(24) จากเสียงปวงชนไปไทยรัฐ

 

คยสารภาพไว้ สันดานผมนั้นลองได้ทำงานอย่างสนุกก็มีความสุขกับงาน เช่นเดียวกับการมากอบกู้วิกฤติของ เสียงปวงชนยุคที่อยู่หลังวัดตรีทศเทพ ซึ่งผมสนุกกับงาน และมีความสุขอีกครั้ง

ผมไปทำงานทุกวัน ออกจากบ้านนั่งรถสองแถวในซอยเสนานิคม 2  พหลโยธิน ขึ้นรถเมล์ไปลงอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิต่อรถเมล์สาย 12ลงหน้าวัดตรีทศเทพเดินเข้าซอยข้างวัด ไม่กี่สิบเมตรก็ถึงเสียงปวงชน

เสี่ยเต็ง “กำพล พิริยะเลิศ” มายืนเคียงข้างทุกวันและทุกคืน ผมจึงรู้ว่าเสี่ยเต็งเป็นศิษย์เก่าไทยรัฐ เป็นช่างภาพข่าวสังคม รู้จักผู้คนทุกระดับมากมาย ตอนหลังผมเรียกเสี่ยเต็งว่า “เฮียเต็ง” ทั้ง ๆวัยวุฒิผมสูงกว่า แต่ก็ไม่มากนัก ส่วนเสี่ยเต็งเรียกผมว่า “น้า”

ก็เรียกว่าต่างคนต่างนับถือซึ่งกันและกัน

“สมโภชน์ ช่วยชูญาติ” หัวหน้าช่างเรียงของเสียงปวงชน นี่ก็ศิษย์เก่าไทยรัฐ อยู่ไทยรัฐมานาน หลังสุดได้ข่าวว่า “สมโภชน์” เป็นนักข่าวอาชญากรรมให้หนังสือพิมพ์จีนฉบับหนึ่ง ส่วนลูกชายเป็นนักข่าวอาชญากรรมของเดลินิวส์ ผมกับสมโภชน์ไม่ได้เจอะเจอและไม่ได้ข่าวคราวกันเลยจนบัดนี้

วันแรกที่ไปพบ “เฮียเต็ง” ตามคำแนะนำของ “กำแหง ภริตานนท์” ผมสอบถามแต่เรื่องปัญหาเฉพาะหน้า ไม่ได้พูดถึงเรื่องเงินเดือน หรือเงินอะไรเลย เพราะในใจคิดอย่างเดียวต้องทำให้หนังสือพิมพ์เสียงปวงชนออกได้

จึงจำไม่ได้ตอนนั้นผมมีเงินเดือนกี่พันบาท

สุขสนุกชนิดเหงื่อไหลไหลย้อย เพราะเป็นสำนักงานหนังสือพิมพ์รายวันแห่งแรกที่มีแต่พัดลม เจ้าของตึกเขาไล่ทางตรง ถอดแอร์ออกหมดทุกตัว

“เฮียเต็ง” ก็อยู่ไม่เป็นสุข ต้องวิ่งวุ่นหารวงรังแห่งใหม่ และหาสายป่านมายืดอายุเสียงปวงชน

งานกำลังเข้าที่เข้าทางแล้วความพลิกผันก็เกิดกับชีวิตผม

เช้าวันหนึ่ง “อุโฆษ ขุนเดชสัมฤทธิ์” เพื่อนรุ่นน้องเคยเป็นรีไรเตอร์ซุกหัวนอนในเดลินิวส์สี่พระยาด้วยกัน อุโฆษลาออกไปอยู่ไทยรัฐ และเติบโตเป็นหัวหน้าข่าวหน้า  1  ของยักษ์ใหญ่    โทรศัพท์มาหาผมที่เสียงปวงชน

“อุโฆษ” ให้ผมไปพบ “พี่เฉลิมชัย ทรงสุข” หัวหน้าข่าวภูมิภาคไทยรัฐเดี๋ยวนี้ที่ไทยรัฐ   วิภาวดีรังสิต พี่เฉลิมชัยกำลังรออยู่ มีเรื่องจะคุยด้วยและเป็นเรื่องดี

ไม่รู้จักพี่เฉลิมชัย เคยได้ยินแต่กิตติศัพท์ตั้งแต่ผมอยู่เดลินิวส์ พี่เฉลิมชัยเป็นนักข่าวฝีมือดีของไทยรัฐจนกระทั่งขึ้นเป็นหัวหน้าคุมนักข่าวต่างจังหวัดทั่วประเทศ

เหมือนยักษ์ใหญ่กวักมือเรียก ผมจะรีรอทำไม รีบบึ่งไปไทยรัฐทันที

“อุโฆษ” แนะนำให้รู้จัก “พี่เฉลิมชัย”

พี่เหลิมบอกว่า เขาจะต้องไปทำหน้าที่ผู้จัดการฝ่ายจัดจำหน่าย แทน “เฮียสุรพล พรทวีวัฒน์” ซึ่งถูกยิงตายหน้าสถานบันเทิงแห่งหนึ่ง ให้ผมมาช่วยดูแลงานในส่วนภูมิภาคแทน โดยพี่เฉลิมชัยยังเป็นหัวหน้าภูมิภาคอย่างเดิม

ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องเก้าอี้หัวหน้าข่าว แค่ได้มาอยู่ใต้ชายคายักษ์ใหญ่ก็ถือว่าเป็นเกียรติประวัติของนักข่าวบ้านนอก เพราะการก้าวขึ้นหัวหน้าข่าวของหนังสือพิมพ์ ไม่ว่ายักษ์ใหญ่ยักษ์เล็ก    มันต้องใช้เวลานานพอสมควร ไม่ใช่เข้าปุ๊บได้เป็นหัวหน้าปั๊บ

เมื่อรู้เรื่องงานจะต้องทำอะไรแล้ว ผมก็ถามเรื่องเงินจะได้รู้ว่ารายได้แต่ละเดือนเท่าไหร่    เพราะการอยู่ไทยรัฐน่าจะอยู่ยาว ผมคิดอย่างนั้น

มันคนละอย่างกับเริ่มแรกที่ผมไปอยู่เสียงปวงชน หนังสือพิมพ์เล็กกำลังมีปัญหา ผมต้องไปช่วยเพื่อนพ้องร่วมวิชาชีพ ไปช่วยด้วยใจและกาย ไม่คิดเรื่องเงิน ได้เท่าไหร่เอาเท่านั้น

พี่เหลิมบอกว่า ผมจะได้เงินเดือน ค่าครองชีพ และสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ เท่ากับหัวหน้าข่าวของไทยรัฐ

ผมตอบตกลง แต่ขอเวลา  1 สัปดาห์เพื่อไปเคลียร์งานที่เสียงปวงชนให้เฮียเต็งมีเวลาไปหาคนมาแทนผม

เสียงปวงชนวางตลาดทุกวัน ยอดขายก็พอสมน้ำสมเนื้อกับสถานะ

แฟน “ต้อย ต้นโพธิ์” จากเดลินิวส์ พอเห็นผมมา  “โห่”  ที่เสียงปวงชนก็ส่งจดหมายมาทักทายให้กำลังใจ

เฮียเต็งรู้ดีว่าผมไม่ได้หนีเขา แต่โอกาสครั้งหนึ่งในชีวิตที่ได้อยู่หนังสือพิมพ์รายวันยักษ์ใหญ่ของประเทศ ไม่ว่าใครก็มิอาจปล่อยให้โอกาสงาม ๆ อย่างนี้หลุดลอยไป

ครบ  7  วัน ผมก็ไปเป็นน้องใหม่ไทยรัฐไปรายงานตัวกับ “พี่เฉลิมชัย ทรงสุข” และ “พี่สมิต มานัสฤดี” หัวหน้ากองบรรณาธิการ

ต้องเขียนใบสมัครไปยื่นที่กองอำนวยการรับใบส่งตัวไปตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาลหัวเฉียว   ยศเส

เป็นครั้งแรกที่ได้ตรวจสุขภาพแบบยกเครื่อง ผลออกมาร่างกายปกติแข็งแรง ไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ ไม่มีโรคเรื้อรัง หรือโรคที่สังคมรังเกียจ

เหลือแต่ใบสมัครงาน ต้องมีผู้รับรองเป็นข้าราชการระดับไหนผมจำไม่ได้ เหลียวซ้ายแลขวาก็ไม่รู้จักข้าราชการคนไหน บังเอิญไปธุระที่ลพบุรีเอาใบสมัครติดตัวไปด้วย ไปเยี่ยมเยียนตำรวจ  สภ.อ.เมืองลพบุรีที่รู้จักสนิทสนมกัน ส่วนใหญ่ที่ยังอยู่ก็เป็นตำรวจชั้นประทวน ส่วนสัญญาบัตรเขาก็แยกย้ายไปตามเวรตามกรรม

แล้วผมก็ได้คนเซ็นรับรอง

“พันตำรวจเอกอนันต์ ดีประเสริฐวิทย์” ผู้กำกับการตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรี จปร.รุ่น  6    รุ่นเดียวกับ “พลเอกประมณฑ์ ผลาสินธุ์” ผู้บัญชาการทหารบกคนที่  29

จปร.6  ที่หันมาสวมเครื่องแบบตำรวจ มีหลายคน นอกจาก “พี่อนันต์ ดีประเสริฐวิทย์”   แล้ว ยังมี

มนัส ครุฑไขยันต์, ธนู หอมหวล,   รังสิต ญาโณทัย, ชัยสิทธิ์ กาญจนกิจ, ชาญ รัตนธรรม,   ชูเดช มัชฌิมานนท์,  ชัยทัศน์ อรัญทิมา, เติมศักดิ์ ชำนิจารกิจ, ธวัชชัย พรหมพฤกษ์, นพเก้า   ธัญญสิริ, ประสงค์ วาสิกานนท์, วราห์ เอี่ยมมงคล, วิเชียร เทียบจริยาวัฒน์, รังษี   อินทโกศัย,   ศิลปะพร ภูมะธน, สาทิส เจริญสุข, สุนทร   มีนะโตรี

ขึ้นไปชั้นสองกองกำกับการตำรวจภูธรจังหวัดลพบุรีเข้าห้องทำงาน “พี่นันต์” ยื่นใบสมัครงานไทยรัฐให้เซ็นรับรอง “พี่นันต์” ตวัดลายเซ็นให้ทันที ไม่ต้องซักไซร้ไล่เรียงอะไรให้มากความ    “พี่นันต์”  รู้จักผมดี

ไต่ถามทุกข์สุขพอหอมปากหอมคอ “พี่นันต์” ก็ปรับทุกข์เรื่องนักข่าวในลพบุรีคนหนึ่ง

ซึ่งมีพฤติการณ์รีดไถ ทั้งไถดะไถรีไถขวางเอาทุกอย่างทุกหน่วยงาน  ผมบอกว่าถ้าใครถูกรีดไถ   ให้แจ้งไปยังหนังสือพิมพ์ที่นักข่าวคนนั้นสังกัดอยู่ แต่ถ้ามาไถ  “พี่นันต์” ให้พี่บอกกับเขาว่า ผมสั่งไว้ไม่ให้มายุ่งกับพี่ ถ้าเป็นเรื่องข่าวก็โอเค ถ้าเรื่องเงินให้ปฏิเสธ อ้างชื่อผมได้ นักข่าวคนนั้นเขารู้จักผม เขาไม่กล้าหรอก

เขารู้จักผม และผมก็รู้จักเขา ผมว่านักข่าวคนนี้สุดยอดเรื่องรีดไถจริง ๆ ในประเทศไทยน่าจะหาตัวจับยาก ขออนุญาตนินทาลับหลัง

หนึ่งในวีรเวรของเขา เจ้าของเรือนร่างอ้วนท้วนชอบสวมชุดซาฟารีกับลูกน้องตัวผอม ๆ  คนหนึ่ง เอารถไปจอดที่ถนนเอเชียขาออกท้องที่จังหวัดสิงห์บุรี วางท่าเป็นนายตำรวจให้ลูกน้องโบกรถบรรทุก ตั้งข้อหาขับรถเร็วบ้าง บรรทุกน้ำหนักเกินบ้าง แล้วไถเงินดื้อ ๆเรื่องนี้เขาเก่งครับ

เก่งชนิดตำรวจทางหลวงที่จอดรถฉลามบกถัดไปซัก  500 เมตรขาดรายได้ไปอักโข

น่าจะเป็นหนึ่งเดียวในประเทศไทย ไม่มีใครเหมือนเขา ขนาดศูนย์การทหารปืนใหญ่    ค่ายพหลโยธิน อ.เมืองลพบุรี ต้องปิดประกาศที่หน้าค่าย ห้ามนักข่าวคนนี้เข้า มีรูปอยู่ในประกาศด้วย ทหารที่เข้าเวรกองรักษาการณ์จะได้รู้จักหน้าค่าตา

สาเหตุเพราะ ผู้บัญชาการศูนย์ฯ  เอือมระอาที่นักข่าวคนนี้ เข้าไปไถน้ำมัน ไถได้ไถดีและไถถี่ ๆ ด้วย

ที่โรงพยาบาลอานันทมหิดล ไม่ห่างจากศูนย์การทหารปืนใหญ่มากนัก พอรถนักข่าวคนนี้เข้าไปจอดหน้าตึก ทหารรีบโทรศัพท์ไปบอกผู้อำนวยการโรงพยาบาลว่า นายคนนี้มาที่ตึกแล้ว    ผู้อำนวยการต้องบอกทหารหน้าห้องว่าไม่อยู่ แล้วตัวเองปีนหน้าต่างไปหลบที่กันสาด

ฤทธิ์เดชนักข่าวคนนี้มากมายหลายเล่มเกวียน “พลตำรวจตรี สมใจ โพดาพล” เมื่อสมัยอยู่ลพบุรีก็ซาบซึ้งแก่ใจมาแล้ว ผมมีส่วนยืดอายุนักข่าวร่างอ้วนคนนี้ ในช่วงเวลานั้น แต่ตอนนี้เขาตายไปหลายสิบปีแล้ว  มันเป็นประวัติศาสตร์อีกหน้าหนึ่งของนักข่าวในจังหวัดลพบุรี

ในที่สุด ผมก็ก้าวข้าสู่อาณาจักรยักษ์ใหญ่ไทยรัฐ

บนชั้นสองของอาคาร 3 ชั้นหลังเก่า ห้องโถงด้านทิศใต้เป็นที่ทำงานของกองบรรณาธิการ     เป็นห้องยาวไปตามแนวของอาคาร ด้านทิศเหนือ มีห้องอยู่  2  ห้อง หัวหน้ากองบรรณาธิการ   “สมิต มานัสฤดี” อยู่ห้องหนึ่ง อยู่กับเลขานุการิณี “คุณหวา” สาวผิวขาวร่างเล็ก ส่วนอีกห้องมีโต๊ะทำงานของคอลัมนิสต์สังคมหน้า  4  “โกวิท   สีตลายัน” “สันติ วิริยะรังสฤษฎ์”   และ  “คัทลียา  นุดล” เจ้าของคอลัมน์  “คัทลียาจ๊ะจ๋า”

ด้านทิศใต้ก็มี  2  ห้องเป็นที่รวมของผู้อาวุโส “บก.ไพทูรย์   สุนทร”  “พี่เวทย์ บูรณะกิจ”   “พี่ปั๋น ไว  ตาทิพย์” “พี่พินิจ นันทวิจารณ์” และเจ้าของนามปากกา “ซูม” ตอนนั้นยังเป็นข้าราชการระดับสูงของสภาพัฒน์ฯ เลิกงานแล้ว  “ซูม” จึงจะเข้าโรงพิมพ์

ตรงกลางห้องโถงใหญ่ มีโต๊ะยาวเรียงรายตามแนวขวางเป็นแถว แต่ละแถวเป็นที่ทำงานของแผนกข่าวต่าง ๆ

หน้าห้องทำงานของหัวหน้ากองบรรณาธิการ เป็นโต๊ะข่าวหน้า  1 เรียกว่าโต๊ะตัวที หัวหน้าข่าวประจำวันกับรีไรเตอร์อยู่ตรงนั้น โดยมี “พี่มานิจ สุขสมจิตร์”  นั่งเป็นพี่เลี้ยงเป็นที่ปรึกษาเคียงข้างหัวหน้าข่าว

แผนกข่าวภูมิภาคอยู่ถัดจากโต๊ะตัวที มีโต๊ะสี่เหลี่ยมคั่นกลาง มีโทรศัพท์วางอยู่  6  เครื่องสำหรับนักข่าวต่างจังหวัดส่งข่าวมา เป็นเบอร์ตรงไม่ต้องผ่านโอเปอเรเตอร์ มีพนักงานคอยรับโทรศัพท์ตรงนั้น

ข่าวจากจังหวัดไหนเข้ามา พนักงานรับโทรศัพท์จะไปบอกนักข่าวที่โต๊ะภูมิภาคมารับข่าว     เพราะมีนักข่าวรับผิดชอบแต่ละภาค  ถ้านักข่าวยังติดพันกับการเขียนข่าว พนักงานรับโทรศัพท์จะรับข่าวเอง ทำให้เขาซึมซับข่าวสารต่างจังหวัดทุกวันจนกระทั่งสามารถเขียนข่าวได้

เมื่อเปลี่ยนที่ทำงานใหม่ อะไรต่อมิอะไรก็เปลี่ยนไป

อย่างเช่นการไปทำงาน อยู่เดลินิวส์กับเสียงปวงชนผมรู้งานรู้เวลาจะต้องเข้าโรงพิมพ์เวลาไหน แต่มาอยู่ไทยรัฐ ผมต้องปรับตัวใหม่

มีรถมารับถึงบ้านทุกเช้า ไม่ใช่รถรับส่งพนักงาน แต่เป็นรถที่ใช้ส่งหนังสือพิมพ์ คนที่รถไปรับก่อนจะได้นั่งข้างหน้าข้างคนขับ ซึ่งนั่งได้สองคน นอกจากนั้นต้องนั่งด้านหลัง ไม่มีเก้าอี้หรอกครับ ต้องเอากระดาษหนังสือพิมพ์มารองกันเปื้อน ก็อย่างที่ว่า มันเป็นรถสำหรับส่งหนังสือพิมพ์

ทุกเช้ารถคันนี้ไปรับใครบ้าง ผมจำไม่ได้ แต่เมื่อมาถึงบ้านซอยเสนานิคม  2 ผมต้องนั่งด้านหลังเป็นประจำ จากนั้นไปรับนักข่าวในซอยโชคชัย  4แล้วถึงเข้าโรงพิมพ์

ยังดีหน่อยที่ไม่ต้องปั๊มเวลาทำงาน ถึงกระนั้นบอกตามตรง ชักเริ่มอึดอัด เพราะผมไม่ชอบการทำงานที่มีเวลาเป็นตัวกำหนด ผมรังเกียจชีวิตรับราชการก็เพราะเหตุนี้

ถึงจะอึดอัดก็ต้องอดทน เพราะเป็นเพียงเริ่มต้นการเปลี่ยนองค์กร     ยักษ์ใหญ่ต้องมีระเบียบแบบแผนที่ไม่เหมือนยักษ์เล็กยักษ์จิ๋ว  ไทยรัฐก็เช่นกัน โครงสร้างเหมือนหน่วยงานราชการ

ไทยรัฐมีหน่วยงานระดับกองหลายหน่วย  มีกองอำนายการ กองบรรณาธิการ กองจัดการ   กองโฆษณา กองการผลิต กองยานพาหนะ แต่ละกองมีหัวหน้ากอง ขึ้นตรงกับนายใหญ่ที่ชื่อ   “ป๊ะกำพล วัชรพล”

ทุกเที่ยงวัน หัวหน้ากองทุกคนที่ไม่ติดภารกิจอื่นจะไปกินอาหารกลางวันซึ่งไทยรัฐจัดให้    โดยป๊ะกำพลจะไปร่วมวงอาหารด้วย กินไปคุยไปเรื่องงาน แผนกงานไหนมีปัญหาขัดข้องอะไร    บอกให้ป๊ะกำพลรับทราบตรงนั้น

แนวเดียวกับเมื่อครั้งผมเป็นหัวหน้าข่าวอาชญากรรมยุคเดลินิวส์ สี่พระยา

นอกจากอาหารกลางวันที่จัดสำหรับหัวหน้ากองแล้ว ไทยรัฐยังบริการอาหารมื้อเย็นให้กองบรรณาธิการด้วย ข้าวหม้อใหญ่กับข้าว  2 อย่าง  ฝีมือแม่ครัว   “แก้ว” สาวร่างเล็กเป็นที่ติดปากติดใจของคนในกองบรรณาธิการ แต่ใครอยากจะไปกินข้างนอกก็ไม่ว่ากัน

ถึงบรรทัดนี้ขออนุญาตเขียนถึงเพื่อนผมคนหนึ่ง เขาเป็นนักข่าวและนักหนังสือพิมพ์ระดับหัวหน้าข่าว เขาเพิ่งสิ้นลมหายใจก่อนปีใหม่ไม่กี่วัน

“สมพงษ์    ทองสุข” นามปากกา “โอ๊ค ท่าหิน” อยู่ลพบุรีหาข่าวกินเหล้าด้วยกัน   แล้วเข้ากรุงเทพฯ เหมือนผม

“สมพงษ์” เป็นหัวหน้าข่าวหน้า  1 “ตะวันสยาม” ของ “โส ธนะวิสุทธิ์” เป็นหัวหน้าข่าวต่างจังหวัด  “มหาชัย” ขอ “สมชาย ฤกษ์ดี”

สุดท้ายของชีวิต “สมพงษ์” ไร้ญาติขาดมิตร เมียตาย ไม่มีลูก ไม่มีบ้าน แต่มีโรคหัวใจที่บั่นทอนทุกวันเวลา ต้องไปบวชที่วัดป่าธรรมโสภณ อ.เมืองลพบุรีแล้วก็สิ้นลมหายใจอย่างเดียวดาย   ผมรู้ข่าวเมื่อร่างของเขาเป็นเถ้าถ่านไปแล้ว

ปิดฉาก  หมาไล่เนื้อเขี้ยวหัก

 

 

RELATED ARTICLES