เสียงพนักงานสอบสวน

 

เสียงสะท้อนว่อนโลกออนไลน์ระบายความรู้สึกอึดอัดยาวเหยียดของพนักงานสอบสวนโรงพักทั่วประเทศ

พวกเขามองว่า วิธีการรับแจ้งความออนไลน์ ที่ทางสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพิ่งจะเปิดให้ประชาชนแจ้งความไปเมื่อต้นเดือนมีนาคม 2565

เป็นการแก้ไขปัญหาที่ไม่ถูกจุดอย่างยิ่ง

ระบุกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือหน่วยงานที่เรียกตัวเองว่า “ตำรวจไซเบอร์” เปิดรับช่องทางการแจ้งความออนไลน์จากประชาชน และเมื่อรับคำร้องทุกข์มาแล้ว กลับส่งเพียงแค่ข้อมูลที่เป็นตัวอักษรไปยังสถานีตำรวจในที่เกิดเหตุเพื่อให้พนักงานสอบสวนในท้องที่ทำต่อนั้น

ถือเป็นการ เพิ่มภาระงานให้กับพนักงานสอบสวน หรือร้อยเวรในท้องที่เป็นอย่างมาก ธรรมดาหน้างานที่ร้อยเวรพบเจอในแต่ละวันที่เข้าเวรก็มีมากพออยู่แล้ว

ชี้ให้เห็นเป็นหัวข้อ

1.แอดมินประจำโรงพักต้องเปิดดูระบบเป็นประจำว่ามีข้อมูลคดีส่งมาจาก ศปอส.ตร.หรือไม่

ศปอส.ตร. ย่อมาจาก ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ชื่อก็บ่งบอกโดยตรงอยู่แล้วว่า เป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่ในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี  กลับส่งเรื่องมาให้ที่โรงพักท้องที่ทำต่อ ทั้งที่โรงพักท้องที่ไม่มีอุปกรณ์ในการสืบสวนทางเทคโนโลยีใด ๆ เลย แม้กระทั่งหมึกเครื่องปริ้นเตอร์ยังต้องออกเงินซื้อกันเอง

2.เมื่อพบว่ามีข้อมูลคดีให้แอดมินนำข้อมูลดังกล่าวเสนอต่อพนักงานสอบสวน และหัวหน้าโรงพัก

เท่ากับว่าเมื่อแอดมินรับข้อมูลออนไลน์มาแล้ว ยังต้องปริ้นข้อมูลดังกล่าวลงในกระดาษ แล้วใส่แฟ้มเสนอให้กับหัวหน้าโรงพักตามขั้นตอนอีก เหมือนกับจะดีแล้วว่า การดำเนินการเป็นธุรการออนไลน์ แต่สุดท้ายก็เอามาลงกระดาษเหมือนเดิม ส่วนร้อยเวรที่เข้าเวรในวันนั้น ยังต้องนั่งลุ้นกันอีกว่า จะมีใครส่งเรื่องฉ้อโกงออนไลน์มาอีก

บางทีกลับมาจากเหตุลักทรัพย์ เหตุรถชน มาเจอกับผู้เสียหายคนอื่นที่นั่งรอแจ้งความอยู่ กลายเป็นว่ามีแฟ้มมาวางบนโต๊ะ เพิ่มงานฉ้อโกงออนไลน์เข้าไปอีก ผู้เสียหายคนอื่นมานั่งเสียเวลารอทั้งวัน ดูไม่เท่าเทียมกันเลย

3.เมื่อร้อยเวรรับเรื่องแล้วให้รีบติดต่อกับผู้เสียหายเพื่อนัดมาสอบสวนปากคำ

ในข้อนี้ ดูย้อนแย้งกันมาก ผู้เสียหายแจ้งความร้องทุกข์กับเว็บไซต์ที่เปิดให้แล้ว กลับต้องเดินทางไปโรงพักที่เกิดเหตุเพื่อให้ปากคำอีก ถ้าเป็นอย่างนั้นแล้ว แนะนำให้ผู้เสียหายเดินทางไปที่โรงพักด้วยตัวเองเลยก็ได้ ไม่จำเป็นต้องมีการแจ้งความออนไลน์ มิฉะนั้นแล้วจะเป็นการทำอะไรที่ซ้ำซ้อนเอามาก ๆ

4.เมื่อได้สอบสวนปากคำผู้เสียหาย หัวหน้าโรงพักจะต้องพิจารณาว่าคดีนี้ เหตุเกิดท้องที่ใด หากเกิดในท้องที่ของตน ให้รับคดี  หากเกิดในท้องที่อื่นให้ส่งคำร้องทุกข์ดังกล่าวไปยังท้องที่เกิดเหตุต่อไป

ข้อนี้ หนักกว่าข้อที่ 3 อีก แสดงให้เห็นได้ว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสบอสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่รับเรื่องแจ้งความออนไลน์มาไม่ได้มีข้อมูลโรงพักในท้องที่เกิดเหตุเลย หากใน 1 อำเภอ มีโรงพักมากกว่า 1 โรงพัก ต้องตรวจสอบให้ดีก่อนว่า ตำบลนี้เป็นท้องที่ของโรงพักใด มิฉะนั้น ถ้าส่งมาผิดโรงพักแล้ว โรงพักที่ได้รับข้อมูลก็ต้องส่งต่อไปอีกโรงพักในท้องที่ เท่ากับว่าเสียเวลาไปด้วย และเป็นการโยนงานให้กับโรงพักที่ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรด้วย

ต่อมาเมื่อสอบสวนปากคำผู้เสียหาย (ที่ต้องเสียเวลาเดินทางมาโรงพักที่เกิดเหตุ) เสร็จเรียบร้อยแล้ว ให้ร้อยเวรดำเนินการต่อ  ถามว่าให้รับเป็นเลขคดีเลยหรือไม่ ตอบว่า ยังไม่ต้อง ให้ดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานก่อน เมื่อเพียงพอจะออกหมายจับแล้ว “ให้รับเป็นเลขคดี” และไปออกหมายจับ

ถ้าให้ขยายความ คือ สาเหตุที่ยังไม่อยากให้รับเป็นเลขคดี หรือที่ภาษาร้อยเวรเรียกกว่า “ตัดเลข” เนื่องมาจากหัวหน้าโรงพัก และนาย ๆ ทั้งหลาย กลัวว่า เลขคดีกลุ่ม 2 ของโรงพักตัวเองจะค้าง ส่วนตัวผู้ต้องหาก็ยังจับไม่ได้ เมื่อค้างแล้ว อันดับโรงพักของตัวเองก็จะร่วง พอร่วงแล้วก็จะซวย จึงมีนโยบายไม่ให้ร้อยเวรตัดเลขก่อนที่พยานหลักฐานจะเรียบร้อย

ถามว่าจริง ๆ เลขคดีทั้ง 4 กลุ่มที่หัวหน้าโรงพักเป็นห่วงกันนักหนา ช่วยทำให้อาชญากรลดลงได้หรือไม่ ตอบเลยว่า ลดลงได้เพียงแค่ตัวเลขในกระดาษ  ในความเป็นจริงอาชญากรรมเกิดขึ้นทุกวัน ทุกเวลา น่าเป็นห่วงประชาชนที่ต้องมารับผลกรรมจากผลชี้วัดที่เป็นเพียงตัวเลขเท่านั้น

แต่เพื่อป้องกันการขาดอายุความ หรือถูกผู้เสียหายร้องเรียนมีการแนะนำ

-ร้อยเวรต้องลงประจำวันว่าได้รับคำร้องทุกข์ไว้แล้ว เมื่อจะรับเลขคดี ให้อ้างประจำวันข้อเดิม เพื่อรับเป็นเลขคดี

-ในระหว่างที่ร้อยเวรยังไม่รับเลขคดี ให้หมั่นโทรศัพท์หาผู้เสียหาย ให้เกิดความสบายใจ

 “ถามจริง ๆ เลยว่า นี้คือวิธีการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องแล้วหรือ ผู้เสียหายไม่ได้สนใจว่าจะโทรศัพท์มารายงานกี่ครั้ง ผู้เสียหายสนใจแค่ว่า เขาจะได้เงินคืนหรือไม่ หรือหากไม่ได้เงินคืน ผู้ต้องหา หรือเจ้าของบัญชีถูกออกหมายจับแล้วหรือยัง ต่อให้ร้อยเวรโทรไปเป็นร้อยสาย แต่หมายจับยังไม่มี ก็บอกเลยว่าไม่มีประโยชน์ใด ๆ ทั้งสิ้น”

พวกเขาขอเสนอวิธีแก้ไขปัญหาที่ดูน่าจะเป็นประโยชน์กับประชาชนที่สุด ย้ำว่า เป็นที่ประโยชน์กับประชาชนผู้เสียหายที่สุดจริง ๆ

1.กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมีพนักงานสอบสวนเป็นของตัวเอง เมื่อรับเรื่องแล้ว นัดสอบปากคำผู้เสียหายก่อนเลย หากผู้เสียหายไม่สะดวกที่จะมาพบก็วิดีโอคอลได้ เพราะถ้ารับแจ้งความออนไลน์ได้ ทำไมจะสอบปากคำออนไลน์ไม่ได้ เสร็จแล้วปริ้นออกมา แล้วนัดวันที่ผู้เสียหายสะดวกให้มาลงชื่อ หรือจะส่งไฟล์ให้ผู้เสียหายปริ้นให้ แล้วลงชื่อ แล้วส่งไปรณีย์กลับมาที่พนักงานสอบสวน หรือพนักงานสอบสวนจะปริ้นออกมาแล้วส่งไปที่ผู้เสียหายให้ลงชื่อ แล้วส่งกลับมาก็ยังได้ มีหลายวิธีมาก

2.พยานหลักฐาน บทคุยแชตสนทนา สลิปการโอนเงิน หรือหลักฐานอื่น ๆ ผู้เสียหายสามารถส่งให้พนักงานสอบสวนปริ้นออกมาได้ เชื่อว่า กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีคงจะมีเครื่องปริ้นเตอร์และน้ำหมึก งบหลวงให้ หรือจะบอกว่า ให้พนักงานสอบสวนซื้อน้ำหมึกกันเองไม่น่าจะใช่

3.ต่อมา พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีติดต่อธนาคารเพื่ออายัดบัญชี ขอเอกสารการเดินบัญชี เอกสารการเปิดบัญชี หรือภาพจากกล้องหน้าตู้เอทีเอ็ม เนื่องจากเป็นหน่วยงานใหญ่ มีความสามารถในการขอข้อมูลจากสถาบันทางการเงิน และรวดเร็วกว่า ดังนั้น ในเรื่องการขอเอกสาร กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสมควรอย่างยิ่งในการเป็นผู้รับผิดชอบในเรื่องนี้

4.เมื่อเอกสารครบแล้ว หากจะส่งมาให้โรงพักท้องที่ทำต่อ เชื่อว่าร้อยเวรหลายคนสามารถทำต่อได้ เนื่องจากเอกสารต่าง ๆ ที่เป็นพยานหลักฐานมีครบแล้ว เหลือเพียงแค่ออกหมายเรียกผู้ต้องหา 2 ครั้ง เป็นเรื่องของโรงพักท้องที่ เมื่อผู้ต้องหาไม่มาก็ออกหมายจับได้

ดังนี้แล้ว คนที่ได้รับประโยชน์จริง ๆ คือประชาชนผู้เสียหาย

หากจะบอกว่า 4 ข้อด้านบนที่กล่าวมา พนักงานสอบสวนไม่ได้มีหน้าที่ตรงนั้น ขอให้ยุบหน่วยงานนี้ทิ้งไปเสีย เนื่องจากเป็นหน้างานโดยตรง  อีกอย่างอย่างหนึ่ง พนักงานสอบสวนกองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีไม่ได้มานั่งรับแจ้งความ 24 ชั่วโมง เหตุรถชน คนบ้า หมากัด และอีกสารพัดอย่างแบบที่ร้อยเวรโรงพักทำกัน แต่ได้รับเงินประจำตำแหน่งเท่ากัน

การที่กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ออกตัวมาแรงว่า สามารถแจ้งความออนไลน์ได้ ไม่ใช่เป็นเรื่องที่ไม่ดี เป็นเรื่องที่ดีและสมควรทำเป็นอย่างยิ่ง ทว่าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ไม่เคยสนใจ ไม่เคยดูแล ไม่เคยสอบถามผู้ปฏิบัติงานจริง ๆ เลยว่า กำลังพลมีเพียงพอหรือไม่ ทรัพยากรเพียงพอในการทำงานหรือไม่กลับไปนำเสนอผลงานชิ้นใหม่ โฆษณาให้ประชาชนเอาความเชื่อถือ เท่ากับเป็นการเอาความดีเข้าตัวอย่างเดียว

สุดท้ายแล้วผู้ที่เสียหายคือ ประชาชนที่ต้องรับกรรม เพราะคดีไม่คืบหน้า

อย่าลืมว่าตำรวจทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชั้นประทวน สัญญาบัตร เป็นสายตรวจตำบล หรือเป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติทุกคนล้วนรับภาษีเงินเดือนจากประชาชนทั้งหมด

ประชาชนไม่ได้สนใจว่า ภายในองค์กรตำรวจจะทำงานกันอย่างไร ประชาชนสนใจเพียงว่าจะได้รับความเป็นธรรมหรือไม่ ประชาชนหวังว่าจะได้รับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ขอฝากเป็น “กระบอกเสียง” ไปยังผู้ที่มีอำนาจในการสั่งการทั้งหลาย ลงมาดูผู้ที่ปฏิบัติงาน เพื่อที่สุดแล้ว ผู้ที่ได้รับประโยชน์สูงสุด คือ ประชาชน

ผลดังกล่าวจะส่งกลับมาหายังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเองโดยไม่ต้องไปทำอะไร

 

 

RELATED ARTICLES