รู้สึกหวาดกลัวภัยอาชญากรรมลดลง

 

หากไม่มีคดีฆาตกรรม นางนิโคล ซาเวน ไวซ์สคอปฟ์ แหม่มชาวสวิตเซอร์แลนด์ ตำแหน่งรองหัวหน้าพิธีการทูตของสมัชชาสหพันธรัฐเยอรมนี บนเกาะภูเก็ต ทำลายความเชื่อมั่น โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ และภาพลักษณ์การท่องเที่ยวจากสายตาชาวโลก

ผลวิจัยเชิงสำรวจ “พีเพิลโพล” เรื่อง ความหวาดกลัวภัยอาชญากรรมและความเชื่อมั่นของประชาชนต่อประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประจำเดือนกรกฎาคม 2564 น่าจะนำไปใช้ประเมินแนวทางการปฏิบัติงานในการสร้างพื้นที่ปลอดภัย ( Smart Safety Zone 4.0) ได้ดีกว่านี้

หลังจาก พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มอบหมายให้ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล ที่ปรึกษา สบ 9 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขับเคลื่อนสำรวจความคิดจากประชาชนเป็น “เดือนที่สอง” ระหว่างวันที่ 1 – 20 กรกฎาคม 2564

ให้สถานีตำรวจ 1,484 แห่ง  ทั่วประเทศ สำรวจความคิดเห็นของประชาชนอย่างน้อยสถานีละ 100 ตัวอย่าง ในรูปแบบ Google form

ปรากฏมีประชาชนตอบแบบสอบถามจำนวน 187,632 ตัวอย่าง จำแนกเป็น หญิง ร้อยละ 48.6 ชาย ร้อยละ 51.4 ช่วงอายุที่ตอบแบบสอบถามมากที่สุด ตั้งแต่ 20 – 29 ปี หรือร้อยละ 27.30

ผลสำรวจในภาพรวมพบว่า ประชาชนรู้สึกหวาดกลัวภัยอาชญากรรมลดลง

ในขณะที่ระดับความเชื่อมั่นของประชาชนต่อประสิทธิภาพการป้องกันอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจอยู่ในระดับที่สูงขึ้น

แต่เมื่อสอบถามประเภทอาชญากรรมที่หวาดกลัว ยังพบว่า ประชาชนมีความหวาดกลัว การลักทรัพย์ มากที่สุด ร้อยละ 67.22  รองลงมา คือ การถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ 59.72 ชิงทรัพย์ ร้อยละ 56.42  แก๊งคอลเซ็นเตอร์ ร้อยละ 56.21 วิ่งราวทรัพย์ ร้อยละ 47.67 และ การพนันออนไลน์ ร้อยละ 46.82 ตามลำดับ

สำหรับความพึงพอใจของประชาชนต่อการให้บริการภายในสถานีตำรวจ ภาพรวมทั้งประเทศอยู่ที่ ร้อยละ 78.25 มีระดับที่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2564 ทว่าประชาชนยังคงมีความหวาดกลัวอาชญากรรม

โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาชญากรรมสมัยใหม่ หรือ “อาชญากรรมไซเบอร์” ที่มีผลมาจากโลกออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดียที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่อการสื่อสารและการดำรงชีวิตในปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม คณะทำงานของ พล.ต.ท.สุรเชษฐ์ หักพาล นำผลสำรวจมาพัฒนา ปรับปรุงแนวทางการทำงานด้านการให้บริการ และงานป้องกันอาชญากรรม อาทิ  นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในงานสายตรวจ   แอปพลิเคชัน Police I Lert U  สายตรวจโดรน  เสาส่งสัญญาณ SOS  สร้าง Cyber village รวมถึง “โครงการสมาร์ทเซฟตี้โซน” เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย

ตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่ตั้งโจทย์การบ้านไว้ชัดเจน

“จะทำอย่างไรให้ประชาชนต้องไม่เกิดความหวาดระแวงภัยอาชญากรรม หากสามารถทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งสามารถเดินคนเดียวได้อย่างสบายใจบนถนนตอนกลางคืน”

เป็นเหตุผลในการคัดเลือก “สถานีตำรวจนำร่อง” ทั่วประเทศ 15 สถานี อาศัยหลักเกณฑ์พื้นที่เป็นแลนด์มาร์ค แหล่งเศรษฐกิจ และพื้นที่ที่ประชาชนมีความหวาดกลัวภัยอาชญากรรม มาสร้างเป็น “พื้นที่ปลอดภัย”

ประกอบด้วย สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง สถานีตำรวจนครบาลภาษีเจริญ สถานีตำรวจภูธรปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี สถานีตำรวจภูธรเมืองสมุทรปราการ สถานีตำรวจภูธรเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี สถานีตำรวจภูธรเมืองระยอง สถานีตำรวจภูธรเมืองปราจีนบุรี  สถานีตำรวจภูธรปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา สถานีตำรวจภูธรเมืองอุดรธานี สถานีตำรวจภูธรเมืองเชียงใหม่  สถานีตำรวจภูธรเมืองพิษณุโลก สถานีตำรวจภูธรเมืองราชบุรี  สถานีตำรวจภูธรเมืองภูเก็ต และสถานีตำรวจภูธรหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา

ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติยังกำหนดนโยบายการป้องกันอาชญากรรม ต้องเน้นการทำงานเชิงรุก ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีมาพัฒนารูปแบบการทำงานให้ทันต่อสถานการณ์ปัจจุบันได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็ว สร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน รับฟังความคิดเห็นของประชาชน และใช้ทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และลดความหวาดกลัวภัยของประชาชน

“พีเพิลโพล” น่าจะเป็นเสียงสะท้อนตอบรับความคิดเห็นของชาวบ้านได้แม่นยำมากกว่าในอดีต

 

RELATED ARTICLES