ต้องปราศจากการแทรกแซง

ออกมาแสดงความคิดเห็นแบบตรงไปตรงมาผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว

พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 มือสอบสวนระดับตำนาน และเป็นกรรมการปฏิรูปประเทศ ด้านกระบวนการยุติธรรมว่าถึง “คดีน้องชมพู่” ที่เกิดขึ้นมานานปีเศษ

จั่วหัว” กระบวนการยุติธรรม ต้องปราศจากการแทรกแซง”

เจ้าตัวมองว่า การตายของ “น้องชมพู่”  หน้าที่ของเจ้าหน้าที่ตำรวจต้องสืบสวนสอบสวนให้ได้ข้อยุติว่า “น้องชมพู่”เสียชีวิตเอง หรือมีผู้ทำให้เสียชีวิต

ถ้าเสียชีวิตเองจะไม่เป็นความผิดอาญา  พนักงานสอบสวนเพียงแค่ทำสำนวนชันสูตรพลิกศพ  เพื่อพิสูจน์ให้ได้ข้อเท็จจริงว่า ผู้ตายเป็นใคร ตายที่ไหน ตายเมื่อไหร่ ตายอย่างไรเท่านั้น

แต่ถ้ามีผู้ทำให้ตายจะเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดว่า มีการกระทำความผิดอาญาฐานใดเกิดขึ้น (ฆ่าผู้อื่น หรือกระทำโดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย)  และพิสูจน์ให้ได้ว่าใคร คือ “ผู้กระทำความผิด”  เพื่อติดตามจับกุมตัวมาดำเนินคดี

พล.ต.ท.อำนวยอธิบายว่า การสอบสวนเป็นการรวบรวมพยานหลักฐานของพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาเพื่อพิสูจน์ความผิด หรือความบริสุทธิ์ และ/หรือ เอาตัวผู้กระทำผิดมาฟ้องลงโทษกระบวนการนี้

กระบวนการในการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิดตามที่กล่าวหา เช่น กล่าวหาว่า ฆ่าผู้อื่นตายก็จะต้องรวบรวมพยานหลักฐาน  ไม่ว่าจะเป็นพยานบุคคล  พยานวัตถุ  พยานเอกสารพยานหลักฐานด้านนิติวิทยาศาสตร์  หรือพยานอื่นใดบรรดามี ที่จะพิสูจน์ให้เห็นว่าผู้กระทำผิด ได้ลงมือกระทำการฆ่าผู้ตาย จนถึงแก่ความตายสมเจตนา

จากนั้นส่งสำนวนการสอบสวนพยานหลักฐานที่รวมได้ให้พนักงานอัยการตรวจสอบความถูกต้อง ครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนที่จะมีความเห็นทางคดีสั่งฟ้อง หรือไม่ฟ้อง

“หากฟ้อง” คดีจะเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลต่อไป

พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมจึงถือเป็น “ความลับ” ไปจนกว่าจะมีการพิสูจน์กันในชั้นศาล  เพราะหากไม่แล้วจะทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบในทางคดี  เกิดความไม่เป็นธรรมกับคู่กรณี

“เพราะหากยอมให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดล่วงรู้ถึงพยานหลักฐานของอีกฝ่ายหนึ่งเสียตั้งแต่ต้น สามารถเปรียบเทียบง่ายๆจะเหมือนกับเล่นไฮโลกันแล้วยอมเปิดถ้วยให้แทง” ตำนานนายพลมือสอบสวนให้ความเห็น

เขาบอกว่า คดีการเสียชีวิตของ “น้องชมพู่” ถูกนำไปสร้างกระแส ถูกนำไปสร้างมูลค่าเพิ่ม ถูกนำไปชี้นำ สร้างภาพ โปรโมตตัวเอง ให้สังคมรู้จัก ถึงขนาดทำให้บางคนกลายเป็น “ซุปเปอร์สตาร์”

“กระผมเองเลิกติดตามคดีนี้มาสักพักหนึ่งแล้วเพราะเห็นว่าเริ่มเป็นเรื่องไร้สาระเข้าไปทุกวัน  จนกระทั่งศาลอนุมัติหมายจับและมีการจับกุมตัวลุงพล มาดำเนินคดี และมีประเด็นที่ทำให้กระผมต้องลุกมานั่งเขียนเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง”

เนื่องจากทนายความของลุงพลอ้างว่า ได้นัดหมายไปยื่นเรื่องร้องขอความเป็นธรรม ต่อ ส.ส.สิระ  เจนจาคะ คณะกรรมาธิการการกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน  สภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้ตรวจสอบพยานหลักฐานในการขออนุมัติหมายจับลุงพลในครั้งนี้

มีข่าวด้วยว่า กรรมาธิการคณะดังกล่าว “เด้งรับ” ถึงขนาดจะเชิญ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และพนักงานสอบสวน มาชี้แจงถึงพยานหลักฐานขออนุมัติออกหมายจับในคดีดังกล่าว

ตั้งประเด็นว่า อาจจะเป็นการขออนุมัติหมายจับโดยมิชอบ 

พล.ต.ท.อำนวยเห็นว่า ถ้าหากผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและพนักงานสอบสวนนำพยานหลักฐานไปชี้แจงต่อกรรมาธิการตามคำร้องของทนายลุงพลแล้วละก็จะกลายเป็นการไปเปิดถ้วยไฮโลให้ทนายลุงพลแทง ก็เท่านั้นเอง

แล้วความเป็นธรรมจะอยู่ตรงไหน คู่กรณีจะเสียความเป็นธรรมหรือไม่  

พนักงานสอบสวน รวมถึงตัวผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเองในฐานะหัวหน้าพนักงานสอบสวนทั่วราชอาณาจักรจะมีความผิดฐานนำความลับในสำนวนไปเปิดเผยหรือไม่

อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 เรียกร้องช่วยแยกกันให้ออก ระหว่างสืบสวนกับสอบสวน ถ้ามีผู้ไปร้องเรียนเรื่องการปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจในการค้น ในการจับ เป็นหน้าที่ของตำรวจ ฝ่ายสืบสวน/ป้องกันปราบปรามว่า มีการละเมิดสิทธิ์หรือไม่ได้รับความเป็นธรรมอะไร  อย่างไรก็ว่ากันไป

“แต่ถ้าล่วงเลยไปถึงการรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อพิสูจน์ให้เห็นความผิด  หรือความบริสุทธิ์และหรือเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ อันเป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวน ดังเช่นคดีนี้แล้ว  จะมีใคร (บุคคลหรือคณะบุคคล) มีสิทธิ์  หรือ มีความถูกต้องเหมาะสมที่จะยื่นมือเข้าไปล้วงความลับในสำนวนการสอบสวน พยานหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมไว้ได้หรือไม่”   

ถ้ายังคิดไม่ออก   พล.ต.ท.อำนวยขอกระซิบบอกว่า   คดีนี้ถ้าผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติและพนักงานสอบสวนนำพยานหลักฐานไปชี้แจงต่อกรรมาธิการต่อหน้าทนายความลุงพลหรือไม่ก็ตามจะเป็นบรรทัดฐาน ให้ทนายความในคดีอื่น ๆใช้ช่องทางนี้ล้วงเอาความลับในสำนวน ล้วงเอาพยานหลักฐานในสำนวน

แล้วกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นจะอยู่กันยังไงอีกต่อไป 

“กระผมคิดไม่ออก บอกไม่ถูก”

คำถามสุดท้าย “คิดได้ไง”  แล้วจะไปกันหรือเปล่า

ไปกันใหญ่แล้ว

RELATED ARTICLES