“คนเรา โชคชะตามันไม่เหมือนกัน โชคมันไม่ได้เข้าข้างตลอดหรอก”

 

ชีวิตคลุกฝุ่นลุยล่าเสือคนดังในพื้นที่จนกลายเป็นตำนาน ทว่าเส้นทางรับราชการไม่ได้รุ่งโรจน์เหมือนเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน

พ.ต.อ.สุวัฒน์ แตงคูหา อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระนอง ชาวจังหวัดชุมพร ลูกชาย ร.ต.ต.ยิ่ง แตงคูหา เติบโตมากับแวดวงตำรวจ เนื่องจากพ่อเป็นหัวหน้าสายตรวจ มักมีมวลชนจากชาวบ้านแวะเวียนมากินข้าวที่บ้านบ่อยครั้ง เจ้าตัวเล่าว่า ส่วนมากสัมผัสจากลูกน้องของพ่อมากกว่า เพราะพ่อไม่เคยหัดยิงปืน ไม่สอนให้ยิงปืน เหตุผลเนื่องจากไม่อยากให้เป็นนักเลง พอเข้าไปโรงเรียนในจังหวัดไปสมัครอยู่วงดุริยางค์พ่อยังบอกว่า ดี ทั้งที่ในใจพ่ออยากให้เป็นตำรวจ

“เดินนำหน้าคนอื่นเขา คือ ถ้าเป็นนักเลง เดี๋ยวก็ไปฆ่าเขา เดี๋ยวก็ไปติดคุก มันทำให้ผมได้เรียนรู้ชีวิตตำรวจของพ่อ กระทั่งสัมผัสกับแรงกดดันในการทำงานของพ่อ มีแรงกดดันจากผู้มีอิทธิพล สมัยผมเรียนมัธยม ผมเริ่มจะรู้ เริ่มจะเข้าใจ และพ่อเริ่มไว้ใจให้เราถือปืน” พ.ต.อ.สุวัฒน์เท้าความหลังและเล่าต่อว่า มีอยู่ครั้งพอไปจับเถ้าแก่โรงเลื่อยไม้ พ่อรู้ทันทีว่าต้องมีเรื่องบานปลาย รู้แล้วว่า เรายิงปืนได้ ตกกลางคืนมีคนร้ายยกพวกมาที่บ้าน ตะโกนเรียกพ่อ  เรามีหน้าที่เดินถือปืนตามหลัง คุยกันสักพัก เราแง้มประตูถือปืนคุมเชิงไว้ พูดง่าย ๆ ถ้าพวกนั้นจะยิงเราคงป้องกันไม่ได้ แต่ถ้าปืนดัง เราก็ต้องยิงเหมือนกัน

ผ่านค่ำคืนแห่งความกดดัน พ.ต.อ.สุวัฒน์จบมัธยมไปสอบเตรียมทหาร เลือกเหล่าตำรวจ แต่ปีแรกพลาดกลับมานั่งทบทวนใหม่ ตั้งใจสอบอีกครั้งคราวนี้ติดเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่น 38  แม้ระหว่างเรียนเตรียมทหารเริ่มลังเลอยากเป็นตำรวจ มานึกอีกทีว่า ชีวิตครอบครัวกินเงินเดือนของตำรวจ ขอเป็นตำรวจตดดีกว่า

มีโอกาสไปขอเรียนรู้ชีวิตตำรวจตระเวนชายแดนบนเขาพระวิหารตอนเรียนอยู่ชั้นปี 3 ทำให้อยากเป็นตำรวจตระเวนชายแดน  พ.ต.อ.สุวัฒน์บอกว่า พอจะเลือกลงจริง มานั่งคิดการเป็นตำรวจตระเวนชายแดนทั้งปีแทบไม่สัมผัสความเลว ความชั่วอะไร ถ้าไปลงโรงพักภูธรอาจสัมผัสกับความเลวเกือบทุกวัน ถ้าเราดีได้ เราย่อมดีกว่าคนอื่นหลายเท่า ถึงตัดสินใจเลือกภูธร แต่พ่อติงว่า จะไปอยู่ที่ไหนก็ไป อย่ามาชุมพร ตอนนั้นพ่อยังไม่เกษียณจะมาเป็นนายพ่อไม่ได้ ไม่เช่นนั้นพ่อจะลาออก

“คนชุมพรเขามีคำพูดอยู่ว่า แขกเมืองไทร ไทยเมืองคอน คนจีนบ้านดอน คบไม่ได้ เป็นนิสัยพื้นฐานของคนท้องถิ่น ผมเลยเลือกลงทุ่งสงตำแหน่งรองสารวัตรสืบสวนสอบสวน  สถานการณ์คอมมิวนิสต์ยังเคลื่อนไหวอยู่บ้าง แต่เปลี่ยนแปรสภาพมาเป็นโจรเรียกค่าคุ้มครอง เรียกค่าไถ่ ปล้นรถทัวร์ กลายเป็นโจรห้าร้อยปนกับคอมมิวนิสต์ ด้วยความที่ผมทำงานสอบสวน ด้วยนิสัยตัวเอง มันอยู่ไม่นิ่ง ถ้าไม่มีคนมาแจ้งความ ก็ขี่มอเตอร์ไซค์ออกไปเที่ยวหา ชวนลูกน้องไป ไม่ต้องแต่งเครื่องแบบมารวมกันที่โรงพัก”

ผู้หมวดทุ่งสงนำทีมเฉพาะกิจนอกเครื่องแบบบุกห้องอาหารค้นจับปืนได้ 5 กระบอก  แต่ทำไมทำมาเจ้านายไม่ค่อยชอบขี้หน้า เพราะตอนหลังไปลุยบ่อนการพนันด้วย อย่างไรก็ตาม เขายังตั้งมั่นทำหน้าที่ต่อไป ก่อนไล่ตามวิสามัญฆาตกรรมคนร้ายชิงรถจักรยานยนต์ที่ก่อเหตุต่อหน้าต่อตาแล้วชักปืนสู้ ตกเป็นข่าวดังเข้าหู พ.ต.อ.สรรเพชญ ธรรมาธิกุล ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดนครศรีธรรมราชขณะนั้น ดึงให้มาเป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษของจังหวัดในชุดสายฟ้า

ปรากฏเมื่อวันที่ 15 มกราคม 2530 เกิดเหตุที่อำเภอทุ่งใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช “เสือธงชัย ไชยคชบาล” ขุนโจรที่อาละวาด 14 จังหวัดภาคใต้ ใช้อาวุธสงครามยิงถล่มฆ่าชาวบ้าน 5 ศพ  พ.ต.อ.สรรเพชญ เรียกพบทันที “ เอ็งเอากำลังลงไปจัดการ ถ้ามันไม่ตาย ไม่ต้องกลับ คำสั่งของท่านสรรเพชญตามสไตล์แก ผมชอบจริง ๆ ชัดเจน เข้าแผนปราบเสือธงชัยกันไม่รู้ตั้งกี่ครั้งยังเอาตัวมันไม่ได้ ก่อนมาก่อเหตุฆ่าชาวบ้าน คนไหนเป็นสายให้ตำรวจมันก็ตามมายิง”

พ.ต.อ.สุวัฒน์ยอมรับว่า คิดหนัก ด้วยความที่มาใหม่ ลูกน้องในชุดไม่รู้จักใครเลย  เป็นเรื่องที่หนักที่สุด เช่นเดียวกับพื้นที่อำเภอทุ่งใหม่ก็ไม่เคยไป แหล่งข่าวก็ไม่มี  แต่เมื่อเป็นคำสั่งผู้บังคับบัญชาเราต้องทำให้ดีที่สุด นัดรวมพลกันที่หน้าโรงพักทุ่งใหญ่ตอน 3 ทุ่ม แย่งกำลังกันกับตำรวจพื้นที่ที่รู้จักมวลชน ดึงมาอยู่ด้วยกันเพราะรู้ว่า ใครเป็นใคร เริ่มต้นที่บ้านเกิดเหตุ และยึดพื้นที่ศาลาการเปรียญนอนหาข่าวนานเกือบปี

อดีตหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษล่าขุนโจรแดนใต้ยืนยันว่า ตามล่าตลอด มีข่าวอยู่ที่ไหนเราก็ไป แต่ไม่เจอ ออกปฏิบัติการพื้นที่ที่มีข่าวตามรังของเสือธงชัย แต่ยากที่จะเข้าปากทางจะมีคนเฝ้าแล้วจะรู้ความเคลื่อนไหวของตำรวจหมด เข้าแผนอย่างไรก็เสียเงินเปล่า ต้องหันกลับมาปรับวิธีการใหม่ เราไม่เข้าปากทาง ใช้วิธีเดินข้ามภูเขาจากด้านตะวันตกอำภอทุ่งใหญ่ตอนกลางคืนเพื่อไปถึงรังโจรให้ได้ ที่สุดเกิดการปะทะกันดุเดือดปิดบัญชีเสือธงชัยสำเร็จ ใช้เวลา 1 ปี 10 เดือน ถึงจะเจอตัว

“ผมได้ชาวบ้านมาร่วมงานคัดเลือกคนที่รู้จักพวกมัน เป็นศัตรูกัน พวกนี้ถ้าไม่มาอยู่กับตำรวจก็และเอาที่ญาติพี่น้องโดนฆ่า ที่เหลือให้กลับไปรอฟังข่าว เอาอาหาร สัมภาระทั้งหมดแบ่งเท่า ๆ กัน ใส่เป้ขึ้นหลัง เดินไป พอเริ่มเดินขึ้นเขา ฝนก็ตก เดินกลางฝน แต่พองานมันสำเร็จแล้ว มันก็หายเหนื่อย ปะทะกันตาย 2 ศพ ตัวเสือธงชัยกับลูกน้อง ตอนนั้นมหาดไทยตั้งค่าหัวไว้  2 แสนบาท”

ภารกิจผลงานพิชิตเสือครั้งนั้น พล.ต.อ.ประมาณ อดิเรกสาร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยมอบรางวัลตอบแทนความเหนื่อยยาก และสร้างชื่อเสียงให้แก่กรมตำรวจ  พาชีวิตเหมือนจะรุ่งโรจน์เพราะเพิ่งยศ ร.ต.ท.เป็นนายตำรวจหนุ่มไฟแรง มีฝีมือเป็นที่ยอมรับ มี พล.ต.ท.ชาญ รัตนธรรม ผู้บัญชาการตำรวจภูธร 4 มอบกระเช้าให้ด้วย “พวกคุณทำให้ผมได้ดี ผมไม่ลืม เพราะฉะนั้นใครเดือดร้อน หรือใครต้องการอะไรให้ช่วย ขอให้บอก”  พ.ต.อ.สุวัฒน์ จำคำผู้บังคับบัญชาไม่ลืม เสียดายตอนนั้นจะเสนอขึ้นเป็นสารวัตร แต่ติดระเบียบหลักเกณฑ์ยังขึ้นไม่ได้

กระทั่ง ร.ต.อ.เต็มขึ้น เขาไปหา พล.ต.ท.ชาญ รัตนธรรม ขณะนั้นเป็นผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจ เพื่อขอความเมตาขึ้นสารวัตร เนื่องจากผู้บังคับบัญชาต้นสังกัดตีตก ผู้ช่วยอธิบดีกรมตำรวจจัดแจงกดโทรศัพท์หานายเวรกำชับ ถ้ามีชื่อคนนี้เสนอขึ้นมา ห้ามค้าน ทำให้เขาได้เป๋นสารวัตรสืบบสวนกองกำกับการตำรวจภูธรเขต 11 เปิดพื้นที่การทำงานมากขึ้น

 “ผมภูมิใจที่สุดเลยนะ คือ บุกไปช่วยตัวประกันที่ถูกจับไปเรียกค่าไถ่ 3 คน รอดชีวิตในพื้นที่อำเภอทุ่งใหญ่ แต่โดนจับมาจากพื้นที่เกาะลันตา กระบี่ เรียก 3 ล้าน วันนั้นเป็นวันที่ครบ 7 วัน ตามเงื่อนไขมันจะเอาเงิน พูดง่ายๆ ว่า ถ้าไม่จ่าย ตัวประกันต้องตาย  ในครั้งนั้นมีความรู้สึกว่า ภูมิใจที่สุดตรงที่ไปตามรอยได้ ท่านผู้การประชุมเสร็จบอกมีเรื่องฝากหน่อย ได้ข่าวว่า มีการจับคนมาเรียกค่าไถ่มาจากพื้นที่เกาะลันตา ไม่รู้กี่คน เพราะทางกระบี่ปิดข่าว คือ ตำรวจปิดข่าวกันเอง กลัวเสียชื่อ”

เขาแกะรอยจากรถเช่าที่มีสติกเกอร์แปะอยู่ตามคำบอกเล่าจากพยาน คว้าผู้ชาย 2 คนผู้หญิงอีกคนมาสอบสวน ตอนแรกไม่รับ สุดท้ายผู้หญิงยอมพูดความจริง  เป็นแนวทางการสืบสวนติดตามได้คนร้ายทั้งหมด 8 คนไปช่วยตัวประกันที่เอาโซ่ล่ามในป่าไผ่ มีคนร้ายร้ายถือเอ็ม 16 นั่งเฝ้า พอเห็นเป็นตำรวจก็วิ่งเลย ปืนทุกกระบอกรัวยิง “ผมกลัวว่า ตัวประกันจะตาย ตัดสินใจวิ่งฝ่าลูกปืนกระโดดพุ่งหลาว นอนทับตัวประกัน 3 คน บอกน้อง เฉยๆ อย่าลุกขึ้นนะ ตำรวจมาช่วยแล้ว พร้อมตะโกนว่า หยุดยิงๆ หยุดยิงได้แล้ว” พ.ต.อ.สุวัฒน์เผยนาทีสำคัญ

“ภูมิใจที่เราทำสำเร็จ ภูมิใจตรงที่เราเอาตัวประกันไปที่โรงพัก อยู่ใกล้ๆ จุดที่โดนเอามาขังไว้ แล้วโทรศัพท์ให้พ่อเหยื่อมารับตัว ตำรวจช่วยเหลือออกมาได้แล้ว พ่อเอารถมาจอดประตูรั้วโรงพัก เดินเข้ามาสวมกอดลูกด้วยความดีใจ มันคือ ภาพความประทับใจที่เห็นพ่อลูกวิ่งเข้าหาแล้วกอดกัน วันนั้นผมถึงภูมิใจที่สุด หน้าที่เราจบแล้ว” 

นั่งเก้าอี้สารวัตรกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 11 ปีกว่ามีการปรับโครงสร้างกรมตำรวจเปลี่ยนให้มาอยู่ตำแหน่งสารวัตรหน่วยปฏิบัติการพิเศษจังหวัดนครศรีธรรมราชคนแรก  ก่อนโยกไปเป็นสารวัตรกิ่งอำเภอนาสัก จังหวัดชุมพร อยู่ไม่ถึงปีเป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรอำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช กลับไปเป็นรองผู้กำกับการป้องกันปราบปราม โรงพักทุ่งสงช่วงประกาศสงครามต่อสู้เพื่อเอาชนะยาเสพติดระลอกแรก อาศัยความร่วมมือของชาวบ้านช่วยกันขจัดพิษภัยของยานรก

ต่อมาเส้นทางชีวิตรับราชการเริ่มขลุกขลัก ย้ายเป็นรองผู้กำกับการที่โรงพักพรหมคีรี นครศรีธรรมราช เป็นสารวัตรใหญ่สถานีตำรวจภูธรไม้เรียง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรศรีนครินทร์ จังหวัดพัทลุง ทั้งที่ก่อนหน้ามีโครงการรับสมัครไปทำงาน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ถ้าได้รับการคัดเลือกจะได้เป็นผู้กำกับการแต่ต้องอยู่ 3 ปี  “ผมสมัครเลย กลับมาบอกพ่อว่า ผมสมัครไปรบแล้ว แกถามว่า แล้วได้อะไรบ้าง บอกว่า ถ้าผ่านการคัดเลือก ผมก็ได้เป็นผู้กำกับการ แต่ต้องอยู่ที่นั่น 3 ปี พ่อบอกเออ อยู่ที่ไหนก็ตายเหมือนกันแหละ แต่แล้วก็ไม่ได้ไป”

ทำหน้าที่ผู้กำกับการโรงพักศรีนครินทร์นาน 4 ปี ได้ผลงานประปวกโรงพักดีเด่น 2 ปีซ้อน พ.ต.อ.สุวัฒน์ที่ลิ้มรสความเป็นนายจากตัวเองเมื่อไปขอย้ายตามวาระ 4 ปี ทำเล่มประกวดผลงานดีเด่นให้ผู้เป็นนายพิจารณา กลับถูกตีหน้าเชิดใส่ “ไอ้เหี้ย มึงเคยเห็นบ้างไหมว่า แต่งตั้งครั้งไหนที่ดูผลงาน เอาคืนไป วางบนโต๊ะเกะกะเปล่าๆ” เขาทำความเคารพได้เดินออกมาจากห้องแบกความรู้สึกผิดหวังในคำพูดผู้บังคับบัญชา แต่ยังภูมิใจที่ตั้งแต่ทำงานมาไม่เคยเสียเงินวิ่งเต้น

ย้ายจากโรงพักศรีนครินทร์ไปเป็นผู้กำกับการฝ่ายอำนวยการกองบังคับการสืบสวนตำรวจภูธรภาค 9  รอจนเปลี่ยนผู้บัญชาการตำรวจภูธรคนใหม่ถึงย้ายออกมาเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรบางแก้ว จังหวัดพัทลุง แต่ทำให้เจ้าตัวได้บทเรียนมาสอนนายตำรวจรุ่นน้องว่า มานายยื่นให้ อย่าปฏิเสธ เราปฏิเสธ 2 ครั้ง ชีวิตถึงพลิกผัน ตอนที่ปราบเสือธงชัยสำเร็จ ผู้การบอกกเพื่อเป็นความดีความชอบให้ย้ายไปหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการพิเศษไปอยู่กันตัง จังหวัดตรัง โรงพักชั้น 1 แต่ด้วยความที่เราไม่ได้ศึกษาเลยปัดข้อเสนอไป  พอจะขอกลับบ้านไปชุมพรก็ไม่ได้ เป็นหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการบัติการพิเศษเหมือนเดิม

“ถ้าผมไปกันตังตอนนั้น ผมอาจจะไปพบเจ้านาย ชีวิตผมอาจจะดีกว่านี้ เป็นครั้งแรกที่ผมปฏิเสธความหวังดีของเจ้านาย แล้วมาอีกครั้งตอนที่ผมอยู่ศรีนครินทร์ได้โรงพักดีเด่น 2 ครั้ง  ผู้การจังหวัดพูดกับผมว่า  เอ็งออกมาอยู่เมืองดีกว่า มาช่วยกัน ผู้กำกับคนไหนที่ว่าแข็งสู้เอ็งไม่ได้ เพราะอิทธิพลมันเยอะ ผมก็บอกว่า อยากจะกลับภาค 8 ไปอยู่ใกล้บ้าน ตกลง ทำไปทำมา ไปอยู่อำนวยการกองสืบ” นายตำรวจวัยเกษียณว่า

ย้ายไปอยู่บางแก้วนาน 2 ปี วนเป็นผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรชะเมา นครศรีธรรมราช สรุปเป็นรองผู้กำกับการนาน 10 ปี ไปแช่ตำแหน่งผู้กำกับการอีก 10 ปี กวาดเพื่อนร่วมรุ่นไม่เห็นฝุ่นจนขึ้นรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระนองก่อนเกษียณอายุราชการ “เป็นเรื่องที่ว่าบุญเราสร้างมาไว้แค่นี้ คิดอะไรมาก แล้วก็เห็นเพื่อนที่มันทะเยอทะยาน แล้วมันก็ดิ้นรนต่อสู้ มันได้เป็นรองผู้การก่อนเรา สุดท้ายก็เกษียณเหมือนเรา มีนักเรียนนายร้อยหลายรุ่นที่มาฝึกงาน ผมทั้งปลูกฝัง และสอนไปด้วย แต่ละคนฟังแล้วบอกต่อไปจบทำงาน ผมอยากจะทำงานเหมือนพี่เลย”

“ผมต้องบอกว่า ไอ้น้อง เอ็งจำไว้นะ คนเรา โชคชะตามันไม่เหมือนกัน โชคมันไม่ได้เข้าข้างตลอดหรอก สำหรับพี่ ถ้าไม่ใช่เพราะโชคช่วยนะ ติดคุกไปหลายรอบแล้ว วิสามัญฆาตกรรมแต่ละครั้ง หมิ่นเหม่ มีบางคดีผมขึ้นไปกราบผู้พิพากษา พูดกันตรงๆ ท่านผู้พิพากษาถามว่า จับไปยิงจริงไหม  บอกว่า จริงครับ ก็มันยิงลูกน้องผม  ท่านเงียบๆ เฉยๆ ผมเลยตัดสินใจเรียนไปว่า ท่านครับ โจรก๊กนี้มันก็ตายไปแล้ว แต่ถ้าพวกผมจะต้องโดนออกหมายจับคดีนี้ พวกผมไม่มอบตัวนะ  พวกผมหนีนะ แล้วปืนหลวงทั้งหมด ผมไม่คืน แล้วพวกผมทั้งหมดจะตั้งตัวเป็นโจรก๊กใหม่ แล้วท่านคอยดูว่าก๊กไหนมันจะร้ายกว่ากัน ผมฝากท่าน ยังไงผมก็ต้องไปเป็นโจร”

อดีตรองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดระนองถ่ายทอดเรื่องราวอีกว่า ตอนสมัครใจลงไป 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ท่านเสรีพิศุทธ์ เตมียเวส เป็นผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เลือกเพราะประวัติเหมือนแก่ เราใช้ลายมือเขียน ไม่ได้พิมพ์ ให้เห็นว่า เราตั้งใจ ชัยวัฒน์ ฉันทวรลักษณ์ เพื่อนร่วมรุ่นอยู่สำนักงานฝากให้อ่าน เพราะตอนแรกท่านเสรีพิศุทธ์จะโยนทิ้งแล้ว มองว่า คนอื่นพิมพ์มาเรียบร้อย รายนี้ลายมือยุ่งแสดงว่า นิสัยไม่ได้ พอหยิบมาอ่านใหม่ถึงชอบว่า ประวัติปะทะเหมือนท่าน แต่สมัครใจแล้วกลับไม่ได้ไป เพราะเพื่อนร่วมรุ่นดันเป็นห่วง ตอนไปอยู่ศรีนครินทร์แทน ไม่อย่างนั้นคงเป็นนายพลแล้ว

 “ตอนแรกใคร ๆ ก็อิจฉาผม ตำแหน่งก็ได้ เงินก็ไม่ต้องเสีย เสี่ยงภัยก็ไม่ต้องเสี่ยง ผลสุดท้าย เราขาดทุน แต่ช่างมันเถิด ชะตาชีวิตเรามันถูกกำหนดมาอย่างนี้ ก็แค่นี้ ที่ผ่านมาไม่ติดคุกก็บุญแล้ว จบบริบูรณ์” ตำนานมือปราบขุนโจรดังภาคใต้ว่า

สุวัฒน์ แตงคูหา !!!

 

 

 

 

 

 

 

RELATED ARTICLES