“นางเสือหาญ” แม่ฟ้าตำรวจชายแดน

 

ธ ทรงเป็นยิ่งกว่าบิดรมารดา ตำรวจตระเวนชายแดน

เนื่องในวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี วันที่ 21 ตุลาคม หลายคนคงไม่ได้สัมผัสภาพของในฉลองพระองค์ชุดพลร่มตำรวจตระเวนชายแดนเสด็จพระราชดำเนินเคียงบ่าเคียงไหล่เหล่านักรบป่าไปตามถิ่นทุรกันดาร

สมัยยังมีพระชนม์ชีพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดนถึงถิ่นฐานอยู่เสมอ ไม่ว่าจะอยู่แห่งหนตำบลใด หรืออยู่ในถิ่นทุรกันดารเพียงใด รอยพระบาทของพระองค์ท่านเหยียบย่างไปทุกที่ โดยมิได้ทรงคำนึงถึงความลำบากตรากตรำพระวรกาย

ทรงทอดพระเนตรเห็นภารกิจในการรักษาเอกราชอธิปไตยที่เสี่ยงต่อความเป็นความตาย การดำรงชีวิตที่ยากแค้นลำเค็ญตามฐาน บ้างก็อยู่ในป่ารก บ้างก็อยู่บนเขาสูง อยู่กันอย่างแร้นแค้น นอนกลางดินกินกลางทราย ห่างไกลครอบครัว มีเพียงเพื่อนร่วมฐานที่ช่วยเหลือเยียวยายามป่วยไข้กันเองตามอัตภาพ ล้วนประจักษ์แก่พระเนตรพระกรรณ ทำให้พระองค์ท่านเข้าพระราชหฤทัยพระราชทานความเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูล ไม่เพียงแต่ตำรวจตระเวนชายแดนเท่านั้น ยังทรงเผื่อแผ่ไปถึงครอบครัวลูกเมียด้วย

 เสมือนหนึ่งพระองค์ท่านทรงเป็น “แม่ฟ้า” ของตำรวจตระเวนชายแดน

เมื่อปี 2505 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี เสด็จพระราชดำเนินแปรพระราชฐาน ณ พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ จังหวัดเชียงใหม่ ตำรวจตระเวนชายแดนที่ขณะนั้นใช้ชื่อว่า “ตำรวจชายแดน” มีภารกิจสำคัญในการถวายอารักขารักษาความปลอดภัยและนำเสด็จประพาสตามป่าเขาต่าง ๆ

วันหนึ่ง สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงพระราชดำเนินออกมาทางประตูพระตำหนักด้านหลัง ร.ต.ต.ประพันธ์ ยุกตานนท์ ผู้บังคับหมวดตำรวจชายแดน กองกำกับการตำรวจชายแดนเขต 5 จังหวัดเชียงใหม่ ได้เข้าถวายรายงานตัว

พระองค์รับสั่งถามว่า “เป็นใคร”

นายตำรวจที่ถวายอารักขากราบบังคมทูลว่า “ข้าพระพุทธเจ้าเป็นตำรวจชายแดนพระพุทธเจ้าข้า”

เมื่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงได้ยินจึงรับสั่งด้วยความแปลกพระราชหฤทัยว่า “เป็นตำรวจตระเวนชายแดนหรือ นึกว่าเป็นทหารเสียอีก”

จากวันนั้นมา กลายเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่ทำให้ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้ทรงรู้จักตำรวจตระเวนชายแดนอย่างเป็นทางการครั้งแรก พระองค์ทรงสนพระราชหฤทัยว่า ตำรวจตระเวนชายแดนทำหน้าที่อะไร อยู่ที่ไหน และทรงมีพระราชดำริจะไปเยี่ยมตำรวจตระเวนชายแดนที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ตามป่าเขา

ทำให้ทรงประจักษ์ยิ่งขึ้นว่า ตำรวจตระเวนชายแดนทำอะไร และยากลำบากเพียงใด การที่ได้ทรงใกล้ชิดกับตำรวจตระเวนชายแดนอยู่เป็นเวลานาน ทำให้ทรงคุ้นเคย และทรงทราบถึงความเป็นอยู่ของตำรวจตระเวนชายแดน หน้าที่ และความรับผิดชอบ ตลอดจนข้อขัดข้องต่าง ๆ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นในการพระราชทานความช่วยเหลือมากมายหลายดานแก่บรรดาตำรวจตระเวนชายแดน

พล.ต.อ.สล้าง บุนนาค และ พ.ต.อ.ประพันธ์ ยุกตานนท์ ที่มีโอกาสถวายอารักขา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ตั้งแต่ปี 2505 สมัยทั้งคู่ยังเป็นผู้หมวดหนุ่มเคยสัมภาษณ์เรื่องราวต่าง ๆ และความเป็นมาของฉลองพระองค์ในชุดพลร่มตำรวจชายแดน

เริ่มต้นเมื่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงมีรับสั่งถาม ร.ต.ต.ประพันธ์ ยุกตานนท์ ขณะปฏิบัติงานอยู่ที่ฐานบ้านนาหวาย อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ถึงสภาพภูมิประเทศในบริเวณดังกล่าว

ร.ต.ต.ประพันธ์กราบบังคมทูลว่า บ้านนาหวายมีอาณาเขตติดต่อกับสหภาพพม่าที่ในเวลานั้นมีการสู้รบภายในของชนกลุ่มน้อย คือ ก๊กมินตั๋ง และไทยใหญ่ หรือรัฐฉานกับทหารของสหภาพพม่า ไม่ว่าจะสู้รับกันครั้งใด เมื่อชนกลุ่มน้อยพ่ายแพ้หรือบาดเจ็บก็จะหลบเข้ามาในราชอาณาจักรไทย

ชนกลุ่มน้อยที่ทำหน้าที่ทหารนั้นมีผู้หญิงแต่งตัวแบบทหารชายด้วย เรียกกันว่า “นางเสือหาญ”

สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีจึงทรงมีรับสั่งว่า

นายประพันธ์ ฉันอยากเป็นนางเสือหาญ แต่งตัวแบบนายประพันธ์”

นอกจากทรงมีรับสั่งกับ ร.ต.ต.ประพันธ์แล้ว ยังทรงรับสั่งกับ ร.ต.ต.สล้างด้วยว่า

นายสล้าง ฉันยังไม่มีเครื่องแบบใส่เลย”

ร.ต.ต.สล้าง ได้ประสานกับ คุณสวาท ช่างเรือน นางสนองพระโอษฐ์ให้นำฉลองพระองค์ที่เป็นกางเกงและเสื้อเชิ้ตมาเป็นแบบให้ร้านตัดเสื้อที่จังหวัดเชียงใหม่ตัดเป็นเครื่องแบบพลร่มตำรวจชายแดนถวาย

หลังจากนั้น พสกนิกรชาวไทยก็ได้เห็นสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีทรงฉลองพระองค์เครื่องแบบพลร่มตำรวจชายแดนตลอดมา

ฉลองพระองค์ตำรวจตระเวนชายแดนประดับปีพลร่ม ปักอักษรพระราชนามสกุล “มหิดล” เหนือกระเป๋าด้านขวาของฉลองพระองค์ รัดพระองค์ทีดำ มีตราโล่ ทรงดาบปลายปืนคาร์บิน ทรงพระมาลาแบเร่ต์สีน้ำเงินเข้ม มีเครื่องหมายตราแผ่นดิน

ด้วยพระเมตตาที่ทรงมีต่อทวยราษฎร์ผู้อยู่ห่างไกล กอปรกับพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อตำรวจตระเวนชายแดน เหล่าตำรวจตระเวนชายแดนที่นำเสด็จฯ และเฝ้าอารักขาก็เริ่มขนานนามพระองค์ว่า “สมเด็จย่า”  

ปรากฏว่าเมื่อ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ทรงทราบความมิได้ทรงคัดค้าน ตรงกันข้ามและยังมีรับสั่งว่า “เออ ฉันเป็นย่าของเขาก็แล้วกัน”

พระองค์มีรับสั่งย้ำด้วยว่า

“ตำรวจตระเวนชายแดนทุกคนเป็นหลานของเรา”

พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ที่ทรงมีต่อตำรวจตระเวนชายแดนของ “สมเด็จย่า” นั้น สมกับคำกล่าวที่ว่า “ทรงเป็นยิ่งกว่าบิดรมารดา” ที่ตำรวจตระเวนชายแดนทุกนายต่างสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้

 

 

 

 

RELATED ARTICLES