“ผมจะไม่มานั่งทำงานคนเดียว โชคดีได้นายดี มีคุณธรรม”

ถูกยกให้เป็นสุภาพบุรุษในตำนานสีกากีคนหนึ่ง

พล.ต.อ.พงษ์อำมาตย์ อมาตยกุล อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจที่เกือบเป็นแคนดิเดตขึ้นนั่งเก้าอี้ผู้นำสูงสุด แม้บั้นปลายชีวิตราชการจะได้เป็นรักษาการอธิบดีกรมตำรวจขัดตาทัพ แต่เจ้าตัวไม่ได้คิดเสียดาย และยึดติดอะไรกับมัน

เขาเกิดที่กรุงเทพฯ ลูกชายอดีตอธิบดีกรมสรรพสามิต เริ่มเรียนชั้นประถมที่โรงเรียนสีตะบำรุง พอเกิดสงคราม พ่อย้ายเป็นสรรพากรจังหวัดพระตะบองที่ขณะนั้นยังเป็นดินแดนเป็นนประเทศไทย ทำให้เขาต้องย้ายตามไปเรียนโรงเรียนประจำจังหวัด

หลังจากจบชั้นประถมศึกษา กลับเข้าเมืองหลวงเข้าต่อโรงเรียนเทพศิรินทร์ เป็นนักกรีฑาโรงเรียนได้สิทธิไปแข่งกีฬาโอลิมปิกประเภทวิ่ง 400 เมตร และผลัด 4 คูณ 400 เมตร ที่ประเทศฟินแลนด์ เมื่อปี 2495 ในวัยเพียง 17 ปี เป็น 1 ใน 7 นักกีฬาไทยครั้งแรกในประวัติศาสตร์

เมื่อสิ้นสุดมหกรรมกีฬาระดับโลก พล.ต.อ.พงษ์อำมาตย์เล่าว่า เป็นช่วงกำลังจะขึ้นเรียนต่อชั้นมัธยม 8 พ่อบอกให้แวะประเทศอังกฤษ เรียนต่อที่นั่นดีกว่าเลยตัดสินใจเลือกเรียนตำรวจ ทั้งที่ตอนแรกอยากเรียนเกี่ยวกับธนาคารด้วยความที่เป็นเด็ก ปรากฏว่า กรมตำรวจยินดีรับเป็นพลสำรองพิเศษ แต่ต้องเรียนให้จบหลักสูตร จี.ซี.อี.ที่นั่นก่อน

เข้าเรียนนายร้อยอีตัลฮอล ในแดนผู้ดี กลายเป็นนักศึกษาคนแรกของกรมตำรวจได้รับรางวัลจาก พล.ต.อ.เผ่า ศรียานนท์ อธิบดีกรมตำรวจ เป็นเงิน 2,000 บาท เนื่องจากเป็นผู้มีความขยันหมั่นเพียรเอาใจใส่ต่อการศึกษา ก่อนศึกษาต่อโรงเรียนสืบสวนสกอตแลนด์ยาร์ด  มีโอกาสไปดูงานตามเมืองต่าง ๆ ยุคนั้นคนไทยไปเรียนน้อยมาก มีเพียง เสริม จารุรัตน์ และวสิษฐ เดชกุญชร ที่ไปเรียนต่อในสหรัฐอเมริกา

อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจเล่าต่อว่า เรียนจบจากประเทศอังกฤษกลับไม่มีดีกรี เหมือนไปเรียนอเมริกา พวกที่ไปอเมริกากลับมาติดยศ ร.ต.อ. ส่วนเรามาเริ่มนับหนึ่งใหม่ ติดยศ ร.ต.ต.ตำแหน่งรองสารวัตรประจำหน่วยตำรวจสันติบาลแล้วถูกส่งไปอบรมหลักสูตรสืบราชการลับที่ประเทศมาเลเซีย กระทั่งได้ทุนศึกษาต่อประเทศสหรัฐอเมริกา ที่โรงเรียนสงครามจิตวิทยาฟอร์ดแบล็ก และโรงเรียนรักษาความปลอดภัยฟอร์ดกอร์ดอน

พล.ต.อ.พงษ์อำมาตย์บอกว่า นำความรู้กลับมาอยู่แผนก 2 กองกำกับการ 6 สันติบาล ทำงานสืบสวนเกี่ยวกับคอมมิวนิสต์แล้วขยับขึ้นสารวัตรแผนก 4 กองกำกับการ 6 สันติบาล ได้เป็นนายตำรวจติดตามจอมพลถนอม กิตติขจร นายกรัฐมนตรี ถึงย้ายกลับมาเป็นผู้กำกับการประจำหน่วยสันติบาล และขึ้นเป็นรองเลขานุการกรมตำรวจ

ปี 2522 ติดยศนายพลเป็นผู้บังคับการกองวิจัยและวางแผน ขึ้นผู้ช่วยจเรตำรวจปีเดียวลงพื้นที่ภูธรครั้งแรกเป็นผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจภูธร 1 ขยับเป็นรองผู้บัญชาการตำรวจภูธร 1 และผงาดขึ้นผู้บัญชาการตำรวจภูธร 1 ที่สมัยนั้นดูแลพื้นที่จังหวัดภาคกลางคุม 27 จังหวัดนาน 2 ปี เป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ และรองอธิบดีกรมตำรวจ

ประสบการณ์เป็นนักบริหารบุคคลชั้นเยี่ยม ถือคติกระจายอำนาจให้ความเป็นธรรมแก่ทุกคน คิดถึงประโยชน์ส่วนร่วมเป็นที่ตั้ง ทำงานด้วยใจบริสุทธิ์ และให้ดีที่สุด  “ตอนอยู่ภูธรยอมรับว่า มีคดีเกิดเยอะ แต่ผมอาศัยการแบ่งงาน แบ่งหน้าที่ให้รองผู้บัญชาการหลายคนลงไปรับผิดชอบตามระเบียบ วางนโยบายป้องกันปราบปรามอาชญากรรมไม่ให้เกิดขึ้นมากที่สุด ขยายการอบรมให้เป็นมิตรกับประชาชน เป็นตำรวจอย่ารังแกชาวบ้าน ต้องปฏิบัติงานด้วยความสุภาพ รวดเร็ว บริสุทธิ์ ยุติธรรม ใช้มวลชนสัมพันธ์ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรม”

“ชีวิตผมมันไม่มีอะไรตื่นเต้นมากนัก แต่ผ่านอะไรมาเยอะ ส่วนมากงานด้านคอมมิวนิสต์ มันเป็นเรื่องหลัก ก็มีบู๊บ้าง เคยไปจับคอมมิวนิสต์ แม้กระทั่งคนที่ไปจับเป็นพ่อเพื่อนผมด้วย แต่ก็ต้องให้ความสะดวกกับเขา เอารถยนต์ไปรับเขาเข้ามา เพื่อนก็ไม่โกรธ ทำคดีคอมมิวนิสต์ส่วนมาก ใช้วิธีการพูดจากัน เพราะคดีคอมมิวนิสต์ ต้องใช้การพูด ทำความเข้าใจกับเขา ให้รู้ว่าอะไรเป็นอะไร ตอนนั้นก็ไม่ยากเท่าไหร่ เพราะการสืบสวนตอนนั้นมี กองกำกับการสันติบาล ทำหน้าที่นี้โดยเฉพาะ”

“ผมจะไม่มานั่งทำงานคนเดียว โชคดีได้นายดี มีคุณธรรม เชื่อเราเวลาเราค้านอะไร เสนออะไร แต่หากนายสั่งอะไรมาเราก็ทำ ทำงานกันเป็นทีม  ” เจ้าตัวบอกถึงหลักการทำงานในอดีต พร้อมเรียนรู้การทำงานของผู้บังคับบัญชา อาทิ พจน์ เภกะนันทน์ เภา สารสิน เกษียร ศรุตานนท์ กฤิช ปัจฉิมสวัสดิ์

อดีตนายพลสีกากีวัย 80 เศษยังฝากถึงตำรวจรุ่นหลังว่า อยากให้วางตัวดี มีระเบียบวินัย วินัยนั้นสำคัญ ต้องเชื่อฟังคำสั่งผู้บังคับบัญชาที่ถูกต้องตามกฎหมาย ต้องเชื่อฟังคำสั่งอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตาม แม้บางครั้งมีผู้บังคับบัญชาที่สั่งการอะไรมา ถ้าไม่ดี เราก็ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย สมัยก่อนมีการเมืองกดดัน มีการสั่งให้ย้ายผู้กำกับออกจากพื้นที่ เราก็ย้ายให้ แต่ให้ไปอยู่ในที่ดี ไม่ได้กลั่นแกล้ง เขาก็ไม่เดือดร้อน เพราะเราก็เห็นเขาเป็นคนดี แต่ด้วยการเมือง มันจำเป็น

“จะว่าไปแล้ว สมัยก่อนไม่มีปัญหาอะไรเลย เพราะอำนาจการเมือง ไม่ค่อยจะเกี่ยวข้องกับตำรวจมากนัก แม้กระทั่งรัฐมนตรีมหาดไทยมาสั่งการจะย้ายใคร ถ้าคนนั้นยังไม่อาวุโสพอ ผมก็เรียนท่านโดยตรงเลย บอกท่านขออีกสักปี ผมไปหาท่าน ท่านสั่งอะไรมาที่บางทีมันนิดๆ หน่อยๆ ท่านก็ยอม เราพูดกับท่านเลย สมัยก่อนคุยกันได้ ” พล.ต.อ.พงษ์อำมาตย์ว่า

“อาจเป็นเพราะชีวิตที่ผ่านมา ผมไม่เคยวิ่งเต้น ผมไม่เคยแซงใคร ที่ได้มาเพราะอาวุโสอันดับหนึ่ง  ผมเป็นคนที่ทำงานแบบตรงไปตรงมา พยายามช่วยเหลือดูแลลูกน้อง บางทีเราเป็นผู้บัญชาการ เราอาจจะไม่ได้รู้จัก หรือดูแลลูกน้องที่ต่ำๆ ได้ ก็ต้องเชื่อผู้บังคับการ รองผู้บังคับการไปตามตำแหน่ง ตำรวจยุคที่ผ่านมา สมัยก่อน ไม่ค่อยมีปัญหา ก็ได้นายที่ดีด้วย เลยทำงานกันสบาย”

อดีตนักกีฬาโอลิมปิกอธิบายเพิ่มเติมว่า ผู้การต้องรู้จักคนของเขามากกว่าเรา ในจังหวัดเขา มากกว่าเราจะไปรู้จักสารวัตร รองสารวัตร ดังนั้น เราต้องทำตามที่เขาขอมา ดูอาวุโส เป็นหลัก เราพยายามจะเป็นสุภาพบุรุษ เพราะเราเป็นนักกีฬาเก่า ไม่เคยมีเรื่องโกรธกับใคร ทุกคนถือว่า เป็นพี่ เป็นน้อง ทุกอย่างมีอะไรก็ประชุมกัน ยึดเอาตามระเบียบ ถือหลักอาวุโส แต่งตั้งตามระเบียบ ตามยศสูงสุด ถ้ายศเท่ากัน ต้องดูว่า ใครเข้ารับตำแหน่งก่อน ถ้าตำแหน่งเท่ากัน ดูตำแหน่งถัดไปเพื่อความยุติธรรม ดูเงินเดือน ถ้าเท่ากันหมด ก็ดูอายุ

ถึงแม้ตัวเองจะพลาดไม่ได้เป็นอธิบดีกรมตำรวจในบั้นปลายชีวิตราชการภายหลังวิบากกรรมของกรมตำรวจที่โดนมรสุมการเมือง ซัด พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์ หลุดเก้าอี้ผู้นำ ชื่อของ พงษ์อำมาตย์ อมาตยกุล ขึ้นมารักษาการแทน แต่ผลสุดท้ายกลายเป็น พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ได้สิทธินั่งตำแหน่งพิทักษ์ 1 แทนในเวลาแค่ 8 เดือนแล้วเกษียณอายุราชการพร้อมกันในปี 2537   “ผมถือว่า ทำงานไป ไม่ได้คิด ผมทำงานได้ทั้งนั้น ไม่ได้คิดอะไร”

ปีสุดท้ายในชีวิตราชการ พล.ต.อ.พงษ์อำมาตย์ ยังเป็นประธานคณะกรรมการจัดซื้อคุรุภัณฑ์ในระบบซี 3 ไอ ด้วยวิธีพิเศษ ก่อน พล.ต.อ.ประทิน จะเบรกโครงการเพราะเห็นว่า ราคาสูงต่อความเป็นจริง  ครั้งนั้นเขาลาออกจากการเป็นประธานคณะกรรมการทันที โดยที่ไม่เคยปริปากบอกเหตุผล ผ่านไป 20 ปีแล้ว พล.ต.อ.พงษ์อำมาตย์ยอมสารภาพว่า ตอนเป็นคณะกรรมการจะให้จัดซื้อจัดจ้างอะไร พอมีปัญหาเราจะลาออก ถ้ามีอะไรที่ไม่ขอบธรรม “แต่ผมจะอ้างว่า มีงานเยอะ ทั้งที่จริงผมไม่อยากทำ  เพราะเห็นว่า มันไม่ถูกต้อง หรือไม่ยุติธรรม ก็ขอลาออกจากกรรมการ เราคนเดียวแก้ไม่ได้”

ส่วนยุคสมัยปัจจุบัน อดีตรองแม่ทัพใหญ่ตำรวจตงฉินยอมรับว่า ติดตามข่าวความเคลื่อนไหวในองค์กรเก่ามากเหมือนกัน แต่ไม่ค่อยสบายใจที่ลำบากกว่าสมัยก่อนในเรื่องการทำงาน สมัยนั้นอิสระมากกว่า มีนายดี แต่สมัยนี้ เราไม่รู้ว่า เขาสั่งมา ต้องทำแค่ไหน สมัยก่อนไปขอท่านประมาณ อดิเรกสาร ทั้งที่ท่านไม่รู้จัก ท่านก็ยอมตามเหตุผล ผู้ใหญ่สมัยก่อน มีคุณธรรม รับฟังผู้น้อย แต่ทุกวันนี้ มีเรื่องของการเมืองสั่ง

“ก็เห็นใจตำรวจเหมือนกัน สมัยนี้หนีไม่พ้นเป็นเครื่องมือนักการเมือง ถ้าท่านได้ตำแหน่งมาอย่างนี้ ก็คงหนีไม่พ้น แต่สมัยก่อนเราได้ตำแหน่งมาดูตามอาวุโสเป็นหลัก จะได้ตำแหน่งดีหรือไม่ ก็ไม่ว่าที่จะได้ตำแหน่ง ทั้งหมดแล้ว ผมว่าอยู่ที่นายเป็นหลัก หัวใจของตำรวจอยู่ที่หัวเป็นหลักเลยว่าจะไปในทิศทางไหน ยุคก่อนตำรวจถึงแข็ง นักการเมืองถึงเข้ามาแทรกแซงไม่ได้ เราสามารถเข้าไปพูดได้”

พงษ์อำมาตย์ อมาตยกุล !!!  

RELATED ARTICLES