ตรวจหาเชื้อเชิงรุก

 

ประเทศเหมือนอยู่ใน “อาการโคม่า” จากพิษโรคระบาดลุกลามแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว

แต่ตำรวจยังคงต้องปฏิบัติหน้าที่ท่ามกลางความเสี่ยงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ทำให้ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มีวิทยุในราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ด่วนที่สุด เรื่อง การตรวจหาเชื้อโควิด-19 เชิงรุกสำหรับข้าราชการตำรวจและครอบครัว ตลอดจนประชาชนบริเวณใกล้เคียง

สาระสำคัญ คือ กำหนดแผนให้ตำรวจทุกนายที่ทำงานในสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมถึงครอบครัวเข้ารับการตรวจหาเชื้อในวันจันทร์ที่ 16 สิงหาคม 2564 และวันอังคารที่ 17 สิงหาคม 64 เวลา 09.00 น. บริเวณพื้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

มีสำนักงานเลขานุการตำรวจสำรวจรายชื่อข้าราชการตำรวจและครอบครัว และสำนักงานผู้บังคับบัญชาที่มีความประสงค์ขอรับการตรวจหาเชื้อแล้วแจ้งผลมายังสำนักงานเลขานุการตำรวจ กำหนดจุดตรวจหาเชื้อ ในพื้นที่ที่เห็นว่าเหมาะสม พร้อมทั้งจัดอาหารกล่อง น้ำดื่ม สำหรับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่และจัดอาหารว่าง น้ำดื่ม สำหรับผู้ที่เข้ารับการตรวจหาเชื้อ

ส่วนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจนครบาลและครอบครัวเข้ารับการตรวจหาเชื้อในวันพุธที่ 18 สิงหาคม 2564 และวันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม 2564 บริเวณสถานีตำรวจนครบาลของแต่ละพื้นที่ หรือสถานที่ที่หน่วยเห็นว่าเหมาะสม รวมทั้งหน่วยกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบังคับการสายตรวจและปฏิบัติการพิเศษ กองบังคับการตำรวจจราจร กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจนครบาล

ยกเว้นโรงพักที่ได้ดำเนินการตรวจหาเชื้อเรียบร้อยแล้ว และประชาชนในพื้นที่ แต่ละโรงพักไม่เกินแห่งละ 20 คน รวมทั้งสื่อมวลชนที่มีความประสงค์ขอรับการตรวจหาเชื้อให้ร่วมตรวจพร้อมกันกับกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาล

พร้อมจัดอบรมชี้แจงรายละเอียดขั้นตอนการปฏิบัติแก่หัวหน้าหน่วยที่รับการตรวจ ได้แก่ผู้กำกับการและรองผู้บังคับการที่ได้รับมอบหมาย  มีวิทยากรผู้อบรม ประกอบด้วย พล.ต.ต. โชคชัย งามวงศ์ ผู้บังคับการตำรวจนครบาล 8 พล.ต.ต.สุรชัย เจ็ดพี่น้องร่วมใจ ผู้บังคับการกองสวัสดิการ พ.ต.อ.นครินทร์ สุคนธวิท รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 9 ผู้แทนโรงพยาบาลตำรวจ

ประสานกรุงเทพมหานครขอรับการสนับสนุนรถสุขาเคลื่อนที่ สำหรับบริการประชาชน รวมทั้งประสานการไฟฟ้านครหลวงในพื้นที่ เตรียมความพร้อมรองรับกรณีเกิดเหตุไฟฟ้าขัดข้อง

โรงพักหรือกองบังคับการทุกหน่วยที่ทำการตรวจหาเชื้อต้องจัดเตรียมรถ ส่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ไปจุดคัดแยกผู้ติดเชื้อ ที่เตรียมไว้ 3 จุด บริเวณสโมสรตำรวจ โรงพยาบาลตำรวจ และกองบังคับการตำรวจนครบาล 3  

ขณะเดียวกันหน่วยที่จะดำเนินการตรวจหาเชื้อต้องประสานสำนักงานเขตเพื่อแสวงหาความร่วมมือในพื้นที่   อาทิ กรณีมีการตรวจประชาชนทั่วไปตามแผนของเขต ให้ตำรวจและครอบครัวเข้าร่วมรับการตรวจหาเชื้อด้วย และกรณีประชาชนที่ขอรับการตรวจหาเชื้อ หากพบติดเชื้อให้ทางเขตเตรียมการช่วยเหลือ “รองรับผู้ป่วย” ทันที

มอบหมายโรงพยาบาลตำรวจสนับสนุนบุคลากรทางการแพทย์ ชุดยาฟาวิพิราเวียร์ รถเอกชเรย์เคลื่อนที่และรถตรวจ PCR ที่จุดคัดแยกผู้ติดเชื้อให้พร้อมทั้ง 3 จุด และประสานขอรับยาฟาวิพิราเวียร์ กับองค์การเภสัชกรรมเตรียมแจกจ่ายแก่ผู้ติดเชื้อในความรุนแรงทุกระดับ

จัดข้าราชการตำรวจจิตอาสาเข้าช่วยดูแลอำนวยความสะดวกในพื้นที่ตามความเหมาะสม

ส่วนสำนักงานส่งกำลังบำรุงให้ประสานการปฏิบัติกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล โรงพยาบาลตำรวจ และสำนักงานเลขานุการตำรวจเกี่ยวกับยอดผู้รับการตรวจและเจ้าหน้าที่เพื่อสนับสนุนวัสดุ สิ่งอุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ตามที่ได้รับการร้องขอ (หน้ากาก ถุงมือยาง แอลกอฮอล์ ชุด PPE ชุดตรวจ ATK ชุดยาสำหรับผู้ติดเชื้อ)

ให้ พล.ต.ต.สมนึก น้อยคง รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นหัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติของกองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.ต.ต.พงษ์สยาม มีขันทอง เลขานุการตำรวจเป็น หัวหน้าผู้ควบคุมการปฏิบัติ ในพื้นที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ต.อ.สุรพล อยู่นุช ที่ปรึกษาพิเศษ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ พล.ต.ท.ไกรบุญ ทรวดทรง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

 “ สำนักงานตำรวจแห่งชาติพยายามแยกผู้ติดเชื้อออกมาให้มากที่สุด เพราะสายพันธุ์ใหม่ไม่แสดงอาการ กว่าจะมีอาการก็อาจสายเกิน เช่น เป็นไข้  เนื่องจากติดเชื้อมาหลายวันอาการแบบนี้ เป็นผู้ป่วยจากสีเหลือง เป็นสีส้ม และสีแดงต้องเข้าการรักษากับทางโรงพยาบาล แต่ติดขัดกรณีเตียงเต็ม หรือสถานที่ไม่มี  การหาผู้ติดเชื้อให้เร็วสุดจะเป็นการแก้ปัญหาลดการสูญเสียได้” พล.ต.อ.สุวัฒน์ว่าถึงหลักการ

เจ้าตัวอธิบายด้วยว่า วิธีการตรวจเชิงรุกหาผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว การตรวจเชิงรุกของมี 2 วิธี คือ ตรวจให้ กับให้ตรวจเอง การให้ตำรวจตรวจเองโดยนำการเครื่องตรวจไปแจก หางบประมาณจัดซื้อจำนวน 2 แสนชิ้น สามารถรู้ผลเร็ว รัฐบาลเพิ่งอนุญาตให้ใช้ได้ แต่อาจยังไม่เพียงพอ

“ ส่วนวิธีที่เราไปตรวจให้ข้าราชการตำรวจ และครอบครัว ที่ผ่านมาทดลองตรวจเชิงรุกในพื้นที่แฟลตตำรวจลือชา ชุมชนสินทวี 9  กองบังคับการตำรวจนครบาล 7  และกองบังคับการตำรวจนครบาล 8 พร้อมมีระบบ home isolation ระบบการส่งต่อผู้ติดเชื้อไปรักษาทางการแพทย์ ระบบจะต้องเบ็ดเสร็จตรงนั้น   หากตรวจพบเชื้อจะเอกซเรย์ปอด และสามารถพบแพทย์ได้ทันที  แพทย์วินิจฉัยจากฟิล์มเอกซเรย์ก่อนส่งตัวไปยังโรงพยาบาลในเครือข่ายที่ประสานไว้ล่วงหน้า  แต่ถ้าดูอาการไม่มากให้เข้าโปรแกรม home isolation”    

สำหรับโปรแกรม home isolation  พล.ต.อ.สุวัฒน์ยอมรับสำนักงานตำรวจแห่งชาติไม่เหมือนหน่วยอื่น เพราะไม่มีคอลเซ็นเตอร์ จะใช้อยู่ 2 อย่าง คือ แอปพลิเคชันบันทึกข้อมูลผู้ป่วยที่ต้องกรอกข้อมูลเอง เช่น ข้อมูลการวัดไข้  ออกซิเจน  การเต้นของหัวใจ  อาการไอ เจ็บคอ เป็นต้น กรอกทุกวัน/วันละ 3 เวลา หากพบความผิดปกติแพทย์จะติดต่อคนนั้น ถ้าติดต่อไม่ได้จะติดต่อแบบไลน์กลุ่ม ผู้บังคับบัญชาจะไปดำเนินการ ไม่ยุ่งยาก ลดปริมาณการปฏิสัมพันธ์ไม่จำเป็นต้องคุยกับทุกคน มีผู้บังคับบัญชาดูแลผ่านไลน์กลุ่ม มีผู้บังคับบัญชาคอยดูแลอยู่ในกลุ่ม แต่ละกลุ่มย่อยเป็นระดับกองกำกับการ

“เรากำลังมีหน่วยตรวจเคลื่อนที่เชิงรุกแบบใช้รถ กำลังดำเนินการอยู่ สามารถใช้งานได้  ถ้าทดสอบใช้งานได้ดีจะขยายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศ” แม่ทัพสีกากีบอกวิธีปฏิบัติการเชิงรุกตรวจหาเชื้อโควิดแก่ผู้ใต้บังคับบัญชาและครอบครัว

ป้องกันไว้ไม่ให้สายเกินไปจนเกิดความสูญเสีย

RELATED ARTICLES