สร้างเกราะป้องกันภัยออนไลน์

 

อาละวาดหนักข้อขึ้นรายวัน สำหรับแก๊งคอลเซ็นเตอร์และมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์

เกิดคำถามมากมายว่า ตำรวจจะมีมาตรการ “ปัดกวาด” ได้ขนาดไหนเพื่อให้ วายร้ายในโลกไซเบอร์หายไปจากชีวิตประจำวันของสุจริตชนที่ตกเป็นเหยื่อแทบทุกสาขาอาชีพ

ทั้งที่มีหน่วยงานสำคัญอย่างกองบัญชาการตำรวจสืบสวนปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี มีกองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  และยังมี ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ที่ขนเอา “นักสืบมือพระกาฬ” จากหลายหน่วยเข้าไปเป็นชุดเฉพาะกิจ

ได้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เป็นผู้อำนวยการคุมศูนย์ร่วมกับ พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหยานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ

ทั้งคู่เพิ่งเปิดผลการขับเคลื่อนการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีของสำนักงานตำรวจแห่งชาติในห้วงปี 2564 ถึงปัจจุบัน

ระบุเหตุผล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้ความสำคัญกับปัญหาอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่สร้างความเสียหายแก่ประชาชน ได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเร่งแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนและครบวงจร

ตลอดจนสร้างการรับรู้ไม่ให้ประชาชนตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพ

ตามนโยบายของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติที่เน้นย้ำเรื่องการสร้างเกราะป้องกันประชาชน หรือ Cyber Vaccine ต้องทันต่อรูปแบบของอาชญากรรมที่เปลี่ยนไปในโลกดิจิทัล

เปิดมาตรการด้านการปราบปราบ ระดมกวาดล้างจับกุมอย่างต่อเนื่องในคดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 จนถึงปัจจุบัน 10,818 คดี  ผู้ต้องหา 10,584 คน รวมมูลค่าความเสียหายหลายพันล้านบาท

ขณะเดียวกันยังทำแผนเชิงรุกในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม ตั้งแต่ โครงการระบบการรับแจ้งความออนไลน์คดีอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ผ่าน www.thaipoliceonline.com เปิดให้ประชาชนกรอกข้อมูลลงในระบบการรับแจ้งความ แล้วจะมีเจ้าหน้าที่ตำรวจติดต่อกลับไปเพื่อสอบถามสถานีตำรวจที่จะไปแจ้งความและยืนยันการนัดหมายก่อนที่จะเดินทางไปแจ้งความร้องทุกข์ยังสถานีตำรวจที่ประชาชนเลือกหรือที่มีอำนาจการสอบสวน

พร้อมขั้นตอนการอายัดบัญชีคนร้ายในทันที

ทั้งนี้ ระบบรองรับให้ประชาชนติดตามความคืบหน้าในการดำเนินคดีผ่านระบบออนไลน์ และรองรับการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการสืบสวนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ประมวลผลความเชื่อมโยง แยกกลุ่มผู้กระทำผิด เครือข่าย และกลุ่มผู้เสียหาย

เตรียมเปิดตัวอย่างโครงการอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 และให้ประชาชนใช้ระบบได้ในวันที่ 1 มีนาคม 2565

นอกจากนี้ได้ประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  เช่น แก๊งคอลเซ็นเตอร์มักใช้พื้นที่ในประเทศเพื่อนบ้านเป็นฐานปฏิบัติการให้ยากต่อการติดตามจับกุม

พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วย นายเอกสิทธิ คุณานันทกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นำคณะได้เดินทางไปยังกรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา พบปะหารือกับผู้แทนฝ่ายรัฐบาลกัมพูชา ประสานความร่วมมือจับกุมแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ฝังตัวอยู่ในกรุงพนมเปญ และเมืองพระสีหนุ

จับกุมผู้ต้องหา 23 ราย มูลค่าความเสียหายกว่า 1,000 ล้านบาท ส่งผู้ต้องหาทั้งหมดมาดำเนินคดีในประเทศไทยต่อไป

ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันต่อว่า มีการประสานความร่วมมือกับสมาคมธนาคารไทยเกี่ยวกับความร่วมมือในการดำเนินคดีและประสานข้อมูลเพื่ออายัดบัญชีชั่วคราวทันที

หลังจากนั้นจะมีการแจ้งอายัดบัญชีจากพนักงานสอบสวนต่อไป

เช่นเดียวกับประสานความร่วมมือกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ผ่านสายด่วน 1710 ในการยับยั้งการทำธุรกรรมไว้ชั่วคราว ก่อนพนักงานสอบสวนจะทำหนังสืออายัดบัญชีไปยังธนาคารนั้นโดยเร็ว และอาศัยพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินยึดทรัพย์ของเครือข่ายกระทำความผิดต่อไป

 ประสานความร่วมมือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตลอดชนผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือในการวางแนว “ปิดกั้น” การโทรมาจากต่างประเทศที่อาจเป็นกลุ่มแก๊งมิจฉาชีพไปใช้ฐานปฏิบัติการอยู่ประเทศเพื่อนบ้าน

ท้ายสุดมีการประชาสัมพันธ์เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชาชนได้รับรู้ถึงพฤติกรรมของคนร้ายที่แฝงมากับโลกออนไลน์ใน 14 รูปแบบ

ได้แก่ (1)หลอกขายของออนไลน์ (2) คอลเซ็นเตอร์ (Call Center) ข่มขู่ให้เกิดความกลัว (3) เงินกู้ออนไลน์ ดอกเบี้ยโหด (4)เงินกู้ออนไลน์ ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) (5)หลอกให้ลงทุนต่างๆ (6)หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ (7) ใช้ภาพปลอมหลอกให้หลงรักแล้วโอนเงิน (Romance scam) หรือ หลอกให้ลงทุน (Hybrid scam) (8)ส่งลิงค์ปลอมเพื่อหลอกแฮ็กเอาข้อมูลส่วนตัว (9) อ้างเป็นบุคคลอื่นเพื่อหลอกเอาข้อมูลส่วนตัว (10) ปลอม Line , Facebook หรือ Account หลอกยืมเงิน (11) ข่าวปลอม (Fake news) – ชัวร์ก่อนแชร์ (12) หลอกลวงเอาภาพโป้เปลือยเพื่อใช้แบล็กเมล์ (13) โฆษณาชวนไปทำงานต่างประเทศแล้วบังคับให้ทำงานผิดกฎหมาย (14) ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) เข้าข่ายเป็นความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน

เตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อใครง่ายในสังคมออนไลน์

 

RELATED ARTICLES