“ผมอยากบอกว่า ในกองปราบปราม งานสอบสวนมีเวทีให้เล่น”

 

เส้นทางเติบโตมาจากหน้างานสอบสวนต้นธารของกระบวนการยุติธรรม

ไม่เคยนึกฝันว่า สักวันจะได้มีโอกาสนั่งคุมกองกำลังหน่วย “ตำรวจติดอาร์มที่มีชื่อเสียงเกรียงไกรสะท้านในยุทธจักรสีกากี

พล...สุวัฒน์ แสงนุ่ม ถูกบันทึกอยู่ในทำเนียบประวัติศาสตร์ของต้นสังกัดให้เป็น ผู้บังคับการปราบปราม คนที่ 37  รับไม้ผลัดต่อจาก พล...จิรภพ ภูริเดช ที่ขยับเก้าอี้ขึ้นนั่งตำแหน่งรองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง

ประวัติชีวิตอาจไม่โลดโผนเทียบชั้นมือปราบ แต่อยู่เบื้องหลังการใช้สมองขบคิด ก่อนสั่งนิ้วสัมผัส แป้นคีย์บอร์ด ส่งผู้ต้องหาเข้าไปอยู่ในเรือนจำไม่น้อย

 

สานต่อแนวคิดดั้งเดิม เติมศักยภาพพนักงานสอบสวน

หลังเข้ารับตำแหน่งกองทัพหลักของหน่วยสอบสวนกลาง พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม เริ่มต้นทำการบ้านทันทีเพื่อตอบโจทย์ของตัวเอง นายพลหนุ่มมองว่า กองบังคับการปราบปรามมีชื่อเสียงอยู่แล้วในเรื่องความถนัดเฉพาะด้านเกี่ยวกับงานป้องกันปราบปรามผู้มีอิทธิพล มือปืนรับจ้าง ถึงกระนั้นต้องทำควบคู่ไปกับงานสอบสวน เพราะเมื่อมีการสืบสวนต้องมีการสอบสวน ทั้งสองคือ หัวใจหลักของตำรวจกองบังคับการปราบปรามที่ต้องเดินไปด้วยกัน

“ชื่อเสียงกองปราบปรามในเรื่องการสืบสวนจับกุมคนร้าย ถือว่า อยู่ในชั้นอันดับ 1 ใครเอ่ยชื่อกองปราบในด้านนี้ทุกคนยอมรับ แต่เรื่องการสอบสวนที่ผ่านมา ผมเห็นว่า ยังตามงานเรื่องการสืบสวนปราบปราม ไม่ทัน มันไม่ถึงกับขี้เหร่ แต่จะไม่ค่อยแตกต่างจากตำรวจพื้นที่ ยังไม่สมกับเป็นผู้มีความชำนาญเฉพาะด้านในเรื่องคดี งานสอบสวนของหน่วยไม่ถึงขนาดที่ว่า พูดกันแล้ว ทุกคนยอมรับในวงการนักกฎหมาย”

นับตั้งแต่ที่ตัวเขาเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามครั้งแรกเมื่อปี 2550  พล.ต.ต.สุวัฒน์ยอมรับว่า ยังไม่โดดเด่น อยู่ระดับธรรมดา ไม่มีอะไรที่แตกต่างจากพนักงานสอบสวนทั่วไปมากนัก ตอนนั้นก็ไม่ได้คิดว่า จะได้มาเป็นผู้นำหน่วย คิดแค่มาเป็นพนักงานสอบสวนแล้วอยากจะเปลี่ยนแปลงค่านิยมของพนักงานสอบสวนให้พัฒนาศักยภาพมากขึ้น

 

ควรต้องดีกว่าตำรวจท้องที่ คัดเลือกบรรดามือดีเข้าสังกัด

“พนักงานสอบสวนกองปราบปราม ควรต้องมีอะไรที่เหนือกว่าพนักงานสอบสวนทั่ว ๆ ไป พนักงานสอบสวนทั่วไป หากทำอย่างไรแล้วถ้าตำรวจกองปราบปรามทำแบบนั้น ชาวบ้านจะไปพึ่งที่อื่น ไม่ใช่ว่า ถ้าพึ่งที่ไหนไม่ได้ก็มากองปราบปราม เพราะไม่ได้แตกต่างกัน แล้วชาวบ้านจะมาทำไม  ยิ่งช่วงที่ผมมาอยู่ใหม่ ๆพนักงานสอบสวนบางคนไม่เคยอยู่พื้นที่มาเลย บางคนอยู่มานิดๆ หน่อยๆ ไปทำงานอย่างอื่นแล้วโดนย้ายมาเป็นพนักงานสอบสวนกองปราบปราม พิมพ์ดีดยังไม่เป็น ใช้คอมพิวเตอร์พิมพ์ ไม่รู้จะพิมพ์ยังไง” พล.ต.ต.สุวัฒน์ย้อนอดีต

เขายกตัวอย่างชาวบ้านมาร้องเรียนว่า แจ้งความตำรวจท้องที่ 5-6 เดือนแล้วไม่มีความคืบหน้า ทำงานช้ามาก อยากให้กองปราบปรามทำให้เร็ว แต่พอมาเจอพนักงานสอบสวนสอบปากคำเสียเวลากับการพิมพ์ดีดไม่คล่อง แบบนี้จะเร็วได้จริงหรือ ดังนั้นพนักงานสอบสวนกองปราบปรามต้องมีการพัฒนา “ แนวคิดผม คือ พนักงานสอบสวนกองปราบปราม เราไม่อยากเอาแบบจบใหม่แล้วมาลงกองปราบปรามเลย เราอยากได้พนักงานสอบสวนที่อยู่ในพื้นที่มาก่อน ยิ่งอยู่ตามโรงพักที่งานเยอะๆ  มือดีในแต่ละที่ ดาวเด่นในแต่ละโรงพักเอามาอยู่กองปราบปราม เป็นสิ่งที่ผมต้องการแบบนั้น”

เจ้าตัวให้เหตุผลว่า พนักงานสอบสวนท้องที่จะเจอมาสารพัด มีงานหลายด้าน ทั้งจราจร ทำร้ายร่างกาย ชีวิตและทรัพย์สิน นอกจากต้องทำตามกฎหมายยังจะต้องมีศิลปะ ในการพูด ในการเจรจา ไม่ใช่จะเอาแต่ทางกฎหมายอย่างเดียว พูดอย่างไรก็ได้ให้เรื่องจบกันด้วยดี ทั้งสองฝ่ายพอใจ ทุกคนพอใจ บนพื้นฐานของความถูกต้อง เมื่อกองบังคับการปราบปราม เป็นงานเฉพาะด้วย เป็นงานที่ใหญ่ ถ้าพนักงานสอบสวนไม่เคยทำงานด้านนี้ให้ไปทำจะมีปัญหา ไปได้ไม่ครบถ้วนถึงเป็นคณะทำงาน  ยิ่งเจอหัวหน้าคณะที่ไม่ค่อยให้ความสำคัญ โยนให้เด็ก ๆ ถือไปทำ แบบนี้งานก็ไม่มีคุณภาพ ถึงอยากพัฒนางานสอบสวนให้เป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น

 

เปิดเวทีให้คนขยันทำหน้าที่ สุกงอมได้ที่ถึงเวลาไม่ต้องมาวิ่งเต้น

อย่างไรก็ตาม หลายปีที่ผ่านมา พล.ต.ต.สุวัฒน์เห็นความเปลี่ยนแปลงบ้างแล้วว่า พนักงานสอบสวนของหน่วยเริ่มพัฒนาดีขึ้น ผู้บังคับบัญชาทุกระดับชั้นที่มาเป็นผู้บังคับการ เป็นรองผู้บังคับการให้ความสำคัญกับเรื่องงานสอบสวน ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาตลอด โดยเฉพาะสมัย พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช ให้ความสำคัญในงานสอบสวนมาก เนื่องจากเห็นว่า งานด้านการสืบสวนปราบปราม ดีอยู่แล้วด้วยระบบของหน่วยเอง เหลืองานสอบสวนเท่านั้น เป็นเหตุให้คัดเลือกพนักงานสอบสวนฝีมือดีเข้ามาเสริมการทำงาน

เมื่อได้รับความไว้ใจจากผู้บังคับบัญชาให้มานั่งผู้นำทัพ เจ้าตัวยืนยันจะสานต่อสิ่งที่ตั้งใจไว้แต่แรกสมัยเข้ามาเป็นพนักงานสอบสวน และสิ่งที่ พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช สร้างไว้หลายอย่าง งานสอบสวนของกองบังคับการปราบปรามต้องทัดเทียมกับงานสืบสวน ด้วยการทำโครงการให้พนักงานสอบสวนมีคุณภาพมากขึ้นเกี่ยวแรงจูงใจที่หลายคนเคยหนีงานสอบสวน เมื่อไม่มีแท่งความเจริญก้าวหน้า

“ผมอยากบอกว่า ในกองปราบปราม งานสอบสวนมีเวทีให้เล่น ใครที่ขยัน ใครมีฝีมือ เด่นได้ในกองปราบปรามจะมีความเจริญก้าวหน้าแน่นอน  ไม่จำเป็นต้องวิ่งเต้น เพราะผู้บังคับบัญชายุคนี้ของตำรวจสอบสวนกลางให้ความสำคัญกับงานสอบสวน มีโอกาสสนับสนุนพนักงานสอบสวนคนไหนที่มีผลงานดี มีความตั้งใจให้มีความเจริญก้าวหน้า เพื่อให้เกิดกำลังใจว่า หากตั้งใจทำงานจะมีความเจริญก้าวหน้า ไม่มีความจำเป็นต้องไปวิ่งเต้น ผมถือว่า พนักงานสอบสวนกองปราบปรามทุกระดับชั้น ขอให้ตั้งใจทำงาน ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ต้องไปวิ่งเต้นอะไร ถึงเวลาผู้บังคับบัญชาจะให้เอง ไม่ต้องหมดกำลังใจ ขอให้มีกำลังใจที่ดี มีสิ่งจูงใจว่าจะได้รับความเจริญก้าวหน้าแน่” พล.ต.ต.สุวัฒน์เน้นเสียงจริงจัง

 

ไม่รู้สึกกดดันตำแหน่งนำทัพ แค่อยากปรับเข้าใจกับประชาชน

ถามว่า กดดันหรือไม่ที่มานั่งตำแหน่งนี้ เนื่องจากในอดีตส่วนใหญ่ผู้บังคับการจะเป็นนักสืบมือปราบ  นายพลตำรวจตรีอาร์มสวยบอกว่า ไม่รู้สึกกดดันอะไร การเป็นผู้นำหน่วยสิ่งที่ดี คือ เราไม่ต้องทำเองทุกอย่าง ยิ่งกองบังคับการปราบปรามเป็นหน่วยงานที่เต็มไปด้วยศักยภาพในตัวเอง ทั้งบุคลากร อุปกรณ์เทคโนโลยี งบประมาณ ทุกอย่างถือว่า มีความพร้อม ฐานรากดีอยู่แล้ว เราแค่มาต่อยอด ดำเนินการต่อในสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาสร้างไว้ให้บรรลุเป้าหมาย  แม้ไม่ได้ผ่านงานสืบสวน แต่เราเรียนรู้กันได้จากการใช้คน

ถึงกระนั้น ผู้บังคับการปราบปรามกังวลเล็กน้อยมากกว่าเกี่ยวกับการทำความเข้าใจกับประชาชนว่า อยากจะให้เข้าใจตำรวจกองบังคับการปราบปราม มีงานหลายด้าน สารพัดเรื่อง ไม่ได้มีเรื่องของใครคนเดียว ประชาชนบางคนอาจจะคิดว่า ทำไมไปแล้ว เรื่องช้า ไม่ได้รับการตอบสนองจะเอาตามใจต้องการ ตำรวจก็เข้าใจว่า ผู้เสียหายเวลาเข้าไปติดต่อตำรวจอยากให้เรื่องของตัวเองเร็ว แต่ไม่ได้มีเรื่องของตัวเองคนเดียว

“ตำรวจพยายามที่จะทำทุกอย่างตามความสามารถ ตามกำลังที่จะทำได้อยู่แล้ว บางทีอาจจะไม่ทันใจ ถ้าเรื่องไหนที่ช้า ไปสอบถามได้ ตำรวจเต็มใจบอกอยู่แล้วว่า เรื่องถึงขั้นตอนไหน ขออย่าใจร้อน ไปแล้วใช้อารมณ์ ไปทะเลาะกัน ไปฟ้องร้องกัน แล้วไม่เกิดประโยชน์อะไร เพราะตำรวจไม่ใช่คู่กรณี ขอให้มองว่า ตำรวจไม่ใช่คู่กรณี ไม่ได้ไปทะเลาะไปอะไรด้วย ตำรวจมีหน้าที่บริการ และอยากจะทำให้ทุกคนด้วยความยุติธรรม”

 

ฝ่ายตำรวจเองก็ต้องขยับ สดับตรับฟังเสียงของประชาชน

ตรงกันข้าม พล.ต.ต.สุวัฒน์ขอสลับกลับมาฝากบอกฝ่ายตำรวจด้วยเช่นกัน อยากให้เข้าใจจิตใจประชาชนบ้าง เข้าใจว่า มีเรื่องอื่น ๆ อยู่ในหัว แต่เวลาประชาชนไปติดต่อ ไปสอบถาม หากไม่พูด ไม่อธิบาย ประชาชนไม่มีทางรู้ว่า ตำรวจทำอะไร คิดอะไรอยู่ ถ้าพูดกัน เราอธิบายให้ประชาชนที่มาติดต่อ หรือมาเร่งรัดคดี ทราบว่า ทำอะไรอยู่ ติดเรื่องอะไรอยู่ จะต้องทำอย่างนั้นอย่างนี้ มีขั้นตอน อธิบายให้ฟัง แค่นี้ประชาชนก็พอใจแล้วว่า ตำรวจไม่ทอดทิ้งเขา

 “หลายเรื่องที่เกิดขึ้น คือ ชาวบ้านไปแล้วไม่พูด โทรศัพท์ไม่รับ ไปพบไม่เจอ ไม่อยู่ นัดไปหาแล้วไปที่อื่นทำให้การไม่ได้เจอ ไม่ได้พูดคุยกันนั่นแหละ การสื่อสารไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ กระทั่งเกิดความไม่เข้าใจกัน พอไม่เข้าใจกันก็เกิดปัญหาตามมาหลายๆ อย่าง ผมถึงอยากจะบอกข้าราชการตำรวจว่า การที่เราตั้งใจปฏิบัติหน้าที่แล้วเราไม่พูด ไม่อธิบาย บางคนที่สัมผัสกับเรา ชาวบ้านอาจจะไม่รู้ ไม่เข้าใจ ถึงอยากจะให้มีการพูดคุย ชี้แจง ทำความเข้าใจกัน  จะโดยวิธีไหนก็ตาม แต่ไม่ใช่โต้เถียงกัน”

พล.ต.ต.สุวัฒน์เชื่อว่า หากประชาชนเข้าใจ ตำรวจเข้าใจ ต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันจะทำให้งานต่าง ๆ ของตำรวจไม่ถูกโจมตี ไม่เสียหายอย่างในปัจจุบัน เพราะการสื่อสารไม่ดี ภาพที่ออกมาทำให้เกิดการไม่เข้าใจ ขัดแย้งกัน จะเห็นว่า ประชาชนมองภาพตำรวจในทางลบไปแล้วว่า ไม่เต็มใจบริการ ทั้งที่ความจริง ตำรวจเต็มใจให้บริการ แค่ติดปัญหาตรงการสื่อสารเท่านั้น

 

แนะหัวใจหลักของภารกิจ ทำอย่างไรถึงพิชิตได้ทุกฝ่าย

เจ้าตัวย้ำหลักการว่า หัวใจของตำรวจ คือ พนักงานสอบสวน เป็นด่านแรกที่เราต้องปรับปรุง พนักงานสอบสวนมีส่วนสำคัญ เพราะชาวบ้านไปโรงพัก ต้องติดต่อพนักงานสอบสวน ขออนุญาตยกคำสอนของอาจารย์ท่านหนึ่งสมัยเรียนอยู่โรงเรียนนายร้อยตำรวจที่จำมากระทั่งปัจจุบัน และนำเอามาใช้ในการทำงาน อันดับแรก พนักงานสอบสวนต้องรับฟังปัญหา ใครเข้ามาจะมีเรื่องอะไรก็แล้วแต่ ต้องรับฟังก่อน ไม่ใช่รีบไปปฏิเสธ  อันดับสอง พิจารณาแก้ไข ฟังปัญหาแล้วมาพิจารณว่า เป็นอย่างไรอธิบายแนะนำ อันดับสาม คือให้บริการเร็วไว ตรงนี้สำคัญ ไม่ใช่ว่าวันเข้าเวร ไปนัดพยานอื่นมานั่งสอบ คนมารอแจ้งความก็นั่งรอไป ทำเป็นยุ่ง จริง ๆ  คือ งานที่เราควรจะทำตอนเวลาอื่น  ตอนเข้าเวรควรปฏิบัติหน้าที่ให้บริการคนที่มาแจ้งความในวันนั้นเท่านั้น อย่าเอาเรื่องอื่น ๆ ที่เรารับไว้แล้วมาทำวันเข้าเวร พอออกเวรไม่ทำอะไรเลย

พล.ต.ต.สุวัฒน์ขยายความต่อถึงอันดับสี่ คือ ใช้ได้ถูกต้อง ไม่ใช่แนะนำชาวบ้านไปผิดทาง การที่จะแนะนำให้ถูกต้อง คือ หมั่นศึกษา พัฒนาตัวเองอยู่ตลอด มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้น ถ้าไม่รู้ต้องสอบถามคนอื่น เป็นพนักงานสอบสวนอย่าไปอายใคร  เรื่องไหนไม่รู้ก็ถาม ไม่จำเป็นต้องถามผู้บังคับบัญชา คนต่ำกว่าเราที่รู้มากกว่าในเรื่องนั้นก็มี เราจะได้มีความรู้ในเรื่องนี้ และเข้าใจเพิ่มขึ้น ไม่ใช่รู้เพราะว่า เคยทำกันมาแบบนี้ แต่ไม่รู้ว่า ถูกต้องหรือไม่ อย่าเป็นคนที่ฉลาดหมดทุกเรื่อง จำไว้ว่า พนักงานสอบสวนไม่ใช่คนที่จะฉลาดไปหมด ต้องหมั่นเติมความรู้ เพื่อเอาไปใช้ในการปฏิบัติหน้าที่ได้ถูกต้อง

ข้อสุดท้าย พล.ต.ต.สุวัฒน์ว่า สำคัญมาก คือ ผู้เกี่ยวข้องพอใจ ไม่จำเป็นที่ผู้ต้องหาต้องเกลียดตำรวจเพราะทำเรื่องดำเนินคดีเอาผิด ตราบใดที่ตำรวจให้ความเป็นธรรม อธิบายเหตุผล พิสูจน์ให้เห็นพยานหลักฐาน แม้จะปฏิเสธ แต่เราตามข้อมูลมาหักล้าง ติดตามพิสูจน์ความจริงครบถ้วนตามกระบวนการ ผู้ต้องหาจะไม่ได้มาโกรธ มาอาฆาตแค้นกัน เพราะฉะนั้น ความพอใจไม่ใช่เพียงแต่ว่าเขาได้ประโยชน์แล้วเขาพอใจ ถึงเขาเสียประโยชน์ เขาก็พอใจได้ ถ้าเราทำทุกอย่างถูกต้อง นี่คือ หลักปฏิบัติของพนักงานสอบสวนที่ยึดมาตลอดชีวิตราชการ รับฟังปัญหา พิจารณาแก้ไข ให้บริการเร็วไว้ ใช้ได้ถูกต้อง ผู้เกี่ยวข้องพอใจ  ที่อยากฝากพนักงานสอบสวนทุกนายเก็บไว้คิด

 

รู้สึกมีความสุขกับหน้างาน สำราญในการสร้างประโยชน์

เขาเล่าด้วยว่า ที่เลือกหน้างานสอบสวนตั้งแต่เรียนจบโรงเรียนนายร้อยตำรวจอาจเพราะรุ่นนั้นทุกคนลงตำแหน่งสอบสวนกันหมด รู้สึกว่า วันที่เราเข้าเวรในโรงพัก มีเรารับผิดชอบคนเดียว เกิดเหตุอะไรแล้ว ทุกคนต้องมาหาเรา เมื่อเราจัดการเรื่องนั้นได้จะมีความสุข คดีทำร้ายร่างกายกันเดินเลือกโชกเข้ามาในโรงพัก พอเราเรียกคู่กรณีมาตกลงกันได้ เสียค่าปรับ แล้วให้ทำความเข้าใจกัน จับมือกัน คืนดีกัน ไม่ใช่ดำเนินคดีไปเลย ออกไปก็ไปทะเลาะกันอีก คิดว่า การตกลงกันไม่ใช่เรื่องยากที่จะจ่ายค่าปรับ หรือจ่ายค่าสินไหม ให้ปรับความเข้าใจกัน คุยกันให้รู้เรื่อง รู้สึกว่า เรามีความสำคัญ เราทำประโยชน์ได้

“งานสอบสวนเป็นงานที่เรารับผิดชอบตัวเราเอง ไม่ต้องไปอะไรกับใครมาก เข้าเวร รับคำร้องทุกข์ ทำการสอบสวน  ทำงานของเราไป เป็นหน้างานเราเอง ไม่ต้องไปพึ่งใคร ไม่ต้องไปควบคุมคนอื่น ขอให้ควบคุมตัวเองได้ว่า มีงานมา ขอให้ทำ ขยันหน่อย สอบปากคำ ต้องดูว่า จะต้องทำอะไรยังไง  ไม่ยากเท่าใดนัก ส่วนที่ว่าจะมีอิทธิพลผู้ใหญ่มากดดันการทำสำนวนบ้างหรือไม่ ผมก็เห็นได้ยินพูดตลอดว่า มักมีผู้บังคับบัญชามาล้วงลูก แต่ด้วยความสัตย์จริง ตัวผมเองไม่เคยเจออะไรอย่างนั้นเลยนะ ทุกอย่างมันอยู่ที่ตัวเราว่าตามพยานหลักฐาน อธิบายผู้บังคับบัญชาให้เข้าใจได้ก็จบ”

นายพลมือสอบสวนการันตีด้วยว่า พนักงานสอบสวนกองบังคับการปราบปรามไม่มีผู้บังคับบัญชา หรืออำนาจผู้ใหญ่มากดดันการทำสำนวน อาจมีเน้นต้องดำเนินคดีให้ถึงที่สุด คือ พอคดีมากองบังคับการปราบปรามแล้ว คนที่เกี่ยวข้อง หรือใครไม่กล้ามายุ่ง เพราะกองบังคับการปราบปรามมีความน่าเชื่อถือ ถึงบอกว่า งานสอบสวนเราแข็ง  การที่จะส่งสำนวนสั่งฟ้อง พยานหลักฐานต้องชัดเจน แน่นหนาไปถึงอัยการเห็นแล้ว ต้องคล้อยตามด้วยฟ้องต่อศาลให้ลงโทษได้ เรื่องไหนที่ไม่เป็นความผิด สั่งไม่ฟ้องไปควรจะเป็นความเห็นเรา ไม่ใช่พอไปถึงอัยการสั่งให้สอบเพิ่มแล้วเรื่องพลิกกลับไปอีกด้านหนึ่ง แบบนี้ไม่ได้ ถือว่า เราทำหน้าที่ไม่ดีเพียงพอ ต้องแบบว่า ฟ้องก็คือ ต้องฟ้อง ถ้าไม่ฟ้อง คือ ไม่ผิดจริงๆ ให้มีความละเอียดรอบคอบ พนักงานสอบสวนกองปราบปรามต้องเป็นอย่างนั้น

 

ย้อนเส้นทางชีวิตราชการ เริ่มต้นลำปางลุยแต่งานด้านสอบสวน

สำหรับประวัติของ พล.ต.ต.สุวัฒน์ แสงนุ่ม เป็นลูกชาวสวนผัก เกิดบางพรม ตลิ่งชัน ฝั่งธนบุรี จบชั้นประถมโรงเรียนคลองบางเชือกหนัง ต่อมัธยมโรงเรียนวัดชัยฉิมพลี แล้วข้ามไปโรงเรียนทวีธาภิเศก ก่อนสอบเข้าโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 28 เลือกเหล่านายร้อยตำรวจรุ่น 44 บรรจุลงตำแหน่งรองสารวัตรสอบสวน สถานีตำรวจภูธรอำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง นาน 4 ปี โยกไปอยู่โรงพักเมืองลำปาง 10 กว่าปี เข้ามาเสริมทัพพนักงานสอบสวนที่กองบังคับการปราบปราม

ต่อมามีการเปิดสอบเลื่อนแท่งพนักงานสอบสวน สบ 3 ขึ้นเป็น สบ 4 เทียบเท่าผู้กำกับการ เขากลายเป็นมือสอบสวนคนเดียวของกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางที่ได้เลื่อนเป็นพนักงานสอบสวน สบ4 ขึ้นนั่งตำแหน่งผู้กำกับการกลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการปราบปราม  มีโอกาสสัมผัสคดีสำคัญเกี่ยวกับการชุมนุมปิดสนามบิน ก่อนเข้าไปอยู่คณะทำงานสืบสวนสอบสวนคดีสำคัญอีกหลายชุด

เป็นพนักงานสอบสวน สบ 4 ครบกำหนด 5 ปี ไปสอบเลื่อนพนักงานสอบสวน  สบ 5 ที่เปลี่ยนไปเรียกเป็นพนักงานสอบสวนผู้เชี่ยวชาญ ปีแรกไม่ผ่าน พออีกปีจะลงสนามใหม่กลับมีคำสั่งยุบแท่งพนักงานสอบสวน ทว่าผู้บังคับบัญชาเห็นในฝีไม้ลายมือเลื่อนให้เป็นรองผู้บังคับการปราบปราม กระทั่งครบหลักเกณฑ์ขึ้นติดยศ “นายพล” ตำแหน่งผู้บังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ปีเดียวคืนถิ่นเปลี่ยนกลับมาติดอาร์ม “กองปราบปราม” ในฐานะแม่ทัพคนที่ 37

 

 

 

 

RELATED ARTICLES