ตัวกำกับใจ

ยังเต็มไปด้วยข้อคิดเตือนสติในการดำเนินชีวิตอยู่เสมอ

พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ มองว่า สิ่งที่มองหาในโลกปัจจุบันที่มีแต่คำว่าแข่งขัน เก่งอย่างเดียวไม่พอ ผู้นำต้องมีหลักธรรมเป็นเข็มทิศกำกับไว้ตลอดเวลา

ประมุขศิลป์ (Leadership) เป็นคุณสมบัติของผู้ปกครองที่ต้องมี

คุณลักษณะที่ดีซึ่งหมายถึงศิลปะในการปกครองคน หรือในการนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ต้องการได้  การเป็นผู้นำที่ดีนั้นผู้นำจะต้องใจกว้างเปิดใจยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างแต่ไม่แตกแยก และต้องยอมรับการเปลี่ยนแปลงที่จะตามมาอยู่ตลอดเวลา

ผู้นำที่ดีต้องไม่ใช้วิธีการข่มขู่ หรือ ใช้แต่อำนาจเพื่อให้ผู้อยู่ใต้การปกครองปฏิบัติตามในสิ่งที่ตนเองต้องการ แต่ผู้นำที่ดีต้องใช้ทั้งหลักนิติรัฐผสมหลักรัฐศาสตร์ เป็นเครื่องมือในการปกครองและต้องนำหลักโลกบาลธรรมมาใช้กำกับใจ

นั่นคือ หิริ ความละอายแก่ใจ และ โอตัปปะ ความเกรงกลัวโทษทัณฑ์ที่จะตามมา

อีกทั้งต้องละเว้นจาก อคติ เพื่อให้เกิดความเที่ยงตรงในการปกครอง นอกจากนี้ผู้นำต้องใช้หลักพรหมวิหารมาเป็นตัวเชื่อม เพื่อบูรณาการให้การปกครองนั้นบรรลุเป้าหมายอันพึงประสงค์

นอกจากนี้แล้วผู้ปกครองต้องมีคุณลักษณะผู้ปกครองที่ดี 10 อย่าง

นั่นคือ 1) ผู้นำต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง 2) ผู้นำต้องมีจิตวิทยาและมีมนุษยสัมพันธ์ 3) สามารถจูงใจผู้คนได้ดี 4) มีความรับผิดชอบสูง 5) มีความยืดหยุ่นและมีความเด็ดขาด 6 มีความรอบรู้ 7) ประสานงานเก่ง 8) กระตือรือร้น 9) ทำงานเคียงข้างลูกน้องได้ 10) น่านับถือ

อนุมานได้ว่า ประมขศิลป คือ คุณลักษณะของผู้นำที่พึงประสงค์ในยุคปัจจุบัน เป็นสิ่งที่ต้องแสวงหาจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ เป็นพรแสวง ไม่ใช่พรสวรรค์ การเป็นผู้ปกครองหรือผู้นำที่ดีจะต้องมีความสามารถ โดยนำหลักการปกครองทางโลกควบคู่กับการใช้หลักธรรมมาเป็นตัวกำกับใจ เพื่อให้เกิดความเหมาะสม

ดังนั้นผู้ปกครองที่ดีจึงต้องปฏิบัติตนให้เหนือกว่าคนธรรมดา เป็นต้นแบบให้กับทุกคนที่อยู่ภายใต้การปกครอง ในขณะเดียวกันผู้ปกครองต้องมีบุคลิกของ ราชสีห์ ในเวลาเดียวกัน กล่าวคือ มีความสง่างาม มีความน่าเกรงขาม

มีความน่าเชื่อถือและปฏิบัติตนให้อยู่ในหลักทศพิธราชธรรม ดังนั้น ประมุขศิลป์ หรือผู้ปกครองที่ดีจึงต้องมีหลักการครองตนครองคน ครองงานเพื่อให้บรรลุถึงเป้าประสงค์ของการปกครองสืบไป

หากสักวันพวกเราหัดเป็นคนมีน้ำใจมากขึ้น ความแตกต่างระหว่างสังคมที่พัฒนาแล้วกับสังคมที่กำลังพัฒนา จะมีช่องว่างความแตกต่างน้อยลง

ความมีน้ำใจ คือ การให้เกียรติ เป็นวุฒิภาวะที่เลอเลิศ

เรามักมีน้ำใจกับคนใกล้ตัว เพื่อนฝูง คนที่เรารัก สิ่งเหล่านี้เรามักทำกันบ่อยๆ แต่หากวันไหนที่เรารู้จักยื่นน้ำใจไมตรีให้กับคนที่เหมาะสมด้วยความจริงใจ แม้อาจจะไม่รู้จักมาก่อน นั่นคือ จิตใจที่งดงามของเรา

สังคมของเรายังคงถูกมองข้ามความมีน้ำใจตรงนี้ไปอีกมากมาย

พล.ต.ท.ต่อศักดิ์ ยังยกคำของ ขงจื้อ ที่กล่าวว่า ผู้ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นคนกล้าหาญ หมายถึงวีรชน ต้องมีคุณสมบัติที่เป็นแก่นสาร 4 อย่างคือ รู้จักถ่อมตน เคารพนบนอบผู้ใหญ่ กรุณาต่อคนทั่วไป และมีความยุติธรรมเสมอ

ขงจื้อเพียรสั่งสอนคนให้กระทำแต่ความดี รู้จักปรับปรุงตนเอง ยามเมื่อเป็นวัยฉกรรจ์ต้องไม่ระรานและไม่ละโมบ ในวัยชรา เราปลูกสิ่งใดที่ดีหรือไม่ดีไว้เราก็จะได้สิ่งนั้นกลับคืนมา

ก่อนที่ขงจื๊อจะสิ้นใจนั้นได้ทิ้งข้อความไว้ว่า

ขุนเขาต้องพังทลาย ขื่อคานถึงแม้จะแข็งแรงปานใด สุดท้ายก็ต้องพังล่งมา เหมือนบัณฑิตและผู้ปกครองสุดท้ายก็ต้องร่วงโรย

ตรงกับมงคล 10 ประการ ดังนี้

คน ระยำ อย่าคลุกคลี

คนอัปรีย์ อย่าคุยนาน

คนใจพาล อย่าไปใกล้

คนใจร้าย อย่าไปจำ

คนใจดำ อย่าไปแคร์

คนสาระแน อย่าไปคบ

คนหัวประจบ อย่าเกลือกกลั้ว

คนเห็นแก่ตัว อย่าเข้าใกล้

คนแล้งน้ำใจ อย่าเกี่ยวข้อง

คนขายเพื่อนพ้อง อย่าให้ราคา

สุดท้ายเจ้าตัวหยิบประโยคที่ว่า ไปไม่กลับ หลับไม่ตื่น ฟื้นไม่มี หนีไม่พ้น

คนส่วนมาก รวมทั้งเราด้วย ก็จะเข้าใจว่า พระท่านบอกให้ปลงว่า

ไปไม่กลับ ก็ = ตาย

หลับไม่ตื่น ก็ = ตาย

ฟื้นไม่มี ก็ = ตาย

หนีไม่พ้น ก็ = ตาย ใช่ไหม?

แต่พระท่านแสดงธรรมว่า เราท่านทั้งหลายเข้าใจความหมายผิดหมดเลย เราควรจะทำความเข้าใจเสียใหม่ ให้ถูกต้อง จะได้ไปสอนลูกหลานให้เข้าใจ ดังนี้

ไปไม่กลับ หมายถึง กาลเวลาที่หมุนผ่านไป ไม่มีวันหวนกลับ อดีตล่วงไปแล้ว เหลือแต่ปัจจุบัน ควรใช้เวลาสร้างแต่ความดีให้คุ้มค่า

หลับไม่ตื่น หมายถึง คนที่ยังหลงอยู่กับ โมหะความหลงใน กิเลส สร้างแต่บาปกรรม ไม่ยอมทำความดี เหมือนคนที่หลับไหล ไม่ยอมตื่นรับรู้ตามความจริง

ฟื้นไม่มี หมายถึง สังขารของเราที่ร่วงโรยไป ในแต่ละวัน ไม่สามารถย้อนคืนความหนุ่มความสาวได้

หนีไม่พ้น หมายถึง กรรมที่เราสร้างมาในแต่ละวัน ไม่มีวันที่เราจะหนีกรรมนั้นพ้น

สรุปว่า ท่านบอกให้เราไม่ประมาทใน ‘กาลเวลา

ไม่ประมาทใน กิเลส

ไม่ประมาทใน สังขารที่ล่วงไป

ไม่ประมาทใน ‘การสร้างบุญกุศล

RELATED ARTICLES