โลกในนิยาย

 

บ่อยครั้งหนังสือหลายเรื่องของ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจ นักประพันธ์เลื่องชื่อผู้ล่วงลับ มักโดนค่อนแค่จากคนองค์กรเดียวกัน

“ตำรวจน้ำดี พระเอกของอาจารย์วสิษฐมีอยู่แค่ในโลกนิยายของแก”

ไม่มีอยู่ในโลกของความเป็นจริง

มองภาพนายพลตำรวจเอกยอดนักเขียนชอบระบาย “ความเพ้อฝัน” ประชดประชันวงการตำรวจด้วยความผิดหวังถึงสร้างภาพ “ติดลบ” เต็มไปด้วย “พวกทุจริตคอร์รัปชั่น”

ทั้งที่หลากหลายตอนสะท้อนความจริง

ความจริงที่บางคนไม่ยอมรับมัน

อ่านแล้วชอบตอนหนึ่งในนวนิยายเรื่อง “ประกาศิตอสูร” ซีรีส์ภาคต่อจาก “บ่วงบาศ” คลอดเป็นรูปเล่มตีพิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ปี 2549 ที่มีคนถามแกว่า คนนี้คือ คนนั้นหรือเปล่า

“ปัดโธ่ นี่มันนิยาย” พล.ต.อ.วสิษฐตอบข้อข้องใจ

ทว่าแก่นของเนื้อหากลับทะลุไปถึงตัวตนผู้ที่นั่งเก้าอี้ ผู้นำสูงสุด ในองค์กรสีกากีอย่างชัดเจน แม้ตัว พล.ต.อ.วสิษฐไม่เคยก้าวไปสัมผัสถึงตำแหน่งปลายยอดกองทัพด้วยซ้ำ

เจ้าตัวจินตนาการถึงสถานการณ์ในบ้านเมือง โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมอันเป็นหน้าที่โดยตรงของ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

อาจารย์วสิษฐสวมวิญญาณเป็นตัวแสดงแทนของบทว่า ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ไม่เคยและไม่สามารถจะรู้สึกสบายใจอย่างเต็มที่ได้

ในด้านหนึ่งของชีวิต มีความสุขสบาย มีแต่ผู้แวดล้อมและคอยรับใช้ที่ดูเหมือนจะรู้ใจอยู่ทุกขณะ ยังมิทันที่จะออกปากสิ่งที่อยากได้และไม่อยากได้ก็มาปรากฏอยู่ตรงหน้าและด้วยปริมาณที่เกินความต้องการหรือความจำเป็นเสมอ

ไม่เคยมีครั้งใดในชีวิตที่จะได้ลาภมากมายจนล้นเหลือเช่นนี้

“ถ้าผู้ที่มาหาเขาทุกคนต้องล้างเท้าก่อนขึ้นบ้านอย่างในสมัยโบราณ หัวบันไดบ้านเขาก็คงไม่เคยแห้ง” นายพลตำรวจเอกเจ้าของบทประพันธ์วาดภาพความคิดของผู้นำ

อาคันตุกะมีทั้งที่รู้จักคุ้นหน้า อย่างตำรวจในบังคับบัญชา และมีทั้งที่รู้จักแต่ไม่อยากจะต้อนรับ ในประเภทหลังนี้มีพ่อค้า คหบดี นักธุรกิจ นักการเมืองรวมอยู่ด้วย

แต่ทั้งสองประเภทปฏิเสธยาก เพราะทุกคนไม่เคยมามือเปล่า แต่มีของกำนัลราคาแพงจำนวนไม่น้อยติดมือมาด้วย แทบทุกคนไม่เคยแสดงกิริยาเบื่อหน่ายแม้จะไม่ออกไปต้อนรับและปล่อยให้นั่งดื่มชากาแฟ หรือเหล้าเบียร์ ชมรายการวิทยุโทรทัศน์จอใหญ่ที่จัดไว้ในห้องรับแขกขนาดใหญ่ที่มีลักษณะเป็นสโมสรกลาย ๆ

บางคนประสบความสำเร็จได้พบ และกลับไปพร้อมสิ่งที่ต้องการ เมื่อเขารับปากที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้ “ความสะดวก” มีในรูปต่าง ๆ นับตั้งแต่การบอกต่อลงไปยังตำรวจท้องที่ให้ “ดูแล” เรื่องที่ผู้นั้นต้องการขึ้นไปจนถึงการแต่งตั้งโยกย้าย หรือให้บำเหน็จที่อยู่ในอำนาจของเขา

แต่ในอีกส่วนของชีวิต เขามีแต่ความหวั่นไหว ทุกครั้งที่ดูสถิติคดีอาญาที่เจ้าหน้าที่ต้องเสนอให้เป็นประจำทุกวัน นายพลตำรวจเอกผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ รู้ว่า ตัวเลขเหล่านั้นมันฟ้องว่า การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในบังคับบัญชายังบกพร่อง

การป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนยังเป็นไปตามยถากรรม ไม่มีประสิทธิภาพ และเมื่อไม่มีประสิทธิภาพก็ไม่มีประสิทธิผล

ประชาชนทั้งในและนอกเมืองหลวงมีชีวิตอยู่อย่างล่อแหลมและถูกคุกคามอยู่ที่เมื่อเชื่อวันโดยอาชญากรรมทุกรูปแบบ ตั้งแต่การลักเล็กขโมยน้อยตัดช่องย่องเบาขึ้นไปจนถึงความผิดอุกฉกรรจ์ประเภทต่าง ๆ  รวมทั้งชิงทรัพย์ ปล้นทรัพย์ ฆาตกรรม และข่มขืนกระทำชำเรา

ทับซ้อนอยู่บนปัญหาเหล่านั้นและแลเห็นชัดไม่น้อยกว่ากันคือ ปัญหาเกี่ยวกับพฤติกรรมของตำรวจในบังคับบัญชา ทั้งใหญ่และน้อยจากคนร้องเรียนที่ได้รับอยู่ตลอดเวลา

“ตำรวจยังมีเอี่ยวอยู่กับธุรกิจที่ผิดกฎหมาย บ่อนการพนันเถื่อนและซ่องโสเภณีที่แฝงมาในรูปแบบสถานบันเทิงยังเกลื่อนเมืองโดยที่ตำรวจเจ้าของท้องที่ทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นไม่ได้ยิน”

หลายครั้งที่มีคำสั่งตรงลงมาจากนายกรัฐมนตรีให้ “ดำเนินการอย่างเด็ดขาด”กับเจ้าหน้าที่ผู้ปล่อยปละละเลย แต่ก็รู้ว่า การดำเนินการไม่อาจจะ “เด็ดขาด”ได้ จะ “เด็ดขาด” ได้อย่างไรในเมื่อเจ้าหน้าที่ผู้บกพร่องหรือทำความผิดบางคน คือ คนที่นายกรัฐมนตรีเองเคยร้องขอให้สนับสนุน

การตั้งกรรมการสอบสวนจึงต้องทำอย่างขอไปที บางทีเพื่อเอาใจสื่อมวลชนปากโป้งบางฉบับ บางสถานี เจ้าหน้าที่ผู้บกพร่องก็ถูกย้ายไปยังตำแหน่งที่ด้อยกว่าเดิม แต่เมื่อเสียงร้องเรียนหรือวิพากษ์วิจารณ์ซาลง เจ้าหน้าที่ผู้นั้นก็ถูกลงโทษสถานเบา หรือได้รับการยกโทษ เพราะคนร้องเรียน “ไม่มีมูล” แล้วก็ได้รับแต่งตั้งไปอยู่ในตำแหน่งที่เป็นอู่ข้าวอู่น้ำอีก

สัมพันธภาพระหว่างนายกรัฐมนตรีกับเขาจึงเหมือนกับการเล่นเอาเถิดเจ้าล่อที่เขาประสบความสำเร็จและเอาตัวรอดมาได้เสมอ แต่เขาก็ยังไม่สบายใจอยู่นั่นเอง

เพราะตระหนักว่า เหตุแห่งการวิ่งไล่ของนายกรัฐมนตรียังอยู่และยังไม่ได้หายไปไหน   ตราบใดที่ยังลดสถิติคดีอาญาลงไม่ได้ ตราบนั้นนายกรัฐมนตรีก็ยังมีเหตุผลที่จะต้องวิ่งไล่ และเขาก็ยังต้องเหนื่อยต่อไปอีก

ใครจะไปรู้ วันหนึ่งเขาอาจจะเป็นฝ่ายจนและถูกจับได้ก็ได้  

พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร บรรยายความละเอียดราวกับโลกของบทประพันธ์ไม่แตกต่างชีวิตจริงของใครหลายคน

แม้เจ้าตัวย้ำหนักย้ำหนา

“ปัดโธ่ นี่มันนิยาย”

 

RELATED ARTICLES