ก้าวที่ 10  พ้นวัยนักศึกษา

ะบักสะบอมนอนเจ็บด้วยพิษไข้ใจในโรงพยาบาลเซนต์หลุยส์นานนับสัปดาห์

ผมพยายามค้นหาตัวเองว่า จะลุกขึ้นเดินต่ออย่างไร หลังเผชิญทางตัน สิ้นหวังท้อแท้จนประกาศไม่เรียนต่อมหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นปีสุดท้ายของชีวิตนักศึกษาแล้ว ท่ามกลางการคัดค้านของเพื่อนฝูงหมู่มิตร และญาติพี่น้อง

น้ำเกลือผสมยาคลายเครียดที่ผ่านสายยางลงสู่เข็มเจาะลงตรงข้อพักแขนขวาเข้ากระแสโลหิตเพียงช่วยให้ผมได้ผ่อนกังวลประเดี๋ยวประด๋าว

หลับตานอนพักยาวพอฟื้นตื่นมา โรคผวาก็ยังคงเป็นภาพติดตราไม่รู้เลือน

“ทำใจซะบ้าง อย่าคิดมากนะลูก” แม่พูดกรอกหูทุกวัน

ดูเหมือนมันจะเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาแล้วสะท้อนกลับมาอยู่ร่ำไป

ผมไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ห้วงเวลานั้นคิดอะไรอยู่ ทำไมรู้สึกชีวิตตัวเองไร้ค่า ทิ้งกายปล่อยใจหมกมุ่นอยู่กับภาพความเจ็บปวด ทั้งที่คนน่าจะเจ็บมากกว่าเรา ไม่ใช่เธอคนนั้น กลับเป็นเธอคนนี้ที่นอนเฝ้าไข้อยู่ข้างเตียงไม่ห่าง

หญิงผู้เป็นแม่บังเกิดเกล้าพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ผมฟื้นคืนกลับมาลุกยืนร่าเริงเร็วที่สุด แต่ผมดันไม่เคยแคร์ความรู้สึกในยามนั้นเลย แถมออกกริยาท่าทางรำคาญ ฝืนความห่วงใยด้วยการหลับตาเบือนหน้าหนี

ส่วนหัวอกผู้เป็นพ่อคงปวดร้าวสาหัสไม่แตกต่างกัน

“ใจเย็น ๆ ไม่เอานะลูก พ่อเป็นห่วง” แกผวาเข้ามากอดผมแน่นในห้วงนาทีที่ผมกำลังบ้าคลั่งสติแตกอยู่หน้าบ้านระลอกแรกที่รู้ว่ารักวัยแรกรุ่นพัง

ความอบอุ่นจากอ้อมกอดของพ่อ ทำเอาผมเย็นลงสงบนิ่งชั่วขณะ ร่างกายผมไม่ได้เป็นอะไรสักนิด ทว่าจิตใจมันพยายามคิดว่า ตัวเองสิ้นท่าหมดราคาที่จะต่อยอดก้าวเดินไปข้างหน้าอีกแล้ว ความรู้สึกร้ายกาจเหล่านี้มันคงกลายเป็นหนามอันแหลมคมพุ่งทะลุเสียบกลางหัวใจของคนเป็นพ่อแม่แทน

ย่างเข้าวันที่ 5 ของการนอนให้น้ำเกลือรักษาแผลใจ เพื่อนฝูงหลายคนที่รู้ข่าวต่างมาเยี่ยมปลอบขวัญจนเริ่มทำให้ผมรู้สึกสมเพชตัวเอง

“ณรงค์ฤทธิ์มาก็ดีแล้ว พาโต้งลงไปเดินเล่นหน่อยจะได้ไม่เครียด” แม่ส่งสัญญาณบอกเพื่อนรักสมัยเรียนมัธยมกางเกงขาสั้นช่วยร่วมปัดเป่าทุกข์ใจให้ผมด้วย

“ไปโว้ย มึง”

มันเป็นวันแรกที่ถอดสายน้ำเกลือออก และเป็นครั้งแรกที่ผมลุกจากเตียงย่างออกนอกห้องพักลงลิฟต์โรงพยาบาลไปเดินสูดอากาศเล่นข้างล่างตึก

“กูเหนื่อยว่ะ” ผมระบายความอึดอัด

ชายหนุ่มร่างผอมเกร็งตัวเล็กที่หมู่เพื่อนนักเรียนต่างเรียก “อีที”เดินคาบบุหรี่อัดควันโขมงไม่แสดงความเห็น

“ขอบุหรี่กูตัวดิ”

มันยิ้มฟันขาวเหมือนจะด่า ก่อนควักซองบุหรี่สายฝนยื่นให้พร้อมไม้ขีด ผมรับมาจุด สูบควันนรกเข้าเต็มปอดแล้วพ่นออกเหมือนยกภูเขาที่อัดอั้นมานานหลายวันออกจากอก เพื่อนผมคนนี้พยายามปลุกบทสนทนาสมัยเรียนมัธยมระหว่างเดินไปตามทางเพื่อกระตุ้นเดินไฟให้ผมอีกครั้ง

เดินกันเพลินจนเข้าไปในรั้วโรงเรียนเซนต์หลุยส์ศึกษาก่อนลงจอดที่ม้าหินบริเวณสนามบาสเกตบอลของนักเรียนประถม

มันเป็นวันอาทิตย์ที่เงียบสงบและร่มรื่น

“เตะบอลกันไหม” ผมบอกเพื่อนทันทีที่เหลือบเห็นลูกบอลพลาสติกใบเล็กทิ้งอยู่แถวนั้น

“มึงไหวหรือ”

“ลองดู”

ผมที่ยังอยู่ในชุดคลุมคนไข้โรงพยาบาลจัดแจงเดินไปหยิบลูกบอล ส่วนเพื่อนเลิฟหาก้อนหินมาช่วยตั้งเป็นโกล์ ก่อนสวมบทบาทนักเตะแบ่งกันคนละข้าง ใส่รองเท้าแตะไล่แย่งลูกฟุตบอลกันจนเหงื่อท่วมกาย

“ยังเหนื่อยอยู่หรือเปล่า” อีทีถาม

ผมหัวเราะครั้งแรกในรอบหลายวันนับจากมานอนเจียนตายอยู่โรงพยาบาล

“กูยังมีเพื่อนนี่หว่า” ผมตอบมันในใจ

ลูกบอลพลาสติกเก่า ๆ ใบนั้นจุดประกายให้ผมลุกขึ้นวิ่งสำเร็จ

“ไปทำอะไรกันมาตั้งนาน แล้วนี่เหงื่อซกตัวเปียกหมดเลย” แม่ผมถาม

ผมมองหน้าเพื่อนรักแล้วหัวเราะส่งสัญญาณถึงแสงสว่างของชีวิตให้พ่อแม่เห็นแล้ว

ไม่กี่วันถัดจากนั้น ผมออกจากโรงพยาบาลเปลี่ยนความลังเลกลับไปมุ่งมั่นเรียนมหาวิทยาลัยในชั้นปี 4 และพยายามหากิจกรรมทำมากมายสารพัดเพื่อกลบภาพบาดตาความทรงจำบาดใจให้เร็วที่สุด แม้ก้นบึ้งของส่วนลึกจะยังคงมีสายฟ้าแลบให้รู้สึกสะดุ้งบางเวลาอยู่ก็ตาม

เริ่มต้นด้วยการจัดแคมปัสทัวร์ ระดมเพื่อนสมัยเรียนมัธยมมานั่งสังสรรค์กันทุกวันศุกร์สุดสัปดาห์ ประเดิมด้วยกลุ่มที่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยกรุงเทพรับเป็นเจ้าภาพกันในร้าน Sherbet หน้าสถาบัน ตามด้วยการไปเยือนถิ่นท่าพระจันทร์ ธรรมศาสตร์ ต่อเนื่องตลาดสามย่าน จามจุรี วนอีกทีอยู่หน้ามหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

ผมเรียกน้ำนรกสีอำพันเข้าบดขยี้ความทุกข์ มีบทสนทนาของหมู่สหายเก่าคลุกเคล้าเป็นกับแกล้มเผาเวลาก่อนกลับบ้านทุกเย็นวันศุกร์

ส่วนวันอื่น ผมเลือกเทคิวให้เพื่อน และรุ่นพี่ในมหาวิทยาลัยเข้ามาช่วยดับกระหายคลายพิษ

“พี่ก้อง ผมว่าเราฉีกแถวทำหนังสือพิมพ์กันไหม” ผมหารือสุดแดน รอตภัย นักศึกษารุ่นพี่นักกิจกรรมหัวรุนแรงตัวยงที่ตกมาเรียนรุ่นเดียวระหว่างนั่งจมกันอยู่ในซุ้มชายแดนถึงการเตรียมโครงการทำหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยของคณะนิเทศศาสตร์ ตามหลักสูตรเอกวารสารศาสตร์

เหตุเพราะที่ผ่านมาหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยจะเน้นแนวฮาร์ดนิวส์ คล้าย มติชน สยามรัฐ เน้นข่าวการเมือง วิชาการจัดวางหน้า ไม่หวือหวาเหมือนแนวซอฟท์นิวส์ อย่าง ไทยรัฐ เดลินิวส์ ข่าวสด ดาวสยาม ที่มุ่งตีแผ่ข่าวแนวอาชญากรรม ตีหัวหมา ด่าแม่เจ๊ก

“ผมมองมันจืดไปว่ะ เราน่าทำอะไรแปลกใหม่ดูบ้างนะพี่”

“ข้าก็ว่าน่าจะโอเคนะ” สุดแดนที่รับบทเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการเห็นตรงกัน

“แต่เราจะเล่นข่าวอะไรล่ะ ที่จะหวือหวาเอามาพาดหัว” นักศึกษารุ่นพี่ยังกังวล

“เดี๋ยวผมจัดการเองพี่” ผมรับคำเพราะเล็งประเด็นข่าวเด็ดไว้ในหัวอยู่แล้ว เหลือแค่ไปตามเก็บรายละเอียดเอามาเป็นข่าวนำเสนอเท่านั้น

“รีบนะโว้ย เดี๋ยวจะไม่ทันเอา” หัวหน้ากองบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บ้านกล้วยกำชับ

ผมเคยผ่านงานฝึกตระเวนข่าวสายอาชญากรรม หนังสือพิมพ์ไทยรัฐนาน 2 เดือน มีส่วนให้รู้สายสนกลในโครงสร้างตำรวจโรงพักอย่างดี และไม่เคยตื่นตระหนกเวลาขึ้นโรงพักไปพบตำรวจระดับนายพันตำรวจโท แม้เพื่อนในกลุ่มนักศึกษาหลายคนจะเกรงอยู่บ้าง

“สารวัตรจราจรอยู่ไหมครับ” ผมมุ่งเข้าโรงพักทองหล่อที่รับผิดชอบพื้นที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพ วิทยาเขตกล้วยน้ำไทขอพบพันตำรวจโทวิเลข ศรีนิเวศน์ หัวหน้ารับผิดชอบเรื่องงานจราจรทั้งหมดของโรงพัก

“อยู่ครับ เชิญครับ” ดาบตำรวจหน้าห้องยิ้มแสดงไมตรี

ผมแนะนำตัวเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยกรุงเทพแสดงวัตถุประสงค์หัวเรื่องในการขอสัมภาษณ์สารวัตรหนุ่ม โดยเจ้าตัวให้ความร่วมอย่างเป็นกันเอง สนทนาจับประเด็นออกรสออกชาติพักใหญ่ผมก็ขอตัวกลับ

“ขอบคุณมากนะน้อง ฝากเตือนพวกเขาด้วย อย่าทำผิดกฎหมายกันอีกเลย พี่ก็ไม่อยากจับหรอก” พันตำรวจโทวิเลขทิ้งท้าย

หลังเสร็จสิ้นกระบวนการผลิตคลอดออกมาสู่ตลาดมหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์บ้านกล้วยที่พวกผมทำฉบับนั้นพาดข่าวหัวยักษ์ไม่ต่างหนังสือพิมพ์หัวสีตามท้องตลาดทั่วไปจนเป็นที่ฮือฮาในมวลหมู่หนุ่มสาวมหาวิทยาลัยชนิดขายดีเป็นเทน้ำเทท่า

“นักศึกษาผวาล็อกล้อ” หัวหน้าสุดแดนบรรจงนำข่าวของผมไปพาดหัวยักษ์ตัวเบิ้ม

ช่วงนั้นมีการนำอุปกรณ์ล็อกล้อมาใช้ตามท้องถนนเมืองกรุงเป็นครั้งแรก เพื่อเล่นงานพวกจอดรถกีดขวางการจราจรแล้วไม่เกรงกลัวใบสั่งแปะหน้ารถ มันเป็นภาพที่ผมเห็นตำรวจล็อกล้อรถที่จอดอยู่รอบรั้วมหาวิทยาลัยทุกวันจนระยะหลังหลายคนเริ่มเข็ดขยาด เนื่องจากค่าปรับสุดแพงหูฉี่ ทำให้ธุรกิจรับจอดรถตามพื้นที่ว่างใกล้เคียงมหาวิทยาลัยดีขึ้นผิดตา

พันตำรวจโทวิเลขเตือนว่า หากทำผิดกฎจราจร จอดรถในที่ห้ามจอดจะถูกล็อกล้อ ต้องไปเสียค่าปรับ 500 บาทในการถอดอุปกรณ์ห้ามล้อ และอีก 500 บาทเป็นค่าปรับข้อหาจอดรถในที่ห้ามจอด ทางที่ดีขอให้นักศึกษาทุกคนให้ความร่วมมืออย่าทำผิดกฎหมายจะดีกว่า ฝ่ายตำรวจเองก็เข้าใจ ไม่อยากจับ แต่กฎหมายต้องเป็นกฎหมายละเว้นไม่ได้

กลายเป็นประเด็นร้อนทำนักศึกษาผู้มีอันจะกินผวาโดนล็อกล้อรถ

ประสบความสำเร็จจากการหลักสูตรทำหนังสือพิมพ์เข้าสู่เทอมสุดท้ายในชีวิตนักศึกษาเป็นอีกหลักสูตรที่ต้องเปลี่ยนมาทำบ้านกล้วยในแนวนิตยสาร  ผม และรุ่นพี่สุดแดนยังคิดแหกอีกเหมือนเดิมจากนิตยสารเล่มบางหันไปทำหนาขึ้นเล่นแนวแฟชั่นนางแบบสไตล์แพรว ดิฉัน จับผัดไท-นิลุบล ตรีเพชร เพื่อนในกลุ่มที่ตอนนั้นเป็นนางเอกละครของคณะ ถ่ายแบบขึ้นปกคู่กับหลานสาวคนสวยของตระกูลนักธุรกิจค้าอาวุธเมืองปากน้ำชื่อดังของเมืองไทย

เนื้อหาภายในเล่ม ผมยังได้ไปสัมภาษณ์ศิลปินดิสต์แตกอย่าง “วสันต์ สิทธิเขตต์” และเจาะสกู๊ปอาชญากรรมเกี่ยวกับปัญหาแก๊งซิ่งป่วนเมืองทำชาวบ้านเดือดร้อน แต่ตำรวจยุคนั้นไม่สามารถมีมาตรการอะไรช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ได้เลย

ผมเผาเวลาปีสุดท้ายของชีวิตวัยเรียนในรั้วบ้านกล้วยไปอย่างรวดเร็วจนแทบจะลืมภาพความทรงจำที่เคยทำตัวเองฟั่นเฟือนเรียกสติ กวักวิญญาณความเป็นคนสู่ร่างเดิมอีกครา

ที่สำคัญยังสามารถทำคะแนนสอบได้เกรดสูงสุดในเทอมส่งท้ายถึง 2.94 นับเป็นสถิติของผลการเรียนที่ทะลุเป้ามากเป็นประวัติศาสตร์เด็กหนุ่มหัวดื้อแกล้งทำสมองตื้อที่แท้ก็ไม่ได้โง่นี่หว่า

“ขนาดเข้าโรงพยาบาลนะเนี่ย” เพื่อนคนหนึ่งแซว

“จบแล้วจะไปทำอะไร” อีกคนถาม

“ยังไม่รู้เลย อาจเที่ยวกับเพื่อนก่อน แต่เราคงไม่รับปริญญาว่ะ”” ผมปลุกแนวคิดให้เพื่อนหลายคนอึ้ง

“ทำไม” เป็นคำถามที่ตามมาทันควัน

“ไม่รู้สิ คงไม่ได้ภูมิใจกับมัน คนแจกก็แค่อธิการบดี เราเสียค่าเทอมปีละเท่าไหร่ มันรู้สึกเหมือนซื้อใบปริญญามาเลย”

“แล้วพ่อแม่ไม่ว่าเอาหรือ”

“ถ้าเรารับพระราชทานจากในหลวงอาจจะว่านะ แต่เรามองมันก็แค่เศษกระดาษใบหนึ่งไม่จำเป็นต้องเอามาติดฝาบ้าน” ผมให้เหตุผลตามแบบฉบับคิดขวางโลก

ผ่านไปจนถึงวันรับปริญญาที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ผมแต่งสูทสวมชุดครุยหล่อเท่ไปถึงแต่เช้า มีพ่อแม่ตามมาถ่ายรูปท่ามกลางมวลมิตรมากมาย มันน่าจะเป็นภาพความฝันของผู้บังเกิดเกล้าเกือบทุกครบครัวที่เห็นลูกมีวันนี้

เดินถ่ายรูปส่งพ่อแม่กลับเสร็จ เจ้าหน้าที่ประกาศให้บัณฑิตที่ลงทะเบียนไปรายงานตัวเข้าหอประชุม ทำหลายชีวิตกระวีกระวาดโบกมือเอ่ยคำร่ำลาญาติเพื่อนฝูงเตรียมความพร้อมสู่ช่วงพิธีการสำคัญ

ขณะที่ผมยังสนุกกับการเดินให้เพื่อนชักภาพหมู่กับมิตรสนิทวัยเรียน

“แล้วเจอกันนะ” ผมจำไม่ได้หรอกว่า เอ่ยปากลาใครเป็นคนสุดท้ายก่อนเขา หรือเธอคนนั้นจะเข้าหอประชุม

“ไปโว้ยเพื่อน เจอกันที่โรงเรียน” ผมนัดหมายให้เพื่อนที่เป็นช่างภาพ และกลุ่มสหายสนิทสมัยลิงโลดอยู่ในรั้วรำเพยไปถ่ายรูปกันต่อยังถิ่นเก่าเทพศิรินทร์

“ถ้าไม่มีวันนั้น คงไม่มีวันนี้” ผมคิดถึงบุญคุณแม่รำเพยตลอดเวลา

“ไอ้ฤทธิ์ มึงไปรถกู”

ผมหันหลังเดินไปลานจอดรถสวนกับหมู่บัณฑิตใหม่ป้ายแดงนับพันที่กำลังกุลีกุจออย่างเร่งรีบมุ่งเข้าสู่หอประชุม

รถเก๋งบีเอ็มดับเบิลยู รุ่น 2002 สีบรอนซ์ทอง ทะเบียน 8 ข-2711 กรุงเทพมหานคร มรดกตกทอดของพ่อมาสู่มือลูกชายคนโตเคลื่อนล้อหนีความวุ่นวายในงานรับปริญญาของบัณฑิตมหาวิทยาลัยกรุงเทพออกสู่ถนนสุขุมวิทท่ามกลางสายฝนพร่ำ

ผมกดคันเร่งคุยสนุกสนานกับเพื่อนอีทีผ่านหน้าสนามศุภชลาศัยไปแยกเจริญผล ขึ้นสะพานกษัตริย์ศึกด้วยความเร็วประมาณ 60 กิโลเมตรต่อชั่วโมง รถเก๋งตระกูลเยอรมันควบทะยานกำลังใกล้ถึงที่หมายไม่กี่กิโลเมตรข้างหน้า

“ฉิบหายแล้ว” ผมหลุดคำ

รถคันงามของผมลงสะพานกษัตริย์ศึกไปเจอสภาพการจราจรที่ติดขัดแบบกะทันหัน ผมพยายามแตะเบรก แต่ถนนดันลื่น เพราะน้ำฝนที่ชะลงมาก่อนหน้า ส่งให้การทรงตัวของรถไม่อยู่เสียหลักตามที่ผมหักพวงมาลัยหมุนเคว้ง

เสียงโครมใหญ่ดังสนั่นอยู่เชิงสะพาน กระแทกสะกดร่างผมนิ่งทันที

RELATED ARTICLES