ก้าวที่ 11  น้องใหม่สยามโพสต์

 

ฮ้ย มึงเป็นอะไรหรือเปล่า”

ผมหันมาถามเพื่อนอีที ณรงค์ฤทธิ์ อาจหาญ หลังจากรถเก๋งบีเอ็มดับเบิลยู 2002 มรดกตกทอดของพ่อผมจอดสงบนิ่งอยู่กลางสะพานกษัตริย์ศึก

“ไม่เป็นไรว่ะ แล้วมึงล่ะ”

ผมไม่ตอบ แต่เปิดประตูเดินลงจากรถไปดูคู่กรณี ควบคู่กับสำรวจความเสียหายของรถตัวเอง

“ขอโทษครับ พอดีถนนมันลื่น เบรกไม่ทัน” ผมเอ่ยเสียงสั่นกับชายวัยกลางคนเจ้าของรถเก๋งโตโยต้ารุ่นเก่าไม่แพ้กันอยู่ในสภาพพังไปแถบ เฉกเช่น บีเอ็มดับเบิลยูสายพันธุ์เยอรมันที่ประตูฝั่งซ้ายบุบ ยังดีที่ความแข็งแกร่งของเหล็กทำให้มันไม่เป็นไรมาก

“ผมกำลังจะไปโรงเรียนเทพศิรินทร์ เดี๋ยวไปเจอกันที่นั่นดีกว่าครับ” ผมบอกคู่กรณีเพื่อนัดเจรจาความดีกว่าปล่อยให้รถจอดค้างเติ่งบนสะพานทำการจราจรติดขัด

“ครับ” เขาพยักหน้ารับคำ

อุบัติเหตุครั้งแรกในชีวิตที่ผมขับรถ ทำเอาตื่นเต้นตกใจไม่น้อย ระหว่างประคองรถไปโรงเรียนก็เริ่มสองจิตสองใจว่า มีอะไรมันกลั่นแกล้งลงโทษผมหรือเปล่า ถ้าผมตัดสินใจเข้าหอประชุมรับปริญญาอาจไม่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แต่มาคิดอีกที สิ่งศักดิ์สิทธิ์ในรั้วรำเพยอาจช่วยให้ผมรอดพ้นเรื่องเลวร้ายไปมากกว่านี้ก็ได้

“โชคดีที่จังหวะนั้นไม่มีรถสวนมา ไม่อย่างนั้นคงประสานงานกันอย่างจัง” ผมบอกกับเพื่อนราวกับฟาดเคราะห์

ทว่าชีวิตต้องเดินหน้าต่อไป พ้นจากอุบัติเหตุไปเจรจาความคู่กรณีเสร็จเรียบร้อย ผมก็ต้องคืนบรรยากาศสนุกสนานหน้าตาเบิกบานให้เพื่อนถ่ายรูปทั่วโรงเรียนเก่าเป็นที่ระลึก เหมือนที่ผมเอ่ยเสมอว่า ถ้าไม่มีเทพศิรินทร์ ผมคงไม่มีวันนี้

ผมมั่นใจว่า อย่างน้อยมีหลายคนคิดเหมือนผม

หากใครได้มีโอกาสอ่านผลงานนักประพันธ์เอกอย่างหม่อมเจ้าอากาศดำเกิง ระพีพัฒน์ ในละครแห่งชีวิต แล้วต้องมีความภูมิใจไม่น้อยเหมือนผม พระองค์เนรมิตบุรุษผู้มีนาม “วิสูตร ศุภลักษณ์ ณ อยุธยา” เด็กหนุ่มอาภัพพระเอกของท้องและเรื่องเล่าถึงปฐมวัยแบบไม่อายว่า

“เมื่อข้าพเจ้าอยู่โรงเรียน ไม่เคยนึกเอาเสียเลยว่า โรงเรียนเทพศิรินทร์ ดีหรือเลวเพียงใด ไม่เคยนึกว่า ข้าพเจ้ามีส่วนได้ส่วนเสียอยู่ด้วยเพียงไร ข้าพเจ้าเป็นคนใจแคบ รักตัว มาเดี๋ยวนี้ เมื่อความเป็นผู้ใหญ่ได้มาครอบงำอิริยาบถอยู่จึงสามารถจะตกลงใจได้ว่า โรงเรียนเทพศิรินทร์ โรงเรียนที่ดีที่สุดในประเทศสยาม เมื่อมานึกถึงโรงเรียนในสมัยนั้นแล้ว ข้าพเจ้าจะอดชมเชยเสียไม่ได้เป็นอันขาด โรงเรียนได้พยายามจนสุดความสามารถที่จะให้วิชาและความสุขแก่นักเรียนให้มากที่สุดตามที่จะเป็นไปได้ ความเห็นแก่ได้เป็นส่วนตัวระหว่างครู แม้จะมีอยู่บางก็คงจะมีน้อยเต็มที ฝึกสอนให้เด็กมีจิตใจโอบอ้อมอารี รู้จักว่า จะกระทำตนอย่างไรในเมื่อตนแพ้หรือชนะในการแข่งขันกีฬากับโรงเรียนอื่น ทำให้นักเรียนเป็นลูกผู้ชาย สุภาพบุรุษสำหรับเมืองไทย นี่คือจรรยาอันสำคัญที่โรงเรียนเทพศิรินทร์ได้กระทำจนเป็นผลสำเร็จมาแล้วเพื่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ จะพูดกันตามจริง โรงเรียนต่าง ๆ ในโลกควรจะเป็นเช่นโรงเรียนเทพศิรินทร์ทั้งสิ้น แต่ตามที่เราเห็นกันทุกวันนี้ บางโรงเรียนยังหาได้เป็นตามกฎธรรมดาที่ได้กล่าวแล้วไม่ใช่หรือท่าน”

“ประวัติการในโรงเรียนเทพศิรินทร์เป็นส่วนสำคัญตอนหนึ่งของเรื่องนี้ ท่านจะต้องอ่านให้เห็นความเป็นจริงของชีวิตข้าพเจ้าโดยถ่องแท้ ทางเดินแห่งชีวิตข้าพเจ้ามีแต่ความมืดมนอนธการร้อยแปด และโรงเรียนเทพศิรินทร์ คือ แสงสว่างน้อยๆ ดวงแรกที่ข้าพเจ้าเห็น ความเป็นอยู่ในโรงเรียน และพวกเพื่อนๆที่ข้าพเจ้าคุ้นเคยชอบพอ เป็นยาย้อมนิสัยอันสำคัญขนานหนึ่ง ซึ่งทำให้นิสัยอันแข็งกระด้าง และหัวใจของข้าพเจ้าอันเหี้ยมโหดต่อโลก อ่อนโยนลงได้บ้าง” วิสูตรเปิดหัวเรื่องชวนติดตาม

ละครแห่งชีวิตของเจ้าชายนักประพันธ์ไม่ต่างจากชีวิตจริงของใครหลายคน

ผมเดินท่องโรงเรียนเดียวกับพระองค์ท่าน ย่ำสนามหญ้าผืนเดียวกับตำนานนักเขียนชื่อก้องหลายคน ไม่ว่าจะเป็น โชติ แพร่พันธุ์ กุหลาบ สายประดิษฐ์ อบ ไชยวสุ ป.อินทรปาลิต สด กูรมะโรหิต มาลัย ชูพินิจ แต่ผมคงยากที่จะก้าวเจริญรอยตามเป็นนักประพันธ์ชั้นเอกอย่างพวกเขา

ผมกำลังฝันอยากเป็นนักประพันธ์

“เฮ้ย ไปกันหรือยัง” เพื่อนผมคนหนึ่งกระตุกต่อมวิญญาณที่กำลังลอยไปสู่ความเพ้อฝัน

“เออ เย็นแล้ว ไปเจอกันร้านสุกี้แคนตันสยามสแควร์นะ” ผมนัดหมายไปฉลองรับปริญญากันที่นั่น

“โอเคเพื่อน ว่าแต่มึงเลี้ยงไหวหรือ เดี๋ยวต้องเสียค่าซ่อมรถอีกนะ”

“ช่างมัน ไม่ตายหาใหม่ได้” ผมยิ้มคลายความกดดัน

จบจากมหาวิทยาลัยยังไม่รู้อนาคตตัวเองจะเดินไปทางไหน แต่ไม่น่าจะหนีพ้นอาชีพในวงน้ำหมึกที่ได้เล่าเรียนมา ผมจัดแจงเปิดหนังสือพิมพ์ที่ประกาศรับสมัครงานหลายฉบับ ก่อนร่อนจดหมายยื่นใบสมัครไปยังหนังสือพิมพ์เดลินิวส์ที่มีพ่อพาไปฝากฝัง หนังสือพิมพ์เดอะเนชั่น และหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ สื่อน้องใหม่ที่กำลังฝักตัวในเครือบางกอกโพสต์

“ไม่ลองไปที่ไทยรัฐดูด้วยล่ะ” แม่ผมถาม

“คงไม่ได้หรอกแม่ ที่นั่นเขารับคนมีประสบการณ์ อีกอย่างได้ข่าวว่ามีปัญหาภายในกันอยู่” ผมให้เหตุผล เพราะรู้จากปากกลุ่มรุ่นพี่ที่เคยเป็นฝึกงานตระเวนข่าวว่า เกิดคลื่นใต้น้ำในแผนกข่าวอาชญากรรมระหว่างอำนาจเก่ากับอำนาจใหม่

“เอ็งอย่าเพิ่งมาเลย” พี่สายอำนาจเก่าบอก

“ถ้าไปสมัครคงไม่ได้ เพราะผมอยู่สายกลุ่มหัวแข็งใช่ไหม” ผมหัวเราะ

ระหว่างรองาน ผมคิดจะเที่ยวให้เต็มคราบ ประเดิมด้วยการท่องทะเลตรัง จับกลุ่มเพื่อนร่วมห้องในเทพศิรินทร์ตะลอนทัวร์ช่วงก่อนฤดูมรสุมเข้าในเดือนกุมภาพันธ์ ผมกับพวกมักจะจัดล่องใต้สัมผัสไข่มุกอันดามัน และอ่าวไทยเฉลี่ยปีละครั้ง

ทริปแรกที่ผมเคยไปแล้วรู้สึกประทับใจไม่ลืมมาถึงปัจจุบันนี้ นั่นคือ การได้เที่ยวสัมผัสเกาะพีพี มีโอกาสดำน้ำดูปะการังหยิบความงดงามใต้ท้องทะเลที่อุดมสมบูรณ์ที่สุดในช่วงปี 2531 ซึ่งยังไม่มีนักท่องเที่ยวเดินทางไปมากนัก

ผมถือว่าคุ้มค่าที่สุดแล้วที่ได้ไปเยือนเกาะพีพีเวลานั้น

การไปล่องทะเลตรัง หลังพ้นชีวิตนักศึกษามหาวิทยาลัย ผมค่อนข้างเต็มที่กับห้วงเวลาอิสรภาพที่ยากจะหวนคืนกลับมา เพราะผมไม่ต้องพะวักพะวงเรื่องเรียน ไม่ต้องมีภาระหน้าที่รับผิดชอบอะไร ปล่อยใจลอยไปกับทะเล และขอบฟ้าสีครามอันกว้างใหญ่ไพศาล

วันสุดท้ายก่อนกำหนดกลับพวกผมจำเป็นต้องนอนค้างโรงแรมกลางเมืองตรัง 1 คืนเนื่องจากรถไฟเต็ม ผมเลยต้องโทรศัพท์ไปบอกแม่ถึงการเปลี่ยนหมายคืนบ้าน

“กลับช้าวันนะแม่ พอดีรถไฟเต็ม”

“แล้วตอนนี้อยู่ไหนลูก”

“อยู่ที่ตรังครับ”

“ลูก ที่ลูกไปยื่นใบสมัครไว้ เขาติดต่อมาจะให้เข้าไปสัมภาษณ์นะ”

“ที่ไหนหรือ”

“ที่สยามโพสต์ เขาให้เข้าไปวันจันทร์ที่อาคารอื้อจือเหลียง” แม่บอกเสียงเครียด

“เวรแล้ว แต่กลับไปทันอยู่แล้วครับแม่”

ผมตื่นเต้นระคนความกังวลทันที เดินเข้าไปนั่งคาราโอเกะใต้ถุนโรงแรมกับเพื่อนด้วยใจกระวนกระวายทั้งที่เป็นการเข้าคาราโอเกะครั้งแรกในชีวิต แต่ผมไม่ได้กระตือรือร้นอยากจะร้องเพลงอะไรกับเขา ปล่อยให้กลุ่มเพื่อนแหกปากฮัมเพลงอัสนี ไมโครกันตามสะดวก ผมมัวใจลอยคิดอยู่ว่า เราจะได้งานทำเร็วขนาดนี้เชียวหรือ

กลับถึงกรุงเทพฯ ผิวยังดำกร้านด้วยแดดเผา หน้าเริ่มด่างเพราะผิวหนังหลุดลอก ผมต้องหอบสังขารโทรม ๆ แบบนั้นไปสอบสัมภาษณ์งานที่อาคารอื้อจือเหลียงในบ่ายวันนัดหมาย พอไปถึงที่ห้องแคนทีน ที่ถูกดัดแปลงเป็นกองบรรณาธิการเล็ก ๆ ของหนังสือพิมพ์น้องใหม่ค่ายสยามโพสต์ที่ยังไม่ได้วางจำหน่าย อยู่ระหว่างกำลังสรรหาทีมงาน มีหนุ่มสาวมานั่งรอสัมภาษณ์มากหน้าหลายตาล้วนแล้วเป็นบัณฑิตใหม่วัยไล่เลี่ยกับผม

นั่งรอพักใหญ่เลขานุการหญิงหน้าห้องก็เรียกคิวผมเข้าไปพบชุ่มชื่น พูลสวัสดิ์ นักข่าวเศรษฐกิจอาวุโสที่เข้ามาเป็นทีมหัวเรือคอยขับเคลื่อนหนังสือพิมพ์น้องใหม่ฉบับนี้

“เชิญนั่ง” แววตาเธอดุดันเหลือประมาณ

“ครับ” ผมชักไม่ถูกชะตาตั้งแต่ก้าวเท้าเข้าไปในห้องแคบ ๆ

“ทำไมถึงอยากมาเป็นนักข่าว” ชุ่มชื่นยิงคำถามแรกใส่

“ผมอยากเป็นครับ”

“เคยทำข่าวหรือ แล้วมั่นใจหรือว่าทำได้” ผู้อาวุโสร่างเล็กเสียงแข็งเหมือนจงใจยั่วประสาทผม

“คงต้องลองดูครับ”

ตลอดระยะเวลาการซักถามอยู่ประมาณ 15 นาที ทำดีกรีเลือดผมพุ่งพล่าน ผมตัดสินใจตอบคำถามแบบยั่วยวนชวนประสาทเหมือนที่พี่แกจุดชนวนต่อมมุทะลุแก่ผม

“เอาล่ะ ขอบคุณมาก แล้วเราจะติดต่อกลับไป” หญิงสาวทิ้งท้ายด้วยสายตาเหี้ยมเกรียม

ผมเดินออกมาจากห้องแบบหมดอาลัยตายอยากคิดว่าการสอบสัมภาษณ์งานครั้งแรกในชีวิตคงไม่ประสบความสำเร็จ และไม่รู้ว่าจะต้องเดินเตะฝุ่นไปอีกนานเพียงใด

“สัมภาษณ์เป็นยังไงบ้าง” แม่ถาม

“ไม่รู้เหมือนกันแม่ แต่อาจจะยาก เพราะตอบไม่ดีเท่าไหร่” ผมตอบก่อนคว้ารถจักรยานไปขี่เล่นแก้เซ็งรอบวิทยาลัยเทคนิคกรุงเทพ

ถัดจากนั้นราว 2 สัปดาห์ หนังสือพิมพ์สยามโพสต์นัดหมายให้ผมเข้าไปปฐมนิเทศเพื่อทดลองเข้าทำงานเป็นนักข่าวรุ่นบุกเบิกในห้องแคนทีน อาคารอื้อจือเหลียง ที่เนรมิตเป็นกองบรรณาธิการชั่วคราว โดยมีเพื่อนใหม่มากหน้าหลายตาที่เข้าร่วมชะตากรรมราว 30 คน

หนังสือพิมพ์สยามโพสต์ มีโรจน์ งามแม้น เจ้าของนามปากกา “เปลวสีเงิน” ในหน้าหนังสือพิมพ์ยักษ์ใหญ่ไทยรัฐที่ลากกลุ่มนักข่าวหัวเขียวอุดมการณ์เดียวกันมาสร้างฐานบัญชาใหม่เคียงข้างชุ่มชื่น พูลสวัสดิ์ ได้อรุณ ลานเหลือ นักข่าวรุ่นใหญ่ประจำกรมตำรวจแห่งค่ายบางกอกโพสต์มาเป็นบรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณา

ผมและกลุ่มบัณฑิตจบใหม่ต้องไปเริ่มต้นอบรมการทำข่าวเป็นเวลานานนับเดือน มีชุ่มชื่นเป็นตัวหลักในการติวเตอร์สอนทั้งภาคทฤษฎี และปฏิบัติ แต่จะยังไม่บอกให้ใครไปตามข่าวสายไหน อย่างไร เพราะทีมงานต้องเฟ้นหาความถนัดของแต่ละคนจากการอบรมให้ชัดเจนเสียก่อน

“เป็นนักข่าวทำอะไรต้องกระชับ ต้องกล้าพูด กล้าถาม” ชุ่มชื่นย้ำ ทำผมหวั่นใจด้วยความที่ปกติเป็นคนเงียบไม่ค่อยฉอเลาะสุงสิงสนทนากับคนแปลกหน้าสักเท่าไหร่

“แล้วเลิกซะด้วยนะเวลาตั้งคำถามแหล่งข่าว ไม่ต้องเริ่มต้นประโยคคำถามด้วยคำว่า ไม่ทราบว่า อย่างนั้น อย่างนี้” คนข่าวสาวมากประสบการณ์แนะเห็นภาพ

“มันเป็นคำฟุ่มเฟือยที่ไม่เข้าท่า” เธอว่า

ชุ่มชื่นยังให้โจทย์แต่ละคนไปหาสกู๊ปข่าวมาคนละ 2 เรื่องเพื่อพิสูจน์มือการทำงาน

ผมเลือกไปทำสกู๊ปสถาบันนิติเวชวิทยา โรงพยาบาลตำรวจ เพราะเห็นเป็นเรื่องราวน่าสนใจไม่ค่อยมีสื่อแขนงไหนนำมาตีแผ่รูปแบบการปฏิบัติการเบื้องหลังคดีอาชญากรรมเกี่ยวกับศพมากนัก ผมเริ่มด้วยการไปขอสัมภาษณ์พลตำรวจตรีทัศนะ สุวรรณจูฑะ ผู้บังคับการนิติเวช และพันตำรวจเอกนายแพทย์เลี้ยง หุยประเสริฐ แพทย์ผู้ชำนาญด้านการผ่าศพ

ทั้งคู้ให้ความร่วมมืออย่างดีแม้จะมึนงงตอนแรกที่บอกว่ามาจากหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ เนื่องจากยังไม่ได้วางแผงขายตามท้องตลาด

เสร็จจากเก็บรายละเอียดสกู๊ปชิ้นแรก ผมตามด้วยการไปเก็บข้อมูลปมปัญหาศึกแย่งศพของ 2 มูลนิธิชื่อดังระหว่างร่วมกตัญญู และป่อเต็กตึ๊ง ที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับมานาน  ตำรวจใหญ่หลายนายพยายามหย่าศึก แต่ไม่ประสบผลสำเร็จจนมาถึงยุคพลตำรวจโทณรงค์ เหรียญทอง เป็นผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเริ่มเห็นทางสยบปัญหาด้วยการเรียกผู้ใหญ่ทั้ง 2 ฝ่ายมาเจรจาแบ่งเขตการปฏิบัติงานคลายความกดดันยุติความสัมพันธ์ร้าวฉานในเวลาต่อมา

ข้อมูลที่เตรียมส่งงานทั้ง 2 ชั้นอยู่ในมือเรียบร้อย แต่ยังไม่ได้เวลาเส้นตายส่งรายงาน

สายวันที่ 17 พฤษภาคม 2535

ชุ่มชื่นนัดหมายบรรดานักข่าวน้องใหม่มาเข้ารับการฝึกอบรมอีกเช่นเคย แกเทศนาความเป็นไปของบ้านเมืองในระหว่างสถานการณ์ที่กำลังเต็มไปด้วยความตึงเครียด

“เดี่ยวพี่จะให้ทุกคนลงภาคสนาม” หญิงแกร่งให้โจทย์

“ไปไหนครับ”

“ไปสนามหลวง เกาะติดข่าวที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง นัดชุมนุมใหญ่ขับไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี”

“พวกเราต้องทำอะไรบ้างคะ” สาวคนหนึ่งไขข้อข้องจิต

“ก็แยกกันไปเก็บรายละเอียดบรรยากาศให้มากที่สุด อย่าให้พี่ต้องบอกมาก ลงไปทำกันดู แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน” ชุ่มชื่นวางแนว

ผมมโนภาพล่วงหน้าทันทีว่า คงเดินตามแนวถนัด คือ เดินสัมผัสเก็บรายละเอียดในส่วนของตำรวจที่ต้องไปดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมครั้งสำคัญนี้

“อย่างน้อยน่าจะเจอพี่นักข่าวไทยรัฐหลายคนบ้างนะ” ผมคิดหมากก่อนเดินทางมุ่งหน้าท้องสนามหลวงพร้อมวิทยุสื่อสารประจำกายอีกตัว

RELATED ARTICLES