ซากประติมากรรมชิ้นเอก

 

ยืดเยื้อกันมานานนับสิบปี

ในที่สุด ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นัดอ่านคำพิพากษาในคดีที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายสุเทพ เทือกสุบรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ พ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์  บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเม้นท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด และ นายวิศณุ วิเศษสิงห์

กรณีร่วมกันฮั้วประมูลโครงการสร้างโรงพักทดแทน โครงการก่อสร้างอาคารที่พัก (แฟลตตำรวจ) หรือคดีสร้างโรงพัก 396 แห่งที่ ตกเป็นข่าวอื้อฉาว ยุคสมัยรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ เป็นนายรัฐมนตรี

หลายโรงพักถูกทิ้งร้างไม่สามารถก่อสร้างเสร็จตามกำหนด

 เป็น “มรดก” ของซากประติมากรรม “ชิ้นเอก” ในรัฐบาลขณะนั้น 

ก่อนลงเอยรูดม่านปิดฉาก

หลังจาก ศาลฎีกาแผนคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาคดีการก่อสร้างโรงพัก 396 แห่ง ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเป็นผู้ฟ้อง

พิพากษา “ยกฟ้อง” ข้อกล่าวหา นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เนื่องจากเห็นว่า ไม่มีความผิด และไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157

ย้อนกลับไปจุดเริ่มต้น ปฐมบทเกิดจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรี ด้านความมั่นคง เคาะมติเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552 อนุมัติเป็นหลักการโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจ (ทดแทน) ทั่วประเทศจำนวน 396 หลัง ภายในวงเงิน 6,672 ล้านบาท

สำนักงานตำรวจแห่งชาติแต่งตั้งคณะทำงานร่วมกับหน่วยงานภายนอก ศึกษาและพิจารณาแนวทางการจัดจ้าง มี 4 แนวทาง 1.จัดจ้างโดยส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แบบรวมการในครั้งเดียว สัญญาเดียว 396 หลัง 2.จัดจ้างโดยส่วนกลาง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ-แบบรวมการในครั้งเดียว โดยแยกการเสนอราคาเป็นรายภาค (ภาค 1-9) และทำสัญญา 9 สัญญา 3.จัดจ้างโดยตำรวจภูธรภาค 4.จัดจ้างโดยตำรวจภูธรจังหวัด

ได้ข้อสรุปว่า วิธีการที่เหมาะสมต้องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้ดำเนินการเอง จัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี และกระจายการจัดซื้อจัดจ้างไปตามตำรวจภูธรภาค หรือตำรวจภูธรจังหวัด (แยกประมูลรายภาค) การดำเนินโครงการจึงจะแล้วเสร็จ การก่อสร้างไม่เกิดปัญหา

ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ให้แยกประมูลเป็นรายภาค กลายเป็นรวมประมูลรายเดียว 396 หลัง อยู่ใน “โครงการไทยเข้มแข็ง” โปรเจ็กต์สำคัญของรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ ปรากฏว่าการก่อสร้างดำเนินการล่าช้า และไม่สำเร็จลุล่วง สำนักงานตำรวจแห่งชาติขยายระยะเวลาการก่อสร้างไปอีกจำนวนหลายครั้ง ผู้รับจ้างยังไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาจ้างได้ ทำให้สำนักงานตรวจแห่งชาติเกิดความเสียหาย

พรรคฝ่ายค้าน ยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล มี นายชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรครักประเทศไทย อภิปรายกลางสภา ในวาระไม่ไว้วางใจ เปิดโปงโครงการ 396 โรงพักที่สร้างแล้ว “ทิ้งร้าง” นำภาพถ่ายจำนวนมากมาแสดงประกอบอภิปราย

ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ขณะนั้นดูแลสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับไปตรวจสอบ ขุดคุ้ยความไม่ชอบมาพากลในคดีโรงพัก 396 แห่ง ทำให้ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตกเป็นจำเลยสำคัญในคดี

คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนชี้มูลคามผิด นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และการกระทำของ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ มีมูลความผิดทางอาญา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

การกระทำของคณะกรรมการประกวดราคา ทำให้การกระทำของ พล.ต.ต.สัจจะ คชหิรัญ และพ.ต.ท.สุริยา แจ้งสุวรรณ์ มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พุทธศักราช 2552 มาตรา 10 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 และมีมูลความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2547 มาตรา 79 (1) (5) และ (6)

ส่วนการการกระทำของ พ.ต.อ.จิรวุฒิ จันทร์เพ็ญ พ.ต.อ.สุทธี โสตถิทัต พ.ต.อ.พิชัย พิมลสินธุ์ พ.ต.อ.ณัฐเดช พงศ์วรินทร์ และ พ.ต.อ.ณัฐชัย บุญทวี มีมูลความผิดทางวินัยอย่างไม่ร้ายแรง ตามพระราชบัญญัติตำรวจแห่งชาติ พุทธศักราช 2547 มาตรา 78 (1) (2) และ (9)

บริษัท พีซีซี ดีเวลล็อปเมนท์ แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด โดย นายวิษณุ วิเศษสิงห์ กรรมการผู้จัดการ ผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท และ นายวิษณุ วิเศษสิงห์ ในฐานะส่วนตัว มีมูลความผิดทางอาญา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พุทธศักราช 2542 มาตรา 10 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151 และมาตรา 157 ประกอบมาตรา 86 แห่งประมวลกฎหมายอาญาดังกล่าว

สำหรับผู้ถูกกล่าวหาอื่น ได้แก่ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว พล.ต.ท.ธีรยุทธ กิติวัฒน์ และ พล.ต.ท.สุพร พันธุ์เสือ ข้อกล่าวหา “ไม่มีมูล” ให้ข้อกล่าวหาตกไป

สุดท้าย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ฟ้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยตัวเอง กระทั่งศาลมีคำพิพากษายกฟ้องข้อกล่าวหา “นายสุเทพ เทือกสุบรรณ ” เนื่องจากเห็นว่าไม่มีความผิด และไม่ได้ละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 151, 157

 เช่นเดียวกับจำเลยที่เหลือทั้งหมด

ถึงต้องจดเป็นบันทึกอนุสรณ์ซากประติมากรรม “โรงพักร้าง” ที่เกิดขึ้นเป็นประวัติศาสตร์สำนักปทุมวัน

 

RELATED ARTICLES