ปฐมเหตุปัญหาของนักสืบ

พล.ต.ต.ปรีชา ธิมามนตรี อดีตรองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตำนานนักสืบรุ่นใหญ่ เคยทำเอกสารศึกษาเรื่อง การพัฒนาระบบศูนย์ปฏิบัติการสั่งการและควบคุม สำหรับการสืบสวนคดีอาชญากรรม [ Command and Control Operations Center (CCOC)]

กรณีศึกษาของศูนย์สืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ระหว่างที่ตัวเองเป็น รองผู้บังคับการหัวหน้าศูนย์สืบสวนกองบัญชาการตำรวจนครบาล ผู้นำหน่วยคนแรก ที่ทุ่มเทก่อร่างทำโครงสร้างมากับมือ

ว่าด้วยปัญหาของงานสืบสวน

เอกสารศึกษาฉบับนี้เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหลักสูตรบริหารงานตำรวจชั้นสูงรุ่น 26 สถาบันพัฒนาข้าราชการ กองบัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2549

ผ่านมา 14 ปี นำเอา “ปัดฝุ่น” เผยแพร่บางส่วนน่าจะยังคงสภาพความเป็นจริงในยุคปัจจุบัน

ความเป็นจริงที่ “งานสืบสวน” เป็นปัญหา “เรื้อรัง”ไม่ต่างงานสอบสวน

จากปัจจัยหลายด้านที่ทำให้งานสืบสวนของสำนักงานตำรวจแห่งชาติด้อยลงไป

ปฐมเหตุ “นักสืบขาดแคลน” พล.ต.ต.ปรีชาพบข้อมูลว่า ขาดกำลังใจ เพราะไม่มีความก้าวหน้า เห็นได้จากสถิติของกำลังพล สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อกุมภาพันธ์ 2549 ตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนทั่วประเทศ 2,527 ตำแหน่ง ครองตำแหน่งเพียง 1,050 ตำแหน่ง คิดเป็น 41 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น

ยังไม่รวมถึงที่ว่า ครองตำแหน่งอยู่มีความรู้ความสามารถในการสืบสวนจับกุมคนร้ายได้เพียงใด

เป็นธุรการจำนวนเท่าใด

เมื่อเทียบกับประชาชนทั่วประเทศเป็นไปได้หรือไม่ที่จะช่วยประชาชนเมื่อทุกข์ร้อนจากภัยอาชญากรรมได้ทั่วถึง

ปัจจัยต่อมาเป็นเรื่อง “นักสืบขาดความรู้” คุณธรรม จริยธรรม ตลอดจนความรู้ด้านนิติวิทยาศาสตร์ กฎหมาย การฝึกอบรมเท่านั้นจะช่วยได้อย่างมาก แต่กลับงานงบประมาณการฝึกอบรม หรือไม่ก็เป็นลักษณะอบรมแบบล้าสมัย

ผู้บรรยาย  1 คนต่อผู้เข้ารับการอบรมนับร้อยคน

เอกสารศึกษาของปรมาจารย์ยอดนักสืบระบุอีกว่า “ระบบงาน”  เป็นอีกปัจจัย เพราะนักสืบสมัยใหม่ต้องทำงานเป็นทีม ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบันหลายหน่วยยังคงใช้รูปแบบเดิม เน้นความสามารถตัวบุคคลแบบเฉพาะตัว

ไม่สามารถทำงานเป็นทีมได้

ชอบโอ้อวด ขี้คุย วางอำนาจ เน้นความรุนแรง มีความรู้เรื่องกระบวนการยุติธรรมน้อย มักจะกลายเป็นนักสืบที่เห็นแก่ตัว ชอบเก็บแฟ้มข้อมูลไว้คนเดียว

ถึงแม้ว่าจะย้ายไปแล้วก็ตาม ทำให้ผู้มาทีหลังทำงานต่อเนื่องไม่ได้

“งบประมาณและเครื่องมือ” การบริหารงานนักสืบภายใต้ทรัพยากรอันจำกัด ถือเป็น หลักนิยม ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและเลยถึงอนาคต หลายอย่างในขณะนี้ไม่สามารถเทียบชั้นได้เท่ากับนักสืบเอกชน

ขณะเดียวกัน “ผู้บังคับบัญชา” อันตรายอย่างยิ่งสำหรับนักสืบ

การมีผู้บังคับบัญชาที่ขาดความรู้ความสามารถและประสบการณ์งานสืบสวน บ้างแนะนำให้สืบสวนผิดวิธี เช่น ให้ไปอุ้มผู้ต้องสงสัยเพื่อรีดเอาความจริง ไม่ก็ใช้ให้ไปก่อคดี ไม่มีวิสัยทัศน์หรือสนับสนุนงบประมาณ เครื่องมือ

ตลอดจนเมื่อเกิดปัญหา นอกจากไม่ช่วยแล้วยังเหยียบย่ำผู้ปฏิบัติ เมื่อทำคดีที่ผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เป็นผู้ต้องสงสัยกลับทิ้งนักสืบให้โดดเดี่ยว

รับชอบ แต่ไม่รับผิด

เรื่อง “ระเบียบและข้อกฎหมาย” ไม่อำนวยให้เกิดการจับกุมอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ไม่มีกฎหมายการดักฟัง (เว้นแต่คดียาเสพติดที่มีกฎหมายคุ้มครอง) หรือสามารถเข้าร่วมกระทำผิดได้ ระเบียบการรายงานความคืบหน้าคดีหลายเรื่องไม่สามารถรายงานทางเปิดเผยได้

พล.ต.ต.ปรีชายังศึกษาพบว่า “ผู้มีอิทธิพล นักการเมือง หรือข้าราชการชั้นผู้ใหญ่” ที่มีส่วนได้เสียเข้ามาแทรกแซงการทำงานจนไม่สามารถเดินงานด้วยตัวเอง

ผลสุดท้ายต้องทิ้งคดีหรือไม่ก็ขอย้ายหรือถูกย้ายไปที่อื่น

“อายุงาน” หากเป็นรองสารวัตรที่ไม่มีประสบการณ์การสืบสวน ผ่านหลักสูตรสืบสวนคดีอาญา สถาบันพัฒนาข้าราชการตำรวจ 4 เดือน ต้องออกไปทำงานต่อเนื่องอีกอย่างน้อย 4 ปีจึงจะสามารถทำงานที่พึ่งตนเองและคนอื่นพึ่งได้

อีกปัจจัยแวดล้อมใกล้ตัว คือ “ครอบครัว” จะมีโจรผู้ร้ายสักเท่าใดที่ให้จับกุมในเวลาราชการ คนร้ายกินนอน เที่ยว ทำงาน นั่นแหละ คือ เวลาทำงานของนักสืบที่จะติดตาม “ล่าตัว”  การใช้ชีวิตสวนทางกับธรรมชาติของคนทั่วไป

ทำให้ชีวิตของนักสืบหลายคนต้องประสบปัญหาความล้มเหลวเรื่องครอบครัวจนเกิดการหย่าร้าง บุตรธิดาของบางคนต้องกลายเป็นคนร้ายเสียเอง เพราะนักสืบไม่มีเวลาให้ครอบครัว

“ค่าตอบแทน” ความจริงที่ห้ามปฏิเสธ เมื่อต้องใช้งบเงินเดือนตัวเอง หรือจากครอบครัวมาสนับสนุนการทำงาน ความดีความชอบที่ควรจะได้รับกลับถูกทอดทิ้ง รวมถึง เงินรางวัล ถูกจัดสรรไม่เป็นธรรม

“บุคลิกภาพ” เมื่อทำงานอย่างลับ ๆ เป็นเวลานาน ชีวิตจะค่อนข้างเป็นคนโดดเดี่ยว ไม่กล้าเข้าสังคมทั่วไปอย่างเปิดเผย กลายเป็นคนเก็บตัว คุณภาพชีวิตอยู่แบบเรียบง่าย เข้าใจวิถีชีวิตของคนในสังคมได้ทุกระดับ เห็นอกเห็นใจ ช่วยคนเดือดร้อนได้

แต่มักจะเป็นคนที่แนะนำตัวเองในทางที่ดีให้ผู้อื่นรู้ไม่เป็น

สุดท้ายเป็น “สุขภาพ” เหตุจากการทำงานด้วยความเครียดอย่างต่อเนื่อง ส่วนใหญ่ต้องคลุกคลีกับผู้คนทุกระดับทำให้ร่างกายขาดการออกกำลัง นานวันหลายโรคเข้ารุมเร้า ส่วนใหญ่จะประสบปัญหาเกี่ยวกับโรคความดัน หัวใจ เบาหวาน หรือมะเร็ง

เนื่องจากงานสืบสวนเป็นงานที่ต้องใช้ทั้งร่างกายและจิตใจอย่างหนัก

หลายคนมีชีวิตไม่ยืนยาวหลังเกษียณอายุราชการ

เมื่อเวลาผ่านไป 14 ปี ปัญหางานสืบสวนเปลี่ยนแปลง ปรับปรุง แก้ไขมากน้อยแค่ไหน ลองถาม “หัวใจนักสืบพันธุ์แท้” กันเอาเอง

 

RELATED ARTICLES