“หัวใจของการทำสถานีข่าว คือ กองบรรณาธิการเป็นกระบวนการในการกลั่นกรองความแม่นยำ ความถูกต้องของข่าว”

 

กัปตันทีมข่าวของค่ายพีพีทีวีช่อง 36

นอกจากบริหารองค์แล้วยังทำหน้าที่ผู้ประกาศไปพร้อมกันด้วย สำหรับ เสถียร วิริยะพรรณพงศา หนุ่มมือดีมากประสบการณ์ เป็นชาวกรุงเทพมหานคร จบมัธยมโรงเรียนดอนเมืองจาตุรจินดา ชอบกิจกรรมตั้งแต่เด็ก เนทั้งประธานเชียร์ ประธานนักเรียน ประธานสี ไม่ค่อนจะเรียนหนังสือเท่าใดนัก

จบออกมายังสนุกอยู่กับการใช้ชีวิตนอกโรงเรียนอยากทำงานมากกว่าเรียน  มั่นใจว่าตัวเองสามารถหาเลี้ยงชีพได้ เพราะที่บ้านขายของ กระทั่งวันหนึ่งเห็นข่าวมหาวิทยาลัยรามคำแห่งประกาศรับสมัคร รู้สึกว่า เสรีภาพมาก ไม่ต้องเข้าเรียน  ตัดสินใจเข้าคณะนิติศาสตร์ แต่ยังรักทำกิจกรรม เป็นของชอมสังเกตสังคม “ผมชอบแอบไปนั่งดูนักการเมืองไฮปาร์ค เป็นเด็กประหลาด ไม่ดูการ์ตูน ชอบดูข่าวการเมือง รู้จักตั้งแต่สมัคร สุนทรเวช เฉลิม อยู่บำรุง ที่มาขึ้นเวทีใหญ่ตรงตลาดยิ่งเจริญใกล้บ้าน มันทำให้เราซึมซับ”

เข้าสู่รั้วรามคำแห่งทำกิจกรรมแบบสุดโต่ง ออกค่ายอาสาพัฒนา อยู่กับพรรคสานแสงทอง ไปเกาะความเคลื่อนไหวผู้ชุมนุม นอนอยู่ท้องสนามหลวง ร่วมต่อสู้เรียกร้องราคาบาง อยู่กับสมัชชาคนจนเรียกว่าเข้าเส้น เปิดโลกกิจกรรม ทำให้เขารู้จักสังคมและมีอุดมการณ์ ชอบอ่านหนังสือพิมพ์ หนังสือมติชนสุดสัปดาห์ ออกไปเคลื่อนไหวประท้วงอยู่หน้าทำเนียบรัฐบาล หน้ารัฐสภา เข้าเป็นกรรมการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นบรรณาธิการหนังสือขององค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหง

เสถียรเล่าว่า เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกว่า ชอบงานข่าว งานเขียน การได้ถ่ายทอดแนวความคิด อยากเป็นนักเขียน พอใกล้จบยิ่งคิดว่า ตัวเองไม่พ้นอาชีพนักข่าว นักเขียน  กระนั้นก็ตาม ด้วยความที่ทำแต่กิจกรรมไม่ได้เข้าห้องเรียน ทำให้ต้องเปลี่ยนไปเรียนคณะรัฐศาสตร์ เพราะวิชากฎหมายต้องตีความ ภาษากฎหมายมันยาก ไม่ไปฟังอาจารย์สอนในห้องจะไม่เข้าใจบริบท ถึงต้องเปลี่ยนเส้นทางไปเรียนรัฐศาสตร์การเมืองการปกครอง ตรงกับตัวเรามากกว่า

หลังเรียนจบไปสมัครเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ แต่ได้รับการปฏิเสธเนื่องจากเขียนข่าวไม่เป็น เพราะไม่ได้เรียนมาทางนั้น ด้วยความคิดว่า ง่าย แค่ออกไปหาข้อมูล มาเล่า แต่ความจริงต้องมีรูปแบบของการเขียนอยู่ ผิดหวังจากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ มีโอกาสได้ไปสัมภาษณ์หนังสือพิมพ์แนวหน้าเล่าประสบการณ์ชีวิตกับความฝันกับกิจกรรมที่ได้ทำสมัยเรียน ลงตัวเข้าเป็นนักข่าวหนังสือพิมพ์แนวหน้า และขอเป็นนักข่าวสายกระทรวงศึกษา เพราะการที่ได้เคลื่อนไหวทางการเมืองทำให้รู้ว่า การศึกษาเมืองไทยต้องพัฒนา เป็นจุดเริ่มต้นของทั้งหมด พอคนไม่มีการศึกษา ทำให้ไม่มีความพร้อมในชีวิต มันก็เป็นปัญหา

ทำไปทำมาต้นสังกัดบอกให้ไปทำข่าวทำเนียบรัฐบาล เสถียรยอมรับว่า เครียดมาก เป็นเด็กใหม่ หนังสือพิมพ์หัวเล็กเวิ้งว้างมาก เหมือนโดนจับเข้าไปอยู่ในโลกของความจริง ไม่เหมือนสมัยทำกิจกรรม เจอนักข่าวรุ่นใหญ่แข็งกล้าถามนายกฯ โต้ตอบกันผ่านไมค์ สมัยนั้นทักษิณ ชินวัตรจะไม่เหมือนนายกฯคนอื่น ทำข่าวซีฟกัน ทำให้เราตกข่าวรายวัน  ถูกหัวหน้าตำหนิ เข้าใจคำว่า เจอกันบนแผง ศักดิ์สิทธิ์มาสำหรับนักข่าวสมัยนั้น ไม่มีเราเล่มเดียว เจ็บปวดมาก

    “ความรู้สึกพวกนี้มันกดทับเราเป็นปมด้อย ใช้เวลานานมากกว่าจะเข้าที่ ตอนดึกๆ พี่เขาไปกินข้าวต้ม ก็ไปนั่งชงเหล้าให้กินบ้าง ต้องติดตามไป ใช้ชีวิตแบบนี้นานพักใหญ่กว่านักข่าวรุ่นพี่เขาจะพาไปเจอแหล่งข่าว  เป็นเวทีที่ทำให้ผมรู้สึกกดดัน แต่คือ ถ้าเราท้อ ถ้าเราถอย ทำให้จบได้เลย มีนะ รู้สึกไม่ไหวแล้ว มันเหนื่อย ทำเนียบรัฐบาลเป็นศูนย์รวมของทุกอย่าง ไม่ว่าจะเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม การเมือง ภัยธรรมชาติ เป็นศูนย์กลางที่กำหนดนโยบายทุกอย่าง เรื่องทหาร ความมั่นคง ตำรวจจะโยกย้ายอะไรอยู่ตรงนั้นหมด” เจ้าตัวเล่าความหลัง

เขาบอกว่า บางทีนั่งน้ำตาไหลอยู่ในทำเนียบรัฐบาล เพราะจบมาปีแรกประสบการณ์ข่าวไม่มี คิดว่าเกินตัวเราไปหรือเปล่า ตกข่าวบ่อยจนท้อ แต่พอเวลาผ่านมาแล้วมองย้อนกลับมาต้องขอบคุณตัวเองที่ไม่ถอยไปก่อน ที่อดทนได้ พยายามต่อสู้ คิดแค่ให้ผ่านไปได้ในแต่ละวัน ไม่ตกข่าว  ไม่ถูกฟาดทุก จนพวกนักข่าวรุ่นพี่เริ่มเมตตาพาเราไปด้วย เริ่มมีแหล่งข่าวของตัวเอง มีคนพอจะบอกข้อมูลเราได้ ทำให้เรามั่นใจขึ้น

“อาจจะเป็นโชคดีกับเรา ถ้าเราไปเลือกมาก ถ้าเราไปเงื่อนไขเยอะ อยากทำตรงนั้นก่อน ตรงนี้ก่อน มันก็อาจจะไม่ได้เคี่ยวเราจนเราแข็งได้เร็ววัน  ผมไปทำงานตรงไหน ไม่ตั้งคำถามมาก ไม่เลือกมาก ทำให้เจอสิ่งที่ท้าทายมาก ทำในสิ่งที่เราไม่ถนัด พอเราไม่ถนัดเราก็มีความพยายาม พอผ่านสนามทำเนียบรัฐบาลมา ทำให้ผมมั่นใจ พอไปสนามอื่นอย่างน้อย ความกดดันมันก็น้อยลง”

อยู่หนังสือพิมพ์แนวหน้าได้ปีเดียวโยกข้ามสังกัดมาอยู่เดอะเนชั่น กลายเป็นเด็กใหม่ที่อายุน้อยสุดได้เขียนคอลัมน์ลงเนชั่นสุดสัปดาห์วิเคราะห์ข่าวการเมือง สนามการทำงานกว้างขึ้นเป็น มัลติมีเดียไม่ใช่หนังสือพิมพ์อย่างเดียว  มีทั้งทีวี วิทยุ และเว็บไซต์ เจอสุทธิชัย หยุ่น ให้โอกาส เสถียรมองว่า คือทุ่งหญ้าแห่งความฝันของเด็ก เหมือนกับจังหวะชีวิตตอนทำกิจกรรมสมัยเรียนมหาวิทยาลัยพาไปในจุดที่ใหญ่ขึ้น สนุกขึ้น กว้างขึ้น  ด้วยความที่เป็นคนไม่มีเงื่อนไข ให้ทำอะไรก็ทำที่ไม่คิดว่า เหนื่อย เราทำหมด

    เจ้าตัวย้ำว่า เป็นสิ่งที่ผู้ใหญ่ให้โอกาส ตัวเองไม่เกี่ยง พร้อมจะลุย ขยับมาจัดรายการทำทีวีจากนักข่าววิ่งทำข่าว  สัมภาษณ์ เขียนหนังสือ เขียนคอลัมน์หน้ามัน เสาร์อาทิตย์แทบไม่ได้หยุด ต้องมาจัดรายการ อาจเพราะเรายังสด ยังหนุ่ม ไม่รู้จักคำว่า หยุด รับปากทำรายการทีวีเพราะต้นสังกัดอยากเอาคนที่เป็นตัวจริงในสนามข่าวมาเล่าให้คนฟัง ไม่ต้องซีเรียส

แต่พอเอาเข้าจริง กลับไม่ใช่อย่างที่คิด เสถียรบอกว่า ไม่ง่ายแค่เล่าข่าวเหมือนวิทยุ เพราะทีวีต้องมีคนควบคุมรายการ มีภาพ มีกล้อง 3 ตัว พอไฟมาแล้วเราจะมองกล้องไหน แล้วคู่เราอีก สคริปต์ข่าวอีก เสียงอีก เหมือนจับเราโยนลงไปในแม่น้ำแล้วให้ข้าวฝั่งเอง ทำได้สักพักรู้แล้วว่า ไม่ไหว รายละเอียดเยอะมาก  ไม่ชาอย่างที่เราคิด แค่ไปเล่าข่าว

เสถียรขอทบทวนตัวเอง รู้สึกไม่พร้อมงานทีวีไม่ไหวจริง แต่สุทธิชัย หยุ่นบอกไม่ต้องกังวล คนดูข่าวทีวี ดูเนชั่น คอข่าวอยู่แล้ว  ขอแค่ข้อมูลแม่น ไม่พลาด เล่าเรื่องที่คนดูต้องการรู้จริง ลงให้ตัดสินใจอีกที ทำให้เขากลับมามีความมั่นใจขึ้น ก่อนขยับตัวเองมาทำรายการใหญ่คู่กับกนก รัตน์วงศ์สกุล และธีระ ธัญญอนันต์ผล  ในรายการข่าวค้นคนเนชั่นเป็นรายการดีที่สุดของช่องในเวลานั้น

เขาเริ่มมีรายการหลักของตัวเอง มีวิเคราะห์ข่าว ไม่กลัวกล้องแล้ว สามารถบริหารข้อมูลกับการเล่าข่าวบนหน้าจอได้ตามเวลาที่กำหนด งานเริ่มล้นมือไม่ต่างจากรถวิ่งไปแรง ๆ เบรกไม่ได้แล้ว เสถียรเชื่อว่า  คนเราสามารถทำอะไรเกินกว่าขีดจำกัดของตัวเราเองได้ บางทีกรอบพวกนี้จะกดทับตัวเรา บีบตัวเราว่า ทำได้แค่นี้จริง ๆ  เราทะลุเพดานได้เยอะ คนเรามหัศจรรย์มาก มีอะไรเหนือขีดจำกัดที่เราคาดไม่ถึง คือ อะไรที่เราทำแล้วมีความสุข ทำแล้วสนุก ก็ควรทำไป

            อยู่เนชั่นนานนับสืบปี เสถียรต้องขอบคุณที่เปิดโอกาสให้ลงสนามลองทุกอย่างยิ่งกว่าโรงเรียน

ได้เรียนรู้ทักษะ วิธีการทำงานทีวี อ่านข่าว ทำทวิตเตอร์จนได้เป็นหัวหน้าข่าวในประเทศของโต๊ะทีวีและเป็นผู้ประกาศข่าวรายการใหญ่ จนถึงวันหนึ่งเริ่มอิ่มตัวอยากจะไปแสวงหาอะไรใหม่ ๆ เป็นจังหวะที่สถานีพีพีทีวีเปิดตัวต้องการฟอร์มทีมตั้งสถานีข่าว

“ไม่เคยคิดเลยว่าจะออกจากเนชั่น เพราะว่ามัน คือความคุ้นเคย แล้วพอเราไปตรงไหนมันก็พี่ๆ น้องๆ อยากทำรายการทีวี ตรงไหนก็ได้ทำ เขียนอะไรตรงไหนก็ได้หมด เนชั่นมีครบ มีความสุขมาก พื้นที่สื่อมีมากมาย โอกาสเติบโตของเนชั่นชัดเจนมาก ไม่เคยคิดว่าจะออก คุยกับคุณสุทธิชัยราว 2 ชั่วโมง แกไม่เคยเรียกใคร เพราะคนเนชั่นเข้าออกเป็นพัน เรียกไปคุยถามว่า เอาแน่หรือ เสถียรคุณกำลังจะเป็นแม่ทัพแล้วนะ ผมนั่งคิดว่าความคุ้นมันอันตราย ความที่มันนิ่งที่ที่เราคิดว่า ปลอดภัยแล้ว เราสงบสุขแล้ว  แต่เหมือนมันยังมีอะไรในใจที่มันยังเรียกร้อง มีอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ รออยู่หรือเปล่า”

ที่สุดเขาบอกลาเนชั่นไปเริ่มต้นใหม่กับพีพีทีวีที่ 7 ปีก่อนไม่มีใครรู้จัก จากเดิมชีวิตสบายเข้าออฟฟิศมีคนรู้จักหมด ทุกอย่างลงตัวหมด พอมาอยู่พีพีทีวี เสถียรต้องแบกภาระหนักในการสร้างสำนักข่าวขึ้นมาจากไม่มีอะไรเลยแม้แต่บุคลากร ต้องจากบริษัทผลิตข่าวเที่ยง  ต้องชวนเพื่อนนักข่าวเข้ามช่วยฟอร์มทีมใหม่ เหมือนกับหมู่บ้านที่เพิ่งลงเสา เริ่มรับนักข่าวคนแรกบุกเบิกสถานีข่าวเริ่มเดินหน้า

จากวันนั้นถึงวันนี้สถานีพีพีทีวีช่อง 36 สามารถเป็นสถานีข่าวได้ 40 กว่าเปอร์เซ็นต์บนหน้าจอ ทำให้เขาคิดถึงอดีตตอนทำงานทำเนียบรัฐบาลยุคแรก ไม่รู้จักใคร จกข่าวทุกวัน เหมือนกับตอนไม่ทำทีวีเนชั่นแล้ว เพราะไม่มีความรู้พื้นฐานเรื่องทีวี “คิดย้อนกลับไป ก็ตลกตัวเองปนกับภูมิใจ ในตัวเอง ที่ทำในสิ่งที่เหมือนกับเป็นไปไม่ได้จนทำได้ขึ้นมา”

ใช้เวลา 7 ปีหลอมรวมทีมงานข่าวจนตัวเขาได้ขึ้นเป็นผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ฝ่ายข่าวของพีพีทีวี คุมงานบริหารกองบรรณาธิการข่าว ตั้งหลักในเรื่องของการทำข่าวให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น  “โลกของข่าวที่มันเปลี่ยนไปทุกวันนี้ ผมคิดว่า วันนี้ข่าวคงอยู่ในสภาพข้อมูลล้น ข้อมูลท่วม อาจจะเกิดปัญหาในการคัดกรองข้อมูล ผมพยายามทำให้กองบรรณาธิการข่าวของพีพีทีวีได้คัดเลือก ได้กรองข่าวที่มีคุณภาพ พยายามเจาะ แสวงหาข้อมูล ให้นโยบายว่า สำหรับข่าวต้องเป็นข่าวหลัก พวกเราเป็นวิชาชีพ กระบวนการในการคัดกรอง นำเสนอข่าวออกไปเป็นเรื่องสำคัญ มีกองบรรณาธิการข่าวที่เข้มแข็ง ผมคิดว่า หัวใจของการทำสถานีข่าว คือ กองบรรณาธิการเป็นกระบวนการในการกลั่นกรองความแม่นยำ ความถูกต้องของข่าว”

 เขาสารภาพว่า  แม้อุตสาหกรรมทีวี มีการแข่งขันกันหลายอย่าง เรื่องของความเร็วด้วย เรื่องของสตอรี่ข่าว บางทีต้องออกแบบให้สตอรี่ข่าวมันตรงกับจริตคน  เราพยายามดึงให้มันได้ตรงกลาง ระหว่างคุณภาพข่าวที่คนควรรู้กับความสนุก ความเพลิดเพลิน เป็นโจทย์ที่ยาก สำหรับคนทำทีวี แต่เรามีความคาดหวังว่า พีพีทีวีจะเป็นสำนักข่าวที่คนมั่นใจ และเชื่อถือ ท่ามกลางแพลตฟอร์ม ช่องทางข่าวเต็มไปหมด ยิ่งสังคมที่บอกว่า ใครก็ได้ เป็นนักข่าวได้ เรายิ่งต้องเช็กอย่างเข้มข้นมากๆ  ต้องเป็นหลักให้ได้ ต้องให้สังคมเห็นว่า วิชาชีพสื่อมีจริง มันมีกระบวนการ แล้วเป็นที่ที่คนมั่นใจได้ว่า สังคมต้องเดินด้วยข้อมูลที่มันถูกต้อง แม่นยำรอบด้าน

หัวเรือใหญ่ทีมข่าวพีพีทีวีแสดงความเห็นด้วยว่า สังคมสมัยใหม่เหวี่ยงไปเหวี่ยงมาจากข่าวปั่นไปปั่นมาด้วยกระบวนการเรียกยอดไลค์ ยอดวิว  แต่เราคุยกันในกองบรรณาธิการว่า จะให้เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาอย่างนี้ไม่ได้ สังคมต้องมีที่ไหนสักที่ที่มีกระบวนการในการคัดกรอง ไม่ใช่เรานึกอยากจะเขียนอะไรก็เขียน นึกอยากจะเสนออะไรก็เสนอ ต้องมีกรอบ มีจริยธรรม มีความรับผิดชอบต่อสังคม มีเรื่องการถ่วงดุล เราเป็นหลักให้กับสังคม ให้กับผู้คน

“ผมคิดว่า เป็นความท้าทาย การทำข่าวทีวีที่มีคุณค่ายากกับการวัดเรตติ้ง ข่าวที่มีคุณภาพดี ข่าวที่มีกระบวนการเล่าเรื่องดี ภาพสวย ใช้เวลาในการทำ ส่งนักข่าวไปทำสารคดีข่าว ต้นทุนสูง แต่กลับไม่มีเรตติ้ง ผมมาบริหารข่าว แต่ในใจเรายังมีความเป็นนักข่าว เป็นคนทำงาน แล้วโลกในการทำงานมันมีความสุขกับการได้ข่าวซีฟ ได้ข่าวใหม่ ได้ข่าวที่มันไม่เหมือนใคร ได้ข่าวที่ตรวจสอบแล้ว พยายามรักษาความรู้สึกแบบนี้ให้เกิดขึ้นกับคนทำงาน โดยที่ไม่ได้มีแรงบีบคั้นจากเรื่องเรตติ้ง ตามความปรารถสูงของผู้บริหารที่จะสร้างทางเลือกสถานีข่าวที่มีคุณภาพขึ้นมา” เสถียรว่า

เขาคิดถึงคนรุ่นใหม่ที่จะต้องเติบโตมาในโลกใหม่ เป็นมันสมองของชาติ เด็กพวกนี้จะเติบโตมากับข่าวดราม่าได้บ้าง แต่ต้องรู้ว่า ศักยภาพของประเทศ สภาพแวดล้อมของโลก สกุลเงิน วิกฤติราคาน้ำมัน ต้องรู้ว่า โลกมีความเคลื่อนไหวยังไง เพื่อเติบโตมาอย่างมีภูมิต้านทาน

 

 

RELATED ARTICLES