เรื่องเล่าคนจเรตำรวจ (4)

การยกระดับการบรกิารประชาชนของสถานีตำรวจ

เป็นนโยบายสำคัญของ ตร. ที่จเรตำรวจได้รับมอบหมายภารกิจให้ขับเคลื่อนและประเมินมาส่วนหนึ่ง

คนจเรตำรวจท่านนี้อยากจะให้ทำความเข้าใจว่า วิธีคิดและเป้าของนโยบายถูกต้องที่สุด เพราะสถานีตำรวจ คือ จุดยุทธศาสตร์สำคัญ และสัมผัสกับปัญหาประชาชน แต่การปฏิบัติของหน่วยยังมีความแตกต่างในวิธีคิดและความเข้าใจเป็นอย่างมาก

บางหน่วยเข้าใจว่า แค่ทาสีตีเส้นทำหน่วยให้สวยงานดูดี จัดสัดส่วนคนและสถานที่ให้เพียงพอและสมบูรณ์ก็ถือว่า ได้ทำตามนโยบายแล้ว ตรงนี้เป็นความเข้าใจผิดและจะไม่ส่งผลให้ประชาชนรู้สึกได้ว่า มีการยกระดับการทำงานของตำรวจ

ขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบเพื่อให้เกิดความเข้าใจตามแนวคิดว่า มีประชาชนที่มีความทุกข์ใจเดือดร้อนต้องการพึ่งตำรวจ 2 ราย คนหนึ่งขึ้นโรงพักไปด้วยความทุกข์แล้วกลับลงมาด้วยร้อยยิ้ม แต่อีกคนมีความทุกข์ขึ้นไปอีกโรงพักแล้วลงมากลับทุกข์ใจ ร้องไห้หนักกว่าเดิม

ถามว่า เราต้องการโรงพักแบบไหน เราต้องการให้ประชาชนยิ้ม หรือร้องไห้ หรือเราต้องการตรำวจยิ้ม แต่ประชาชนร้องไห้ ตัวอย่างที่ยกมานี้ถามต่อว่า ประชาชนขึ้นไปเจออะไรบนโรงพักจึงลงมาด้วยการอาการแตกต่างกัน

คำตอบคือ ไปเจอความสามารถของตำรวจ

ถ้าเราจะยกระดับหรืออัพเกรดการบริการประชาชนของสถานีตำรวจควรจะให้น้ำหนักไปที่เรื่องอะไร “สำหรับผมตอบได้เลยว่า ต้องไปยกระดับความสามารถของตำรวจทุกคน และถ้าถามประชาชนก็คงมีคำตอบไม่ต่างกัน”

สรุปคือ ความสวยงามดูดีไม่สำคัญเท่าความสามารถในการแก้ปัญหาคลายทุกข์ขอตำรวจที่ทำให้ประชาชน

ถึงตรงนี้ขออธิบายว่า ความสามารถของตำรวจที่พวกเราควรไปถ่ายทอดและแนะนำให้หน่วยปฏิบัติคือ อะไร ส่วนตัวคิดว่า มี 4 เรื่องสำคัญ คือ

1.การสร้างองค์ความรู้แก่ข้าราชการในหน่วยปฏิบัตินั้นทุกคน ทั้งในแง่ข้อกฎหมาย การพูดสื่อสาร การรู้ทันเทคโนโลยี และความรู้สึกของสังคมจะทำงานแบบเดิมพูดไม่คิดแบบเดิม หรือไม่รับรู้ความรู้สึกของประชาชนแบบเดิมอีกไม่ได้ และต้องทำต่อเนื่อง บ่อย ๆ จนซึมซับเข้าไปในจิตวิญญาณ เกิดทัศนคติกับการทำงานในเชิงยกระดับได้

2.วิธีการทำงาน ต้องปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานให้เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพปัญหาและสภาวะการณ์ที่เปลี่ยนแปลงของสังคม เช่น การปฏิบัติต่อผู้หญิง ปฏิบัติต่อเด็กและคนชราจะฉุดกระชากลากถู หรือไม่มีเมตตาธรรม ขัดแย้งต่อความรู้สึกของสังคม หรือผู้คนที่พบเห็นไม่ได้ ตรงนี้มีปัจจยเป็นข้อพิจารณาอยู่หลายประเด็น คือ ความหนักเบาของข้อหา เพศ อายุ ช่วงเวลา พฤติกรรมของผู้ก่อเหตุ แม้กระทั่งสถานที่ที่จะเข้าไปปฏิบัติจับกุม ต้องเลือกวิธีการปฏิบัติให้เหมาะสสม สอดคล้องกับปัจจัยข้างต้น เพื่อไม่ให้กระทบความรู้สึกเกลียดชังของปะชาชนและสังคมในภาพรวม

3.วิธีคิด ต้องยกระดับวิธีคิดว่า ต้องคิดก่อนทำ ไม่ใช่ทำเกิดความเสียหายแล้วมาคิด ชั่งน้ำหนักก่อนทำว่า ถ้าทำแล้วจะเกิดผลเสียหายมากกว่าการที่จะต้องปฏิบัติภารกิจนั้นให้สำเร็จอย่างไร หรือไม่ ชั่งน้ำหนักให้ถูก ถ้าเสียหายมากกว่าได้ต้องทบทวนใหม่

4.ต้องยกระดับการใช้ดุลพินิจของตำรวจผู้ปฏิบัติทุกคน ระหว่างการบังคับใช้กฎหมายกับความมีเมตาธรรม หรือมนุษยธรรม ตรงไหนสำคัญมากกว่ากัน บางเรื่องสามารถใช้ดุลพินิจแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องใช้กฎหมาย เพราะสุดท้ายแล้วความสงบสุขของสังึมและการทำให้สังึมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข มีความสำคัญมากกว่าบังคับใช้กฎหมาย หากยกระดบัการใช้ดุลพินิจของตำรวจทุกคนแล้วจะไม่มีความรู้สึกของสังคมและประชาชนว่า ตำรวจทำไปได้อย่างไร ทำไมไม่มีเมตตาธรรม ทำไมไม่มีมนุษยธรรม ทั้งที่เรื่องนั้นเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่ส่งผลกระทบต่อผู้เสียหายหรือสังคมเลย

“ ผมได้แนะนำหน่วยปฏิบัติไว้ว่า การยกระดับความสามารถของตำรวจทุกคนเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหัวใจของการยกระดับความหมายตามนโยบายของ ตร. สิ่งที่ตำรวจทุกหน่วยต้องปฏิบัติ คือ นำข้าราชการตำรวจทุกคนเข้าสู่ระดับการยกระดับขีดความสามารถ”

ทั้งหมดเป็นแนวทางทำให้เกิดหลักคิด วิธีคิดตลอดจนเป้าหมายของการประเมินผลในการตรวจราชการของจเรตำรวจเพื่อขับเคลื่อนนโยบายการยกระดับการบริการประชาชนของสถานีตำรวจได้อย่างเป็นรูปธรรม

ส่งผลไปถึงความรู้สึกของประชาชนที่เป็นเป้าหมายสำคัญที่พวกเราต้องการให้เกิดขึ้น

ขณะเดียวกันบทบาทและเครดิตของคนจเรตำรวจก็จะค่อยๆ เกิดขึ้น เป็นที่รู้จัก เกิดประโยชน์และได้รับการยอมรับมากกว่าที่เป็นอยู่

 

 

 

 

RELATED ARTICLES