ทุกวันนี้สรุปเอาเองทั้งนั้น

ปั่นไปปั่นมาจนกลายเป็นประเด็นปริศนาที่ยังหาบทสรุปไม่เจอ

ผ่านระยะเวลาไปเกินกว่า 2 เดือนแล้ว การตายของ น้องชมพู่” เด็กหญิงวัย  3 ปี ที่หายไปจากบ้านกกกอก ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2563 กระทั่งพบเป็นศพในวันที่ 14 พฤษภาคม 2563

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ นำทีมสืบสวนจากส่วนกลางชุดใหญ่ลงไปช่วยตำรวจภูธรคลายปมคดีในเวลาต่อมา

แต่ความยุ่งยากและยุ่งเหยิงเป็นส่วนหนึ่งทำเอาทีมนักสืบมากประสบการณ์คดีสำคัญ “พลิกตำรา”แก้ปัญหาคาใจไม่ขาด

สังคม “มโนโซเชียล” ประโคมข่าวกันแตกประเด็นมากมาย

ความเสียหายไม่ได้อยู่แค่พยานหลักฐานในสถานที่เกิดเหตุ ยังรวมไปถึงความวุ่นวายจากบุคคลไม่เกี่ยวข้องผสมโรงออกแสดงความเห็นกันจนปั่นป่วน

คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน สภาผู้แทนราษฎร ต้องเชิญ พล.ต.อ. สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ในฐานะที่เป็นหัวหน้าทีมสืบสวนเพื่อชี้แจงข้อเท็จจริง

เจ้าตัวยอมรับมีการเรียกผู้เกี่ยวข้องไปซักถามว่า 900   คน แต่ไม่ได้เอาเป็นพยานทั้งหมด มีเพียง 63 รายที่ถูกบันทึกปากคำอยู่ในสำนวน เช่นเดียวกับการเก็บวัตถุพยานเพื่อนำไปเปรียบเทียบ “ดีเอ็นเอ” ผู้ต้องสงสัยที่เข้าไปในพื้นที่เกิดเหตุ

“ตำรวจทำงานตามพยานหลักฐานชัดเจน ไม่ใช่ทำตามกระแสข่าว” พล.ต.อ.สุวัฒน์ยืนยัน

ระบุเหตุผลด้วยว่า ที่ต้องผ่าชันสูตรศพถึง 3 ครั้งจากแพทย์นิติเวชโรงพยาบาลดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร โรงพยาบาลอุบลราชธานี และโรงพยาบาลตำรวจ เพื่อพิสูจน์ข้อสันนิษฐานไปเป็นคำตอบของข้อเท็จจริง

ถึงสาเหตุการเสียชีวิตของเด็ก   

นิติวิทยาศาสตร์ไม่ได้แปลว่า มีแค่นี้แล้วจะลงโทษใครได้ เราทำงาน ไม่ได้ทำเพื่อจะจับใคร เราทำเพื่อหวังผลในการดำเนินคดีในชั้นศาล การสืบสวนไม่ได้มองว่า แพ้หรือชนะในคดี เราจะระมัดระวังเรื่องพวกนี้มาก เพราะหากตำรวจแพ้มักถูกบอกว่าจับแพะ ต้องดูทุกอย่างประกอบกัน ต้องดูทั้งเหตุและผล”

รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติย้ำว่า ไม่ได้ทำอะไรนอกอำนาจหน้าที่ ตำรวจทำตามกฎหมาย หวังพิสูจน์ความจริง

ถึงวันหนึ่ง ไม่ได้ก็ต้องไม่ได้

“การสืบสวนสอบสวนไม่จำเป็นต้องจับผู้ร้ายได้ทุกเรื่อง ตำรวจไม่ได้มีความกดดัน การที่จับผู้ร้ายไม่ได้ เป็นเรื่องปกติ สามารถพักสอบได้ แต่ต้องทำหน้าที่ให้ดีที่สุด”

การเก็บดีเอ็นเอของคนในหมู่บ้าน พล.ต.อ.สุวัฒน์บอกว่า เพื่อเป็นการพิสูจน์ความบริสุทธิ์ ไม่เคยใช้คำว่า ผู้ต้องสงสัย แต่ตรวจเพื่อให้คลายข้อสงสัย และเดินไปตามกรอบของกฎหมาย

ทุกอย่างต้องฟังด้วยวิจารณญาณ อย่าด่วนสรุป

“ทุกวันนี้สรุปเอาเองทั้งนั้น” นายพลตำรวจเอกมือสืบสวนรุ่นใหญ่ทิ้งท้าย

RELATED ARTICLES