ปฏูิรูปตำรวจอวดภูมิใคร

กลับมาว่ากันถึงความคืบหน้าการปฏิรูปตำรวจ

ปฏิบัติการ “อวดภูมิความรู้” ท่ามกลาง “อัตตา” ของนักวิชาการนอกรั้วปทุมวัน อยากปั่น “โลกสีกากี” ให้ดูดีในสายตาของตัวเองแบบไม่เกรงใจคนในองค์กรพิทักษ์สันติราษฎร์

ล่าสุด นายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุกรรมการด้านสื่อสารกับสังคม ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรม (ตำรวจ) แจกแจงผลการหารือของอนุกรรมการด้านวิชาการที่มี ศาสตราจารย์ ดร.ศุภชัย ยาวะประภาษ เป็นประธาน

ถอดบทเรียนจากตำรวจหลายประเทศที่ปรับตัวทำให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่น

เขายกตัวอย่าง สิงค์โปร์ที่แก้ปัญหาคอร์รัปชั่นของตำรวจด้วยการกระจายอำนาจตำรวจลงใกล้ชิดประชาชน มีชุมชนเป็นหุ้นส่วนกับตำรวจในการป้องกันอาชญากรรม จัดสรรทรัพยากรเพื่อสนับสนุนการทำงานของตำรวจอย่างเพียงพอ

ส่วนตำรวจเยอรมนี ปรับตัวปฏิรูปตำรวจด้วยการฝึกให้นำความรู้ทางทฤษฎีไปปฏิบัติด้วยตนเอง ฝึกให้นักเรียนตำรวจรู้จักการแก้ไขปัญหาในสถานการณ์ต่างๆ ตามหลักสิทธิมนุษยชน ให้อำนาจตำรวจระดับปฏิบัติการเพิ่มขึ้น มีรัฐลงทุนให้ด้านเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการ

ตำรวจเมืองเบียร์สามารถเลี้ยงชีพและอยู่ในสังคมได้อย่างดี

ขณะที่ตำรวจญี่ปุ่นได้กระจายกำลังตำรวจไปให้บริการในพื้นที่ผ่านระบบโคบัง (ตู้ยาม) และชูไซโช่ (ป้อมยามที่พักตำรวจ) ให้ตำรวจมีบทบาทครอบคลุมทั้งการบังคับใช้กฎหมาย การช่วยเหลือประชาชนและเปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นข้อเสนอแนะจากประชาชน  

สำหรับอังกฤษ และเวลส์ มีคณะกรรมการอิสระรับเรื่องเรื่องราวทุกข์ ตั้งขึ้นตามกฎหมาย ประกอบด้วยบุคคล 13 คนที่ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับตำรวจ ร่วมกับกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิอีก 4 คน ที่แต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

กรรมการอิสระคณะนี้มีหน้าที่ควบคุมดูแลการสืบสวนสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหา รับฟังข้อร้องเรียนจากประชาชนระดับรากหญ้าพิจารณาเรื่องการสอบสวนเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ประชาชน

สหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะรัฐนิวยอร์ก มีคณะกรรมการพิจารณาเรื่องราวร้องทุกข์จากประชาชน เป็นองค์กรอิสระ มิได้เป็นหน่วยงานของนายกเทศมนตรี มีอำนาจสอบสวน ไต่สวน ศึกษา ค้นคว้า และเสนอแนะเพื่อรับฟังคำร้องทุกข์ที่มีต่อตำรวจนิวยอร์กที่ถูกกล่าวหาว่า ใช้อำนาจโดยมิชอบ ไม่สุภาพเรียบร้อย หรือใช้ภาษาที่หยาบคาบ

เหล่านี้เป็น “เศษเสี้ยว” ของตำรวจคุณภาพในต่างประเทศที่คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านกระบวนการยุติธรรมฝันจะนำมายำรวมเป็น “โมเดลตำรวจเมืองไทย”

ชงกันน้ำลายไหลไฟดับ

ตั้งแต่  การกระจายอำนาจบริหาร การสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในการบริหารงานตำรวจ การสร้างกลไกที่มีประสิทธิภาพในการตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจ  การถ่ายโอนภารกิจที่ไม่ใช่งานของตำรวจโดยตรง  การปรับปรุงพัฒนาระบบงานสอบสวน พัฒนาการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจ  การปรับปรุงเงินเดือนค่าตอบแทน  พัฒนาระบบสรรหา การผลิต บุคคลากรตำรวจ  ส่งเสริมความก้าวหน้าของตำรวจชั้นประทวนและ และจัดตั้งหน่วยงานในการปรับปรุงพัฒนากระบวนการยุติธรรม

ล้วนเป็นประเด็นเก่าเอามาเขย่าใหม่ที่พูดกันมานาน

บางทีก็น่ารำคาญอย่างที่ผู้เขียนบอกไว้เสมอ

วงการตำรวจ “ระบบไม่ได้ห่วย” แต่เพราะพวกผู้เป็นนาย “มันเฮงซวย”ต่างหาก !!!

RELATED ARTICLES