ก้าวที่ 16 ย่ำซอยนายพล

 

าหารเที่ยงมื้อแรกในบทของนักข่าวน้องใหม่ประจำกองบัญชาการตำรวจนครบาล

ผมนั่งสั่งข้าวแกงกระเดือกเข้าปากอย่างเคอะเขิน อันเนื่องมาจากบรรดาเหยี่ยวอาวุโสรุมห้อมล้อมพร้อมจะควักกระเป๋าเป็นเจ้าภาพ

“เอาอะไรอีกไหม สั่งให้เต็มที่”

“ไม่แล้วครับพี่ ขอบคุณ”

“โอเค ถ้าอย่างนั้นเดี๋ยวเราจะพานายไปเดินข้างบน” สุวิตร โสรจชนะ พี่ใหญ่แห่งบางกอกโพสต์กลับจากส่องพระฝั่งสโมสรดับเพลิงเดินตามมาสมทบ

“เสือฝากดูหลานด้วย ลูกพี่สงค์ รองผู้กำกับดับเพลิง เราสนิทกับพ่อเขา” คนข่าวหัวหนังสือพิมพ์ฝรั่งฝากฝังบุญเสริม พัฒฑนะ สังกัดสำนักหัวเขียว

“คุยกันแล้วครับพี่ น้องมันเคยฝึกงานตระเวนอยู่ไทยรัฐ แต่ผมไม่ทัน”

“ดีเลย”

ผมยิ้ม คิดว่าอย่างน้อยวันแรกของงานอย่างเป็นทางการในหน้าที่รับผิดชอบไม่เหงาแล้ว เมื่อได้ประสบการณ์จากคนวงการน้ำหมึกเป็นไฟฉายส่องทาง

คณะสุภาพบุรุษยุคหลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬดูจะสมัครสมานสามัคคีกันมากขึ้นกว่าเก่า อาจเป็นเพราะพวกเขาร่วมนาทีเป็นนาทีตาย ภาพความฝันร้ายจากไฟมนุษย์ที่เกิดขึ้นด้วยน้ำมือเจ้าหน้าที่รัฐจุดชนวนล้างผลาญด้วยอารมณ์คลั่งแค้นปราศจากเหตุผลยังคงตราตรึงอยู่ในความทรงจำนักหนังสือพิมพ์หลากหลายอายุที่ถูกปิดกั้นจากอำนาจรัฐบาลเผด็จการทหาร

ผมก็ไม่เคยลืมวินาทีนั้น ยิ่งภาพฝังหัวตอนพลตำรวจโทณรงค์ เหรียญทอง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ต้องถอดเครื่องแบบนายพลวิ่งหนีตายจากฝูงมวลชนที่เดือดเลือดพล่านฝ่าแนวรั้วของตำรวจเชิงสะพานผ่านฟ้าเข้าไปเผาโรงพักนางเลิ้งก่อนเสียงคำรามของกระสุนนัดแรกจะดังขึ้นในเช้ามืดวันถัดมา

ตอนนี้ผมมาอยู่หน้าสำนักงานนายพลคนดังท่านนี้เสียแล้ว หลังจากสุวิตร และทีมกระจอกข่าวประจำนครบาลหลายสำนักพาผมเดินขึ้นบันไดจากชั้นล่างบริเวณตรงข้ามห้องประชาสัมพันธ์มาถึงชานพักชั้นลอย

“เนี่ยนะห้องทำงานผู้นำตำรวจเมืองหลวง เล็กราวกับรังหนู” ผมนึกในใจ

แต่เหมือนสุวิตรจะอ่านความคิดผมออก แกชิงแจงว่า ความจริงสำนักงานผู้บัญชาการตำรวจนครบาลอยู่อีกฟาก ตอนนั้นพลตำรวจโทวิโรจน์ เปาอินทร์ นั่งตำแหน่งอยู่ พอเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติรัฐประหารของคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติโค่นล่มรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ นายกรัฐมนตรีเจ้าของไอเดียแปรสนามรบให้เป็นสนามการค้า ผู้บัญชาการวิโรจน์เลยถูกพลเอกสุจินดา คราประยูร ที่ก้าวขึ้นมาบริหารประเทศแทนทาบทามให้ลาออกไปเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เหตุเพราะเป็นนักเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่น 5 ด้วยกัน

พลตำรวจโทณรงค์ เหรียญทอง ได้อาวุโสเลยส้มหล่นเป็นผู้นำนครบาลแทน ก่อนตัวเองจะเกษียณอายุราชการเพียงไม่กี่เดือน

“แกถึงขี้เกียจย้ายห้องให้มันวุ่นวาย”คนข่าวรุ่นพ่ออธิบาย

“นายอยู่ไหม”แกถามนายตำรวจหัวหน้าสำนักงานที่ยิ้มทักทายอย่างคุ้นเคยเป็นกันเอง

“เพิ่งทานข่าวเสร็จ มีอะไรหรือเปล่าครับพี่”

“ไม่มีอะไรจะแวะมาคุยเล่น พาน้องนักข่าวใหม่มาแนะนำตัวด้วย”

“เดี๋ยวสักครู่นะครับพี่”นายเวรหนุ่มลุกขึ้นแง้มประตูเดินเข้าห้องนายพลเจ้าของสถานที่ไม่นานก็พยักหน้าส่งสัญญาณให้พวกเราเข้าไป

“สวัสดีครับท่าน”ลูกพี่ใหญ่ค่ายบางกอกโพสต์เอ่ยนำ

“มาหาข่าวอะไรกัน วันนี้ไม่มีหรอก” พลตำรวจโทณรงค์เสียงลั่นแต่ฉายแววตาความเป็นมิตรไม่ต่างจากคนแก่เอ็นดูเด็ก เขาถลกแขนเสื้อจุดบุหรี่ขึ้นมาดูดพ่นควันโขมงแล้วนั่งเอาขาไขว่ห้างเอ็นหลังพิงพนักเก้าอี้อย่างอารมณ์ดี

“กินอะไรกันมาหรือยัง”โทนเสียงของผู้มีอำนาจสูงสุดเบาลง

“เรียบร้อยแล้วครับ แค่จะพาน้องใหม่มาคาราวะแนะนำตัว ชื่อโต้ง มาจากหนังสือพิมพ์สยามโพสต์ ลูกท่านรองประสงค์ที่เป็นรองผู้กำกับอยู่ดับเพลิงไงล่ะครับ”

ผมสวัสดี

“อ่อ ลูกประสงค์หรือ มีอะไรก็บอกอั๊วได้นะ ไม่ต้องเกรงใจ”

ผมแค่พยักหน้ายิ้ม ปากขยับประโยคอะไรไม่ออก เพราะยังใหม่สำหรับบรรยากาศแบบนั้น

“เฮ้อ อย่างว่า นับเวลาถอยหลังแล้ว ไม่กี่เดือนอั๊วก็สบายแล้ว” พลตำรวจโทเจ้าของรหัส น.1 พ่นควันระบายความอึดอัด บรรดานักข่าวรุ่นเก่าได้แต่เปลี่ยนหัวข้อสนทนาไม่ให้เกิดความเครียดเกินไป เสียงหัวเราะจากนายพลใหญ่ถึงดังขึ้นมีชีวิตชีวาอีกครั้ง

พอได้มาสัมผัสตัวจริงเสียงจริง ผมรู้เลยว่า ท่านผู้บัญชาการวัยใกล้เกษียณนี้มีจิตใจโอบอ้อมอารี สมถะ ไม่ถือเนื้อถือตัว ถือยศ บ้าอำนาจ ใครอยู่ใกล้มีแต่เสียงหัวเราะ แม้จะสลับคำสบถด่า อั๊ว ลื้อ มึง กู ก็เป็นเรื่องตามปกติของผู้นำอย่างเขา

สนทนาหลากหลายสาระแต่ไม่เป็นหัวข้อข่าวอยู่ราว 10 นาที สุวิตรก็ขอตัวนำทัพสื่อออกมาพาผมเดินสำรวจพื้นที่ต่อขึ้นไปบนชั้น 2 ของอาคารกองบัญชาการตำรวจนครบาล

“ที่นี่เขาเรียกกันซอยนายพล”ไกด์วัยเก๋าว่า

“ชื่อแบบนี้จริงหรือพี่ ผมถาม”

“จริงซิ ตามมา”

เขาพาเดินเข้าไปในซอกแคบ ๆ เหมือนตรอก แสงมืดสลัวไม่ต่างจากห้องเช่าในหนังไทยสไตล์บู๊ล้างผลาญยุคโบราณที่ทำด้วยไม้อัด

“ดูเอาตามป้ายชื่อหน้าห้อง ทั้งซอยนี่แหละ มีแต่นายพลอยู่”

“อ่อ ห้องทำงานของนายพลระดับรองผู้บัญชาการ และผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลนั่นเอง” ผมเพิ่งถึงบางอ้อ

แกพาเดินแนะนำไปทีละห้องพร้อมสอดแทรกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยพอเป็นประโยชน์ในอนาคตบ้างตามความสำคัญของเจ้าสำนักแต่ละคน ไล่เรียงลำดับอาวุโส บางห้องนายยศพลตำรวจตรีก็ออกไปธุระข้างนอกบ้าง บางห้องก็มีแขกไม่สะดวกแก่การเข้าไปเยือน และบางห้องไม่เป็นที่ปรารถนาของเหล่ากระจอกข่าวด้วยความที่เจ้าของห้องไม่อยากเสวนาพาทีด้วย

“นี่ห้องหน้ากากเสือ”สุวิตรลำดับแรก

“อำอะไรผมอีกเนี่ย”

“ชัยสิทธิ์ กาญจนกิจ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล พวกนักข่าวและตำรวจหลายคนตั้งฉายาไว้ เพราะหน้าตาแกดุเหมือนหน้ากากเสือ แต่แกกับนักข่าวไม่มีอะไร คุยกันได้”

ถัดจากนั้นเป็นห้องพลตำรวจตรีพินิจ สุนสะธรรม คาเรกเตอร์ค่อนข้างเงียบขรึมพูดน้อยถึงไม่บ่อยนักจะมีนักข่าวเข้าพบ ต่อมาเป็นห้อง น.4  พลตำรวจตรีธีระชัย เหรียญเจริญ กลุ่มนักข่าวจะโปรดปรานเข้าห้องนี้มากที่สุด แม้เจ้าตัวจะขึ้นชื่อลือชาในความเฮี๊ยบ เป็นมือสอบสวนชั้นพระกาฬของนครบาลที่ไล่บี้สำนวนคดีร้อยเวร พันเวรกระเจิงมานักต่อนัก แต่แกก็เป็นแหล่งข่าวชั้นดีของพวกเขา

หลุดจากห้องพลตำรวจตรีธีระชัยเป็นห้องพลตำรวจตรีจารึก เมฆวิชัย

“นั่นแน่ มาซุ่มทำอะไรกัน” สุวิตรแซวเมื่อเห็นชาญชัย กายพันธ์ และเจตนา จนิษฐ์ คู่หนุ่มมือดีจากค่ายมติชนนั่งอยู่ก่อนแล้ว

“ไม่มีอะไร สนทนาภาษาไวน์กันอยู่ว่ารสชาติยี่ห้อไหนเป็นอย่างไร” พลตำรวจตรีจารึกรีบชิงออกตัว ผมรู้เพิ่มเติมในวันนั้นว่า นอกจากนายพลหนุ่มใหญ่เจ้าของห้องจะเป็นมือสืบสวนแล้วยังเป็นนักจิบไวน์ตัวยงที่หาตัวจับยากในเมืองไทย ณ เวลานั้น ชื่อดังกระฉ่อนถึงขนาดหนังสือพิมพ์ไทยรัฐยังเอาไปเป็นคอลัมนิสต์บรรยายสรรพคุณเลอรสของไวน์ระดับโลก

“ไว้วันหลังพวกเราไปนั่งดื่มไวน์เย็น ๆ กัน” นายพลยอดนักลิ้มชวนส่งท้ายก่อนพวกเราลาพ้นประตูเลาะไปยังห้องทำงานพลตำรวจตรีประสงค์ วาสิกานนท์ ที่จะค่อนข้างเก็บตัวพอสมควรอันเนื่องมาจากสุขภาพไม่เอื้ออำนวย

หมดจากการแนะนำห้องทำงานระดับรองแม่ทัพนครบาล พวกเขาพาผมทัวร์ห้องระดับผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจนครบาลที่เหลืออีก 6 ห้อง ประกอบด้วย พลตำรวจตรีวิเชียร โพธา พลตำรวจตรีสมชาย ชัยพานิช พลตำรวจตรีวราห์ เอี่ยมมงคล พลตำรวจตรีโสภณ วาราชนนท์ พลตำรวจสมชาย วาณิชเสนี และพลตำรวจตรีสุธรรม เศวตนันท์

ผู้ช่วยผู้บัญชาการส่วนใหญ่จะมีหน้าที่เป็นผู้ช่วยมือถัดจากรองผู้บัญชาการแทบทั้งสิ้น อำนาจในการตัดสินใจไม่เด็ดขาดเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ หากทว่าพอเป็นที่พึ่งเป็นแหล่งข่าวชั้นดีอีกกลุ่มที่บรรดานักข่าวประจำถ้ำนครบาลไม่เคยมองข้าม

โฟกัสอยู่ที่พลตำรวจตรีวราห์ เอี่ยมมงคล อดีตผู้บังคับการตำรวจจราจรเข้ามาเป็นผู้ช่วยรับผิดชอบการจราจร “ถ้ามีใบสั่ง ให้แกเซ็นว่ากล่าวได้นะ แต่ถ้าไม่กลัวแกตะเพิดออกมา แล้วแต่อารมณ์ไม่แน่ไม่นอนของแก” ชัยวุฒิ มั่นสิงห์ หนุ่มค่ายเดอะเนชั่นโผล่มาเป็นไกด์เสริมข้อมูล

“อีกคนก็นายโส” ศักดา เจ๊กจั่น พี่หนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์แจงแทน “แกเป็นมือสืบสวนสอบสวนชั้นครู ดังมาตั้งแต่อยู่สืบสวนใต้ เก่งมาก ให้จับตาดูคนนี้ไว้ให้ดี” คนเดลิมิเรอร์ขยายภาพพลตำรวจตรีโสภณ วาราชนนท์ ชัดเจนมากขึ้น แต่ผมกลับเริ่มมึนจับต้นชนปลายอะไรไม่ค่อยถูก คิดในใจว่า ช่วงแรกคงต้องขอเดินตามพวกเขาไปก่อน

“มีอะไรบอกกันบ้างนะพี่ ผมเริ่มงงแล้ว”

“ยังไม่หมด”บุญเสริมว่า

“หา อะไรนะ”ผมอ้าปากค้าง ข้าวในกระเพาะเมื่อตอนมื้อเที่ยงเริ่มย่อยสลายหมดแล้ว

“ยังมีระดับกองบังคับการอีกอยู่บนชั้น 3 ชั้น 4 กองกำกับการสืบสวนอีกที่เราต้องรู้”ศักดาเตือนสติ

แกโพล่งมาอยู่ประโยคที่ผมจำได้ถึงทุกวันนี้

“งานเหนือ เงินใต้ สบายธน” หนุ่มมากประสบการณ์งานข่าวจากหนังสือพิมพ์เดลิมิเรอร์ให้คำนิยามไว้แก่กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ กองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้ และกองบังคับการตำรวจนครบาลธนบุรี ที่คุมพื้นที่รับผิดชอบทั่วเมืองกรุง

“นครบาลเหนือคดีจะเยอะมากที่สุด ใครไม่ค่อยอยากย้ายไปอยู่ แต่ถ้าใครได้อยู่จะเจริญก้าวหน้ามีชื่อเสียงด้วยเนื้องานปราบปราม ขณะที่นครบาลใต้ อย่างว่า มันอยู่ใจกลางเมือง ทุ่งทำเลทอง มีตั้งแต่บางรัก พลับพลาไชย ลุมพินี ทองหล่อ ยอดปรารถนาของตำรวจหลายคน ส่วนฝั่งธนบุรี ไม่ต้องพูดถึง สบาย ไม่มีค่อยงาน ไม่ค่อยมีนายไปตรวจ” แกสาธยายละเอียด

พวกเขาพาไปเยือนกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครเหนือ มี พลตำรวจตรีวัฒน์ ศรีดามา เป็นผู้นำหน่วย ระดับรองผู้บังคับการล้วนเป็นยอดตำนานบู๊บุ๋นมากมาย และทำท่าจะไปดีในอนาคตราชการสีกากี ไล่ตั้งแต่ พันตำรวจเอกภุชงค์ จุณณวัตต์ พันตำรวจเอกพลวุฒิ เลี่ยมสงวน พันตำรวจเอกวรรณรัตน์ คชรักษ์ พันตำรวจเอกวิเชียร เทียบจริยวัฒน์ พันตำรวจเอกพิทยา เจริญพานิช พันตำรวจเอกอนันต์ ภิรมย์แก้ว พันตำรวจเอกบริบูรณ์ วุฒิภักดี พันตำรวจเอกวินัย เปาอินทร์ พันตำรวจเอกวรวิทย์ วัจนะพุกกะ พันตำรวจเอกสุพจน์ สิริโยธิน พันตำรวจเอกคงเดช ชูศรี พันตำรวจเอกอุเทน ฉิมอร่าม และพันตำรวจเอกนุกูล โสมทัต

มือปราบดาวเด่นของเขตเหนือ ศักดาการันตีให้ผมจับตา 3 ขุนพลที่มีนามว่า วรรณรัตน์ คชรักษ์ วินัย เปาอินทร์ และคงเดช ชูศรี

“พวกเหล่านี้ของจริง ยิงโจรรวมกันเชื่อว่า ไม่ต่ำกว่าร้อย”

“หรือครับ” ผมเอ่ยส่งเดชไม่ได้ใส่ใจ เพราะสมองเริ่มไม่รับ

ด้านกองบังคับการตำรวจนครบาลพระนครใต้สมัยนั้น มี พลตำรวจตรีสมศักดิ์ ปิตรชาติ เป็นผู้บังคับการ รองผู้การ ประกอบด้วย พันตำรวจเอกสิทธิชัย ภมรบุตร พันตำรวจเอกปิติ เหรียญอัมพร พันตำรวจเอกพงษ์ศักดิ์ โรหิโตปการ พันตำรวจเอกนิทัศน์ เศวตนันท์ พันตำรวจเอกประมวล นีละคุปต์ พันตำรวจเอกอรรถพงษ์ มงคลประสิทธิ์ พันตำรวจเอกคำนึง ธรรมเกษม พันตำรวจเอกสาธิต สุทธิวุฒินฤเบศร์ พันตำรวจเอกพีระพล สุนทรเกตุ พันตำรวจเอกถาวรศักดิ์ เทพชาตรี พันตำรวจเอกดำรงศักดิ์ นิลคูหา พันตำรวจเอกสุนทร ราชพลพิจารณ์

ขณะที่ฝั่งธนบุรี มี พลตำรวจตรีบุญชอบ พุ่มวิจิตร เป็นผู้บังคับการ ระดับรอง ได้แก่ พันตำรวจเอกบรรเจิด จุฑามาศ พันตำรวจเอกอุไร ศรีอุไรย์ พันตำรวจเอกเฉลียว อักษรดี พันตำรวจเอกวิโรจน์ จันทรังษี พันตำรวจเอกณรงค์ ดิษฐแย้ม พันตำรวจเอกสงวน สุนทรารักษ์ พันตำรวจเอกธวัชชัย พรหมประสิทธิ์ พันตำรวจเอกอดุล พิชาดุล และพันตำรวจเอกสมภพ สกุนตะวิภาต

เดินสำรวจมาถึงตรงนี้ผมจดชื่อจนมือแทบหงิก นึกหงุดหงิดอยู่ว่า ทำอย่างไรจะจำได้หมดว่า ใครเป็นใคร สำคัญขนาดไหน ใครสมควรที่เราจะต้องไปคุยหาข่าว ใครรับผิดชอบงานหน้าอะไร พลิกกระดาษที่จดรายชื่อยาวเหยียดไปมา

“ตายห่า อ่านไม่ออก” ผมมองลายมือตัวเองแบบเย็นชา

“มึงจดไปทำไมวะ” ปัญญา พันธ์เผือก สังกัดหนังสือพิมพ์วัฐจักรเมาแอ๋มาถาม

“ผมกลัวลืมครับพี่”

“เวรเอ๊ย เขามีสมุดโทรศัพท์ของนครบาลแจก ไปขอได้ที่สารวัตรเจ๊ก ไอ้บ้าจดให้เมื่อยมือทำห่าอะไร ในนั้นมีหมดตั้งแต่ผู้บัญชาการยันตำรวจระดับสารวัตรทุกโรงพัก” นักข่าวรุ่นพี่หน้าหนวดทำเสียงดุ

“แล้วทำไมไม่บอกแต่แรกวะ” ผมบ่นพึมพำคิดเสียว่าโดนรับน้องใหม่เข้าให้แล้ว

RELATED ARTICLES