จินตนาการสำคัญกว่าความคิด

 

ต้องยอมรับการทำงานของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็นอาจารย์ใหญ่แห่งวงการนักสืบยุคปัจจุบัน

ทุกคดีที่เกิดต้องมีเหตุและผลรองรับทฤษฎีการสืบสวนสอบสวน

ไม่ใช่จินตนาการไปตามกระแสโลกโซเชียล

คดีของดาราสาวคนดัง แตงโม-นิดา หรือ ภัทรธิดา  พัชรวีระพงษ์ เจ้าสำนักสีกากีเรียกคณะทำงานสอบถามความคืบหน้าของคดีทุกวัน

ทุกอย่างต้องตอบโจทย์ข้อสงสัยของสังคม แม้สมมติฐานบางเรื่องเกินกว่าความเป็นจริง แต่ต้องมีสิ่งรองรับเหตุและผล

ดั้นด้นค้นหาให้เกิดความกระจ่างในข้อกังหาของหลายฝ่าย

ถึงขนาดต้องตามผู้เชี่ยวชาญด้านการเดินเรือมาตรวจพิสูจน์ความเร็วของ “สปีดโบ๊ตลำมรณะ” ว่าวิ่งกี่น็อตต่อชั่วโมงแล้วจะพาให้เกิดอุบัติเหตุได้หรือไม่

ก่อนได้หลักฐานสำคัญเป็นกล้องวงจรปิดห้วงเวลาเกิดเหตุพบเรือโยงลำใหญ่แล่นสวนลำน้ำมาพอดีเป็นจังหวะที่อาจเกิดแรงกระเพื่อมทำให้เกิดคลื่นกระแทกเรือเร็วที่ ดาราสาวแตงโม นั่งอยู่กระเทือนจนทำผลัดตกเรือลงสู่ก้นเจ้าพระยา

ทฤษฎีนี้อยู่ที่บรรดาคณะทำงานสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 1 และสถานีตำรวจภูธรเมืองนนทบุรีต้องค้นหาเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริง

ข้อเท็จจริงอยู่ที่สังคมโซเชียลจะเชื่อมากน้อยแค่ไหน เมื่อน้ำหนักไปในทิศทางของอุบัติเหตุไม่ได้ดั่งจินตนาการล้ำลึกของบรรดา “ซีไอสไอไซเบอร์”

ตำรวจน้อยใหญ่พากันปวดหัว เช่นเดียวกับ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ไม่อาจคลายข้อกังขาของเหล่านักสืบบนแป้น คีย์บอร์ดยุค 5 G ได้สนิทใจ

ไม่แตกต่างจากอดีตที่หลายคนยังเคลือบแคลงการตายของ ห้างทอง ธรรมวัฒนะ ทายาทตระกูลมรดกเลือด พร้อมไม่เชื่อว่า บุญเลี้ยง อดุลยฤทธิกุล เจ้าพ่อคาเฟ่ ถูกเด็ดชีพ เพียงเพราะเป็นคดีชิงทรัพย์ธรรมดา รวมถึงใครจะเชื่อว่า “ผู้พันคนดัง” ไม่มีมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของ พ่อเมืองใหญ่ ในจังหวัดภาคอีสาน หรือ ฆาตกรรมนายเอกยุทธ อัญชันบุตร ที่เป็นปริศนาในหัวว่า เป็นคดีลึกลับซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าคนขับรถหิวกระหายในทรัพย์สินเจ้านาย

แม้กระทั่ง อดีตหม่อมลูกปลา วางยาฆ่า “ท่านชายกบ” จริงหรือ

ว่ากันตามเนื้อผ้า นานาจิตตัง

ผู้เขียนพยายามไล่ถามทัศนคติที่เกิดขึ้นของการตาย ดาราสาวแตงโม จากนักสืบรุ่นเก่ารุ่นใหม่ หลายคนมองต่างกันไปตามความคิด แต่ไม่ขอก้าวล่วงลงลึกในรายละเอียดของแฟ้มคดี เนื่องจากไม่ได้ลงไปสัมผัสที่เกิดเหตุ หรือสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง

อาศัยติดตามจากข่าวคราวบนโลกโซเชียลและตามหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่อาจพิสูจน์ชี้ชัดฟันธงรูปคดีมีเบื้องหน้าเบื้องหลังแค่ไหน

แต่โดนใจอยู่กับความคิดนายตำรวจนักสืบระดับ ผู้กำกับรุ่นใหม่ ตอบได้ตรงคำถามที่อยากสะกิดเตือน นักสืบไซเบอร์ หลายคน

เขาอ้างคำของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ นักวิทยาศาสตร์ชื่อก้องโลกที่บอกไว้ว่า “จินตนาการสำคัญกว่าความคิด”

ดังนั้น นักมโนโซเชียลมักคลั่งไคล้การหาคำตอบเป็นอย่างมาก

กระนั้น “ไอสไตน์” เป็นนักวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่นิติศาสตร์ ทั้งไม่ใช่ตำรวจ ตลอดจนไม่เคยผ่านหลักสูตรสืบสวน 5 G แต่อย่างใด

กฎหมายบัญญัติไว้ว่าจะลงโทษโดยปราศจากกฎหมายบัญญัติไม่ได้ ตลอดจนจะต้องมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะลงโทษ

มิใช่อาศัยเพียงหลักฐานพอรับฟัง หรือหลักฐานอันควรเชื่อ

ท้ายที่สุดนี้ นักวิทยาศาสตร์มีคำกล่าวว่า “การตั้งคำถามสำคัญกว่า การหาคำตอบเรื่องใดเรื่องหนึ่ง” หมายถึงคำถามที่น่าถาม/ควรถาม

เช่น กรณี เซอร์ไอแซก นิวตัน ผู้ค้นพบทฤษฎีแรงดึงดูด เพราะดันไปนั่งให้ลูกแอปเปิ้ลหล่นใส่หัว  หรือ กาลิเลโอ ผู้ทดลองโยนของที่น้ำหนักต่างกันจากหอเอนปิซ่า และบุคคลทั้งสองนี้แก่กว่า “ไอสไตน์” ต้องเชื่อถือ

อนุมานได้ว่า การตั้งคำถามนั้นสำคัญในแง่วิทยาศาสตร์ แต่การหาคำตอบในแง่กฎหมายมันต้องมีหลักฐานมากกว่า ความพอใจของสังคม

เอวังก็มีด้วยประการละฉะนี้

RELATED ARTICLES