ภารกิจติดอาร์ม (2)

 

เหตุผลและความจำเป็น ไม่ควรยุบหน่วย กองบังคับการตำรวจรถไฟ

กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางพยายามแจงข้อมูลหักล้างไปยังฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับร่างพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติฉบับปรับปรุงใหม่ ถึงภารกิจติดอาร์ม “กองตำรวจรถไฟ”

หวังให้เปลี่ยนแนวความคิดโอนย้ายภารกิจไปฝากไว้กับหน่วยอื่น

ไม่อยากให้ปิดตำนาน “กองบังคับการตำรวจรถไฟ” ที่รับใช้ประชาชนมายาวนาน 128 ปี

เก็บเรื่องราวตามพระราชปณิธาน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่มีพระราชดำริก่อตั้งกองตำรวจรถไฟขึ้นเพื่อปกป้องคุ้มครอง รักษาชีวิตและทรัพย์สินของ “กรมรถไฟ” เมื่อปีพุทธศักราช 2347

ประเด็นสำคัญอยู่ที่ “ภารกิจหลักเหนือชีวิต” ในการถวายความปลอดภัย บริเวณจุดตัดทางรถไฟ ทางร่วม ทางแยกในพื้นที่รับผิดชอบของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นภารกิจอันสำคัญยิ่งในการถวายพระเกียรติการถวายความปลอดภัย การถวายอารักขา และการปฏิบัติตามพระราชประสงค์

ขณะเดียวกัน ตำรวจรถไฟมีอำนาจสืบสวนสอบสวน จับกุม ป้องกันปราบปรามการกระทำผิดในพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั่วราชอาณาจักร หากมีตำรวจรถไฟอยู่ปฏิบัติหน้าที่จะช่วยทำให้ประชาชนมีความเชื่อมั่นและศรัทธาในการรักษาความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัย

มากกว่าเจ้าหน้าที่การถไฟแห่งประเทศไทยที่ไม่ได้เป็น “ผู้บังคับใช้กฎหมาย” ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการสืบสวนจับกุมตามกฎหมาย

ตำรวจรถไฟยังมี องค์ความรู้เฉพาะทาง มีทักษะและความเชี่ยวชาญในการจับกุม ตรวจสอบ ติดตาม ตรวจค้นเป้าหมายได้เป็นอย่างดี

สร้างผลงานการจับกุมและผลการปฏิบัติเป็นที่ประจักษ์แก่สังคมมานานเกินกว่า 100 ปี

พื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทย เป็นพื้นที่เฉพาะ พื้นที่ทางราง การปฏิบัติหน้าที่ต้องขึ้นปฏิบัติหน้าที่บนขบวนรถไฟตลอดเส้นทาง พื้นที่ทางรางผ่านหลายจังหวัด หากถ่ายโอนภารกิจอาจไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตลอดเส้นทางได้

เวลาเกิดเหตุบนขบวนรถไฟ ประชาชนย่อมไม่ได้รับความสะดวก

อีกเหตุผลไม่ควรที่จะยุบหน่วย กองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลางมองว่า การรถไฟแห่งประเทศไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมากในการจ้างหน่วยงานอื่นมาดูแลการรักษาความปลอดภัย เนื่องจากมีพื้นที่อยู่ทั่วประเทศ

ปัจจุบันตำรวจรถไฟได้รับการสนับสนุนงบประมาณรายจ่ายจากสำนักงานงบประมาณเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่กระทบกับงานงบประมาณและรายได้ของการรถไฟแห่งประเทศไทยอยู่แล้ว

แถมอนาคตเส้นทางรถไฟฟ้าทั้งบนดินและใต้ดินจะขยายตัวอีกหลายโครงการนำความเจริญออกนอกเมืองเพื่อสะดวกต่อการเดินทางของประชาชน

หากไม่มีตำรวจรถไฟแล้วตำรวจท้องที่จะรับมือไหวจริงหรือ

RELATED ARTICLES