การกลับมาของด่านเมา-ด่านความเร็ว

นโยบาย “เซ็ตซีโร่” ด่านตรวจทั่วประเทศตามคำสั่ง “ประกาศิต” ของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ต้องการให้ทบทวนกระบวนการทำงานไม่ต้องตกเป็น “ข้อครหา” จากชาวบ้านในเรื่องความโปร่งใส

หลังจากได้รับการร้องเรียนถึงพฤติกรรม “ทำยอด-ตีเงิน-ปรับสด” กันมือเติบ

ผ่านเพียงเดือนเดียวหลายหน่วยเริ่มขยับกรอบในภารกิจ “ตั้งด่านตรวจ” ประกวดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีมาตรฐานสากล

“อดรนทนกันไม่ได้ เหมือนรายได้ขาดหายไปอย่างนั้นหรือเปล่า” คำถามจากชาวบ้านหลายคนเริ่มสะท้อนถึงเหล่าหัวปิงปองตามท้องถนนหลวง

เริ่มต้น “จ่อสตาร์ต” ประเดิมใจกลางเมืองหลวง ถึงขนาดระดมนายตำรวจชั้นผู้ใหญ่ไปเป็นสักขีพยานที่โรงพักทองหล่อ

พล.ต.อ.มนู เมฆหมอก รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ทะมัดทะแมงสีหน้าจริงจัง นั่งชมโครงการจำลองตั้งด่านตรวจยุคใหม่เพื่อให้ไร้ข้อครหา เคียงข้าง  พล.ต.ท.ภัคพงศ์ พงษ์เภตรา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต. ปิยะ ต๊ะวิชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล  พล.ต.ต.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.จิรสันต์ แก้วแสงเอก รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.สหรัฐ ศักดิ์ศิลปชัย รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และ พล.ต.ต.โสภณ สารพัฒน์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 5

เชิญคณะกรรมาธิการการตำรวจ สภาผู้แทนราษฎร ยกโขยงกันมาร่วมชม อลังการงานสร้าง ด่านตรวจขนาดใหญ่

มีความยาวทั้งสิ้น 20 เมตร ระดมเจ้าหน้าที่ตำรวจ 12 นาย

วางป้ายไฟแจ้งเตือนข้างหน้ามีการตั้งจุดตรวจ ก่อนถึงตัวด่านประมาณ 150 เมตร ป้ายไฟ “หยุดตรวจ” กรวยจราจร แท่งไฟ  กล้องวงจรปิด 4 ตัว บันทึกข้อมูลอยู่ตลอดเวลา

ตั้งแต่ก่อนเข้าจุดตรวจจนถึงโต๊ะตรวจวัดแอลกอฮอล์

ถึงกระนั้นยังมีแผนของด่านตรวจ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง รวมอยู่ด้วย

ด่านตรวจทุกขนาดต้องมีกล้องวงจรปิดบันทึกเหตุการณ์เพื่อความโปร่งใสตลอดเวลา ทั้งตำรวจและประชาชนสามารถตรวจสอบกันเองได้

การสาธิตจำลองเหตุการณ์ ประกอบด้วย กรณีที่มีรถขับเข้ามาในจุดตรวจตามปกติ ตำรวจจะเรียกให้หยุดและสอบถามพร้อมตรวจใบขับขี่ หากไม่พบพิรุธก็จะปล่อยไป

กรณีที่รถขับเข้าด่านตรวจและมีอาการมึนเมา ตำรวจจะสังเกตด้วยสายตา หากเข้าข่ายมึนเมาจะให้นำรถเข้าจุดตรวจ พร้อมแจ้งสิทธิหากผู้ขับขี่ไม่ยอมเป่าจะมีความผิด สันนิษฐานว่า มีการดื่มสุรา และใช้การเจรจาพร้อมบันทึกภาพตลอดเวลา

จากนั้นจะนำผู้ขับขี่ไปตรวจวัดแอลกอฮอล์โดยจะต้องเปลี่ยนเข็มเป่าต่อหน้าผู้ขับขี่ตลอดทุกครั้งที่ตรวจวัด

กรณีที่มีรถขับเข้ามาที่ด่านตรวจ คนขับมีอาการมึนเมาและก่อความวุ่นวาย ตำรวจประจำด่านจะพาผู้ขับขี่ตรวจค้นรถ ตรวจประวัติอาชญากรรม หากพบว่า มีจะจับกุมดำเนินคดี

รวมถึงกรณีที่มีสายลับแจ้งว่ารถต้องสงสัยขนยาเสพติดเข้ามาในพื้นที่จะมีการปิดกั้นกันหลบหนีและเรียกตรวจ โดยจะตรวจสอบแผ่นป้ายทะเบียน ตรวจประวัติอาชญากรรมก่อนดำเนินการตามขั้นตอน

การตั้งจุดตรวจต้องได้รับอนุมัติจากผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับผู้บังคับการขึ้นไป มีแผนการปฏิบัติที่ชัดเจน จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ต้องมีป้ายแสดงถึงมาตรฐานการตรวจวัดแอลกอฮอล์ ตั้งไว้ตรงบริเวณใกล้โต๊ะตรวจวัดแอลกอฮอล์ ในลักษณะที่ผู้รับการตรวจวัดมองเห็นได้ชัดเจน

การกำหนดสถานที่ตั้ง จุดตรวจวัดแอลกอฮอล์ ต้องกำหนดมาจากข้อมูลผู้กระทำความผิดเมาแล้วขับในเขตพื้นที่ สถิติการเกิดอุบัติเหตุ สาเหตุมาจากเมาแล้วขับ สภาพพื้นที่มีความเสี่ยงต่อการกระทำความผิดเมาแล้วขับ

มีสถานบริการ สถานที่จำหน่ายสุราละแวกบริเวณจุดตรวจ

ส่วน พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ยอมรับว่า จุดอ่อนของตำรวจในสังกัด คือ กองบังคับการตำรวจทางหลวง ที่ต้องตั้งด่านตรวจและสัมผัสกับประชาชนทำให้เกิดความไม่พอใจ เนื่องจากการ “เขียนใบสั่ง” หน้าตู้บริการหรือจุดบริการทางหลวง

ต่างกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่สร้างผลงานการจับกุมคนร้าย และช่วยเหลือประชาชนจนเป็นจุดแข็งของหน่วย

เจ้าตัวได้เรียก พล.ต.ต.เอกราช ลิ้มสังกาศ ผู้บังคับการทางหลวง มาร่วมหารือปรับแนวทางการทำงานเกี่ยวกับการตั้งด่านตรวจให้สอดคล้องกับนโยบาย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

“ตำรวจทางหลวงต้องไม่มีการปรับเงินสดอีกต่อไป เพื่อป้องกันการยัดเงินตำรวจ” พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ย้ำนโยบาย  

ตำรวจทางหลวงที่หน้าจุดตรวจให้ออกใบสั่งเพียงอย่างเดียว เพื่อไปจ่ายค่าปรับบริเวณจุดเปรียบเทียบปรับข้างหน้าประมาณ 2 กิโลเมตรและจะมีการติดตั้งกล้องวงจรปิดอย่างน้อย 3 ตัว

เมื่อประชาชนถือใบสั่งเข้ามาจะเข้าสู่กระบวน-การตรวจสอบประวัติตามระบบหมายจับ จากนั้นจะให้ตำรวจอธิบายข้อหาที่กระทำความผิด อาทิ ขับรถเร็ว เปลี่ยนช่องทาง ฝ่าฝืนเครื่องหมายหรือข้อหาอื่น ๆ        หากเป็นการกระทำความผิดครั้งแรกให้ “ว่ากล่าวตักเตือน” พร้อมกับจัดเก็บข้อมูลไว้

 ไม่ใช่จ้องจะเปรียบเทียบปรับแต่อย่างเดียว

ถ้าพบทำผิดซ้ำครั้งที่สองจึงจะดำเนินการตามขั้นตอน

การเซ็ตซีโร่ด่านตรวจของตำรวจทางหลวงทั่วประเทศ บริเวณพื้นที่บริเวณที่เสียค่าปรับ นอกจากมีตำรวจในเครื่องแบบแล้วจะให้มีนักศึกษาฝึกงานเข้ามาร่วมปฏิบัติหน้าที่ด้วยเพื่อรองรับอารมณ์ของผู้กระทำผิดลดแรงปะทะคารมกับตำรวจ

สุดท้ายให้พิจารณาจุดตั้งด่านใหม่ คำนึงถึงองค์ประกอบของจุดที่จำเป็นต้องมีด่านตรวจ

ไม่ใช่ ไปตั้งมั่ว ต้องอธิบายประชาชนได้ถึงเหตุผล เช่น ตั้งตรงจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด อันตรายที่สุด หรือเขตโรงเรียน เขตชุมชน เพื่อให้ผู้ขับขี่ชะลอความเร็ว

สรุปแล้วขึ้นอยู่กับแรงสะท้อนกลับจากชาวบ้านผู้ใช้รถใช้ถนน

ดีหรือไม่ดี “คำตอบ” ล้วนมีอยู่ในใจทุกคน

 

RELATED ARTICLES