เมื่อความเห็นเป็นพิษความคิดเป็นภัย

 

ประเด็นร้อนของคำสั่งการเด้งนายตำรวจมือกฎหมายเข้ากรุจเรตำรวจ

พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ รองผู้บังคับการกองคดีอาญา สำนักงานกฎหมายและคดี นักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 47 ยังไม่มีมูลเหตุชัดเจน บรรดากระบอกเสียงของสำนักงานตำรวจแห่งชาติปิดปากไม่กระจายข่าวสารตามที่ควรจะเป็น ปล่อยให้กระแสกระเซ็นไปตามข่าวลือ

วิพากษ์วิจารณ์คาดการณ์กันสนุกปาก

วงการสีกากีเชื่อว่า การถูกย้ายออกนอกสังกัดครั้งนี้ เพราะ พ.ต.อ.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ ไปแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูปตำรวจผ่านโลกโซเชียล

ไม่เข้าตาผู้หลักผู้ใหญ่ “ใจแห้ง”

เจ้าตัวว่าอย่างไรลองพิจารณาอ่านกันดู

มีกระแสปฏิรูปองค์กรตำรวจ โดยมีการพูดถึง “งานสอบสวน” เป็นเป้าสำคัญ ในการนำไปสู่การปฏิรูปองค์กรตำรวจทั้งหมด

ผมได้นำเสนอไปบางส่วนเกี่ยวกับการพัฒนาของงานสอบสวนตั้งแต่ในอดีตมาจนถึงปัจจุบัน นับแต่เริ่มมีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมจากยุติธรรมแบบจารีตนครบาลที่ใช้วิธีการทรมานเพื่อให้มาซึ่งพยานหลักฐานและคำรับสารภาพ ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์ จนกระทั่งสมัยรัชกาลที่ 5 ที่สยามถูกบังคับให้จำต้องปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้ทันสมัย จึงได้เปลียนแปลงให้ตำรวจสอบสวนคดีอาญาในเขตเมือง ควบคู่กับฝ่ายปกครองที่มีขอบข่ายทั่วราชอาณาจักร  กับมี โปลิศ ไล่จับขโมย ที่เป็นแขกมาเลย์เสียเป็นส่วนใหญ่

งานสอบสวนได้รับการพัฒนา ให้องค์กรตำรวจฝ่ายเดียวมีอำนาจสอบสวนคดีอาญาทั้งปวง ในราว พ.ศ.2500 ถึง 2508 ควบคู่กับแก่งแย่งแข่งขันขององค์กรฝ่ายปกครองเรื่อยมา จนกระทั่ง ปี พ.ศ.2523 สมัยที่รัฐมนตรีมหาดไทย มาจากกรมอัยการ จึงเขียนข้อบังคับกระทรวงมหาดไทยขึ้น โดยไม่มีฐานอำนาจรองรับจาก  พ.ร.บ.ให้ใช้ ป.วิ.อาญา แต่ประการ กำหนดระเบียบการสอบสวน ให้ฝ่ายปกครอง เข้าควบคุมและตรวจสอบการสอบสวนของตำรวจได้ เนื่องจากในช่วงนั้น ตำรวจ ปกครอง และอัยการ ต่างอยู่ภายใต้กระทรวงมหาดไทย เช่นเดียวกัน

งานสอบสวนถูกปฏิรูปครั้งใหญ่ พร้อม ๆ ไปกับกระบวนการยุติธรรม หลังมีคดีเชอร์รี่แอนด์ดันแคน และคดีเพชรซาอุ ฯ คดีทนายสมชาย ทำให้เกิดการปรับปรุงให้ทันสมัย ศาลออกหมายจับเอง และลดเวลาในการควบคุมตัวลงจาก 7 วัน เป็น 48  ชั่วโมง ประกอบกับการให้แจ้งข้อหา แจ้งสิทธิ กับการมีหลักประกัน คือ ทนายความ หรือผู้ไว้วางใจเข้าฟังการสอบสวนได้ และห้ามรับฟังคำรับสารภาพ

งานสอบสวน ยังถูกกระจายไปยัง ปปช. กกต. กรมสอบสวนคดีพิเศษ ฝ่ายปกครอง ปปท. และล่าสุด คือ  องค์กรอัยการ ได้ตั้งหน่วยงานสอบสวนคดีอาญาขึ้น

หลายองค์กร เช่น ปปช. กกต. กรมสอบสวนคดีพิเศษ และองค์กรอัยการ จะใช้วิธีการ “ส่งสำนวนให้พนักงานสอบสวน และมอบหมายให้ดำเนินการสอบสวนแทน” 

มันน่าตกใจครับ องค์กรเหล่านั้น มีกฎหมายพิเศษ สามารถดักฟัง และเข้าถึงพยานหลักฐานต่าง ๆ ได้ดีกว่า องค์กรตำรวจ ที่มีอำนาจเพียงแค่ ป.วิ.อาญา เท่านั้น แต่ส่งและสั่งให้ตำรวจสอบสวนแทน

องค์กรตำรวจ และพนักงานสอบสวน ก็คิดว่า  ถ้าจะเอางานสอบสวนไป ก็เอาไปทั้งแท่งเถอะ อย่ามาเพิ่มเจ้านายในการสั่งการเลย เอาไปเลย เราพร้อมจะไล่จับคนร้ายให้ จับส่งทุก ๆ นาที ทุก ๆ ชั่วโมง ให้หน่วยงานเหล่านั้นเลย ก็ยังไหว แต่อย่าเพิ่มเจ้านายเลย  เอาไปเหอะ เอาไปให้หมด จะได้รู้ว่า สอบสวนคดีอาญามันไม่ใช่การเขียนกระดาษคำตอบวิชากฎหมายหรอก มันไม่ได้ง่ายขนาดนั้นหรอกครับ

เผื่อองค์กรเหล่านั้นจะได้รู้ว่า ทำงานเข้าเวร 24 ชม. โดยไม่ได้ค่าตอบแทนเวรแบบองค์กรอื่น แต่ ตร. เราทำตามหน้าที่ ไม่คิดตังค์เพิ่มจากเงินเดือนนั้น มันไม่มันส์ หรอก !! และเชื่อว่า เมื่อไปงานสอบสวนไปอยู่กับองค์กรอื่น ๆ  ถ้าเขาจะเข้าเวร 24 ชั่วโมง เขาคงไม่ทำฟรี ๆ  แบบตำรวจ   หรือแม้แต่หมอ พยาบาล เข้าเวร ก็ยังได้เงินค่าเวร คงมีแต่ตำรวจนี่แหละ ที่เข้าเวรเพราะหน้าที่กำหนด

บางองค์กร แค่ให้ร่วมฟังการสอบสวนเด็ก ยังไม่ยอมเดินทางมาสถานีตำรวจเลย  ต้องให้เด็ก และคนอื่น ๆ เดินทางลำบากไปที่ทำงานของเขาเลย

บางทีก็อาจจะรู้ว่า ลงทุนถูก ๆ กับตำรวจ ผลจึงเป็นแบบนี้  ???

พ.ต.อ.ดร.ศิริพล กุศลศิลป์วุฒิ(นรต.47) รองผู้บังคับการ กองคดีอาญา

 

 

 

 

RELATED ARTICLES