“เราจะไม่ใช่แบบเป็นผู้หญิงจ๋าขนาดนั้น เราอยู่แบบแมนๆ กับผู้ชายไม่ค่อยเรื่องมาก”

 

ต้องบันทึกไว้ในอีกหน้าประวัติศาสตร์วงการสีกากี

นายตำรวจหญิงเจริญก้าวหน้าในงานนักสืบจนได้รับความไว้วางใจให้คุมขุมกำลังนอกเครื่องแบบของโรงพัก

...หญิง โสพิศ  พิศพรรณ กลายเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับการแต่งตั้งขึ้นเป็นรองผู้กำกับการสืบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี รับผิดชอบภารกิจคลี่คลายคดีในพื้นที่เทียบเท่าตำรวจผู้ชาย

นับเป็นการท้าทายที่ตัวเองไม่หวาดหวั่นและพร้อมจะลุยทำงานตามหน้าที่ให้ดีที่สุด

สมกับที่ผู้บังคับบัญชา โยนการบ้าน ช่วยสร้างตำนานบทใหม่เป็น ต้นแบบ ของเหล่านายตำรวจหญิงในอนาคต

 

คนชาวอำเภอท่าศาลา คว้าปริญญารัฐศาสตร์เข้าตำรวจ

ประวัติชีวิตของนายตำรวจสาวมาดทะมัดทะแมง ไม่มีทีท่านุ่มนิ่มอ่อนแอ ไม่แพ้ผู้ชายอกสามศอก เป็นชาวอำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช อยู่กับยายตั้งแต่เด็ก จบประถมโรงเรียนวัดยางงาม ตำบลท่าขึ้น อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มัธยมศึกษาตอนต้น โรงเรียนท่าศาลาประสิทธิ์ศึกษา อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช เข้าต่อแผนกบัญชี วิทยาลัยอาชีวศึกษานครศรีธรรมราช ก่อนเบนเข็มหันเข้าสมัครสอบโรงเรียนนายสิบตำรวจที่เปิดรับวุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพไปทำหน้าที่สายธุรการ

           เหตุผลเพราะพี่ชายเป็นตำรวจสังกัดตำรวจท่องเที่ยว สอบติดบรรจุเป็นลูกแถวฝ่ายปฏิบัติการที่ 2 กองบังคับการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ทำหน้างานธุรการตรงตามสายที่ประกาศรับ แต่เป็นผู้ช่วยพนักงานสอบสวน แม้ไม่ได้จบกฎหมาย ทว่าได้ช่วยพิมพ์สำนวน ทำให้อ่านกฎหมายไปในตัว ก่อนลงเรียนต่อคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแห่งเพิ่มเติม

ใช้เวลาเพียง 3 ปีครึ่งได้วุฒิปริญญาตรีแล้วทำเรื่องขอย้ายกลับถิ่นเกิด เพราะตั้งใจจะมาดูแลยาย เป็นผู้บังคับหมู่ตำรวจภูธรภาค 8 และพยายามมุมานะสอบเลื่อนเป็นสัญญาบัตรอยู่หลายรอบ ประมาณ 2-3 ปี โยกเข้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษของตำรวจภูธรภาค 8 เป็นผู้หญิงคนแรก แต่ต้องผ่านการอบรมหลักสูตรชัยยะ และจบกฎหมาย 3 ตัวที่ลงเรียนมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราชไว้ด้วย

 

สังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษภาค 8 แผดรัศมีมีดีขึ้นเป็นสารวัตรธุรการ

ทำให้เธอมีคุณสมบัติครบถ้วนในการทำงานสายป้องกันปราบปราม และย้ายอยู่หน่วยปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 8  ยุค “รณพงษ์ ทรายแก้ว” เป็นหัวหน้าคุมทีม “ที่ขอย้ายมาอยู่หน่วยปฏิบัติการพิเศษอาจด้วยทักษะของตัวเองเป็นนักกีฬามาก่อน เป็นนักกรีฑาของจังหวัด สมัยเรียนประถม มัธยม ลงแข่งกีฬาระดับจังหวัดแล้ว ถึงมั่นใจว่า ร่างกายพร้อมมากกว่าตำรวจหญิงคนอื่น เป็นเหตุให้ไปฝึกหลักสูตรชัยยะที่ผู้หญิงส่วนใหญ่ไม่ชอบ เพราะตัวดำ ทำไปทำมาเริ่มรู้สึกว่า ชอบทางนี้” พ.ต.ท.หญิง โสพิศเล่าเรื่องราวในอดีต

“หลังจากนั้นไปเรียนยิงปืนเพิ่ม อะไรที่ผู้ชายเรียน เราเรียนหมด ตอนนั้นไม่โดนมองว่า แปลก อาจจะด้วยบุคลิก อาจจะว่า เราวิ่ง เราแข็งแรงอยู่ เวลาฝึกก็ฝึกเท่าผู้ชายเลย ฝึกเหมือนกับผู้ชายทุกอย่าง ไม่ได้สิทธิพิเศษอะไร  คิดไปช่วยที่ภูธรภาค 9 ใน  3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เหมือนกัน แต่ว่ามี จับสลากเพื่อความยุติธรรม เลยไม่โดน”

สังกัดหน่วยปฏิบัติการพิเศษนาน 2 ปี ไขว่คว้าดาวประดับบ่าเป็นนายตำรวจสัญญาบัตรสำเร็จ ลงตำแหน่งรองสารวัตรธุรการ สถานีตำรวจภูธรพูนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปช่วยหน้างานป้องกันปราบปราม จนได้เลื่อนขึ้นสารวัตรธุรการที่เดิม เจ้าตัวว่า เลือกทำงานสายธุรการเนื่องจากสอบสายอื่นไม่ได้ เพราะไม่ได้จบนิติศาสตร์ เรียนแค่รัฐศาสตร์กับกฎหมาย 3 ตัว อย่างดีสุดอยู่ได้สายป้องกันปราบปราม มองว่า สายอำนวยการง่ายกว่าและเหมาะสำหรับตัวเรา

ตามผู้เป็นนายนั่งหัวหน้าสำนักงาน รับบทครูฝึกกองร้อยน้ำหวาน

พ.ต.ท.หญิง โสพิศเล่าต่อว่า เป็นสารวัตรธุรการโรงพักพูนพินสักพัก ย้ายเป็นสารวัตรอำนวยการ กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในจังหวะที่เจ้านายเก่าอย่าง พล.ต.ต.อภิชาติ บุญศรีโรจน์ ย้ายไปขึ้นผู้บังคับการ ถูกเรียกไปช่วยเป็นหัวหน้าสำนักงาน ตลอด 5 ปี อยู่ฝ่ายอำนวยการมาตลอด แต่ได้ทำงานเกี่ยวกับกองร้อยน้ำหวานของตำรวจภูธรภาค 8 เป็นผู้บังคับกองร้อยช่วยฝึกกำลังพลตำรวจหญิง

จะว่าไปแล้วเธอได้ชื่อเป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปรามคนแรกของโรงพักด้วยซ้ำตอนสมัยอยู่พูนพิน เนื่องจากไม่มีหลักเกณฑ์ห้ามตำรวจหญิงคุมงานสายป้องกันปราบปราม แม้ไม่ได้คุมกำลังเต็ม 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ได้ทำหน้าที่คุมงานมวลชนสัมพันธ์ พบปะชาวบ้าน เหมือนเป็นพี่เลี้ยง เพราะถนัดด้านการบรรยายให้ความรู้

ทำงานให้ พล.ต.ต.อภิชาติ บุญศรีโรจน์ จนเจ้านายเกษียณอายุราชการ เธอยังคงทำหน้าที่รับผิดชอบเรื่องของมวลชนสัมพันธ์ ได้ไปอบรมจิตอาสา  904 หลักสูตรประจำ รุ่นที่ 5/63 “เป็นเบ้า เป็น แม่พิมพ์”   ทบทวนฝึกยุทธวิธีไปแข่งยิงปืนที่หนองสาหร่าย จังหวัดนครราชสีมา ได้เหรียญบ้าง ไม่ได้บ้าง ก่อนเลื่อนชั้นเป็นวิทยากรต้นแบบของครูแดร์  D.A.R.E. (Drug Abuse Resistance Education) ตามโครงการศึกษาเพื่อต่อต้านการใช้ยาเสพติดในเด็กนักเรียน

ลุยอบรมงานป้องกันยาเสพติด พบปมปัญหาถึงพิษภัยของยานรก

ระหว่างเดินสายอบรมเด็กนักเรียนให้มีความรู้ป้องกันตัวเองจากพิษภัยของยาเสพติด พ.ต.ท.หญิง โสพิศ มีความเห็นว่า ปัญหาเรื่องยาเสพติดในพื้นที่หนักมาก  เราลงมาอยู่ตรงนี้ เหมือนเราได้มาสืบสวนหาข้อมูล  ถึงรู้ว่า กระบวนการค้ายาเสพติด การที่เราเน้นจับกุมไม่ได้ช่วยอะไรนัก  เพราะว่าคนที่ถูกจับก็คนเดิมทั้งนั้น หน้าเดิมๆ เราจำได้หมดแล้ว

“เราจำได้ว่า คนนี้เอาประวัติมา เราทำขึ้นบัญชีไว้เป็นบุคคลพ้นโทษในเรื่องคดียาเสพติด เราทำไว้ โน่นนี่นั่น สรุปแล้วเป็นคนเดิมหมดที่กลับมาทำซ้ำ ถามว่า ทำไมกลับมาอยู่วงจรเดิม เขาก็บอกว่า ไม่มีอะไรทำ  กลับมาทำยาเสพติดอีก มันไม่เหนื่อย เรามีความรู้สึกว่า การที่พวกเขาเข้าไปอยู่ข้างในคุก ไม่ได้ลำบาก ในความคิดของพวกเขา คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่ได้ตกใจ ไม่ได้กลัว  มันธรรมดา เดี๋ยวก็ออกมาเสร็จ ไม่ได้คิดจะทำอะไรอย่างอื่น ก็หวนคืนวงการแถม เครือข่ายใหญ่กว่าเดิมอีก เพราะว่าไปรู้จากคนข้างใน”

นายตำรวจสาวเชื่อว่า วิธรการแก้ปัญหาต้องเน้นเรื่องของเยาวชน เน้นในเรื่องจากฐานเล็กๆ จากเด็กๆ ก่อน คิดว่า ต้องเริ่มจากงานมวลชนสัมพันธ์ เริ่มจากงานป้องกัน แม้เราเป็นฝ่ายสืบ แต่เราก็ทำด้านป้องกันไว้ด้วยได้ ทำควบคู่กันไปในตัว ที่ผ่านมาถึงเน้นเรื่องการป้องกันกับเยาวชนในสถานศึกษา ถ้าเด็กคิดได้จะสามารถพัฒนาตัวเอง โดยที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด จะไม่เกิดอะไรแบบนี้

ไม่คิดจะก้าวเป็นรองผู้กำกับสืบสวน ชวนให้ตัวเองต้องรับผิดชอบมากขึ้น

เธอยอมรับว่า สาเหตุการแพร่ระบาดของยาเสพติดสู่เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่มีปัญหามาจากครอบครัวเป็นสำคัญ ถ้าครอบครัวมีปัญหาจะแก้ยาก เหมือนกับครอบครัวที่พ่อแม่ติดยา สภาพแวดล้อมอย่างนั้น บางทีดูแล้ว ไม่รู้จะช่วยอย่างไร บางทีการแก้ปัญหายากพอสมควร

ปัจจุบัน พ.ต.ท.หญิง โสพิศกำลังลงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมในเอกจิตวิทยา มหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต ด้วยความหวังจะเอาจิตวิทยาที่ร่ำเรียนมาใช้การอบรมเด็กและเยาวชน แต่ต้องดรอปไว้ก่อนเนื่องจากไม่มีเวลาหลังจากเรียนได้ปีเดียว ถูกคำสั่งย้ายขึ้นเป็นรองผู้กำกับการสืบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ความรับผิดชอบมากขึ้น

สำหรับเส้นทางการเจริญเติบโตในชีวิตราชการเธอบอกว่า ครบหลักเกณฑ์พอดีขึ้นรองผู้กำกับ ไม่ได้โดนทาบทามก่อนหน้า ในใจไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าจะได้มาเป็นรองผู้กำกับการสืบสวน คิดว่า ตัวเองน่าจะอยู่ฝ่ายอำนวยการ หรือฝ่ายป้องกันปราบปราม ด้วยเพราะเราอาจโตมาจากสายนี้ ทั้งนี้ทั้งนั้นขึ้นอยู่กับผู้บังคับบัญชาคงอยากให้เราไปเรียนรู้งานที่ต่างออกไปจากที่เคยทำอยู่ อาจมีมุมมองใหม่

ยอมรับตอนแรกสงสัยพิมพ์คำสั่งผิด ผู้ใหญ่ไม่ยึดติดถึงวางใจให้มุมมองใหม่

“ตกใจนะคำสั่งออกมาตอนแรก คิดว่า พิมพ์ผิด ดูจากแอปพลิเคชันแทนใจ ก่อนคำสั่งจะคลอดออกมาเป็นทางการ ยังไม่แน่ใจว่าพิมพ์ผิดไหม  เพราะปกติไม่มีผู้หญิง แต่นายบอกว่า  เรามีคุณสมบัติครบ เพราะกฎเกณฑ์การแต่งตั้งไม่ได้ระบุอยู่แล้วว่า เป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย ผู้ใหญ่เห็นคุณสมบัติแล้วว่า เราทำได้ ก็ทำได้ แต่เรามีข้อดีในส่วนที่ว่า เราไปอยู่สืบสวน คอนเน็กชั่นเราเยอะ” นายตำรวจหญิงตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวนคนแรกของประเทศว่า

“การทำงาน ถ้าเราซัพพอร์ตลูกน้องได้ เรามีคอนเน็กชั่น เพราะว่า เราอยู่กับนาย อยู่สำนักงาน ในจังหวัดสุราษฎร์ธานีทุกหน่วย เราประสานได้หมด ทำให้ทำงานง่าย อย่างจะขอชุดมาตรวจฉี่ ตรวจอะไรไปขอสำนักงานคณะป้องกันและปราบปรามยาเสพติดได้ มันดีสำหรับเรา ได้ปช่วยซัพพอร์ตงานของลูกน้อง บางเรื่องเราไม่จำเป็นต้องลงไปเอง ลูกน้องเก่งอยู่แล้ว  แต่ละคนเก่งไม่เหมือนกัน บางคนชำนาญเรื่องทางอากาศ บางคนทางด้านเดินดิน เพราะอยู่มานานแล้วหลายปี หลับตาก็รู้แล้ว บ้านนี้มีกี่คน มีใครบ้าง เครือข่ายเป็นอย่างไรรู้หมด เราแทบจะไม่ต้องอะไร แค่ฟังจากลูกน้อง แล้วให้คำแนะนำไปในบางเรื่อง ที่เรารู้จากที่อื่น”

การทำงานของเธออธิบายว่า คุยกับลูกน้องทุกวัน ไม่มีปัญหาอะไร ลูกน้องมีหลายระดับ มีหลายอายุนะ มีอายุยังเด็ก อายุมาก แก่จะเกษียณก็มี เกือบทุกคนมีความรู้ในเฉพาะตัว เราเข้าไปใหม่  ต้องเรียนรู้จากลูกน้องที่อยู่มาก่อน เหมือนนับจากศูนย์ แต่พอไปอยู่กับลูกน้อง เราก็ได้ความรู้เยอะ เป็นประสบการณ์ที่ดีกับการที่ได้มาอยู่ตรงนี้

 

เปิดอกคุยกัลูกน้องได้ทุกเรื่อง เป็นฟันเฟื่องประสานได้ทุกฝ่าย

รองผู้กำกับการสืบสวนแดนสะตอยังบอกว่า สิ่งที่ลูกน้องไม่ชอบที่สุด คือ การที่จะต้องไปประสาน ไปประชุม หรือการที่จะต้องไปชี้แจงกับนาย ไม่ใช่นิสัยนักสืบ ข้อดีของเรา คือ กล้าจะคุยกับนาย มีปัญหาอะไร เราซัพพอร์ตลูกน้องได้หมด เรารับผิดชอบได้หมด ไม่ได้รับชอบอย่างเดียว ต้องรับผิดด้วย ในส่วนที่อันไหนก็ตาม เราต้องรับผิดชอบทั้งหมด ไม่ว่าจะดี หรือไม่ดี คิดว่า เป็นจุดแข็งของตัวเอง คือ การที่เราสามารถที่จะซัพพอร์ตลูกน้องได้ ในทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะอะไร

“ ปัญหาเรื่องอะไรก็ตาม เราจะรับรู้ แล้วคุยกันหมด สารภาพว่า แบกความกดดันเหมือนกัน ตอนแรกรู้สึกกดดันที่คำสั่งออก ทุกคนจะคิดว่า เราจะทำได้ไหม เพราะว่า รองผู้กำกับการสืบสวนยากนะ ต้องอยู่กับลูกน้องผู้ชายแต่คนที่อยู่ที่สุราษฎร์ธานี รู้ว่า เราอยู่ได้ ตำรวจสุราษฎร์ธานีรู้อยู่แล้วว่า เราจะไม่ใช่แบบเป็นผู้หญิงจ๋าขนาดนั้น เราอยู่แบบแมนๆ กับผู้ชายไม่ค่อยเรื่องมาก  ไม่ค่อยจู้จี้จุกจิก เหมือนผู้หญิงทั่วไป น่าจะคุยกันง่าย ตำรวจที่บ้านตาขุนก็รู้จักและเคยร่วมงานกันอยู่แล้ว ทั้งผู้กำกับ รองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม รองผู้กำกับการสอบสวนก็เคยทำงานร่วมกันหมด  ไม่มีปัญหาในการทำงาน”

พ.ต.ท.หญิง โสพิศขยายความเพิ่มเติมว่า โรงพักบ้านตาขุน เป็นโรงพักเล็ก กำลังพลไม่เยอะ สามารถช่วยกันได้ ตราบใดที่โรงพักมัวแต่เกี่ยงกันว่า งานนี้เป็นของฝ่ายสืบสวน ฝ่ายป้องกันปราบปราม ฝ่ายสอบสวนคงไม่รอด เพราะบางเรื่องเกี่ยวเนื่องกัน อย่างสืบสวนก็ต้องไปช่วยงานป้องกันปราบปราม เช่นงานมวลชนสัมพันธ์ที่เราถนัด และมีทักษะได้ด้านนี้ ตามเข้าไปพบปะหมู่บ้าน หรือหากกำลังสืบสวนไม่พอก็ขอกำลังฝายป้องกันปราบปรามมาเสริมได้เหมือนกัน ต้องประสานงาน ต้องบริหารให้ได้ ไม่ใช่ต่างคนต่างโชว์

 

ปิดคดีฆ่าทุบหัวหมกบ้าน ควานหาหลักฐานรวบผู้ต้องหาได้ทันควัน

นั่งเก้าอี้คุมงานสืบสวนโรงพัก เจ้าตัวเล่าว่า คดีในพื้นที่ค่อนข้างน้อย เวลามีเหตุจะไปทำงานร่วมกับ เหมือนคดีฆ่าทุบหัวหมกบริเวณบ้านไม่เลขที่ ตำบลเขาวง อำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี ลูกน้องรับแจ้งเหตุก็ประสานมายังเราเข้าพื้นที่ดูสถานที่เกิดเหตุ รวบรวมพยานหลักฐาน ไล่เก็บกล้องวงจรปิด ถือว่า ทำงานกันรวดเร็ว เราได้ลงที่เกิดเหตุสอบปากคำพยานแวดล้อม ประสบการณ์สืบสวนครั้งแรกถือว่าดี แต่มีปัญหาตรงพยานบุคคลไม่มี เราต้องรวบรวมหลักฐานรายงานการสืบสวนเพื่อพิสูจน์ทราบผู้ต้องสงสัยให้พนักงานสอบสวนทำเรื่องขอศาลออกหมายจับ

พ.ต.ท.หญิง โสพิศว่า ต้องเก็บหลักฐานหลายอย่างเอามาเชื่อมโยงกัน ได้ตัวคนร้ายตั้งแต่วันแรก ทำให้คิดว่า งานสืบสวนสนุกเหมือนกัน สนุกกว่างานป้องกันปราบปราม แต่จำเป็นต้องเพิ่มองค์ความรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองและทีมงานเกี่ยวกับการรับแจ้งความคดีออนไลน์ที่กำลังเข้ามาเกี่ยวข้องใกล้ตัวประชาชนมากขึ้น  ศึกษาแนวการสืบสวนทางอากาศ การตามรอยบัญชีม้า การทำฐานข้อมูล บางทีตำรวจช้า คนร้ายย้ายเงินถ่ายบัญชีเปลี่ยนเส้นทางการเงินไปหมดแล้ว

เธอให้เครดิตทีมงานสืบสวนว่า โชคดีมีสารวัตรสืบสวน 3 คนเก่งในด้านการสืบสวนทางอากาศ เก่งด้านเทคโนโลยี มีนายดาบตำรวจ 2 คนเก่งพื้นที่ ได้ผู้หมวดชำนาญในเรื่องของการประมวล การเขียนรายงาน เสนอขอหมายจับ หมายค้น สรุปเรามีทีมงานเก่งกันคนละเรื่อง ทำให้เราได้ศึกษาจากเขา บางเรื่องเราก็แนะนำบ้าง  ทุกคนเชื่อมั่นในตัวเราว่า เราทำงานได้ อาจเพราะเคยอยู่ด้วยกันมา อีกอย่างที่โชคดี คือ เราได้ลงเมืองเล็ก โรงพักเล็ก คดีส่วนใหญ่เป็นคดีเล็กๆ คดีธรรมดา ไม่ซับซ้อนมาก

หวังทำประโยชน์ในทุกตำแหน่ง แถมชอบแบ่งเวลาไฝ่หารสพระธรรม

ถามถึงอนาคต พ.ต.ท.หญิง โสพิศตอบว่า ยังไม่ได้วางไว้ แค่ทำแต่ละวัน แต่ละจุดที่เราอยู่ให้ดีที่สุด ทำตัวเราให้เกิดประโยชน์ในจุดที่เราอยู่ให้ดีที่สุด แค่ไหนก็แค่นั้น ส่วนเราไปอยู่ตรงไหน เราทำตรงนั้นให้เป็นประโยชน์กับที่เราอยู่ตรงนั้นให้มากที่สุด ไม่ได้คิดอะไรเยอะ  “ไม่ได้คิดว่าตัวเองจะต้องมาถึงขนาดนี้ จริงๆ ทำมาตั้งแต่เด็กแล้ว มีความรู้สึกว่า แค่มีอาชีพ มีเงินเดือน มั่นคงก็พอแล้ว จากตอนแรกพอใจแค่ชั้นประทวน ไม่คิดก้าวมาจนจบปริญญา แล้วต้องใช้ปริญญาให้เกิดประโยชน์ เลยไปสอบ แล้วพอสอบได้ก็ทำทุกหน้าที่ให้มันดี”

เธอยืนยันว่า ไม่คิดต้องเลือกนาย อยู่ตรงไหนเราก็ทำ ใครใช้อะไรมาไม่เคยปฏิเสธ กับชาวบ้านเราก็ทำ อาจเพราะว่า เราถูกสอนมาแบบนี้ ให้เราเป็นจิตอาสามาตั้งแต่เด็ก ๆ เลยไม่ค่อยมีปัญหากับใคร ไม่มีปัญหากับผู้บังคับบัญชา ไม่มีปัญหากับลูกน้อง ไม่มีปัญหากับรุ่นพี่ ชีวิตอยู่ง่าย เป็นคนที่เรียกว่า ไม่ก่อปัญหากับตรงที่เราอยู่แค่นั้น  พยายามที่จะช่วยคนอื่น เท่าที่เราช่วยได้ อาจเพราะเราถูกฝึกมาให้เป็นแบบนั้นตั้งแต่เด็ก แบบที่ยายสอนมาให้เป็นจิตอาสา ตั้งแต่อายุ 10 ขวบ

ขณะเดียวกัน นายตำรวจสาวนักสืบยังซึ้งในรสพระธรรม อาศัยเวลาว่างไปบวชเป็นภิกษุณีห่มเหลืองปฏิบัติธรรมถึงดินแดนศรีลังกา  และอีกหลายที่ 4 ครั้งแล้ว ครั้งละ  15 วัน ตั้งแต่ครั้งแรกที่เกาะยอ สงขลา ก่อนนุ่งขาวห่มขาวที่สวนโมกข์ แล้วข้ามไปอินเดีย และศรีลังกา ทำให้จิตใจสงบ เป็นคนไม่ใจร้อน ไม่อยากได้ อยากมี ทำให้เป็นคนที่ไม่ต้องจะไปทะเลาะกับใคร หรือต้องมีปัญหากับใคร บางเวลาจะค่อนข้างจะเด็ดเดี่ยว ไม่กลับไปกลับมา พูดคำไหน คำนั้น ทุกคนจะมีความเกรงใจ มีความกลัว แต่ยังมีความอ่อนโยนอยู่ส่วนหนึ่ง  เก็บเวลาลาพักผ่อนเพื่อเอาไปใช่ในการปฏิบัติธรรม

 

ยืนยันความเป็นผู้หญิงไม่ใช่อุปสรรค พร้อมปักหมุดลงพื้นที่พร้อมทีมงาน

ย้อนไปถึงหลักการทำงานในตำแหน่งรองผู้กำกับการสืบสวน นายตำรวจหญิงมากความสามารถแจงว่า ความที่เป็นผู้หญิงไม่ใช่ปัญหากับการมาทำงานตรงนี้ สามารถที่จะออกไปไหนกับลูกน้องได้หมด  ตอนเช้า มาเจอกันแล้วก็คุยกันว่า จะออกกันไปลงพื้นที่เก็บข้อมูลตรงจุดไหน อะไร อย่างไร ถ้าจุดไหนที่ลำบาก  อันตรายไป ลูกน้องจะเซฟ ไม่อยากเป็นภาระ เราก็เข้าใจ  แต่จุดไหนที่ไม่ได้หนักเกินไป เราจะออกกับลูกน้อง เพราะต้องการเรียนรู้พื้นที่ เรียนรู้การทำงาน

“เราจะนั่งมองอย่างเดียว บางทีไม่ใช่นะ เราต้องไปดูพื้นที่ ไปกับลูกน้อง เหมือนกับงานที่ไม่เสี่ยง เราจะทำเองหมด อาทิ  เก็บดีเอ็นเอ ตรวจเยี่ยมบุคคลพ้นโทษ  บางทีลูกน้องไปจะหนีกันหมด  คือพวกนี้กลัว  ถ้าเราไปด้วยจะบอกว่า ไม่ต้องหนี ไม่ต้องวิ่ง  แค่ไปเก็บดีเอ็นเอบุคคลพ้นโทษ ไปตรวจเยี่ยมในรายเดือน ตามกำหนดว่า ให้เราเยี่ยมกี่ครั้ง ต้องเก็บฐานข้อมูลไว้ ทำให้เราได้รู้จักพื้นที่มากขึ้น” พ.ต.ท.หญิง โสพิศว่า

“ทำแบบนี้กับลูกน้องก็ไม่มีปัญหา เพราะเราค่อนข้างจะใส่ใจในเรื่องของการทำงาน เรื่องปัญหาก็คุยกันทุกวัน ใครมีปัญหาอะไรอย่างไร เรื่องส่วนตัวก็คุยกันได้ บางคนลูกติดโควิด เมียติดโควิด เราจะให้เขาพักงานเลย ให้กลับไปอยู่ดูแลครอบครัว  เพราะสามารถที่จะหมุนเวียนกำลังกันได้ แม้กำลังจะน้อย แต่ทำงานร่วมกัน ไม่มีการจะต้องแก่งแย่งกัน  เดินไปด้วยกัน”

แบกตำรวจหญิงทั้งประเทศ ขึ้นรับโล่รางวัลพิเศษมากมาย

รองผู้กำกับการสืบสวน สถานีตำรวจภูธรบ้านตาขุนยังระบุว่า กับชาวบ้านได้รับการตอบรับค่อนข้างดี รู้จักกันหมด อาจเพราะเราเป็นผู้หญิง นี่คือ ข้อดีของเรา เวลาไปลงพื้นที่ไหน ชาวบ้านจะบอกว่า คนนี้รองผู้กำกับเพิ่งมาใหม่  เวลาเราไปคุย ไปประชุม คุยเรื่องโน้นเรื่องนี้ ขอความร่วมมือจะให้เราได้เยอะกว่าที่ผู้ชายไปคุย  เป็นข้อได้เปรียบ พอผู้หญิงอย่างไรไปคุย เช่นตอนขอการเก็บปลอกอาวุธปืนไปตรวจ จู่ ๆ จะไปขอชาวบ้านบางทีไม่ยินยอม อ้างว่า ไม่ได้ทำผิดอะไร แต่เราต้องเก็บเป็นฐานข้อมูลไว้ สุดท้ายชาวบ้านยอม

“ที่บ้านตาขุน  อาจเป็นเพราะโรงพักเล็ก เหมือนอยู่กันเป็นครอบครัว ไม่มีผลประโยชน์ และเรามาอยู่ไม่ได้คิดถึงผลประโยชน์ เราทำงานด้วยความมั่นใจเลยไม่ต้องกลัวอะไร อยู่ด้วยความสุขใจ ไม่ต้องมาพะวง หรือกังวล แค่ไปทำงานตามที่ได้รับมอบหมา เราแบกตำรวจหญิงทั้งประเทศไว้เหมือนกัน ดีที่หลายคนเชื่อมั่นในตัวเรา  เพราะเราค่อนข้างจะเป็นผู้นำในการทำอะไรต่างๆ ในส่วนของตำรวจหญิงตั้งแต่ยังเป็น ร.ต.ต.”

เจ้าตัวรับว่า แบกความหวังไว้ ด้วยความเป็นผู้หญิงจะโดนเพ่งเล็ง ผู้บังคับบัญชาจะถามตลอดเวลามีประชุมจะเรียกหาว่า ไหนรองผู้กำกับสืบสวนหญิง กลายเป็นว่า เราไปไหนไม่ได้ ต้องทำการบ้าน ทำข้อมูล ต้องรู้ทุกเรื่องถึงไม่ได้ทำก็ต้องรู้ทุกหน้างานของโรงพัก สามารถตอบคำถามได้ในที่ประชุม ทั้งนี้ชีวิตรับราชการเธอยังได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณจำนวนไม่น้อยเกือบทุกปี ทั้งงานป้องกันปราบปรามดีเด่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เป็นข้าราชการพลเรือนดีเด่นปี 2562 ในฐานะทำงานมวลชนเรื่องการป้องกันปัญหายาเสพติดในสถานศึกษาร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข และล่าสุดรางวัลป้องกันยาเสพติดดีเด่นของสำนักงานตำรวจแห่งชชาติเมื่อวันตำรวจปี 2565  รวมถึงข้าราชการดีเด่นต้นแบบของมูลนิธิบุณยะจินดาเพื่อข้าราชการตำรวจและครอบครัวประจำปี 2565

 

 

 

RELATED ARTICLES