ระวังภัยในเมือง

 

ประสิทธิภาพนำไปสู่ประสิทธิผลปิดแฟ้มคดียิงหนังสติ๊กป่วนกรุง

ฉากประสบความสำเร็จเบื้องหลังการแกะรอยสืบสวนของ พ.ต.อ.ภูริส จินตรานันท์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลสุทธิสาร

ส่วนหนึ่งมาจากการนั่งวิเคราะห์ข้อมูลของ กล้องวงจรปิด บริเวณละแวกเกิดเหตุเป็นเวลาหลายวัน

ตามโครงการ “กล้องซีซีทีวี ระวังภัยในเมือง” ของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่มองการณ์ไกล

“ตัวช่วย” ยุคเทคโนโลยีล้ำสมัยที่ทำคนร้ายจนมุมมาแล้วหลายคดี

“เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย ดูแลประชาชน อำนวยความยุติธรรมให้กับสังคมจะส่งผลให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้บรรลุเป้าหมาย” คำกล่าวของ “แม่ทัพสีกากี” ในวันมอบนโยบายวันที่ 2 ตุลาคม 2563 หลังนั่งกุมเหียนอำนาจสำนักปทุมวันเต็มตัว

ด้วยแนวคิดมุ่งให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นองค์กรบังคับใช้กฎหมายที่นำสมัยในระดับมาตรฐานสากลเพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นศรัทธา

การบ้านข้อสำคัญ คือ ความคาดหวังจะติดตั้งกล้องวงจรปิดในจุดล่อแหลมทั่วเมืองหลวง

ไม่ใช่ “กล้องดัมมี่” หลอกตาถึงเวลาใช้งานไม่ได้

พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข พูดจริง ทำจริง ไม่ชอบ “สั่งแห้ง”

อีก 2 เดือนต่อมา เขาเป็นประธานพิธีลงนามข้อตกลงความร่วมมือระหว่างองค์กรเพิ่มประสิทธิภาพการสืบสวนป้องกันปราบปรามอาชญากรรมโดยใช้กล้องโทรทัศน์วงจรปิดกับ นายวิลาศ เฉลยสัตย์ รองผู้ว่าการไฟฟ้านครหลวง และผู้แทนจาก บริษัทเครือข่ายโทรศัพท์มือถือทุกค่าย

จับมือเป็นพันธมิตรในภารกิจ “เสริมทัพ” ของตำรวจในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม และดูแลความปลอดภัยให้ประชาชนนำร่องในพื้นที่กรุงเทพมหานคร

มีเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ชำนาญพื้นที่ กำหนดจุดล่อแหลมที่ต้องติดกล้องวงจรปิด ถือเป็นโครงการเริ่มต้นที่ใช้เวลาระยะสั้นและได้ผลเร็ว และเตรียมขยายขีดความสามารถของโครงการออกไปอีก

พล.ต.อ.สุวัฒน์มองว่า สถานการณ์ไวรัสระบาดปัจจุบันจำเป็นต้องวางแผนรับมือกับภัยอาชญากรรมที่สูงขึ้นตามมา กล้องวงจรปิดขาดไม่ได้ในงานสืบสวน เพราะบางอย่างนิติวิทยาศาสตร์ทำไม่ได้ ไม่มีพยานหลักฐาน

“ทว่าที่ผ่านมา กล้องวงจรปิดไม่ตอบโจทย์  เพราะส่วนราชการอื่น หรือเอกชนเป็นเจ้าของ ตำรวจแทบไม่มี  แถมจุดติดตั้งไม่เหมาะสม ผมคิดว่าจะทำอย่างไรให้สามารถตอบโจทย์ได้ ราคาถูก เหมาะส มและไม่ยุ่งยาก”

พิทักษ์ 1 หยิบ โมเดล 3 จังหวัดชายแดนใต้ มานำร่องใช้ในเมืองหลวง ให้ตำรวจท้องที่เป็นเจ้าของ และดูแลเอง กระจายความรับผิดชอบ

ตำรวจ 1 คน ต่อกล้องวงจรปิด 5 ตัว

เพราะไม่มีใครรู้จุดติดตั้งได้ดีเท่ากับฝ่ายสืบสวน

โครงการกำหนดติดตั้งกล้องวงจรปิดเบื้องต้น  5,000 ตัว แต่มีเสนอความต้องการมาถึง 9,700 ตัว  เป็นส่วนหนึ่งของ เมืองอัจฉริยะ (Smart City) ที่ใช้พลังงานสิ่งแวดล้อมอย่างชาญฉลาด

ทำกรุงเทพมหานครให้เป็นพื้นที่ปลอดภัย( Safety Zone)

ล่าสุดมอบหมายให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์  หักพาล ที่ปรึกษา สบ 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ นำเป็นการบ้านไปขยายให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น

“ ผมมีหลักคิดว่าจะทำอย่างไรให้ประชาชนต้องไม่เกิดความหวาดระแวงภัยอาชญากรรม หากสามารถทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถเดินคนเดียวได้อย่างสบายใจบนถนนตอนกลางคืน” พล.ต.อ.สุวัฒน์ว่า

อาจไม่ง่าย แต่ดีกว่าไม่ทำ

 

 

RELATED ARTICLES