปริญญาโทสาขาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผ่านหลักสูตรสำนักงานสอบสวนกลาง ประเทศสหรัฐอเมริกา รุ่น 206

รับราชการตำแหน่งสำคัญ อาทิ นายเวร พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ สมัยเป็นผู้บังคับการกองพลาธิการ สารวัตรสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรปราการ โยกกลับเป็นนายเวรหัวหน้าฝ่ายอำนวยการกรมตำรวจ เป็นสารวัตรป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลหนองแขม รองผู้กำกับการข่าว กองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

ขยับเป็นรองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 2   ขึ้นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 7 เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 1 รองผู้บังคับการตำรวจจราจร รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 7

ขึ้นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 ข้ามหน่วยเป็นผู้บังคับการกองวิจัย ย้ายเป็นผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 3 รองผู้บัญชาการสำนักงานยุทธศาสตร์ตำรวจ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เลื่อนเป็นผู้บัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562

ส่วน “เต็งสอง” ที่โดนจับตามองอาจมา ขัดตาทัพ เพียงปีเดียวอย่าง พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก เกษียณอายุราชการปี 2564

เกิดเมื่อวันที่ 8  กรกฎาคม 2504 ที่จังหวัดเพชรบุรี สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 38 พ่วงปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เริ่มต้นรับราชการตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ รองสารวัตรจราจร สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 รองสารวัตรแผนกทะเบียนประวัติ กองบัญชาการศึกษา ขึ้นสารวัตรงาน 1 กองกำกับการ 2 กองทะเบียนประวัติอาชญากร เป็นสารวัตรด่านตรวจคนเข้าเมืองท่าเรือกรุงเทพ รองผู้กำกับการฝ่ายปฏิบัติการที่ 2 ส่วนปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบในวงราชการ

ขยับเป็นผู้ช่วยนายเวร พล.ต.อ.สันต์ ศรุตานนท์ ขณะเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และตามเป็นนายเวรตอนผู้เป็นนายนั่งแม่ทัพ จากนั้นลงเป็นรองผู้บังคับการตำรวจท่องเที่ยว ติดยศ “นายพล” ตำแหน่งเลขานุการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้บังคับการสืบสวนสอบสวนสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ขึ้นรองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 7 ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแหงชาติ และดำรงตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562

ขณะที่ “เต็งสาม” และ “เต็งสี่” คู่คี่กัน แถมเกษียณอายุราชการ 2565 พร้อมกันด้วย แต่หากวัดคะแนนสำรวจตำรวจส่วนใหญ่ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ ย่อมมีราคามากกว่า พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา  

ประวัติ พล.ต.อ.สุชาติ ธีระสวัสดิ์ เกิดเมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2504 ที่กรุงเทพมหานคร เป็นลูกชายคนเล็กในบรรดาพี่น้อง 3 คนของ พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ อธิบดีอธิบดีกรมตำรวจ เรียบจบมัธยมปลายโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ไปเข้าโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 36 มีวุฒิปริญญาโทสังคมศาสตร์ สาขาอาชญาวิทยาและงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยมหิดล

ติดยศ ร.ต.ต.ตำแหน่ง รองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรเมืองนครศรีธรรมราช เป็นรองสารวัตรแผนก 2 กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4 เป็นรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลบางซื่อ ขยับเป็นนายเวรผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ นายเวรผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ก่อนลงเป็นสารวัตรแผนก 2 กองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือ โยกขึ้นรองผู้กำกับการ 4 กองบังคับการปราบปราม

เป็นผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 3 ผู้กำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล 6 ผู้กำกับการอำนวยการ กองบังคับการตำรวจนครบาล 3 รองผู้บังคับการตำรวจดับเพลิง รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 7 รองผู้บังคับการตำรวจทางหลวง รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดลำพูน

ขึ้นผู้บังคับการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ทำหน้าที่หัวหน้าฝ่ายอำนวยการประจำผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ) แล้วลงเป็นผู้บังคับการศูนย์ฝึกอบรมตำรวจภูธรภาค 3 ผู้บังคับการกองตรวจราชการ 3 รองจเรตำรวจ ย้ายเป็นรองผู้บัญชาการศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นผู้บัญชาการสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ทำหน้าที่นายตำรวจประสานงานสำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงกลาโหม) เป็นจเรตำรวจปีเดียวโยกนั่งผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ติดยศ พล.ต.อ.ตำแหน่ง ที่ปรึกษา (สัญญาบัตร10) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559 และย้ายเป็นจเรตำรวจแห่งชาติในปีต่อมา ทำหน้าที่อยู่ 2 ปีถึงได้สิทธินั่งเก้าอี้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ส่วน พล.ต.อ.วิระชัย ทรงเมตตา เดิมชื่อ “สุวิระ” นามสกุลเดิม “เผือกบางนา” ชาวจังหวัดสมุทรปราการ เกิดวันที่ 19 ตุลาคม 2504   จบมัธยมต้นโรงเรียนบางพลีราษฎร์บำรุง มัธยมปลายโรงเรียนอัสสัมชัญศรีราชา ไปต่อโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 37 มีดีกรีรัฐประศาสนศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาเอก สาขาบริหารการพัฒนา คณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และปริญญาเอก สาขาสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

เริ่มรับราชการตำแหน่งรองสารวัตรสถานีตำรวจภูธรอำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ รองสารวัตรสถานีตำรวจภูธรตำบลสำโรงใต้ จังหวัดสมุทรปราการ รองสารวัตรแผนกวินัย ตำรวจภูธรภาค 1 ขึ้นสารวัตรสอบสวนตำรวจภูธรจังหวัดสระบุรี นายเวรผู้บัญชาการประจำกรมตำรวจ(ทำหน้าที่สภาความมั่นคง) เป็นสารวัตรงาน 5 กองกำกับการ 3 กองสารนิเทศ จากนั้นเข้าเป็นอาจารย์ภาควิชาบริหารงานตำรวจ สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจนาน 7 ปีออกมาเป็นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรภาค 1

ขึ้นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดตราด ก่อนกลับถิ่นเกิดเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสมุทรปราการ เป็นผู้บังคับการตำรวจทางหลวง เลื่อนเป็นรองผู้บัญชาการประจำสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 4 รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 2  รองผู้บัญชาการโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เป็นผู้บัญชาการศึกษา ขึ้นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ติด “พล.ต.อ.” ตำแหน่งที่ปรึกษา (สัญญาบัตร10) เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2559   และโยกเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปีถัดมา

สำหรับตัวเลือก “คนสุดท้าย” ได้สิทธิเช่นกัน เพราะเกษียณอายุราชการ 2564 แม้โอกาสอาจริบหรี่เมื่อเทียบเท่า 4 คนแรก ชื่อของ พล.ต.อ.ชนสิษฎ์ วัฒนวรางกูร ถึงไม่ได้ถูกจับตามากนัก

เขาเป็นลูกชาย พล.ต.อ.สนอง วัฒนวรางกูร อดีตอธิบดีกรมตำรวจ เกิดเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2504 ไม่ได้จบโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เคยรับตำแหน่งสำคัญ อาทิ สารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 สารวัตรงาน 1 กองกำกับการ 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ รองผู้กำกับการ 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ

เป็นผู้กำกับการ 1 กองบังคับการสืบสวนสอบสวนคดีเศรษฐกิจ ผู้กำกับการ 1 กองบังคับการปราบปราม รองผู้บังคับการกองปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รองผู้บังคับการปราบปราม ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสงขลา ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต ผู้บังคับการกองตรวจราชการ 9 จเรตำรวจ รองผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล

ต่อมาขึ้นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 6 โยกเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 เป็นรองจเรตำรวจแห่งชาติ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และดำรงตำแหน่งจเรตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2562

ท้ายที่สุดใครจะ “ชิงดำ” เข้าวินก้าวขึ้นตำแหน่งแม่ทัพสีกากีคนต่อไป

ขอเตือนสติไว้ว่า อะไรก็เกิดขึ้นได้ในยุทธจักรสีกากีเมืองไทยแห่งนี้

RELATED ARTICLES