ก้าวขึ้นขยับรับ “ไม้อำนาจ” ต่อจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข
ทำให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ถูกบันทึกเป็น “แม่ทัพลักกี้นัมเบอร์” ในประวัติศาสตร์สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
รับบท “พิทักษ์ 1” ขับเคลื่อนองค์กรตำรวจที่มีกำลังพลกว่า 200,000 ชีวิต
นับเวลากับนาฬิกาเดินชีวิตบน “บัลลังก์สูงสุด” ของหน่วยผู้พิทักษ์สันติราษฎร์เพียงปีเดียว ท่ามกลางความคาดหวังที่มุ่งพาหน่วยไปในทิศทางใด
ตอบแทนความไว้วางใจที่ได้รับมอบหมายมาทำหน้าที่ในตำแหน่งสำคัญดีมากน้อยแค่ไหน
หมายมั่นเรียนเตรียมอุดมศึกษา ทำไปทำมาเข้ารั้วเตรียมทหาร
เส้นทางของแม่ทัพคนใหม่เริ่มปฐมบทจากคนจังหวัดแพร่เกิดในครอบครัวทำธุรกิจส่วนตัว เรียนชั้นประถมปีที่ 1-4 โรงเรียนเด่นชัยวิทยา ไปต่อประถมปีที่ 5 -7 โรงเรียนวัดเมธังกราวาส(เทศรัฐราษฎร์นุกูล) 39 โรงเรียนประจำจังหวัดที่มีชื่อเสียงในบ้านเกิด แล้วเข้ากรุงเทพฯ ไปต่อมัธยมโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ด้วยความใฝ่ฝันอยากมุ่งหมายไปต่อโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา
“ไม่เคยคิดไปเป็นตำรวจทหาร ไม่ได้วางแผนเข้าโรงเรียนเตรียมทหาร นักเรียนบดินทรเดชาทุกคนส่วนใหญ่อยากไปต่อเตรียมอุดมศึกษา เพราะเป็นพระเกี้ยวเหมือนกัน ไปกวดวิชาเพื่อเข้าสอบ ปรากฏว่า โรงเรียนเตรียมทหารเปิดรับสมัครก่อน พ่อเพื่อนเป็นทหารอากาศซื้อใบสมัครมาให้ไปสอบด้วย ขับรถพาไปด้วย คิดว่าดูเชิงก่อน ได้ถึงเห็นเครื่องแบบขายาวแล้วเท่ดี ชักเริ่มเปลี่ยนใจ” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ย้อนอดีต
สุด้ายตัดสินใจสอบติดทั้งเตรียมทหารและเตรียมอุดมศึกษา ถึงทางแยกต้องเลือกมอบตัว โรงเรียนเตรียมทหารกำหนดก่อน เขาเลือกไปเตรียมทหารเป็นรุ่นที่ 22 “เข้าไปแล้วไม่เหมือนอย่างที่คิด เจอซ่อมหนัก ลังเล แต่จะออกก็ไม่ได้เดี๋ยวจะโดนดูถูกว่าใจไม่สู้ ไหน ๆ แล้วก็ต้องเลยตามเลย คิดจะเข้าเป็นทหารอากาศด้วย พอดีระหว่างเรียนมีการเช็กสายตา รู้ว่าเริ่มสั้น ถ้าสายตาสั้น เป็นนักบินไม่ได้ อนาคตของทหารอากาศคงไปไม่ไกลแน่ ไม่มีประโยชน์”
สลับมาเลือกเหล่าสามพราน ทำคะแนนทะยานเป็นอันดับ 2 ของรุ่น
ชีวิตถึงพลิกมาสวมเครื่องแบบสีกากีเลือกเข้าเหล่านายร้อยสามพราน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ให้เหตุผลครั้งนั้นว่า ดูจากบุคลิกตัวเอง นิสัยตัวเอง คงจะต้องไปเป็นตำรวจ แม้จริงๆ ชีวิตไม่เคยคิดอยากเป็นตำรวจ ไม่เคยคิดจะเข้าเตรียมทหารเลยด้วย หากพ่อของเพื่อนไม่แกมบังคับให้ลูกมาสอบ ประจวบเหมาะได้คะแนนดีในกลุ่มนักเรียนเตรียมทหารได้สิทธิเลือกเหล่าก่อนถึงมาเป็นนายร้อยตำรวจรุ่น 38
สอบได้คะแนนดีเป็นอันดับ 2 ของรุ่นตามหลัง พล.ต.อ.ปิยะ อุทาโย เพื่อนที่ได้ลำดับ 1 เขาเลือกลงเป็นรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน สถานีตำรวจนครบาลพลับพลาไชย 2 แต่รู้สึกไม่ใช่อารมณ์ตัวเองกับการต้องอยู่ในกรอบ กระทั่งมีโอกาสไปเรียนปริญญาโทรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยซิตี้ ประเทศสหรัฐอเมริกา ตามค่านิยมนายตำรวจสมัยนั้น
สำเร็จกลับมาดำรงตำแหน่งรองสารวัตรศูนย์ฝึกอบรม กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ ได้เข้าไปทำงานกำลังพลช่วย “สุพร พันธุ์เสือ” นายตำรวจรุ่นพี่ ทำให้ได้ไปรู้จัก พล.ต.อ.สมชาย วาณิชเสนี ขณะนั้นเป็นรองผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ พอขึ้นเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือถึงมีโอกาสไปเป็นนายเวร
ชะตาเกือบผันเป็นนักสืบ ถึงต้องไปสืบความเห็นจากพระ
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์เล่าว่า กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือสมัยนั้นอยู่ชั้นเดียวกับกองกำกับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาลพระนครเหนือที่รวมเหล่านักสืบฝีมือดีมีชื่อชั้นมากมาย ทำให้เห็นการทำงานของนายตำรวจนอกเครื่องรุ่นพี่ อาทิ วีระศักดิ์ บูรพากาญจน์ ภาณุพงศ์ สิงหรา ณ อยุธยา กฤษฎา พันธุ์คงชื่น ประมวลศักดิ์ ศรีสมบุญ โกสินทร์ หินเธาว์ ปรีชา ธิมามนตรี สฤษฎ์ชัย เอนกเวียง บางวันเห็นบางคนมีคราบเลือดติดขึ้นมาบนกองสืบเลย
“เคยคิดเหมือนกันตอนนั้นอยากเป็นนักสืบ ดูแล้วน่าจะมัน แต่กังวลอย่างเดียว เรื่องที่ต้องต่อสู้กับโจรผู้ร้าย เคยไปถามพระใกล้บ้านว่า จะบาปไหมถ้าฆ่าโจร พระท่านบอกว่า โยมไม่ใช่คนแรกที่มาถามอาตมา กระทั่งไปถามรุ่นพี่ว่า จำเป็นไหมที่ต้องโดนรับน้องใหม่ทุกคน คิดดูแล้วไม่ใช่ทางผม ไม่เอาดีกว่า ทั้งที่เห็นรุ่นพี่นักสืบเดินกันเต็มไปหมด แบ่งเป็นซุ้ม เก่ง มีผลงาน สร้างชื่อเสียงให้หน่วยมากมาย”
เมื่อไม่เปลี่ยนเวย์ เขาติดสายขาวเป็นนายตำรวจติดตามจนผู้เป็นนายขึ้นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ไม่มีตำแหน่งว่าง ต้องขยับไปอยู่กับท่านอัยยรัช เวสสะโกศล แล้วขึ้นเป็นสารวัตรตำรวจรถไฟ ก่อนกลับไปเป็นนายเวร พล.ต.อ.สมชาย วาณิชเสนี ตอนดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง จากนั้นลงเป็นรองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม สถานีตำรวจนครบาลบางรัก โยกเป็นนายเวรอีกครั้งตอนผู้เป็นนายนั่งเก้าอี้รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
คว้ารางวัลโรงพักเพื่อประชาชน วนออกนอกภูธรคุมทัพอีสานใต้
ต่อมาขึ้นเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลคลองตัน รับรางวัลป้องกันยาเสพติดดีเด่นของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รางวัลพัฒนาสถานีตำรวจเพื่อประชาชนอันดับ 1 และรางวัลชุดปฏิบัติการชุมชนสัมพันธ์ดีเด่นของกองบัญชาการตำรวจนครบาล 3 ปีซ้อน ถึงขึ้นรองผู้บังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ โยกเป็นรองผู้บังคับการอารักขาและควบคุมฝูงชน ผ่านประสบการณ์ชุมนุมทางการเมืองที่คุกรุ่นในช่วงนั้นบ่อยครั้ง แล้วย้ายออกภูธรครั้งแรกเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญ นำเอาแนวคิดของนครบาลไปปรับใช้ดูแลสถานที่ราชการ ศาลากลางจังหวัดไม่ให้ถูกผู้ชุมนุมบุกเผา
คืนถิ่นนครบาลอีกครั้งเป็นผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ไม่ทันไรอำนาจทางการเมืองเปลี่ยนขั้วต้องขยับเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพะเยา ได้อาวุโสเลื่อนเป็น รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 5 และเป็นผู้บัญชาการสำนักงานกำลังพล เป็นผู้บัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และโยกไปเป็น ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ริเริ่มจัดทำโครงการ “ประชารัฐร่วมใจต้านภัยยาเสพติด (ปักกลด)” 1,472 หมู่บ้าน ให้ตำรวจเข้าไปคลุกคลี แก้ปัญหายาเสพติดร่วมกับชาวบ้านและฝ่ายปกครอง ท้องถิ่น สาธารณสุข ในชุมชนที่มีปัญหาแพร่ระบาดเป็นระยะเวลา 1 เดือนจนกว่าปัญหาคลี่คลายจนได้รับฉายา “เด่นปักกลด” และได้รับรางวัลป้องกันปราบปรามยาเสพติดดีเด่นจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด
นอกจากนี้พลักดันโคงการสร้างสรรค์นวัตกรรมในการลดสถิติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนบนพื้นฐานระบบงานสืบสวนอุบัติเหตุบนท้องถนนใน 8 จังหวัดภาคอีสาน นำมาเป็นตัวอย่างขับเคลื่อนในการลดอุบัติเหตุทางถนนกับทุกจังหวัดในปัจจุบัน “ตอนนั้นลูกน้องก็กังวลว่า ผมจะทำให้พวกเขางานหนักขึ้นไหม ผมก็ขอความร่วมมือว่า ถ้าเราทำงานเรื่องอุบัติเหตุ ถ้าเราไม่มีฐานข้อมูล มันก็ทำไปแบบ ไม่รู้จริง ต้องวิเคราะห์ให้ได้ว่า เวลามีการตาย หรือเจ็บหนักเข้าโรงพยาบาล ควรจะต้องรู้ว่า สาเหตุอะไร จัดแจงขอเงินสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพมาเบี้ยเลี้ยง ผมไม่ให้ทำงานฟรี ช่วยกันลงเคสอุบัติลงในระบบฐานข้อมูล”
วางแนวทางป้องกันอุบัติเหตุ หาสาเหตุเพื่อหยุดความสูญเสีย
อดีตผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 อธิบายว่า พอลงเคสไปเรื่อย ๆ เราจะได้ข้อมูลของสาเหตุของอุบัติเหตุเกิดจากอะไร เช่นการตายเกิดขึ้น 75 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้ใส่เครื่องป้องกันนิรภัย มานั่งคิดว่า ถ้าเราทำให้คนสวมหมวกนิรภัยได้น่าจะจากตายเป็นสาหัส เช่นเดียวกับ อุบัติเหตุขับรถแซง หรือตัดหน้ากระชั้นชิด เราเรียนว่า อีสานถนนตัดใหม่มากขึ้น คนแก่เงอะ ๆ งะ ๆ ออกมาถนนใหญ่แล้วตัดหน้ากระชั้นชิดดังนั้น เราต้องพยายามให้ความรู้กับพวกเขา เหมือนเด็กที่ยังไม่มีใบขับขี่แล้วห้าว ชอบขับรถตอนเมา กลุ่มนี้ที่ต้องไปพยายามไปเตือนเ โดยเฉพาะช่วงเทศกาล พอทำไปทำมา บางจังหวัดเริ่มอิน เอาไปต่อยอดเอง
พอขึ้นเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติเขานำโครงการที่ทำมาต่อยอดให้เป็นรูปเป็นร่างระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติเกี่ยวกับการลงฐานข้อมูลอุบัติเหตุจราจรไปประกอบการวิเคราะห์พิจารณาการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นเพื่อลดการสูญเสียจากอุบัติเหตุบนท้องถนน และมีอำนาจความชอบธรรมในการตั้งด่านตรวจป้องปรามให้เป็นระบบมากขึ้นในช่วงเทศกาล
“จากการเก็บข้อมูลมาแต่ละปีพบว่า อุบัติเหตุของการตายของ 7 วันอันตราย เกิดจากคนในพื้นที่ส่วนใหญ่ ไม่ใช่นักท่องเที่ยว ตั้งแต่เมาขี่มอเตอร์ไซค์ ฉะนั้น ถ้าตำรวจให้ทุกคนมีจิตสำนึก ถ้าเมา อย่าขี่ และควรสวมหมวกกันน็อกตลอดเวลา พยายามให้ชาวบ้านกลัวเกรงกฎหมาย การตายตรงนี้จะลดลง ต้องเรียนรู้จัดระบบได้ใน 365 วัน แล้วช่วง 7 วันจะดีเอง มีการมอบโล่รางวัลระดับภาค ระดับจังหวัดที่ตัวเลขความสูญเสียน้อย เพื่อให้ทุกหน่วยตื่นตัวขึ้นด้วย”
สร้างชื่อโครงการปักปลด ลงตัวลงไปหาข่าวตามชุมชน
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ยังเล่าถึงโครงการปักกลดที่เป็นผลงานสร้างชื่อติดตัวมาสมัยเป็นผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ว่า บังเอิญทราบว่า พล.ต.ท.อำพล บัวรับพร สมัยเป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดชลบุรี เริ่มทำโครงการที่โรงพักบ่อวิน เราส่งตำรวจไปดูงาน แต่รู้แนวทางอยู่แล้ว เพราะสมัยเป็นผู้กำกับการสถานี
ในยุคประกาศสงครามกับยาเสพติด ท่านสุรศักดิ์ สุทธารมณ์ เป็นรองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลจะเน้นให้ตำรวจเข้าไปหาชุมชนทุกอาทิตย์แล้วส่งภาพมา
เจ้าตัวบอกว่า เมื่อลงพื้นที่ตามชุมชนเราจะเห็นหมดว่าปัญหามีเยอะ มีคนมาฟ้องเรื่องยาเสพติด สารภาพว่า ตอนนั้นไม่เต็มใจลงเยี่ยมชุมชน เพราะเหมือนโดนบังคับ พอลงเก็บข้อมูลไปคุยผู้นำชุมชมชน ระหว่างจะกลับมาการถ่ายรูปกัน มีชาวบ้านคนหนึ่งมองด้วยสายตาแปลก ๆ เราก็ถามว่า มีอะไรหรือเปล่า คนนั้นสงสัยว่า เราทำจริงหรือไม่ หรือแค่มาถ่ายรูปโชว์นายว่า มาแล้ว ก่อนหายไป จุดประกายให้เราเห็นมุมมองของชาวบ้านว่า ต้องทำจริง ต้องต่อเนื่อง
“ผมเลยตัดสินใจว่า ต้องลงพื้นที่ให้มากขึ้นเพื่อให้ได้ประโยชน์มากสุด ให้ลูกน้องไปหาข้อมูลมาก่อนว่าชุมชนไหนมีปัญหาเยอะสุด เพราะถ้าเราไปที่มีปัญหาน้อยสุดไม่เจอปัญหา ปรากฏว่า มีปัญหาทุกที่ มีปัญหาหมดไม่ใช่แค่เรื่องยาเสพติด ก่อนสั่งให้ทุกคนช่วยกันทำให้เป็นชุมชนเข้มแข็ง ผมเป็นผู้กำกับการควบคุมอีกชั้น เข้าไปหาจนชาวบ้านรู้จักประสานทุกเรื่องที่ชาวบ้านมีปัญหา”
หากทำจริงย่อมเกิดประโยชน์ กำจัดโทษของภัยยาเสพติด
นำไปสู่ที่มาของการขยายผลเป็นโครงการปักกลดในพื้นที่กองบัญชาการตำรวจภูธรภาค 3 ส่งให้ตำรวจลงพื้นที่ชุมชนเข้าไปใกล้ชิดชาวบ้านเพื่อหาข้อมูลยาเสพติด แต่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์แสดงความเห็นว่า ต้องไม่เชื่อลูกน้องรายงานมากเกินไป เพราะบางคนทำงานคลุกคลีอยู่กับยาเสพติดอาจใจอ่อน เราต้องลงไปดูเอง คำว่า ปักกลด ไม่ใช่ไปสร้างความเดือดร้อนให้คนในชุมชน ปักกลดก็เหมือนพระเวลาไปในจะปลักกลดนอด แต่ตำรวจไม่ต้องไปขอที่นอนจากใคร อาจอยู่ตามศาลาวัด หรืออยู่สถานที่ที่เป็นส่วนกลาง
สมัยอยู่อีสานใต้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์มั่นใจโครงการดังกล่าวว่า ทำให้ตำรวจทุกคนใน 236 โรงพักได้เรียนรู้ ก่อนทำ ขออย่างเดียวอยากให้ยั่งยืน พร้อมของบประมาณให้ด้วยจากทางจังหวัด อย่างน้อยให้ลูกน้องมีเบี้ยเลี้ยง มีขวัญกำลังใจในการทำงาน ไปอยู่กับชาวบ้านสร้างความคุ้นเคยจนเชื่อใจแล้วเอาปัญหามาบอกเพื่อเราจะวางแผนแก้ไข มาเสนอผู้บังคับบัญชาว่า แต่ละพื้นที่ มีผู้เสพกี่คน ผู้ค้ากี่คน
“ผมได้ประสบการณ์ว่า หากทำจริงมันได้ประโยชน์ ชาวบ้านดีใจ มีคำขอร้องอยู่ไม่กี่ประโยค คือ ขออีกสักเดือนได้ไหม อยากให้ตำรวจมาอยู่ด้วยกันอีกสักเดือน รู้สึกว่า เดือนเดียวมันน้อยไป ไม่เคยเจอ บอกว่า อุ่นใจ ช่วยเขาได้เยอะ ผมถึงได้เรียนรู้ว่า โครงการปักกลดมีประโยชน์จริงในการแก้ปัญหายาเสพติดแบบยั่งยืนที่ถือว่า ประสบความสำเร็จ”
ทำคนน้อยให้เป็นคนมาก ประกาศขันนอตบูรณาการใหม่
เมื่อรับตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์วางมอตโตไว้ชัดเจนในวันแถลงนโยบายการบริหารงานว่า ต้องเป็นตำรวจมืออาชีพ ทำงานเชิงรุก เพื่อความสงบสุขของประชาชน ความทุกข์ร้อนของประชาชนเป็นหน้าที่ของตำรวจที่ต้องเข้าไปแก้ไขอย่างรวดเร็วและทันท่วงที “ผมอยากให้พวกเราเป็นตำรวจที่ประชาชนเชื่อมั่นและศรัทธา และที่สำคัญเป็นสถานีตำรวจประเทศไทย ทำคนน้อยให้เป็นคนมาก”
เขายืนยันว่า ไม่ใช่อุปสรรคปัญหาที่เหลืออายุราชการปีเดียวแล้วขับเคลื่อนทำอะไรไม่ทัน เพราะเตรียมพร้อมวางแผนไว้หมดแล้ว บางเรื่องต้องบูรณาการใหม่ ขันนอตกันใหม่ มีนโยบายเร่งด่วนอันดับแรกเพื่อประชาชน คือ การแก้ปัญหายาเสพติดกับเรื่องอาชญากรรมทางออนไลน์ จะนั่งเป็นหัวโต๊ะขับเคลื่อนด้วยตัวเอง ผู้บัญชาการและผู้บังคับการต้องให้ความสำคัญ 2 เรื่องนี้
ส่วนของตำรวจ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ย้ำว่า จะเน้นความมืออาชีพ มองว่า ปัจจุบันยังไม่มืออาชีพพอ สังเกตจากเวลามีเหตุการณ์อะไรเป็นกระแสสังคม ตำรวจยังตอบโต้ได้ไม่ดีพอ ยังเงอะงะ แม้กระทั่ง สมมติเวลาตั้งด่าน มีคนมาโวยวายว่า ทำไมต้องตั้งด่าน ต้องอธิบายเได้ว่า มีสาเหตุอย่างไร มีกฎหมายที่ต้องโต้ตอบทำความเข้าใจถึงเหตุผล ถ้ามากวนขนาดที่ว่า มีเหตุของการดูหมิ่นแล้ว กลับยังไม่กล้าจะไปดำเนินคดีดูแล้วไม่ใช่มืออาชีพ
เน้นย้ำความเป็นมืออาชีพ ถีบตัวเองจากสงครามโซเชียล
“มืออาชีพในความคิดผม คือต้องแม่นกฎหมาย แม่นระเบียบ และเชี่ยวชาญยุทธวิธี เช่นเดียวกับเรื่องของการสื่อสาร ทักษะในการสื่อสาร บุคลิกภาพในการโต้ตอบให้สังคมเห็นใจว่า ไม่ใช่ตำรวจอยากจะมาตั้งด่าน แต่เราทำหน้าที่ ไม่อย่างนั้นใครจะมาดูแลให้คุณ การลอบขนยา อาวุธปืนใช่ไหม อีกเรื่อง ตำรวจต้องมีจริยธรรม นี่คือ มืออาชีพ” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ว่า
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติคนใหม่พร้อมสานต่อแนวคิดของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ที่พยามทำให้ตำรวจเป็นมืออาชีพมาตลอด แต่ต้องยอมรับห้วงเวลาที่ผ่านมาตำรวจเจอสงครามโซเชียลที่มีคลิปเล่นงานไม่เหมือนสมัยก่อน ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ ไม่อย่างนั้นจะถูกจ้องดิสเครดิต ตำรวจถึงต้องปรับตัว ต้องไม่พลาด ต้องมองเสมอว่า ทุกครั้งที่เราทำงาน มีคนแอบถ่ายอยู่ เราต้องเป๊ะ เรายังต้องรองรับปัญหาสังคมสมัยใหม่ที่ทุกคนพร้อมจะเป็นนักข่าว
“ถ้าเราทำไม่ดีปุ๊บก็ถูกถ่าย กล้องในโทรศัพท์จะถ่ายไว้เป็นคลิป อย่าพลั้งพลาดอารมณ์เสียไปทำร้ายใคร ตำรวจถึงต้องเป็นมืออาชีพ ต้องหนักแน่น อย่าไปกระทืบใครไม่ได้เด็ดขาด เราต้องเตือนสติตัวเองอยู่เสมอ” แม่ทัพปทุมวันจริงจัง
ขวัญกำลังลูกน้องเป็นเรื่องใหญ่ แอปพลิเคชันแทนใจต่อยอดได้
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ห่วงเรื่องขวัญกำลังใจผู้ใต้บังคับบัญชาด้วยว่า พยายามสื่อสารทั้งสองทาง เมื่อสมัยเป็นผู้บัญชาการรู้ปัญหาหมด แต่บางทีกว่าจะรู้ก็สายเกินไป เกี่ยวกับหัวหน้าโรงพักบางคนมีพฤติกรรมเบียดยังลูกน้อง แต่ในเมื่อท่าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข มีสิ่งดี ๆ มาให้ เช่น แอปพลิเคชันแทนใจ เราจะสามารถใช้ให้เป็นการสื่อสาร 2 ทาง สมมติ ว่าถ้าเรื่องร้องเรียน มีโอกาสเป็นเรื่องจริง เราจะส่งจเรตำรวจไปตรวจสอบ เหมือนกับที่หัวหน้าสถานี หรือใครที่จะทำตัวไม่ดีต้องถูกตรวจสอบ
เขายอมรับด้วยว่า สอดส่องสื่อโซเชียลที่เป็นเสมือนเงาสะท้อนความคิดเห็นหลากหลายแง่มุมนำไปแก้ปัญหา นโยบายบางอย่าง บางทีเรานึกว่า เรามอบไป นึกว่า ลูกน้องจะทำได้ดี แต่บางทีแล้ว อาจจะเกิดความลำบากมากเกินไป เราจะได้รับรู้จากเสียงสะท้อนเหล่านั้น ผู้บังคับบัญชาต้องไม่สร้างภาระให้ผู้ใต้บังคับบัญชา เสียงสะท้อนที่ออกมาทำให้เรารู้ถึงปัญหาที่เราต้องนำมาปรับปรุงแก้ไขบรรเทาความเดือดร้อนเหล่านั้น
“ผมมีนโยบายพัฒนาคุณภาพชีวิต และสร้างขวัญกำลังใจลูกน้อง ให้ความสำคัญอันดับต้นเป็นการบ้านให้ผู้กำกับ หรือผู้บังคับการต้องไปสำรวจความต้องการเรื่องสถานที่พัก จัดลำดับให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม หรืออย่างช้าต้องไปเกินกลางเดือนพฤศจิกายน หลังจากที่เราทำเอ็มโอยูระหว่างตำรวจกับกรมธนารักษ์ไว้แล้ว ต่อยอดให้สำเร็จ ทำยังก็ได้ ผมอยากให้ตำรวจทำงาน มีความสุขมากขึ้น อะไรที่จะปรับสภาพแวดล้อม จัดหาวัสดุ เอ็งหาไม่ได้ ไม่ต้องบ่นนะ เอ็งร้องขอมา”
หัวหน้าโรงพักต้องเปลี่ยนแนวคิด สำรวจชีวิตความเป็นผู้ใต้บังคับบัญชา
“บรรดาหัวหน้าสถานีต้องปรับเปลี่ยนแนวความคิดใหม่ สำรวจดูความประพฤติลูกน้อง ไม่ให้ไปทำความผิด ไปเยี่ยมบ้าน ใครมีปัญหาหนี้สิน ใครมีความเครียด เป็นโรคซึมเศร้า ไม่ต้องแก้ปัญหาได้ทั้งหมด อะไรแก้ปัญหาไม่ได้ รายงานมา อย่างเรื่องหนี้สินแก้ไม่ได้หรอก ต้องรายงานกองบังคับการขึ้นมาเพื่อไปช่วยเรื่องสหกรณ์ปิดหนี้ให้ ถ้ากองบังคับการแก้ไม่ได้ก็ไปที่กองบัญชาการและอาจถึงระดับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์เสนอแนวคิด
“ถ้าผมไปสุ่มตรวจโรงพัก ถามผู้กำกับว่า ใครมีอะไร ต้องตอบได้นะ ถ้าตอบไม่ได้ แสดงว่า ทำไม่ดี อย่างกิจกรรมเสริมสร้างความสามัคคี ควรจะมี โดยเฉพาะต่างจังหวัด เช่น แข่งขันฟุตบอลระหว่างโรงพัก เพราะผมเคยไปอยู่มาหลายจังหวัดแล้ว อย่างอำนาจเจริญ ทุกคนแฮปปี้หมด เพราะกีฬาฟุตบอล ทำให้คนมีส่วนร่วมเยอะ แล้วมีกองเชียร์เยอะ”
พิทักษ์ 1 คนใหม่บอกด้วยว่า โครงการอาหารกลางวันควรคงไว้ แต่ไม่ซีเรียส เดี๋ยวจะไปกดดันหัวหน้าสถานี ทำได้ก็ทำ ทำได้ก็ได้ อาจจะให้คณะกรรมการตรวจสอบและติดตามการบริหารงานโรงพักมาสนับสนุน อันนี้ไม่ใช่ภาคบังคับ แค่แนะนำ ทำไม่ได้ก็ไม่เป็นไร เพราะมีค่าใช้จ่าย หากเราไม่สามารถดึงงบได้ แต่โครงการที่อยากส่งเสริมและรื้อฟื้นขึ้นใหม่เป็นโครงการโรงพักเพื่อประชาชน ยกระดับบริการประชาชน อีกส่วน คือโครงการพัฒนาจริยธรรม คุณธรรม เซอร์วิสมายด์
เน้นการฝึกยุทธวิธี มีตำราดีกำราบผู้ชุมนุม
กระนั้นก็ตาม พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์เน้นให้ความสำคัญกับการฝึกประจำสัปดาห์ด้วยว่า ผู้กำกับการต้องควบคุมเอง ถ้าไม่ซ้อม ไม่มีทางรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นใช่ไหม อย่างเรื่องการฝึกยิงปืน สมัยอยู่ภาค 3 ทั้งหลอกล่อให้ยิงดรายไฟร์ทุกสัปดาห์ยังมีคนสอบได้คะแนนน้อย แล้วถ้าซ้อมไม่ถึงไปเจอสถานการณ์จริง ไม่มีทางเลย ไม่มีการฝึกล็อกการเข้าจับกุม ถึงต้องเริ่มทำ การฝึกแถวชิด ตะเบะ ไม่ต้องแล้ว ไปฝึกเอาเอง
ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติมองว่า ยุทธวิธีการควบคุมฝูงชนแบบยูเอ็นก็สำคัญ เวลาปะทะผู้ชุมนุมเมื่อใดตำรวจแพ้ตลอด ไปซ้อมโล่บ้าง ต้องไปเดินแบบอะไรแบบรูปนิ่ง ไม่ค่อยได้ใช้หรอก ถึงเวลาผู้ชุมนุมมา แบบไร้รูปแบบ ตำรวจปรับตัวไม่ทัน ต่อไปต้องมีระบบใหม่ หลังจากสมัยท่านวรพงษ์ ชิวปรีชา ส่งตำรวจไปเรียนรู้การควบคุมผู้ชุมนุมกับยูเอ็นทำให้เห็นยุทธวิธีรับมือที่เป็นระบบสากลมากขึ้น
“เขาเรียกเป็นทีม เคลื่อนตัวได้ อย่าไปยึดติดรูปแบบเก่า จนท่าน พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข มีคำพูดอยู่คำหนึ่ง ที่ผมชอบใจมาก คือ ทำไมไม่ได้เหมือนเราจับบ่อน มันต้องมียุทธวิธี เราจะมาเดินเป็นหน้ากระดาน ไม่ได้หรอก มันหนีไปทางไหนก็ต้องไปทางนั้น ต้องพลิกแพลง จะมามัวแต่แข็งทื่อ แล้วมีหมวดโล่ หมวดอาวุธพิเศษไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนยุทธวิธีใหม่” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์อุบไต๋ไว้
ยกเลิกวัดตัวเลขยาเสพติด เมื่อคนวิปริตคลุ้มคลั่งเกลื่อน
อีกประเด็นที่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์มุ่งหมายจะต้องปรับปรุงเกี่ยวกับตัวชี้วัดเกี่ยวกับยาเสพติดจากผลพวงของการเป่าคดี ทำให้ไปมัวแต่วัดเรื่องตัวเลขจนผ่านเกณฑ์อย่างดีทุกคน แต่ยังเห็นคนคลุ้มคลั่ง ยาบ้าก็ถูก แสดงว่า ตัวเลขกับความเป็นจริงไม่ใช่ ขอยกเลิกไปก่อน 1 เดือน อยากให้ตำรวจไปประสานภาคีเครือข่าย สำรวจให้ได้ว่ามีคนเสพที่เป็นลักษณะที่มันมีโอกาสคลุ้มคลั่งเท่าไรแล้วทำเป็นข้อมูลมา แล้วมีโอกาสจะส่งไปบำบัดได้เท่าไร ทำข้อมูลมา ที่เหลือถ้ายังตกค้างอยู่ในพื้นที่เยอะๆ จะมีมาตรการกับคนในครอบครัวพวกเขาอย่างไร
ตำรวจสายตรวจต้องพร้อม อย่าประมาท ต้องรู้ ต้องมีอุปกรณ์ ไม้ง่าม หรือว่าปืนไฟฟ้า เพราะมีโอกาสที่จะเผชิญเหตุ คือ สิ่งที่เร่งด่วนภายใน 1 เดือนไปค้นหาให้ได้ ผู้กำกับหลายคนมาเจอ ผมแกล้งถามว่า รู้ไหม ว่าในพื้นที่มีคนเสพยาคลุ้มคลั่งกี่คน ไม่มีใครตอบได้เลยสักคน แสดงว่า ทำงานโดยการที่นายต้องการตัวเลขก็เอาแต่ตัวเลขไม่รู้จริง ใช่ไหม”
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ระบุว่า ปัญหายาเสพติด นอกจากจะเรื่องของการปราบปราม ต้องทำลายเครือข่ายรายย่อยในพื้นที่ด้วย ให้ชาวบ้านรู้สึกว่า พวกค้ายาถูกจับ เพราะตราบใดที่คนในพื้นที่ยังบ่นตำรวจว่า ทำอะไรไม่ได้ต้องจัดการ และต้องค้นหามาให้ได้ แต่ไม่ต้องรับผิดชอบถึงขั้นจะต้องเอาไปบำบัดได้ทั้งหมด แค่ก็ต้องมีแนวทาง เฝ้าระวัง แล้วต้องไปสำรวจบ้านตัวเองว่า ตำรวจคนไหนอยู่ในจุดเสี่ยงที่จะเป็น คือ รู้กันว่าจะทำตัวไม่ดี ถ้าไม่แน่ใจเปลี่ยนตัวเลย หรือว่า ต้องตักเตือน
ระยะเวลาเพียงปีเดียวทำได้ ไม่หนักใจจากสืบสวนที่คนเก่งสร้างไว้
ถามว่าระยะเวลา 1 ปีในการดำรงตำแหน่งผู้นำน้อยไปหรือไม่ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ตอบหนักแน่นว่า มั่นใจทำได้เยอะ เพราะมีประสบการณื เป็นผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดอำนาจเจริญปีเดียว ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 2 ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดพะเยาก็ปีเดียว รักษาการผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงใหม่แค่ 4 เดือนด้วยซ้ำ เพราะเราตัดเรื่องประชุมกับหัวหน้าส่วนไปหมด
“อะไรไม่ได้เกี่ยวกับตำรวจ ผมไม่ไป ผมจะไปเฉพาะงานยาเสพติด เรื่องมั่นคง นอกนั้นไม่ไปประชุมจะมอบหมายระดับรองผู้บัญชาการทำหน้าที่ ตอนนี้งานสืบสวนไม่น่าหนักใจ ท่านพล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข สร้างสายงานสืบสวนไว้เข้มแข็ง แต่งานสอบสวนใครที่เก่งยังนึกไม่ออกเลย จราจรใครเก่งก็นึกไม่ค่อยออก งานป้องกันปราบปรามเก่งไม่มีแล้ว อำนวยการเก่งไม่มี แต่นักสืบเก่งเยอะ ผมเชื่อว่า ขอให้คนคุมมีความรับผิดชอบ และเข้าใจเด็ก ใช้เด็กเป็น ผมว่าเอาอยู่”
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์รับปากว่า จะต่อยอดเรื่องที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข สร้างนักสืบไว้ให้ดีตามที่มุ่งหมาย ไม่ให้ถูกย้ายไม่เป็นธรรม คนไหนทำงานดีต้องดูแลไม่ให้กระทบ เชื่อว่าผู้บังคับการสืบสวนแต่ละคนที่วางไว้ดีอยู่แล้ว สามารถเซตทีมตัวเองได้ว่า คนไหนไม่ไหว ต้องกล้าเสนอ คนไหนไหว ทำงานดีต้องกล้าปกป้องเท่านั้นเอง แต่ที่น่าห่วง คือ สายอื่นที่ต้องทีมคณะทำงานมาร่วมขับเคลื่อน
เตรียมกำหนดสเปกสายงาน นำไปใช้พิจารณาการแต่งตั้งโยกย้าย
ขณะที่เรื่องการแต่งตั้งโยกย้าย ปัญหาใหญ่ที่บ่อนทำลายขวัญกำลังใจคนทำงานของตำรวจ เจ้าสำนักปทุมวันแสดงความเห็นว่า พยายามแก้ปัญหาให้มากที่สุด สมัยเป็นบัญชาการสำนักงานเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หน่วยเฉพาะทางเรื่องคอมพิวเตอร์ แต่ตำแหน่งสเปกไม่มี เปิดกว้าง พอระบบคุณธรรมเราน้อย ก็มีการเตะกันมา หรือวิ่งเอาตำแหน่ง พวกขึ้นไม่ได้เพราะไม่มีเส้น เราต้องไปสร้างสเปกเอาว่า ใครเป็นรองผู้การหน่วยนี้ ต้องเคยเป็นผู้กำกับการมาก่อนจะมากินตำแหน่งไม่ได้แล้ว
“ผมจะเน้นให้ทุกหน่วยสร้างสเปกป้องกันไว้ เหมือนเกราะกำบัง ต่อไปย้ายข้ามหน่วยยากแล้ว ต้องมีสเปก ทุกหน่วยต้องไปคิดเองนะ ไม่ใช่ผมคิดได้หมดนะ แล้วจะให้ช่วยอย่างไรต้องคิดกัน เช่นกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผมจะสร้างสเปกแล้วว่า สายป้องกันปราบปรามไม่ต้องมา ต้องเก่งอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น สืบสวนเก่ง สอบสวนเก่ง แล้วเรื่องเทคโนโลยีเก่ง แต่ต้องมีการสอบก่อนด้วยนะ อีกหน่อยที่จะมาเพราะคุณเก่งไม่เก่ง เราดูแค่ประวัติอย่างเดียวไม่ได้”
พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์บอกเหมือนกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองต้องสอบภาษาอังกฤษ ถ้ามั่นใจว่า เก่ง สเปกได้ ก็มีสิทธิย้ายเข้ามา ไม่ใช่ว่า ใครมาก็ได้ ต้องสร้างสเปกไว้ ยิ่งหน่วยเฉพาะทางหลายหน่วย ต่อไปต้องกำหนดสเปก เหมือนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีต่อไปต้องเป็นพี่เลี้ยงให้กับท้องที่ได้ เพราะพื้นที่เรายังไม่หวัง ให้หน่วยนี้เก่งก่อนแล้วจะไปสร้างให้พื้นที่เก่ง
วางกฎเหล็กรักษามาตฐาน รองรับคนทำงานไม่ให้หลุดโผ
“ผมพยายามสร้างกฎเกณฑ์อะไรต่าง ๆ ให้มันเร็วภายใน 1 ปี แต่ไม่มั่นใจว่า จะเสร็จกี่เรื่อง แค่จะมีโรดแมปให้คนต่อ ๆ ไปสานต่อ พยายามบีบให้อยู่ในกฎคณะกรรมการข้าราชการตำรวจเพื่อจะได้ขับเคลื่อนแบบที่ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข วางไว้มารองรับอนาคต เช่น งานจราจรต้องสอบ อีกหน่วยสเปกสารวัตรจราจร ถ้าทั้งชีวิตไม่เคยผ่านงานจราจรมาจะไม่ให้เป็น”
แม่ทัพสายบุ๋นเตรียมสร้างกฎเหล็กวางสเปกต้องเป็นรองสารวัตรจราจรมาก่อนกี่ปี ถ้าไม่เคยเป็นต้องสอบผ่านเกณฑ์วัดมาตรฐาน ไม่ใช่ไม่เคยศึกษาพระราชบัญญัติการจราจรทางบก สมันไปดูงานจราจรประชุมที่กองบังคับการตำรวจจราจรเคยถามว่า ใครเคยอยู่งานจราจรครั้งแรก บางคนยกมือ พอถามมาจากไหนบอกมาจากต่างจังหวัดย้ายเป็นสารวัตรจราจรอยู่ในกรุงเทพฯ ถามต่อว่า แล้วทำไมมาอยู่ ก็ยิ้มแห้งๆ ในชีวิตไม่เคยอยู่นครบาล แถมยังมาเป็นสารวัตรจราจรอีกจะได้เรื่องไหม
“ผมว่าแบบนี้ไม่ได้นะ สารวัตรสืบสวนไม่เคยอยู่งานสืบ เป็นรองสารวัตรป้องกันปราบปรามมาพาลูกน้องไปยิงผิดคนไม่พังหรือ ผมถึงต้องสร้างสเปกให้ได้ แต่สเปกอย่าไปตึงมาก อย่างน้อยให้มีสเปก งานสืบสวนให้อยู่งานสืบมาบ้าง ไม่อย่างนั้นต้องให้รีบไปอบรมภายใน 3 เดือน ต้องผ่านหลักสูตรระยะสั้นจะได้มีความพร้อมในการปฏิบัติหน้าที่”
ลั่นลงสุ่มตรวจเยี่ยมพื้นที่ ผู้กำกับท้องที่ต้องตอบคำถามได้
“ชีวิตทั้งชีวิต ไม่เคยคิดว่าจะมีวันนี้นะ” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ทิ้งท้ายระบายความในใจที่ก้าวมาถึงยอดสูงสุดของตำแหน่งกองทัพพร้อมกำชับนโยบายว่า หัวหน้าสถานีต้องไปเยี่ยมชุมชนทุกสัปดาห์ ผู้บังคับการต้องไปสุ่มตรวจทุกเดือน อาจมีคนคิดว่า ทำไมต้องให้ทำขนาดนั้น เพราะไม่เคยตรวจกันเลยที่ผ่านมา อย่าไปคิดอย่างนั้น
“เดี๋ยวผมก็จะไปเยี่ยมด้วย ถ้าไปจังหวัดไหน ผมจะไปเยี่ยมให้ดู ทำไมผมบอกว่า นดี เพราะผมเป็นผู้การมาหลายจังหวัด ผมไปใหม่ๆ ผู้กำกับการงง ทำไมมันต้องไป พอไปบ่อยก็บอกว่า ดี ไม่มีใครบอกไม่ดี เยี่ยมโครงการปักกลด ชาวบ้านยังมาถาม มาบอกว่า ขออีกสักเดือนได้ไหม ผมได้เห็นแววตาชาวบ้าน รู้สึกว่า ผมเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติแล้วยังไป แล้วคนอื่นจะไม่ไปได้อย่างไร ผมจะไม่อยู่สบายอย่างเดียว สั่งอย่างเดียว ผมจะไปให้มันดู” พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ประกาศลงพื้นที่เอง
“คนที่ทำงานกับผมมาก่อนจะรู้ว่า ผมไม่หมู มาหลอกผมยาก ผู้กำกับแต่ละคนมาแสดงความยินดี ผมจะถามว่า รู้ไหมผู้เสพยาเสพติดในพื้นที่ที่คลุ้มคลั่งมีกี่คน คนแรกบอกว่ามี 3 คน ผมถามว่ารู้ได้ไง ก็อึ้งบอกว่ารู้จากลูกน้อง ผมก็ว่า แล้วเอ็งเชื่อว่า ลูกน้องรู้หมดไหม ไม่รู้หมด อ้าว ถ้าก่อนแต่งตั้ง ยังมาหาอีกรอบ ตอบพวกนี้ไม่ได้นะ หมดสิทธิเลยนะ ใครจะผ่านตัวชี้วัดอะไร ผมไม่เอาแล้ว ต้องรู้จริง ถ้าไม่รู้ปัญหาพื้นที่จะเป็นตำรวจที่ชาวบ้านเกิดความรัก ความไว้ใจไม่ได้หรอก ผมถึงอยากให้เป็นตำรวจที่ชาวบ้านรัก ถ้าตำรวจใกล้ชิดประชาชน ผมคิดว่าความรัก ความมั่นใจจะมีมากขึ้น” แม่ทัพปทุมวันว่า