ขันนอตกองสารนิเทศ

 

อาจด้วยผลพวง “ผลไม้พิษ” ของการแต่งตั้งโยกย้ายทำลายระบบไปทั่วแทบทุกหน่วย

บรรยากาศ “ผิดฝา ผิดตัว” กระทั่งเกิดภาวะ “ปลาผิดน้ำ” ส่งผลกระทบต่อหน้างานความผิดชอบกลายเป็นปัญหาหมักหมมจมปลักมานาน

กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แทบไม่แตกต่างกัน

ยิ่งสถานการณ์ความรวดเร็วของข่าวสารในโลกดิจิทัลเปลี่ยนแปลงไป การประสานงานกับสื่อต้องเป็น “มืออาชีพ” ไม่ใช่ “ประสานงา” พากันเกิดความขัดแย้ง

แม้ตำรวจไม่ได้ถูกสอนมาเป็น นักประชาสัมพันธ์ แต่ตำรวจที่จบงานด้านประชาสัมพันธ์ผ่านเข้ามาสังกัดเต็มไปหมด

ถึงเวลาปฏิบัติจริงกลับขับเคลื่อนได้ไม่เต็มกำลังความสามารถ

สื่อบางคนอึดอัด แต่ยังพอทน ด้วยเพราะเห็นแก่ความสัมพันธ์แบบ “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า” ไม่กล้าหักหาญน้ำใจ

มองผ่านไป ไม่ใส่ใจ และไม่แคร์

สุดท้ายถึง “ระเบิดเวลา” ก็จุดชนวนร้อนทะลุกลางป้อง

หลังจาก “สื่อทุกสำนักโดยรวม” ตัดสินใจยื่นข้อเสนอระบายความอัดอั้นฝากไปถึง พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เรียกร้องความต้องการจาก ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

แบ่งเป็นหัวข้อดังต่อไปนี้

1.กรณีแถลงข่าวใน “ใบเพรส” แจกสื่อมวลชนขอให้มีรายละเอียดเมื่อแถลงข่าวทุกครั้ง

2.ขอคลิปภาพเคลื่อนไหวแบบแนวนอนในการแถลงข่าวที่ผู้บังคับบัญชาระดับสูงแถลง หรือให้สัมภาษณ์เพื่อใช้กับสื่อโทรทัศน์

3.ภาพนิ่ง ในแบบแอคชั่นต่าง ๆในการแถลงข่าว หรือการให้สัมภาษณ์ของผู้บังคับบัญชาระดับสูงเห็นควรเป็นภาพแนวนอนเพื่อใช้กับสื่อสิ่งพิมพ์

4.ขอคลิปเสียงในการแถลงหรือการให้สัมภาษณ์ของ ผู้บังคับบัญชาระดับสูงเพื่อใช้กับสื่อวิทยุ

5.ตามความในข้อ 1 ควรจะแจกก่อนแถลงข่าวสัก 10-30 นาที

6.ข้อ 2 ถึงข้อ 4 ต้องถึงมือสื่อหลังจากแถลงให้เร็วที่สุดเท่าที่สามารถ แต่ไม่ควรเกิน 1 ชั่วโมง

7.จัดทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ หรือกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ตามข้อ 1-4 ในกรณีผู้บังคับบัญชาระดับสูงเดินทางไปประชุม แถลงข่าว หรือประชุมสัมมนานอกสถานที่ตามความเหมาะสม

8.จัดรถตู้ให้สื่อติดตามผู้บังคับบัญชาระดับสูงไปทำข่าวในโอกาสที่สำคัญทุกครั้ง

9.การแจ้งหมายข่าว หรือหมายแถลงทางกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ต้องประสานทีมโฆษก หรือทีมแถลงให้ได้ข้อยุติวันเวลา สถานที่ที่แน่นอนก่อน แล้วแจ้งหมายให้สื่อทราบก่อนเวลาแถลงอย่างน้อย 1 ชั่วโมง (ไม่ควรเลื่อนไป เลื่อนมา)

10.ข้อนี้อยากให้ ทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ทราบว่า ข้อ 1-9 นั้น กองประชาสัมพันธ์ หรือกองสารนิเทศของหน่วยงานราชการ ทุกกระทรวง ทบวง กรม อื่นๆ ปฏิบัติดังข้างต้นมานานมากแล้ว

11.เวลาที่แถลง ต้องเหมาะสมกับช่วงเวลาออกอากาศทางทีวี และ สื่ออื่น ๆ ยกเว้นเรื่องด่วน

  1. เห็นควรจัดทีมโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และกองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไปดูงานขององค์กรอื่นที่มี “มาตรฐานความเป็นมืออาชีพสูง” เช่น กรุงเทพมหานคร  กรมสอบสวนคดีพิเศษ ศาลยุติธรรม กระทรวงอื่นๆ เพื่อนำมาปรับใช้เป็นแนวทาง

พวกเขาต้องขอโทษที่ต้องสื่อสารตรงๆ  ยืนยันว่า พวกเขาเป็นสื่อมวลชนสายตำรวจ “รักองค์กรตำรวจ” เหมือนกัน

ทว่ายุคปัจจุบันต้องเชิงรุกมากกว่านี้ ด้วยเหตุ “ต้นทุนองค์ตำรวจ” แตกต่างกับองค์กรอื่น

จำเป็นต้องรุกเพื่อ “ชิงพื้นที่ข่าว”

พวกเขามีหมายเหตุทิ้งท้ายด้วยว่า ถ้าทำไม่ได้ก็แนะนำให้ ว่าจ้างบริษัท หรือบุคคลากรที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าวเป็นการเฉพาะ”

ลองมาทำให้ดูสัก 1-2  เดือน เพื่อ กองสารนิเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ จะได้รู้ว่างานประสัมพันธ์ของหน่วยงานของรัฐอื่นไปถึงไหนกันแล้ว

หรือพิจารณา “ยุบหน่วย” ไปเลยก็ดี 

เพราะนี่มันยุค 5G แล้วนะครับ

 

 

RELATED ARTICLES