การระรานทางไซเบอร์

โลกที่เปลี่ยนแปลงไปแบบไร้ขอบเขต ไร้การควบคุม

ย่อมเกิดผลกระทบต่อผู้ตกเป็นเหยื่อของ ซากน้ำลายบนแป้นคีย์บอร์ด ขาดความรับผิดชอบในการกระทำของผู้ที่อยู่เบื้องหลังระบายอารมณ์สาดโคลนใส่ไฟ

คือ การระรานทางไซเบอร์ (Cyberbullying)

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองผู้บังคับการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในฐานะโฆษกของหน่วยอธิบายว่า การใช้เเพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย หรือสื่อออนไลน์ ในปัจจุบันทุกคนสามารถเข้าถึงได้ เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันของทุกคนไปแล้ว

หากใช้อย่างถูกต้องก็จะก่อให้เกิดประโยชน์มากมาย

ในทางกลับกันหากใช้ในทางไม่ถูกต้องก็จะก่อให้เกิดผลร้ายตามมามากเช่นกัน

“ยกตัวอย่างการระรานทางไซเบอร์ หรือ Cyberbullying หมายถึง การกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง หรือการรังแกผู้อื่นทางสื่อสังคมต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เป็นต้น” พ.ต.อ.กฤษณะว่า

เจ้าตัวขยายความต่อว่า การระรานทางไซเบอร์ นอกจากจะส่งผลร้ายในด้านของจิตใจ ยังอาจส่งผลต่อร่างกายของผู้ที่ถูกกระทำแล้ว ผู้ที่กระทำความผิดก็อาจจะถูกดำเนินคดีในหลายข้อหา เช่น ความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ความผิดฐานนำเข้าข้อมูลที่บิดเบือนหรือเป็นเท็จ ตามพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์

ในส่วนของผู้ที่ชักชวนให้ผู้อื่นมาร่วมกระทำความผิดอาจจะมีความผิดฐานโฆษณา หรือประกาศให้บุคคลทั่วไปกระทำความผิด หรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง

“ในฐานความผิดดังกล่าวเป็นความผิดต่อส่วนตัว หากต้องการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจดำเนินคดี ผู้เสียหายจะต้องมาร้องทุกข์กับพนักงานสอบสวนให้ดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด”

ที่ผ่านมา พ.ต.อ.กฤษณะยืนยันว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินคดีกับผู้ที่กระทำความผิดในลักษณะเช่นนี้มาแล้วหลายราย

โฆษกกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีทิ้งท้ายฝากประชาสัมพันธ์ถึงประชาชนทุกคนให้ใช้สื่อสังคมออนไลน์อย่างมีสติ

“หากพบเห็นการระรานทางไซเบอร์ อย่าแชร์ต่อ อย่าคอมเมนต์ อย่าไปยุ่งเกี่ยวไม่ว่าจะทางใด เพื่อให้ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันปัญหา” พ.ต.อ.กฤษณะระบุ

แล้วจะทำให้สังคมออนไลน์เป็นสังคมที่น่าอยู่มากยิ่งขึ้น

RELATED ARTICLES